เปิดปูม วงการขาอ่อน ก่อนจะกลายเป็นเรื่อง ดราม่า

เปิดปูม วงการขาอ่อน ก่อนจะกลายเป็นเรื่อง ดราม่า

เปิดปูม วงการขาอ่อน ก่อนจะกลายเป็นเรื่อง ดราม่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากเรื่องดราม่าของวงการนางงามที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการสละตำแหน่งของ "ฝ้าย เวฬุรีย์ ดิษยบุตร" อดีตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2014 เพราะความไม่เหมาะสมหลายๆ อย่าง ไปจนถึงการประกาศปลด "น้ำเพชร สุณัณณิการ์ กฤษณสุวรรณ" ออกจากตำแหน่งรองอันดับ 2 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ด้วยภาพการถ่ายภาพวาบหวิวบนอินเตอร์เน็ต

สะท้อนนัยยะหนึ่งในสังคมได้ว่า "นางงามเป็นบุคคลที่สังคมคาดหวัง" เป็นเวทีอันทรงเกียรติที่ให้คำจำกัดความ "ผู้หญิงไทยที่งามพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ"

อย่างไรก็ตามกว่าเวทีนามงามจะพัฒนามาถึงทุกวันนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย มติชนจึงเชื้อเชิญ "หนุ่ม ประเสริฐ เจิมจุติธรรม" ผู้ได้รับรางวัลแฟนพันธุ์แท้นางงาม คร่ำหวอดในวงการมานานกว่า 30 ปี มาเปิดปูมและวิพากษ์ถึงวงการนางงามแบบรู้ลึกรู้จริง

ประเสริฐ เจิมจุติธรรม

@ พัฒนาการวงการนางงามเป็นเช่นไร

พัฒนาการวงการนางงามไทยต้องเรียกว่า แบ่งคร่าวๆ ได้ 4 ช่วง ในช่วงแรก คือ ปี พ.ศ.2477-พ.ศ.2497 เรียกว่าช่วง "ประกวดช่วยชาติ" ยุคนั้นเวทีนางสาวสยามจัดขึ้นอยู่ในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกความสนใจของประชาชนให้มาชมงานและจะได้เผยแพร่ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย เพราะสมัยนั้นประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย โดยจัดประกวดโดยกระทรวงมหาดไทย คัดเลือกตัวแทนสาวงามจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาประกวด ถือเป็นงานระดับชาติ ผู้หญิงที่มาประกวดต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เป็นไทยแท้ และมีความเป็นกุลสตรี

ช่วงที่ 2 คือ พ.ศ.2507-พ.ศ.2515 เป็น "ยุคประชาสัมพันธ์ประเทศ" เพราะเป็นครั้งแรกที่นางสาวไทยที่ต้องไปประกวดนางงามจักรวาลอย่างเป็นทางการ หากย้อนกลับไป 40-50 ปี ชาวต่างชาติไม่รู้จักประเทศไทย จึงคัดเลือกสาวไทยอย่างพิถีพิถัน ต้องสวย เป็นไทยแท้ และต้องได้ภาษาเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ซึ่งช่วงนั้นเราได้ "อาภัสรา หงสกุล" ซึ่งเป็นนักเรียนจากปีนัง ไปประกวด และยังเป็นสาวงามแต่งตัวดี ใส่ผ้าไหมทุกวัน ก็ทำให้ชาวต่างชาติประทับใจกับวัฒนธรรมไทย ก่อนจะหยุดไปเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ

ยุคที่ 3 คือ ปี พ.ศ.2527-พ.ศ.2543 ที่เป็น "ช่วงการพาณิชย์" อย่างแท้จริง มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนเยอะ รวมทั้งถ่ายทอดตามสถานีต่างๆ การประกวดไปอยู่กับเอกชน จุดประสงค์เพื่อส่งไปประกวดเวทีต่างๆ หลากหลายมากขึ้น อาทิ มิสเวิลด์ อีกทั้งเป็นช่วงที่การสื่อสารไร้พรมแดนสามารถนำเทปการประกวดมาดูย้อนหลังได้ทำให้การประกวดเป็นสากลมากขึ้น แบ่งการประกวดเป็นรอบต่างๆ มีการสัมภาษณ์แสดงทัศนคติต่อสาธารณชน

และเป็นช่วงที่สาวงามผู้เข้าประกวดเป็นลูกครึ่งมากขึ้น หลังจากที่ "สาวิณี ปะการะนัง" ที่บินตรงจากสหรัฐอเมริกา มีตำแหน่งธิดาโดมแอลเอ มาประกวด ก่อนจะไปเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายนางงามจักรวาล ทั้งยังมี "ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก" ที่เดินทางจากต่างประเทศมา แล้วประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงทำให้กระแสลูกครึ่งแรงจนปัจจุบัน

ยุคสุดท้าย คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ถึงปัจจุบัน เป็น "ช่วงที่การประกวดแตกย่อยไปหลายเวที" มากขึ้นเพื่อส่งเข้าประกวดเวทีนานาชาติ เช่น มิสไทยแลนด์เวิลด์ คือเวทีที่ทำเพื่อสาธารณกุศล เวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ต้องการสาวงามเพื่อไปดารา นางแบบ ด้านบันเทิงต่อไป ขณะที่ มิสเอิร์ธ ก็ออกแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ

@ ความนิยมของประชาชนต่อนางงามต่างไปจากเดิมไหม

เปลี่ยนไปมาก จากอดีตเมื่อ 80 ปีที่แล้วเป็นงานระดับชาติ ก็ตื่นเต้นมาก ประกวดกันทีเป็น 10 วัน ก่อนจะมีโรงเรียนเสริมสวยเข้ามา พอปี 2510 มีการถ่ายทอดครั้งแรกยิ่งฮือฮา ถือเป็นงานประจำปี ก่อนที่เวทีจะมากขึ้น ทั้งเรียลลิตี การประกวดนักร้อง ก็ทำให้ไม่เป็นที่นิยมเท่าอดีต

@ กระแสนางงามที่ถูกปลดนี้ คิดอย่างไร

เรียกว่าเป็นจุดพลิกผันนางงาม ทำให้คนสนใจนางงามมากขึ้นแม้จะเป็นการสนใจด้านลบ อย่างฝ้ายเรียกว่าน่าเห็นใจ เพราะตอนประกวดไม่ว่าสื่อหรือแฟนนางงามกลุ่มหนึ่งก็เห็นว่าแอลลี่เหมาะสมกว่า ก็ไปขุดคุ้ยมาโจมตีเขา น่าเห็นใจเพราะฝ้ายได้รับตำแหน่งเพราะคณะกรรมการเห็นถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง แต่ต้องสละตำแหน่งเพราะรูปร่างไม่พร้อมและมีเรื่องราวในโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าถ้าฝ้ายไม่สละมงกุฎแล้วไปประกวดมิสยูนิเวิร์สก็ไม่ผิดเพราะการเป็นนางงามถือเป็นตัวแทนเวทีนั้นๆ ของในปีนั้น ไม่ใช่หมายถึง "ผู้หญิงไทยทั้งประเทศ" ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องเชียร์ ปีหน้าก็มีคนใหม่ๆ

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเราไม่ได้มองภาพกว้างขนาดนั้น

ส่วนกรณีน้ำเพชร ต้องมองว่าเป็นความผิดพลาดของกองประกวดที่ไม่ได้ตรวจสอบนางงามในเวทีระดับประเทศเพราะหากมีสายสะพายไทยแลนด์แล้วก็น่าจะมีกิริยามารยาทบุคลิกภาพเหมาะกับคนไทย

@ กรณี "เมญ่า-นนธวรรณ ทองเหล็ง" ถือเป็นการฉีกกฎนางงาม

เมญ่าเข้ามาถูกที่ ถูกเวลา เป็นจุดเปลี่ยนนางงามที่จากขาวอิมพอร์ตมาเป็นสาวผิวน้ำผึ้ง สาวไทยคนนี้คนพูดถึงเยอะ ยิ่งก่อนหน้านี้มีกรณีของนางงามอีกเวทีหนึ่งด้วยก็ทำให้เป็นที่ยอมรับ เป็นกระแสนิยมอย่างหนึ่ง เพราะคนไทยส่วนมากไม่ใช่คนผิวขาว เมญ่าเป็นตัวแทนคนไทยผิวเข้มที่ไม่กล้าเผยตัวออกมา จากคนไทยคิดว่าขาวเท่ากับสวย พอฝ่ากระแสออกมาเลยจุดประกายให้ผู้หญิงผิวปกติได้รับการยอมรับ

@ โซเชียลมีเดียมีผลต่อการประกวดไหม

ไม่ผิดนัก โซเชียลมีเดียสมัยนี้ค่อนข้างร้ายแรง ยิ่งวงการนางงามยิ่งรุนแรง บางความเห็นต่อว่ากันอย่างสาดเสียเทเสีย เด็กไม่ได้ผิดอะไร กรรมการเองก็ไม่ได้ผิดเพราะตัดสินจากสิ่งที่เห็น ฐานะคนดูก็ต้องเป็นแค่คนดู อย่าเอาตัวเองไปเป็นกรรมการ ไม่ถูก มองให้เป็นความบันเทิง 2 ชั่วโมงตอนนั้นดีกว่า ถ้าไม่ชอบใจปีหน้าก็มีใหม่ เราอาจวิพากษ์วิจารณ์ได้เพราะเป็นเรื่องสาธารณะเมื่อถ่ายทอดทีวี แต่ก็ต้องมีขอบเขต กฎกติกา มารยาท รับผิดชอบสิ่งที่พูด

@ กรณีความไม่เหมาะสมนี้ ในอดีตเคยมีบ้างหรือไม่

มีอยู่ 2-3 ครั้ง แต่กระแสไม่ได้ทำให้ต้องสละตำแหน่ง อย่างปี พ.ศ.2529 ในการประกวดนางสาวไทย ปีนั้นสื่อมวลชนและคนดูเชื่อว่า "ปูแดง-สรารัตน์ หรุ่มเรืองวงศ์" จะได้ตำแหน่ง ถึงขนาดหนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวรอไว้แล้ว แต่ผลกลายเป็นว่า "ทวีพร คลังพลอย" ได้รับตำแหน่ง ซึ่งไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน คนดูก็ไม่พอใจกรูกันออกจากห้องประกวดไป มีการวิพากษ์วิจารณ์มาก อีกครั้งคือ เวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ในปีเดียวกัน เมื่อพิธีกรประกาศให้ "แสงระวี อัศวรักษ์" ได้รับรางวัล ก็มีคนไม่พอใจปัดมงกุฎออกจากศีรษะก่อนจะนำมาสวมให้ "ดวงเดือน จิไธสงค์" แต่ดวงเดือนก็ยอมรับในคำตัดสินก่อนจะนำมงกุฎคืนให้กับแสงระวี ถือเป็นการประท้วงที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งในตอนนั้นถ่ายทอดการประกวดในโทรทัศน์อยู่ด้วย

@ มาตรฐานการประกวดนางงามในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ก็คงเป็นรูปแบบเดิม แต่กองประกวดจะทำงานยากขึ้น สอบประวัติเข้มขึ้น ผู้เข้าประกวดก็อาจต้องลบประวัติที่เคยทำเพราะมีกรณีศึกษาว่าอดีตทำร้ายอนาคตได้ จะกลายเป็น "สังคมคงแอ๊บกันมากขึ้น" กรรมการก็จะเชิญยากขึ้นเพราะโดนโจมตีมาก ขณะที่อีกกลุ่มคนหนึ่งก็จะคิดว่า หากไม่พอใจก็ประท้วงเอานางงามออกจากตำแหน่งได้ อาจทำให้กฎ กติกา มารยาท ถูกละเลย ทำให้คำพูดที่ว่า คำตัดสินของกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ถูกลบไป

@ จากนี้นางงามควรวางตัวอย่างไร และจะมีคำแนะนำอะไรในอนาคต

คนที่มาประกวดก็ต้องเตรียมตัวอย่างดี ทั้งกิริยามารยาท ไม่ว่าจะมีตัวตนอย่างไร หากอยากจะมาเป็นแบบอย่างให้เยาวชนก็ต้องรู้ว่าสังคมต้องการตัวอย่างที่ดี ต้องทำตัวให้ดีเพื่อเป็นแบบอย่างให้เยาวชน คนที่จะมาประกวดก็ให้คิดว่าวงการนางงามไม่ได้เลวร้าย ถ้าเตรียมความพร้อมเป็น "กุลสตรีแบบไทยที่ทันสมัย" ก็เข้ามาประกวดได้ เพราะการเป็นตัวแทนประเทศนั้นยิ่งใหญ่ มีเพียงช่วงอายุ 18-25 ปีเท่านั้น ครั้งเดียวในชีวิต ให้ดูอย่างเมญ่าเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าผิดหวังกี่ครั้งก็สำเร็จได้

ทวีพร คลังพลอย - ภรณ์ทิพย์

นิยาม ′นางงาม′ คงวัฒนธรรมของหญิงไทย

"กวาง-ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม" มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2550 เผยว่า การจะเป็นนางงามต้องเป็นตัวแทนของผู้หญิงไทยได้ จึงต้องสื่อถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย ซึ่งเมื่อกฎสังคมเปลี่ยนไป หน้าที่ก็อาจเปลี่ยน สมัยนี้นางงามอาจมีความกดดันมากขึ้น เช่น จากโซเชียลมีเดียที่แรงกว่าเดิม การเป็นนางงามต้องระมัดระวังตัวเองและภาพลักษณ์ต้องดี เข้าใจว่าคนอาจสนใจภาพลบของคน แต่อยากให้สังคมโฟกัสที่เรื่องดีๆ ที่นางงามได้ทำเพื่อสังคมบ้าง นางงามรุ่นใหม่หลายคนก็มีภาพลักษณ์ที่ดีอยู่

"สำหรับสาวๆ" ที่อยากมาประกวดในปีหน้า แนะนำให้เตรียมตัว ระมัดระวังโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งภาพ คำพูดต่างๆ เพราะข้อมูลต่างๆ ถูกส่งไปเร็วขึ้น อยากให้มองว่านางงามควรคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมเดิมๆ ของผู้หญิง ความเป็นตัวแทนของหญิงไทย"

"การเป็นนางงามต้องงามทั้งกาย กิริยา และจิตใจ เป็นคำจำกัดความที่จะนำไปใช้ได้สำหรับคนที่อยากเป็นนางงามได้"

สังคมคาดหวังเวทีนางงาม

พ.ต.ท.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือแอร์ จิตแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า การประกวดนางงามก็มีหลายยุคสมัย ในความเห็นของหมอการประกวดมีทั้งข้อดี เพราะสมัยก่อนคนรู้จักประเทศไทยเพราะนางงามจักรวาล เพราะอภัสรา หงสกุล และปุ๋ย-ภรทิพย์ โดยเฉพาะปุ๋ยที่ทำให้ชาวต่างชาติมองประเทศไทยเปลี่ยนไป ไม่ได้โบราณล้าหลัง เพราะเป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิงทันสมัย พูดภาษาอังกฤษได้

"ด้านดีของการประกวดนางงามสามารถสอนลูกหลานได้ว่า คนเราอย่าสวยอย่างเดียว แต่สวยแล้วต้องเก่งด้วย อีกทั้งต้องงามพร้อมทั้งกายและใจ ไม่ใช่แข่งสวยอย่างเดียว"

ส่วนคนมองว่าการประกวดนางงามเป็นเรื่องของ "วัตถุทางเพศ" นั้น หมอแอร์ระบุว่า แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน อีกทั้งถ้าประกวดนางงามแล้วไม่มีชุดว่ายน้ำคนก็คงไม่ดู เพราะนี่เป็นจุดเด่น แต่ไม่อยากให้มองแต่ด้านนั้น ยังมีอีกหลายด้านให้มอง เช่น นางงามที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสหรือคนยากจน แต่กระนั้นก็ไม่อยากให้การประกวดเลียนแบบตะวันตกจ๋าจนเกินไป แต่อยากให้คำนึงถึง "ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมบ้านเรา" ด้วย

"สังคมยังคาดหวังเพราะเป็นเวทีอันทรงเกียรติ แต่ถ้าเป็นมิสโคโยตี้ มิสเอชแอนด์เอ็ม คนก็คงไม่ได้มายด์ แต่พอเป็นนางงาม เป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวด ผู้หญิงคนนั้นก็ต้องเพียบพร้อมในหลายๆ ด้าน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook