ดื่มเบียร์ขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงกระทบพัฒนาการลูก

ดื่มเบียร์ขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงกระทบพัฒนาการลูก

ดื่มเบียร์ขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงกระทบพัฒนาการลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนหญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เหตุเชื่อว่า ช่วยล้างไขที่หุ้มตัวลูกได้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรทำ เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการและรุนแรงจนถึงขั้นแท้งลูกได้

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีมีคุณแม่โพสต์ถามในสื่อออนไลน์ว่าตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์ จิบเบียร์ได้หรือไม่ เพียงเพื่อหวังว่าการจิบเบียร์จะช่วยล้างไขเด็กแรกเกิดได้นั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรทำ เพราะความจริงแล้วการที่ร่างกายของทารกจะผลิตไขสีขาวหรือเหลืองอ่อนๆ มาหุ้มตัวนั้น เพื่อให้ไขได้ทำหน้าที่ในการปกป้องทารกระหว่างคลอด ช่วยในเรื่องของการให้ความอบอุ่น ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายช่วงเวลาที่อยู่ในน้ำคร่ำก่อนที่จะคลอดออกมา

และเมื่อคลอดออกมาแล้ว ไขนี้ก็ยังเป็นเกราะบางๆ ให้กับทารก ช่วยป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ และจะค่อย ๆ หลุดออกไป หลังคลอดได้ 3 วันหรือเมื่อร่างกายเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ ซึ่งคุณแม่อย่าพยายามล้างไขให้ลูก ควรรอให้หลุดไปเอง โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ เนื่องจากมีความบอบบางสูง แต่หากต้องการเช็ดล้างไขจริง ๆ ให้ใช้ผ้าสะอาดนุ่ม ๆ หรือใช้นิ้วมือจุ่มลงไปในน้ำมันมะกอก แล้วค่อย ๆ นวดหรือถูศีรษะอย่างเบามือที่สุด และที่สำคัญไม่ควรดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์เพียงเพราะเชื่อว่าจะช่วยล้างไขเด็กแรกเกิดได้

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ทุกครั้งที่แม่ดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผ่านทางรกและสายสะดือ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสมอง หัวใจ ไต และอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เนื่องจากการขับแอลกอฮอล์ของทารกเป็นไปได้ช้า จึงทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของทารกสูงและพิษของแอลกอฮอล์จะสะสมอยู่ในตัวทารกนานกว่าตัวมารดาด้วย โดยเฉพาะหากดื่มในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่อันตรายร้ายแรงที่สุด เพราะเป็นช่วงการสร้างเซลล์ประสาทและสมองของทารก รวมถึงการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ หัวใจ ตา แขน ขา อวัยวะเพศ

โดยแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์จะส่งผลต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพราะแอลกอฮอล์สามารถผ่านจากรกไปสู่เด็กในครรภ์ได้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการแท้ง หรือทารกที่คลอดออกมาจะพบความผิดปกติมากมาย เช่น ปัญญาอ่อน กะโหลกศีรษะเล็ก ร่างกายเล็ก มีความผิดปกติของหัวใจ พัฒนาการ ช้ากว่าปกติ และเมื่อเด็กโตขึ้นมักมีปัญหาทางพฤติกรรม เช่น สมาธิสั้น ความบกพร่องทางสติปัญญาอีกด้วย

“ทั้งนี้ หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรวางแผนการหยุดดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งในช่วงที่ตั้งครรภ์รวมถึงในช่วงให้นมบุตรด้วย นอกจากนี้ สามี สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อน ต้องช่วยเป็นกำลังใจให้หญิงตั้งครรภ์เลิกดื่มเบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  โดยสนับสนุนให้ดื่มนมหรือน้ำผลไม้สดแทน เพื่อส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของแม่และเด็กในครรภ์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook