"ยุ่งชะมัด...สัตวแพทย์" บล็อกเกอร์หัวใจนักเดินทาง

"ยุ่งชะมัด...สัตวแพทย์" บล็อกเกอร์หัวใจนักเดินทาง

"ยุ่งชะมัด...สัตวแพทย์" บล็อกเกอร์หัวใจนักเดินทาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสัตวแพทย์ เหนือ อ๋องสกุล คือชื่อจริงของเขา แต่ชาวออนไลน์ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวจะรู้จักบล็อกเกอร์คนนี้ว่า "ยุ่งชะมัด...สัตวแพทย์" ซึ่งเป็นล็อกอินหนึ่งในเว็บไซต์พันทิป ดอท คอม โต๊ะ Blueplanet (กลุ่มท่องเที่ยว) อันเกิดมาจากนิสิตสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว และเครื่องบินกับสนามบินมากกว่าโรงพยาบาลสัตว์ ทำให้มีภารกิจค่อนข้างหนาแน่น ทั้งการเรียนและการท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของชื่อล็อกอินที่ละม้ายคล้ายกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ยุ่งชะมัดเป็นสัตวแพทย์ นั่นเอง

ด้วยความสนใจเรื่องเครื่องบินและสนามบิน รวมไปถึงโปรโมชั่นราคาพิเศษของสายการบินต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นจุดที่สามารถเขียนบรรยายเรื่องราวได้ในแบบที่เข้าใจง่าย ทำให้มีสมาชิกผู้สนใจติดตามอ่าน จนเป็นที่มาของการร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เอชไฟล์ทดอทเน็ต (HFlight.net) ในปี 2547 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเว็บไซต์รีวิวสายการบินอันดับ 1 ของไทย ซึ่งไม่ใช่มีเพียงแค่สายการบิน แต่ยังมีรีวิวโรงแรมที่พัก และทริปท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมายด้วยเช่นกัน

จุดเริ่มต้นบนโลกออนไลน์
หมอยุ่ง เล่าว่า สมัยยุคเว็บบอร์ดรุ่งเรือง ผู้ที่เขียนเรื่องราวต้องทำการเขียนลงบนเว็บไซต์ของตนและอัพโหลดขึ้น Server ซึ่งเป็นวิธีการที่ยุ่งยาก จนกระทั่งยุคที่กล้องดิจิตอลถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเว็บบอร์ด จนสามารถเขียนข้อความเล่าเรื่องและอัพโหลดรูปไปด้วยกันและได้รับความนิยมมากขึ้น
โดยเริ่มเล่าเรื่องในโต๊ะ Blueplanet เน้นถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางรวมไปถึงการใช้บริการ ซึ่งการเขียนเนื้อหาในยุคแรกๆ มีบางคนมองว่าเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือเป็นหน้าม้าเชียร์แขก จนกระทั่งในยุคหลังจึงเริ่มปรับความเข้าใจกันได้มากขึ้น เมื่อทุกคนมีกล้องดิจิตอลและเริ่มเห็นกระทู้รีวิวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็เริ่มเป็นกระแสในการทำรีวิว และมีการทำเป็น Blog เพื่อรวมเรื่องราวเหล่านั้นไว้ ตัวอย่างเช่น Bloggang.com เป็นต้น
"สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญก็คือ การถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์การเดินทางแบบให้ผู้อื่นสามารถไปตาม หรือมีความรู้สึกว่าได้เที่ยวไปกับเราตั้งแต่เริ่มต้นออกเดินทาง เดินทางโดยวิธีการใด บรรยากาศการเดินทางเป็นอย่างไรบ้าง ข้อดี-ข้อเสีย เปรียบเทียบวิธีการเดินทางต่างๆ เป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงแค่เริ่มต้นเล่าเรื่อง ณ จุดหมายปลายทางนั้นๆ อย่างที่บล็อกเกอร์หลายคนในยุคนั้นทำกัน"

เผยเคล็ดลับประหยัดงบท่องเที่ยว
ด้วยความชื่นชอบในการท่องเที่ยวแต่มีงบประมาณจำกัด จึงต้องแสวงหาโปรโมชั่นหรือวิธีการเดินทางที่คุ้มค่าและสบายกระเป๋า ซึ่งในเว็บบอร์ดต่างๆ ล้วนมีข้อมูลท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ข้อเสียคือ ข้อมูลที่เจอใน Search Engine อาจเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่หลายปีก่อน ซึ่งข้อมูลท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ต้องอัพเดตปีต่อปี บางทีไปมาเมื่อไม่กี่เดือนตอนนี้เปลี่ยนใหม่แล้ว

ดังนั้น จึงต้องค้นหาในเว็บไซต์ที่มีกระทู้อัพเดตที่สุดเป็นหลัก อย่างเช่นในโต๊ะ Blueplanet และจะใช้ Smart Search ค้นหาข้อมูล ซึ่งจะอัพเดตกว่ามาก รวมไปถึงเว็บไซต์อื่นๆ ค่อยๆ ค้นหาข้อมูลโดยดูวัน/เดือน/ปีที่โพสต์ แม้ว่าจะใช้ไม่ได้กับทุกกรณีแต่ก็เป็นวิธีการที่ทำให้ได้ข้อมูลอัพเดตขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจต้องดูจากเว็บไซต์การท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้นๆ ประกอบกันไปด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่นจะมีเว็บไซต์ที่รวมข้อมูลการท่องเที่ยวแบบล่าสุดอัพเดตให้

หมอยุ่ง อธิบายว่า สิ่งสำคัญในการเดินทางของทุกคนคือ บัตรโดยสารและที่พัก ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของทริปเดินทาง ดังนั้น การจองตั๋วหรือห้องพักราคาโปรโมชั่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ข้อมูลข่าวสารและโปรโมชั่นต่างๆ จาก 2 ช่องทางคือ โต๊ะ Blueplanet ซึ่งสมาชิกช่วยกันอัพเดตโปรโมชั่นมากมาย รวมไปถึงการกด Like แฟนเพจของสายการบิน หรือแฟนเพจที่เกี่ยวกับการแจ้งโปรโมชั่นต่างๆ ทำให้รู้โปรโมชั่นเด็ดๆ ก่อนใคร

นอกจากสายการบินแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับโรงแรมซึ่งมีเคล็ดลับมากมาย อย่างเช่น ข้อมูลจากกระทู้ "คุยสบายฯ" ในโต๊ะ Blueplanet จะเป็นกระทู้ที่พูดถึงเรื่องโรงแรมและส่วนลดต่างๆ โรงแรมที่ได้พักอย่างถูกเหลือเชื่อก็มาจากกูรูที่นี่

Application สำหรับคนชอบเดินทาง
หลายเว็บไซต์ได้มีการสร้าง Application บนโทรศัพท์มือถือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน สายการบินจองผ่านมือถือ และเช็กอินได้ง่ายๆ อย่างเช่น นกแอร์แค่แสดงบอร์ดดิ้งพาสบนโทรศัพท์มือถือก็ขึ้นเครื่องได้เลย หรือเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาโรงแรมอย่าง Hotelscombined.com ก็สามารถรู้ได้ว่าจองโรงแรมนี้ผ่านเจ้าใดได้ราคาดีสุด และอาจจะค่อยใช้ App ของที่อื่นในการจองห้องพักต่อไป เพราะบางเจ้าก็สามารถจองก่อนได้เลยโดยยังไม่ต้องชำระเงินทันที

อีก Application ของคนไทยที่ชอบมากคือ ThaiFlight บน iPad ซึ่งสามารถเปรียบเทียบค่าโดยสารของแต่ละสายการบินในช่วงระยะเวลาเดียวกัน รู้ว่าจองวันนี้ สายการบินใดคุ้มสุด ไม่ต้องเสียเวลาไล่เปิดเว็บไซต์ทีละสายการบิน ใครที่มี iPad ก็สามารถใช้โหมด Maps ในการค้นหาที่อยู่ และวางแผนจุดที่จะเดินทางไปได้ เช่น ระยะทางห่างเท่าไร ต้องใช้เวลานานเท่าใด แม้ว่าข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่ถูกต้องทีเดียว แต่ก็เป็นตัวที่ช่วยเสริมความมั่นใจได้ไม่น้อย

เว็บไซต์โดนใจของคนชอบท่องเที่ยว
เมื่อไปเที่ยวมาเรียบร้อย หลายๆ คนอาจจะแชร์ภาพความประทับใจกับเพื่อนผ่านทางเฟซบุ๊ก แต่สำหรับคนที่ต้องการแบ่งปันเรื่องราว เพื่อหวังให้ผู้อ่านได้ความรู้และสามารถท่องเที่ยวตามได้เอง ก็มีเว็บบอร์ดหลายแห่งที่รวมกระทู้รีวิวมากมาย ได้แก่ Pantip.com, Trekkingthai.com เป็นเว็บฯ ที่ก่อตั้งมานานและรวมทริปแบบเที่ยวด้วยตนเองแนวลุยๆ ไว้พอสมควร, HFlight.net และอีกเว็บไซต์ที่จุดประกายในการท่องเที่ยวอยู่เสมอคือ เว็บบอร์ดของ KTC World (www.ktcworld.co.th) หลายกระทู้มีภาพถ่ายที่สวยงาม รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

จากบล็อกเกอร์กลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์
หมอยุ่ง เล่าถึงเว็บไซต์ HFlight.net ว่า ตอนเขาและเพื่อนๆ มีความเห็นว่าจะร่วมกันเปิดเว็บไซต์รีวิวสายการบิน และการท่องเที่ยวอื่นๆ ขึ้นมา โดยเขามีหน้าที่หลักในการสร้างเนื้อหาขึ้นภายในเว็บไซต์ และเพื่อนทำหน้าที่เว็บมาสเตอร์ดู แลระบบเว็บบอร์ดให้เสถียร รวมถึงการดูแลระบบให้เว็บไซต์สามารถติดอับดับการค้นหาบน Google จนขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง

หมอยุ่ง กล่าวเสริมว่า ในระยะแรกช่วงยังไม่มีรีวิว จึงต้องขออนุญาตนำรีวิวจากที่อื่นมาโพสต์ภายในเว็บไซต์ โดยเราทำกันมากกว่า 100 รีวิว พร้อมกับสร้างกิจกรรมเพื่อให้สมาชิกใหม่อยากที่จะโพสต์และแชร์ประสบการณ์ของตนเอง เช่น ใครเดินทางกับสายการบินแปลกๆ มาแชร์กัน โดยมีการโพสต์ขึ้นหน้าหลักเว็บไซต์ เพื่อดึงดูดความสนใจ เราใช้เวลากว่า 2-3 ปีกว่าเว็บไซต์จะเริ่มอยู่ตัวจนกระทั่งมีสมาชิกหลายๆ คนถือกำเนิดจากเว็บไซต์แห่งนี้ และเป็น Blogger หรือนักรีวิวที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ดี น่าสนใจ และสามารถเที่ยวตามได้เลย


"สำหรับนักเดินทางมือใหม่หรือคนชอบเดินทาง หากมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบคุ้มค่าราคาประหยัด สามารถเข้ามาเป็นแฟนเพจในเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/yoongvet ได้เสมอ" หมอยุ่ง ฝากทิ้งท้ายไว้สำหรับสาวกนักเที่ยว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook