"อาชาบำบัด" ช่วยเด็กออทิสติก ครั้งแรกในชุมชน

"อาชาบำบัด" ช่วยเด็กออทิสติก ครั้งแรกในชุมชน

"อาชาบำบัด" ช่วยเด็กออทิสติก ครั้งแรกในชุมชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย วารุณี สิทธิรังสรรค์ warunee11@yahoo.com

"โครงการอาชาบำบัด" ในโรงพยาบาลจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ในการบำบัดฟื้นฟู สมรรถภาพเด็กพิเศษในพื้นที่ภาคเหนือ ถือเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรก ที่นำศาสตร์การบำบัดลักษณะนี้มาใช้นอกเหนือจากสถานบริการเอกชนที่จัดบริการดังกล่าวอย่างแพร่หลาย

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวพบมากขึ้น โดยข้อมูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า 4 โรคสำคัญที่เป็นสาเหตุให้เด็กประสบปัญหาการเรียน ผลการเรียนไม่ดี ได้แก่ ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) สมาธิสั้น ออทิสติก และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จึงจำเป็นต้องมีระบบการรักษาที่ดี และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องให้การดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ เพื่อให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับกลุ่มโรคออทิสติกนั้น พบว่าประชากรทุก 500 คน จะเป็นออทิสติก 1 คน ส่วนความชุกชองโรคแอลดี จะพบร้อยละ 5 เป็นต้น

นพ.พิสุทธิ์ พรสัมฤทธิ์โชค หัวหน้าโครงการอาชาบำบัด คลินิกบำบัดฟื้นฟู สมรรถภาพเด็กพิเศษ เด็กพิการ รพ.จอมทอง เล่าถึงที่มาโครงการว่า ย้อนไปเมื่อปี 2553 ด้วยความที่เป็นผู้ชื่นชอบการขี่ม้า และมองว่าการขี่ม้าช่วยเรื่องสุขภาพได้ และส่วนตัวก็กำลังค้นคว้าวิจัยและศึกษาเรื่องสุขภาพดีกับการขี่ม้า จึงได้ปรึกษากับ นพ.สมอาจ วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.จอมทอง

สมัยนั้น ในการขอใช้พื้นที่โรงพยาบาลดำเนินการรักษาเด็กกลุ่มอาการพิเศษ ทั้งออทิสติก ปัญหาสมาธิสั้น และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เป็นต้น โดยการรักษาจะควบคู่กับการรักษาเดิม คือ มีนักกายภาพบำบัดควบคู่ และนักจิตวิทยา เพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น

หลายคนมองว่า การขี่ม้าจะมีผลต่อพัฒนาการเด็กพิเศษได้อย่างไร เรื่องนี้ นพ.พิสุทธิ์ ขยายความว่า ประเทศพัฒนาแล้วมีการศึกษามานาน ทั้งสหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มยุโรป เช่น เยอรมนี ฯลฯ ได้ศึกษา

พบว่าการขี่ม้า นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเรื่องพัฒนาการด้วย เพราะจะช่วยพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งร่างกาย ทำให้ระบบกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ช่วยให้ข้อต่อแข็งแรง การควบคุมการทรงตัวดี เนื่องจากเด็กจะต้องอยู่บนหลังม้าด้วยความสมดุล และในเด็กที่มีปัญหาแขนขาติดยึด มีปัญหาการทรงตัว การขี่ม้าก็จะมีส่วนกระตุ้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะพัฒนาได้เร็วกว่าใช้กายภาพบำบัดอย่างเดียว

นพ.พิสุทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในเรื่องพัฒนาการที่เห็นเด่นชัด ในเด็กสมาธิสั้น ไม่นิ่ง ก้าวร้าว หรือมีปัญหาการเรียนรู้ด้านภาษา ฯลฯ ยกตัวอย่าง เด็กมีสมาธิสั้น เขาก็จะมีสมาธิขึ้น เพราะต้องควบคุมม้า ต้องทรงตัวอยู่บนหลังม้า หากไม่มีสมาธิก็นั่งไม่ได้ ขณะที่เด็กก้าวร้าว หากอยู่ไม่นิ่ง จุกจิก ก็จะอยู่บนหลังม้าไม่ได้เช่นกัน ที่สำคัญเห็นชัดสุดคือ ช่วยเรื่องการพูด เพราะในกลุ่มเด็กพิเศษบางคนมีปัญหาการพูด ไม่ยอมพูดแม้แต่คำเดียว ขณะที่การบำบัดรักษาโดยปกติจะมีนักฝึกการพูดบำบัดเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก การขี่ม้าเพื่อช่วยพูด จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเมื่ออยู่บนหลังม้า เด็กเหล่านี้จำเป็นต้องพูด เพื่อให้ม้าเคลื่อนไหว เช่น ไป หยุด ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่เมื่อได้ขี่ม้าจะรู้สึกสนุก และเมื่อคนจูงม้าจะทำเป็นหยุดม้า พวกเขาก็จะอุทานว่า "ไป ไป" โดยอัตโนมัติ เพราะอยากจะขี่ม้าต่อ ทำให้พวกเขาเริ่มพูดได้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มที่ดี

"เด็กที่เข้ามารับบริการในโครงการนี้ไม่ได้มากมาย อย่างภาพรวมเด็กที่เข้ามารักษาที่ รพ.จอมทอง มีเด็กพิการประมาณกว่า 400 คน เป็นกลุ่มเด็กพิเศษที่มาบำบัดในโครงการประมาณ 30 คนต่อปี ส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 1 ขวบ ไปจนถึงอายุ 17-18 ปี ซึ่งมีทั้งกลุ่มออทิสติก สมาธิสั้น ไอคิวต่ำ หรือเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ เด็กพิการทางด้านสมอง หรือการพัฒนาการสมองล่าช้า โดยก่อนจะมาบำบัดที่โครงการ ก็จะต้องผ่านการคัดกรองจากกุมารแพทย์ ไปจนถึงนักจิตวิทยา ทั้งนี้ ระยะเวลาในการบำบัดรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ส่วนใหญ่ 1 เดือน อาการก็จะดีขึ้น ทั้งการพูด การเคลื่อนไหวต่างๆ" นพ.พิสุทธิ์กล่าว

โครงการดังกล่าวไม่ได้มีแค่อาชาบำบัด โดยในพื้นที่ 4-5 ไร่ นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับการขี่ม้าบำบัดรักษาแล้ว ยังมีการบำบัดอื่นๆ ร่วมด้วย ผ่านอาคารตัวหนอน ซึ่งเป็นอาคารยาวลักษณะตัวหนอนสีสันสดใส โดย นพ.พิสุทธิ์ ให้เหตุผลการจัดสร้างอาคารตัวหนอนว่า การสร้างอาคารตัวหนอน เพราะหนอนเป็นสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงตามระยะของมัน เปรียบเสมือนเด็กพิการที่ขาดอิสรภาพ ต้วมเตี้ยมเหมือนหนอน แต่สุดท้ายพอเปลี่ยนแปลงตามระยะก็จะกลายเป็นผีเสื้อมีอิสระ หมายความว่า เด็กพิการ เด็กพิเศษ เมื่อมีการพัฒนาการย่อมเปลี่ยนแปลงตัวเองให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้

สำหรับอาคารดังกล่าว สีสันสดใส มีโครงสร้างพิเศษ เป็นโฟมกับคอนกรีตบางๆ เพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอก แบ่งเป็นห้อง เหมือนลำตัวของหนอนที่มีลักษณะเป็นปล้องๆ เริ่มจากส่วนหัว ห้องที่ 1 เป็นห้องหนังสือ ร่วมกับดนตรีบำบัด เช่น เปียโน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ห้องที่ 2 เปิดให้ทำกิจกรรมต่างๆ ห้องที่ 3 เป็นห้องคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลีช่วยติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ฝึกการเรียนรู้โดยเฉพาะสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ห้องที่ 4 เป็นห้องพักสำหรับเด็กและครอบครัวที่เดินทางมาจากพื้นที่ไกล ห้องที่ 5 เป็นห้องทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

"แนวทางรักษานั้น ไม่ไช่แค่อาชาบำบัดเท่านั้น แต่เราจะพิจารณาว่าเด็กกลุ่มไหนต้องรักษาแบบใด ซึ่งจะมีแบบผสมผสานกันไป อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมให้เด็กเล่น ทั้งโดดหอ ไต่เชือก เป็นกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกร่างกาย ฝึกสมาธิ ฝึกความกล้า ทำให้สนุกสนานขึ้น และในอนาคตก็จะก่อสร้างสระน้ำบำบัด หรือวารีบำบัดด้วย เพื่อให้เป็นอีกทางเลือก" นพ.พิสุทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงบประมาณส่วนใหญ่ในการเดินหน้าโครงการมักมาจากการบริจาคของผู้ใจบุญเป็นหลัก
ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคผ่านกองทุนเพื่อเด็กพิเศษ/เด็กพิการ รพ.จอมทอง ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 395-0-60614-9

(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2557)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook