วิธีคิดเพื่อช่วยครูข้างถนนพัฒนาเด็กเร่ร่อน

วิธีคิดเพื่อช่วยครูข้างถนนพัฒนาเด็กเร่ร่อน

วิธีคิดเพื่อช่วยครูข้างถนนพัฒนาเด็กเร่ร่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพประกอบ : ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล

"หมายเหตุ : ทั้ง 4 ไอเดียนี้ ไม่มีลิขสิทธิ์ สามารถนำไปใช้ต่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาต"

หน้าที่การรับผิดชอบสังคมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่ง แม้แต่ครีเอทีฟยังรวมตัวช่วยเหลือสังคมผ่านทักษะที่เขาถนัด แล้วอาชีพของคุณล่ะ คุณสามารถช่วยเหลือและพัฒนาเด็กเร่ร่อนผ่านวิธีใดได้บ้าง ไอเดียทั้งหมดบนหน้ากระดาษแผ่นนี้จะไม่มีประโยชน์เลยหากไม่มีผู้สานต่อ ค่าคงเหลือเพียงถุงกล้วยแขก แล้วคุณจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นหรือ

 


คุณกีรติ กีรติกานต์สกุล / Senior Designer / b|u|g studio
วิธีคิด : พัฒนาภาวะจิตใจของเด็กเร่ร่อน
"THE WHITE CANVAS"

แนวคิดที่จะช่วยเยียวยาภาวะทางจิตใจของเด็กเร่ร่อนที่เสียหายและบอบช้ำจากปัจจัยเหตุต่างๆ ถูกนำเสนอและถ่ายทอดภายใต้แนวความคิด "The white canvas" พื้นที่ เปรียบเสมือนหน้ากลางสมุดภาพระบายสีที่ว่างเปล่า รอให้มีการขีดเขียน แต่งแต้ม ระบายสีสันต่างๆ ลงไป โดยพื้นที่ส่วนนี้จะถูกสร้างขึ้นจากเฟรมแคนวาสสีขาวจำนวนมากเรียงต่อกันจนก่อเกิดเป็นผนัง จะมีลายเส้นที่ต่อกันเป็นรูปภาพ ดูไปก็คงไม่ต่างอะไรไปจากสมุดภาพระบายสีขนาดยักษ์ที่ยังไม่ถูกแต่งแต้มสีสันใดๆ ลงไป ตรงกลางมีกล่องขนาดใหญ่ที่บรรจุสีเทียนจำนวนมาก อยู่กลางพื้นที่รอให้เด็กๆ หยิบขึ้นมาระบาย โดยเชื่อว่าศิลปะจะเป็นตัวช่วยเยียวยาและบรรเทาความเครียดในจิตใจของเด็กเร่ร่อนลงได้ ก่อให้เกิดสมาธิและเด็กได้ระบายสิ่งที่ถูกเก็บกดอยู่ในใจผ่านทางภาพวาด สีเทียนและผืนผ้าใบ แทนการใช้คำพูด พร้อมทั้งเหล่าเด็กๆ ยังได้ช่วยกันลงสีตามผนังเฟรมแคนวาส ก่อให้เกิดการลดระดับ personal space ทำให้เกิดความใกล้ชิด การมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนสิ่งของโดยใช้วิธีการที่ถูกต้องโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยจะมีครูข้างถนนคอยสั่งสอนให้เด็กๆ ได้เกิดการเรียนรู้ที่จะไม่ใช้อารมณ์ ความก้าวร้าวเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ รวมไปถึงความรู้สึกถึงความสำเร็จครั้งแรกในการร่วมมือร่วมแรงทำสิ่งๆ หนึ่งพร้อมกับผู้อื่นให้สำเร็จลุล่วง โดยจะก่อให้เกิดการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น พร้อมกับลดพฤติกรรมก้าวร้าวลงไปในตัว โดยผลงานของเด็กๆ ที่เสร็จแล้วจะถูกกระจายออกไป ตั้งอยู่ในสถานที่ต่างๆ ที่เด็กเหล่านั้นรู้สึกถูกกีดกันทางสังคม อาทิเช่น ป้อมตำรวจ ห้างสรรพสินค้า เพื่อทั้งตัวเด็กเร่ร่อนเอง รู้สึกถึงจุดยืนในสังคม และประกาศตัวตนของตัวให้สังคมภายนอกได้รับรู้

 

คุณภาณุพงษ์ จิตรประทักษ์ / Director of art and design / be>our>friend studio
วิธีคิด : ส่งเด็กเร่ร่อนกลับบ้าน
"ทางแยก"

การตัดสินใจเลือกในจุดเล็กๆ ในทุกๆ เหตุการณ์ของชีวิต ส่งผลต่ออนาคตของเด็ก บางครั้งด้วยวัยวุฒิของเด็ก อาจใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ และนำไปสู่การเป็นเด็กเร่ร่อน และห่างไกลจากบ้าน

เราจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้มีทางเลือก แล้วรู้สึกว่าทางเลือกนั้นอบอุ่น จริงใจ ให้โอกาสที่เปิดให้กับพวกเขา

กิจกรรมที่จะสร้างขึ้นจะพูดถึงการจำลองชีวิต โดยมีทางเลือกให้เด็กเลือก ซึ่งในแต่ละทางเลือกก็จะส่งผลต่อทางเลือกในขั้นต่อๆ ไป จนถึงฉากสุดท้าย ผ่าน digital media ในรูปแบบของ multimedia โดยจำลอง opportunity choice ของชีวิต

สมมุติฐานที่เรามีนั้นคือการที่ตั้งคำถามว่าหากมีโอกาสมากกว่านี้ เด็กเหล่านี้เข้าถึงโอกาสมากกว่านี้ และเด็กเข้าใจถึงคุณค่าของแต่ละโอกาสที่เลือกได้ เด็กเร่ร่อนน่าจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ การที่ชุมชนบ่อนไก่มีทางเลือกน้อย เด็กก็จะเลือกที่จะวิ่งขายยา หรือเร่ร่อน เปรียบเทียบกับชุมชนนางเลิ้งที่แม้จะขายกล้วยแขกผิดกฎหมายอยู่บ้าง แต่ก็มีทางเลือกในการจะขายกล้วยแขกได้

ขั้นตอนและวิธีการ
เริ่มต้นเล่นเกมส์จะมีทางเลือกให้เลือก 2 ทาง เมื่อเลือกแล้วก็จะมีทางเลือกให้เลือกขึ้นมาอีกเป็นแบบนี้ประมาณ 4-6 ก็จะเจอตอนจบที่บอกอนาคตของผู้เลือก ซึ่งในแต่ละครั้งที่เลือกจะใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่องถึงผลที่เกิดจากการเลือกโดยให้เกิด emotional และเนื้อเรื่องจะเป็นเรื่องอีกมุมหนึ่งที่เด็กเร่ร่อนมองไม่เห็น

คุณสรพจน์ บุญใบหยก / Senior Creative / Index Creative Village
วิธีคิด : พัฒนาอาชีพ
"WRITE โอกาส"

เพราะ "ไร้โอกาส" พวกเขาจึงยังต้องเป็นเด็กเร่ร่อนอยู่ในวันนี้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำก็คือการให้โอกาส เพื่อให้เขาได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมภายใต้ชื่อโครงการ "WRITE โอกาส"

แนวคิดของโครงการ
ต่อยอดมาจาก ครูข้างถนน โดยเล็งเห็นว่าการที่ครูข้างถนนหลายๆ ท่าน ที่ได้ทำการสอนหนังสือให้แก่เด็กเร่ร่อน

นั้นยังมีจำนวนไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นการเพิ่มจำนวนของครูข้างถนนให้มีจำนวน และความหลากหลายมากขึ้น ผลที่จะได้รับก็คือ เด็กๆ เร่ร่อนเหล่านั้นจะมีโอกาสได้เรียนรู้ และสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ในด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาส และทางเลือกสำหรับอนาคตที่ดีมากกว่าเดิม

รูปแบบกิจกรรม
จัด event เป็นแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบของ "class พิเศษ" โดยเชิญ "นักเขียน" แต่ละสาขาอาชีพ มาร่วม "WRITE โอกาส" ให้แก่เด็กๆ เหล่านั้นในโรงเรียน ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยมีการติดต่อไปยังครูข้างถนนท่านต่างๆ ให้นำเด็กๆ มาเข้าร่วมโครงการ และทำกิจกรรมร่วมกับเหล่า "คุณครู" ท่านอื่นๆ จากสาขาต่างๆ ได้แก่ นักเขียนหนังสือ นักเขียนเพลง นักเขียนบทภาพยนตร์ นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยรูปแบบการสอนนั้น จะเป็นกิจกรรมให้ความรู้ควบคู่ไปกับความบันเทิง

นักเขียนเพลง มาเล่นดนตรีให้ฟัง และให้เด็กๆ ได้มีโอกาสฝึกเขียนเพลงง่ายๆ

นักเขียนหนังสือ นำหนังสือของนักเขียนมาบริจาคให้เด็กๆ ได้อ่าน และสอนให้เด็กๆ ฝึกเขียนนิทาน

นักเขียนภาพยนตร์ นำหนังมาฉาย / อธิบายขั้นตอนการถ่ายทำ / โชว์เบื้องหลังในการทำหนังหนึ่งเรื่อง

นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น เช่น การเขียนโปรแกรมพิเศษเป็น

เกมส์สนุกๆ ให้เด็กๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสลองเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์หรือการสอนการพิมพ์ให้เด็กเหล่านี้ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างและแนวคิดในเบื้องต้นของโครงการนี้ ที่มีจุดประสงค์ในการเปิดโอกาสให้เด็กเร่ร่อนเหล่านั้น ได้ทำกิจกรรมที่แปลกใหม่ สนุกสนาน เป็นการเปิดจินตนาการ และสร้างช่วงเวลาที่ดีแก่พวกเขา อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในสาขาอาชีพต่างๆ ในอนาคต ด้วยการเรียนรู้ใน class พิเศษกับคุณครูจากหลากหลายอาชีพ ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีคนอีกมากมายพร้อมจะมาเป็นครูที่ใส่ใจ ดูแลและพาพวกเขาก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ดีร่วมกัน

 


คุณกรณฑ์ทอง ตนอารีย์ / Managing Director / ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์
คุณณัชชา ศศิมณฑล / Creative / ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์
วิธีคิด : พัฒนาทักษะชีวิต
"Play and Learn = เพลินใจ เพลินคิด เพลินรู้ มีทักษะคิด ใช้ชีวิตให้เป็น"

แนวคิดของโครงการ
ทักษะชีวิต Life skill แปลตรงตัวหมายถึง คุณลักษณะ หรือความสามารถเชิงสังคม จิตวิทยา (Psychosocial competence) ที่เป็นทักษะภายในที่จะช่วยให้บุคคลสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต มีสูตร สั้น ง่ายใช้ได้ทุกช่วงเวลาของชีวิต ใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานการณ์ "3H+c" : Heart - Head - Hand + Challenge

รายละเอียดของกิจกรรม
จัดกิจกรรม : Play and Learn = เพลินใจ เพลินคิด เพลินรู้ มีทักษะคิด ใช้ชีวิตให้เป็น ผ่านแนวคิด "3H+c" : Heart - Head - Hand + Challenge โดยเชิญผู้ที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัคร (อาสาพาเพลิน) เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาส ทุกสุดสัปดาห์พวกเขาจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รู้จักอดทน เสียสละ มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกัน สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นแนวทางในการเลือกทางเดินชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม

เพลินใจ :
คุยกันเพลิน เพลิน กับละครบทบาทสมมติ ที่จะมาสื่อสารให้น้องได้เข้าใจตนเอง ค้นหาตนเอง ผ่าน "ลานเพลินใจ" สร้างความเข้มแข็งทางใจ สร้างความรู้สึกดีต่อตนเอง เชื่อมั่นใจตนเอง มองโลกแง่ดี สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

เพลินคิด :
คิดกันให้เพลิน ให้ใจผสานความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มศักยภาพให้แก่ตนเอง ผ่านกิจกรรม "เพลินคิด วาดจินตนาการ" ให้อาสาสมัครสอนน้องๆ วาดภาพ และระบายสีบนโปสการ์ด ภาพความสุข หรือความฝันของน้องๆ ให้กล้าวาด กล้าคิด กล้าแสดงออก

เพลินรู้ :
พาน้องไปเพลินรู้ กับกิจกรรม "ทัศนศึกษาพาเพลิน"
- สนุกสนานเพลินรู้ กับศิลปิน ชลิต นาคพะวัน ในหัวข้อ "ศิลปะในโลกใบเล็ก"
- เล่นพร้อมเรียนรู้ ที่ "พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร" แหล่งเรียนรู้ที่ช่วยเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของน้องๆ เปิดมุมมองใหม่ในการมองเห็นตัวเอง ผู้อื่น และสิ่งรอบตัว ด้วยกิจกรรมที่น้องๆ เยาวชน
สามารถสัมผัส และปฏิบัติทดลองด้วยตัวเอง เพื่อสร้างประสบการณ์สร้างสรรค์ทางความคิดได้ในอนาคต

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook