7 เคล็ดลับ "ช้อปให้เป็น" มีเงินเหลือ

7 เคล็ดลับ "ช้อปให้เป็น" มีเงินเหลือ

7 เคล็ดลับ "ช้อปให้เป็น" มีเงินเหลือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องช้อปกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ที่แทบล้มละลายทุกครั้งที่เข้าห้างสรรพสินค้า อยากได้นู้น อยากซื้อนี่ ห้ามตัวเองไม่ได้สักที อย่างไรก็ตาม หากวางแผนการซื้อของให้รัดกุมและเข้มงวดกับการช้อปด้วยวิธีง่ายๆ ตามนี้แล้ว รับรองได้ว่ามีเงินเหลือกลับบ้านแน่นอน

1. list รายการของที่จะซื้อทุกครั้ง
การทำรายการของที่จะซื้อเอาไว้ล่วงหน้าจะช่วยควบคุมให้เราโฟกัสเฉพาะของที่ list มาแล้วเท่านั้น แน่นอนว่าการ list รายการมาล่วงหน้า เราต้องสำรวจมาเป็นอย่างดีแล้วว่าอะไรที่ต้องซื้อบ้าง ต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่ ต่างจากการเดินเรื่อยเปื่อย ผ่านร้านไหนก็แวะร้านนั้น ซึ่งบางทีซื้อไปทั้ง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าของในบ้านหมดหรือยัง หรือซื้อเพราะอยากได้ ณ ขณะนั้นก็ได้ และกฎสำคัญที่ห้ามฝ่าฝืนคือ ห้ามใจอ่อน ซื้อของนอกเหนือจากที่จดเอาไว้โดยเด็ดขาด


2. จ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น
ให้คิดไว้ว่า “เราจะซื้อของไม่ได้หรอกถ้าเราไม่มีเงิน (สด) ติดตัว” แม้อาจจะสวนกระแสสังคมไร้เงินสดไปบ้าง แต่ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายของเราได้ดีเกินคาด เพราะการจ่ายผ่านบัตรทำให้เราเพลิดเพลินซื้อของเกินจำเป็น ดังนั้นหากเปลี่ยนไปใช้เงินสดทุกครั้งที่ต้องการซื้อของ เมื่อใดก็ตามที่ไม่มีเงินเหลือกลับบ้าน เราก็จะหยุดใช้จ่ายได้เอง


3. เปรียบเทียบราคาจากหลายๆ ร้าน
ถือเป็นเรื่องถนัดของสาวนักช้อปทั้งหลายอยู่แล้ว แค่ยอมเสียเวลาเพิ่มอีกหน่อยเพื่อเปรียบเทียบราคาของอย่างเดียวกันจากหลาย ๆ ร้าน หรือบางคนก็สำรวจราคาจากแหล่งต่าง ๆ ออนไลน์มาบ้างแล้ว แต่ก็ยังพลาดท่ามานั่งเจ็บใจอยู่บ่อยครั้ง เพราะดันมาเจอร้านที่ถูกกว่า


4. “ซื้อเพราะจำเป็น” ก่อน “ซื้อเพราะใจอยาก”
สอดคล้องกับการทำรายการของที่ต้องซื้อล่วงหน้า ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารทรัพยากรเงินในกระเป๋าที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อะไรที่จำเป็นต้องใช้ก็ซื้อก่อน ส่วนอะไรที่ใจอยาก ถ้าเงินเหลือค่อยว่ากันอีกที และแม้ว่าใจจะอยากได้อีกหลายอย่าง ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกอย่างในคราวเดียว ตั้งสติ หักห้ามใจไว้ซื้อครั้งหน้าบ้าง บางทีครั้งหน้าเราอาจจะไม่อยากได้แล้วก็ได้


5. พาเพื่อนไปด้วย
เพื่อนที่ว่าคือ “เพื่อนที่ใช้เงินอย่างชาญฉลาด” คนประเภทนี้จะคำนวณเงินก่อนมาช้อปทุกครั้ง พวกเขารู้ดีว่าต้องซื้ออะไรบ้าง ต้องใช้เงินเท่าไหร่ และจะหาซื้อของที่ราคาประหยัดกว่าได้ที่ไหน อีกทั้งยังมีความยับยั้งชั่งใจเป็นเลิศ พาไปด้วยก็ช่วยเตือนสติให้เราใช้จ่ายเพลา ๆ ลงได้


6. อย่าพ่ายแพ้ของ sale
เจ็บกันมานักต่อนักแล้วกับคำว่า “sale” นู่นก็ถูก นี่ก็ลด ช่างยั่วยวนเงินในกระเป๋าเหลือเกิน พอเห็นว่าของลดราคา ก็เกิดความคิด “ตุนไว้ก่อนไม่เป็นไร” แล้วหยิบมาจ่ายแบบไม่ลืมหูลืมตา อย่าเห็นแค่ว่าราคาถูก แต่ไม่ได้พิจารณาว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากมันไหม พอขนซื้อๆๆ เกินความจำเป็น สุดท้ายก็ใช้ไม่ทัน โยนทิ้งอยู่ดี

7. ต่อรองก็ไม่เสียหาย
“ลดได้ไหมคะ” ท่องคาถานี้ให้ขึ้นใจ การต่อรองไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าเราพิจารณาดูแล้วว่าราคาที่เห็นมันสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ลองต่อราคาเขาดู ถ้าได้ ก็ประหยัดสิบยี่สิบบาทว่ากันไป แต่ถ้าไม่ได้ ก็จะทำให้เราเกิดลังเลขึ้นมาว่าเราอาจหาที่มันถูกได้มากกว่านี้ ก็เหลือแค่ว่าจะตัดสินใจหยิบเงินจ่ายเลย หรือเซย์โนไปเลย ถ้าถูกกว่านี้ค่อยมาคุยกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook