"ผมคงตายในคุกไปแล้ว หากไม่ได้รับโอกาสที่สองในชีวิตจากมวย"

"ผมคงตายในคุกไปแล้ว หากไม่ได้รับโอกาสที่สองในชีวิตจากมวย"

"ผมคงตายในคุกไปแล้ว หากไม่ได้รับโอกาสที่สองในชีวิตจากมวย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"คุก" สถานที่ปลอดอิสรภาพ ที่ใช้สำหรับจองจำผู้ต้องหา, นักโทษ เพื่อแยกกลุ่มคนเหล่านี้ ออกจากผู้คนทั่วไปในสังคม… ด้านในเรือนจำ จึงเปรียบเหมือนแดนสนธยา ที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

แม้มาตรการลงโทษผู้ต้องขัง จะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในทุกๆปี มีนักโทษมากมายได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำ แต่ใช่ว่าทุกคนที่ก้าวพ้นประตูรั้วเหล็กออกไป จะมีงานทำหรือเป็นที่ยอมรับในสังคม

"โอกาส" ในการได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และเริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่นอกคุก เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับ ผู้พ้นโทษทุกคน 

เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า การปิดโอกาสทางสังคมในบางครั้ง อาจนำพาให้ใครบางคน หวนกลับคืนสู่วงจรเดิม และกลายเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำซาก ในทางตรงข้าม โอกาสเพียงเล็กน้อยที่ผู้คนหยิบยื่นให้ อาจเปลี่ยนชีวิตนักโทษบางคนไปสู่ทางที่ดีเลยก็ได้

 

เอ็ม - เฉลิมพร สวัสดิ์สุข ในอดีต คือ นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ผู้เคยพรากชีวิตผู้อื่นถึงแก่ความตายมากกว่า 3 ครั้ง นั่นทำให้เขาคิดว่า คุก คงเป็นสถานสุดท้าย ที่เขาจะได้จบชีวิตที่นี่ 

เพราะเขาคงไม่ได้ออกจากเรือนจำ จากความผิดร้ายแรงและพฤติกรรมของตัวเอง แต่โอกาสจากกีฬามวย ได้พลิกชีวิตของเขา และยิ่งทำให้ เฉลิมพร เข้าใจว่า "โอกาส" สำคัญมากแค่ไหน สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่เลวร้าย ให้กลับมามีที่ยืนในสังคม

แดน 1 : ก่อนวันพิพากษา

"ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ประหารชีวิต นายเฉลิมพร สวัสดิ์สุข"

1

เสียงจากบนบัลลังก์พิจารณาคดี ที่แทบจะเหมือนวันสิ้นโลกของ นักโทษชาย เฉลิมพร สวัสดิ์สุข เด็กหนุ่มวัยเพียง 19 ปี จากจังหวัดกำแพงเพชร 

เขาถูกนำตัวส่งเข้าแดนประหาร เรือนจำบางขวาง ที่มีห้องขังนับ 10 ห้อง ซึ่งต่างไม่มีใครรู้ชะตากรรมว่า วาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึงวันใด เพราะทุกครั้งที่มีการไขกุญแจห้องขัง นั่นหมายถึง หนึ่งชีวิตนักโทษ จะสิ้นสุดลง เมื่อถูกนำตัวไปยิงเป้า ณ แดนประหาร 

"ผมติดคุกตอนปี 42 ตอนนั้นผมอายุ 19 ปี ยังเด็กอยู่เลย แต่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในแดนประหารถึง 45 วัน ผมไม่รู้ว่าจะถูกเอาไปยิงเป้า (บทลงโทษสมัยนั้น) วันไหน และใครจะเป็นรายต่อไป มันคือจุดที่ต่ำสุดของชีวิตแล้ว"

ความผิดของ เฉลิมพร คือ การรับงานฆ่าผู้อื่น แม้เหยื่อรายนั้นจะรอดชีวิต แต่เขาก็ไม่อาจหนีพ้นเงื้อมมือของกฎหมาย เฉลิมพรถูกจับกุมตัวที่บ้านเกิด จ.กำแพงเพชร หลังหนีไปกบดานอยู่บนเขา ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ นานกว่า 1 ปี พร้อมผู้ร่วมลงมืออีกราย 

เบื้องหลังและแรงจูงใจให้เขาตัดสินใจก่อเหตุฆ่าผู้อื่น ไม่ใช่ความแค้นส่วนตัว แต่มาจากการติดยาเสพติด ที่พาเขาถลำตัวเข้าไปอยู่ในวงโคจรนี้   

เฉลิมพรเล่าย้อนกลับไปว่า พ่อกับแม่ของเขาแยกทางกันตั้งแต่เด็ก ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน ทำให้ปู่กับย่ารับหลานชายคนนี้มาเลี้ยงดู เฉลิมพรถูกส่งฝึกวิชามวยไทยเพราะปู่ชอบในกีฬานี้ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ แม้เขาจะไม่ชอบมวยไทยเลยก็ตาม

ต่อมา เฉลิมพรได้เข้ามาชกมวย และฝึกซ้อมอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ จนถึงอายุ 17 ปี เขาได้ออกจากค่าย และเลิกต่อยมวยไทยแบบเด็ดขาด 

"ผมเริ่มเที่ยว กินเหล้า จากนั้นเพื่อนชวนให้ลองเสพยา พอผู้ใหญ่จับได้ ผมก็ออกจากค่าย มาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ เสพยาเอง รับยามาขาย ไปขนยา ตอนนั้นมีเงินใช้เยอะมาก วันหนึ่งมีแน่ 4-5 หมื่นบาท แต่เป็นเงินสด เอาฝากธนาคารไม่ได้ ต้องใส่ไหปลาร้าฝังดิน ผมใช้เงินหมดไปกับการกิน เที่ยว เล่น"

 2

"จนทางบ้านโทรมา บอกว่าแม่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ต้องฟอกไตทุกเดือน จังหวะนั้นมีคนจ้างผมให้ไปยิงคน ที่ จ.ลำปาง ผมรับงานเขามา ได้เงินมา 300,000 บาท แบ่งให้แม่ครึ่งหนึ่ง น่าจะพอรักษาท่านได้ ผมจึงไปรับงานยิงเขา ปรากฏว่าเขาดันไม่ตาย"

"ผมมีเงิน มีบ้านก็จริง แต่มันอยู่ไม่ได้เลย ต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ บางครั้งต้องไปนอนข้างถนน นอนในเล้าไก่ ชีวิตไม่มีความสุขเลย หลับตาลงบางครั้งยังนึกถึงคนที่เราไปพรากชีวิตเขา"

"มีงานหนึ่ง ก่อนหน้าคดีที่ผมถูกจับ ผมได้รับจ้างให้ไปยิงผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ผมรู้จัก ผมขอให้เขาหนีไป เพราะผมไม่อยากทำ แต่เขาบอกผมว่า ‘กูไม่หนี มึงจะทำอะไรกู มึงก็ทำเลย’ ผมลั่นไกยิงเขาเลย พี่ (คำที่เฉลิมพร เรียกทุกคนไม่ว่าจะอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า) เชื่อไหม ลูกกับเมียเขาเกาะขาผมร้องไห้ ผมเดินข้ามศพนั้น มันเป็นภาพที่ติดตาผม เพราะผมไม่ได้อยากฆ่าเขา แต่ผมต้องใช้เงิน และในตอนนั้นผมยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดี"

กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคอมมานโดกว่า 30 นาย บุกจับกุมเฉลิมพร ในวัย 19 ปี หน้าบ้านพักของตนเอง ขณะกำลังจะขี่รถมอเตอร์ไซค์เพื่อเตรียมตัวไปกบดานต่อ หลังกลับมาเยี่ยมครอบครัว และอาศัยอยู่บ้านเป็นเวลากว่า 4-5 วัน 

เฉลิมพรได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิต เขาถูกนำตัวจากเรือนจำจังหวัดกำแพงเพชร ย้ายมาอยู่บางขวาง ก่อนถูกส่งตัวต่อไปยังเรือนจำคลองเปรม เนื่องจากโทษลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งหากตีความตามโทษที่เขาได้รับก็เท่ากับว่า… ลมหายใจที่เหลืออยู่ต่อจากนี้ เขาจะได้ใช้มัน แค่ในกำแพงคุกเท่านั้น 

แดน 2 : ความมืดมิด

"ชีวิตผมตอนนั้นไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ผมปฏิญาณกับตัวเองว่า ผมขอถวายชีวิตเพื่อราชทัณฑ์ เพราะชีวิตข้างนอกของผมมันจบแล้ว ผมคงไม่มีวันได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป เพราะโทษผมมันร้ายแรงมาก ผมคิดว่าผมคงตายในคุก ผมก็เลยดื้อให้สุด เกเรตั้งแต่นั้น"

สังคมในคุก เป็นพื้นที่สำหรับการเอาตัวรอดของเหล่าคนที่ถูกตัดสินให้มีความผิด มีปะปนทั้งคนที่ผิดพลาดโดยเจตนา, ไม่เจตนา, ผู้บริสุทธิ์ และผู้ที่ทำผิดซ้ำซาก เฉลิมพรอธิบายว่า การเอาตัวรอดในคุกนั้น มีสองวิธีหลักๆ คือ หนึ่ง "ยอม" ให้ถูกเอาเปรียบ หรือ สอง "เกเร" เพื่อไม่ให้ใครเอาเปรียบ

เฉลิมพรเลือกวิธีการที่สอง เขาใช้ความรุนแรงเข้าจัดการทุกปัญหา โดยถือหลักว่า จะไม่รังแกคนที่สู้ไม่ได้ แต่จะทำเฉพาะขาใหญ่ หรือพวกที่ไปรังแกคนอื่น เขาถูกย้ายเรือนจำถึง 6 ครั้ง ไล่มาตั้งแต่ บางขวาง, คลองเปรม, พิษณุโลก, สิงห์บุรี, เขาบิน (จ.ราชบุรี), อยุธยาฯ และทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง (จ.ปทุมธานี) เคยก่อเหตุแทงคนตายในคุกถึง 3 ครั้ง 

คิดง่ายๆ ในคุกจะมีการแบ่งนักโทษทั้งหมด 6 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นเยี่ยม, ชั้นดีมาก, ชั้นดี, ชั้นกลาง, ชั้นเลว และชั้นเลวมาก เฉลิมพร สวัสดิ์สุข อยู่ในชั้นลำดับสุดท้าย ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความมืดมน ไร้ทางออก เพราะศักดิ์ศรีคำว่า "พ่อบ้าน" (คำเรียก นักโทษที่ดูแลผู้ต้องขังในจังหวัด, พื้นที่ตนเอง) ที่ติดตัวเขา

"พี่ไปเช็คประวัติผมได้เลย ผมสายดำมาตลอดชีวิต เวลาโดนย้ายไปไหน ชื่อเสียงผมจะไปก่อนตัวเสมอ คนในคุกจะรู้จักผมในชื่อ ‘เอ็ม นักมวย’ นิสัยผม ผมไม่กลัวนักเลงหัวไม้ ใหญ่มาจากไหนก็ไม่กลัว ผมกลัวอย่างเดียวคือกลัวคนดี ผมทำเขาไม่ลง ผมจะลงมือทำเฉพาะคนที่เลวๆเหมือนกับผม" เฉลิมพร เริ่มเล่า

 3

"ในคุกจะมีการแบ่งนักโทษหลายระดับ ถ้าเป็นชั้นเยี่ยม ในหนึ่งเดือนจะได้รับการลดโทษ 4-5 วัน แต่ผมเป็นนักโทษที่อยู่ชั้นเลวมากมาโดยตลอด อภัยโทษ 7 ลูก ผมโดนตีตกหมด พี่คิดดูนะ ผมอยู่ข้างในคุก ผมยังรับจ้างแทงคนเลย เพื่อหาเงิน จนได้เป็นพ่อบ้านกำแพงเพชร ดูแลนักโทษ 2,000 คนในแดน ใครมีเรื่องเดือดร้อน โดนรังแก ต้องมาหาผม"

เอ็ม นักมวย ยังคงใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และเป็นเกราะกำบังที่ทำให้คนไม่กล้ามีเรื่องกับเขา แลกกับการต้องใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดระแวง ที่อาจถูกโดนเอาคืนได้ทุกเมื่อ เขาไม่มีทางรู้ว่า วันหนึ่งเขาอาจถูกแทงตายในคุก เหมือนกับที่เขาเคยทำกับคู่อริ

ชีวิตของเขาจะว่าไปเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้ายบางๆ และโทษทัณฑ์ที่ได้รับมีแต่จะเพิ่มขึ้นจากการก่อเหตุที่เขาทำในคุก ท้ายที่สุด เขาถูกลงโทษสถานหนัก "ขังรู" เป็นเวลา 3 เดือน 6 วัน และอาจเรียกได้ว่านี่คือช่วงเวลาที่ชีวิต เฉลิมพร สวัสดิ์สุข มืดมนจนไม่เห็นแสงสว่างอย่างแท้จริง

"มีเหตุการณ์หนึ่ง พ่อบ้านจังหวัดเพชรบูรณ์ โดนแทง 43 รู พรุนทั้งตัว แต่ไม่ตาย ตอนที่เขาหิ้วตัวลงมา แกบอกผมว่า ‘เอ็ม แก้ (แค้น) ให้ผมด้วย’ ผมกลับมาคิดอยู่ 2 วัน ถ้าผมไม่ทำ ผมเสียหมาเลยนะ ตอนเด็กบ้านผมมีเรื่อง เขาก็เคยพาเด็กบ้านเขามาช่วยเด็กเราไว้"

"เช้าวันรุ่งขึ้น ระหว่างที่กินกาแฟ ผมไปแทงคอ แทงตัว ไอ้คนนั้น ประมาณ 8 รู แต่เชื่อไหมว่า เขาต่อยผมคืนกลับมา 8 หมัด ทั้งที่เป็นคนตัวเล็กมาก จนผมต้องสักชื่อเขาไว้ เพราะหัวใจเขาสุดยอดมาก ผมไปขอขมาศพเขา แล้วบอกว่า ‘ห้าว ถ้าวันนั้นเพื่อนวิ่งหนี เพื่อนรอดนะ’"

 4

"ชีวิตผมไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ผมดื้อมาก ถึงขนาดโดนใส่โซ่ตรวน 13 ข้อ นานถึง 1 ปี 6 เดือน ถอดมาได้ 2-3 วัน ก็โดนใส่อีก วนอยู่อย่างนั้น"

"แต่ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการขังรูแล้ว ผมโดนขังรูอยู่ 3 เดือน 6 วัน พี่ลองนึกภาพนะ ห้องขังรู มันจะอยู่ในสนามฟุตบอล มีปล่องเหล็กเล็กๆ ผมต้องเข้าอยู่ในนั้น พร้อมกับโซ่ตรวน 9 ข้อ เวลานอนก็ต้องนั่งกอดเข่าหลับ มีน้ำ 3 ขวด กระป๋องสี 1 ใบ สำหรับไว้ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ มีช่องเล็กๆแค่นี้ (ยกมือขึ้นมาทำเป็นวงกลม) ไว้สำหรับมอง สัปดาห์หนึ่ง จะถูกเรียกขึ้นมาตากแดดประมาณ 10 นาที แต่เหมือนดวงตาเราไม่สู้แสงแดดจ้าๆ ก็มองอะไรไม่ค่อยเห็นหรอก"

ตอนอยู่ในห้องขังรู คุณคิดถึงอะไร เราถามเขา? "ตอนแรกคิดว่า ออกไปได้ก็จะดื้อและเกเรเหมือนเดิมแหละ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มเปลี่ยนความคิด"

แดน 3 : แสงสว่าง

วันหนึ่งในระหว่างที่เขาถูกลงโทษอยู่ในห้องขังรู สายตาของเฉลิมพรก็มองลอดผ่านรู เขามองเห็นเพื่อนนักโทษหลายราย กำลังเดินออกจากเรือนจำเพื่อกลับบ้าน เนื่องจากเป็นวันปล่อยตัวนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 

นี่เป็นครั้งแรกๆ ที่เขาถามตัวเองอย่างจริงจังว่า "สิ่งที่เขาทำลงไปคุ้มค่าแล้วหรือยัง?" และจะหยุดมันได้เมื่อไร แม้เขาจะไม่รู้คำตอบในคำถามนั้น แต่แสงสว่างเพียงเล็กน้อยที่เขาเห็นในวันนั้น ก็เริ่มจุดประกายให้เขาฉุกคิดขึ้นมาได้บ้าง 

"มีอยู่วันหนึ่งที่ผมถูกเอาตัวมาตากแดด ผู้คุมกองงานมวยฯ เดินมาหาผม ถามว่า ‘เอ็ม มึงยังต่อยมวยไหวไหม?’ มวยอะไรครับหัวหน้า ผมบอกเขาไปอย่างนี้ ผู้คุมตอบมาว่า ‘แดนสามัคคีเกมส์ เอาไว้มึงออกจากรู และถอดตรวนแล้ว ค่อยมาคุยกับกู’"

 5

เฉลิมพรกลับมาคิดทบทวนจากคำพูดที่ผู้คุมฯยังมองเห็นบางอย่างในตัวเขา นั่นคือความสามารถด้านกีฬาการชกมวย แม้เขาจะหลงลืมและไม่เคยคิดนึกถึงมัน ประกอบกับร่างกายที่เคยผ่านอาการบาดเจ็บ มือหัก 2 ครั้ง, หัวเข่าแตก 2 ข้าง เพราะถูกลงโทษจากพฤติกรรมที่แข็งกร้าวของเขา

แต่โอกาสครั้งนี้ น่าสนใจเกินกว่าจะปล่อยหลุดมือได้ นักโทษชาย เฉลิมพร เริ่มกลับมาซ้อมมวย หลังร้างราไปกว่า 10 ปี โดยใช้เวลาปรับสภาพนานถึง 3 เดือน 

"ผมคิดว่าตัวเองควรหยุดได้แล้ว เราอยู่นิ่งๆ ให้คนเกรงใจดีกว่า ตั้งใจซ้อม และชกให้ดีที่สุด ผมต่อยมวยสากลสมัครเล่นในแดนสามัคคีเกมส์ ได้เหรียญทอง 2 ปีซ้อน จากนั้นผมได้เป็นตัวแทนกรมราชทัณฑ์ ไปต่อยชิงแชมป์ประเทศไทย ได้เป็นแชมป์มา 3 ปี ควบคู่กับการชกมวยไทย ที่ผมได้เข็มขัดมาอีก 4 เส้น"

"การต่อยมวยทำให้ผมได้ออกมาข้างนอกเรือนจำ เจอแม่ พี่สาว ได้กินข้าวโต๊ะเดียวกัน รู้สึกเป็นอิสระ และมีความสุขมาก จนวันหนึ่งผมไปต่อยชนะน็อก นักมวยสร้างของค่ายสิงห์วังชา ตั้งแต่ยกแรก ทางเสี่ยนริศ สิงห์วังชา ถามผมว่าเหลือโทษอีกกี่ปี? ท่านอยากปั้นให้ผมต่อยมวยสากลอาชีพในระดับโลก"

ในวัยที่อายุเข้าสู่เลข 3 เฉลิมพรกลับมีความรู้สึกเหมือนเด็กหนุ่มอีกครั้งที่ได้เห็นแสงสว่างในชีวิต จากโอกาสที่ผู้ใหญ่มากมายในกรมราชทัณฑ์และวงการมวยหยิบยื่นให้เขาในการเป็น นักมวยสากลอาชีพ 

เฉลิมพร สวัสดิ์สุข กลายเป็นนักโทษคนแรกที่ได้รับการพักโทษเป็นกรณีพิเศษ ในฐานะนักโทษที่สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จด้านกีฬาแก่กรมราชทัณฑ์ ทำให้เขาได้ปล่อยก่อนกำหนดถึง 5 ปี รวมเวลาที่ต้องโทษ 13 ปี 6 เดือน จนทำให้ในเวลาต่อมา มีนักโทษมากมายเดินตามรอยเขาในการชกมวยเพื่อสร้างโอกาสแก่ตัวเอง 

 6

"ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ติดมาด้วยกัน ชื่อ หรั่ง อัครินทร์ ปูรี ที่เป็นช่างทำกีตาร์แฮนด์เมด และเคยออกรายการเจาะใจ หรั่งเป็นคนที่เกเรมาก โทษเขา 10 ปี แต่เขาติดถึง 9 ปี ถ้าเขาทำตัวดีๆ โทษแบบนี้ 4 ปี ก็ออกแล้ว เรื่องบางเรื่อง หรั่งผ่านอะไรมาหนักมากกว่าผม แต่หรั่งยังกลับตัวได้ เขาก็เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากกลับตัว"

"ตอนนั้นใจผมเริ่มอยากกลับบ้าน ผมจึงตั้งใจซ้อมมาก ผมยอมรับว่าทุกครั้งที่ขึ้นไปต่อย ผมกลัวแพ้ จากคนที่ไม่เคยกลัวอะไรเลย เพราะชีวิตผมตอนนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมวยแล้ว ทุกคนที่รู้จักผมข้างในคุก ไม่มีใครคิดว่าผมจะรอดออกจากคุกได้ แม้แต่พี่โอ๋ ศิริมงคล ที่ติดด้วยกัน เขายังบอกเลยว่า ‘ตอนนี้เอ็มเหมือนคนที่ตายแล้วเกิดใหม่นะ’"

"มันจริงอย่างที่พี่โอ๋พูด เพราะผมเกเรมาก แต่ผมได้รับโอกาสให้กลับตัวกลับใจ ได้ออกมาต่อยมวย พี่นึกภาพออกไหม คนที่เคยอยู่จุดต่ำสุดของชีวิต แต่วันหนึ่งได้ขึ้นมายืนร้องเพลงชาติไทย บนผืนผ้าใบในต่างประเทศ มันน่าดีใจแค่ไหน"

 7

ปลายปี 2556 เฉลิมพร สวัสดิ์สุข พ้นโทษออกมาขึ้นชกชิงแชมป์มวยสากลอาชีพ สถาบัน ABF (สหพันธ์มวยแห่งเอเชีย) ในชื่อ "เฉลิมพล สิงห์วังชา" ในไฟต์นั้น เขาเอาชนะน็อก รอนเนล เอสพาราส ครองเข็มขัดแชมป์เอเชียรุ่นเวลเตอร์เวท คนแรกของสถาบันนี้ 

เขาสามารถป้องกันแชมป์ได้อีกถึง 8 ครั้ง ก่อนสละเข็ดขัด เพื่อขยับชกในรุ่นที่น้ำหนักมากขึ้น รวมถึงต่อยมวยไทย

แดน 4 : เพราะชีวิตต้องการโอกาสที่สอง 

เฉลิมพร สวัสดิ์สุข กลับมามีที่ยืนในสังคม พร้อมทั้งเสียงชื่นชมในฐานะนักโทษต้นแบบ ที่กลับตัวกลับใจหาเลี้ยงชีพด้วยการชกมวย

อาจเพราะอายุที่มากขึ้น บวกกับสภาพร่างกายและจิตใจที่ถดถอยลงไป ทำให้ เฉลิมพร สวัสดิ์สุข ไม่มีรายการชก และแขวนนวมไปโดยปริยาย เขากลายเป็นคนว่างงาน ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ เคยแม้กระทั่งไปสมัครเป็นยามรักษาความปลอดภัย แต่ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะสักลายเต็มตัว ท้ายที่สุด เฉลิมพร จึงเลือกหวนกลับสู่วงจรยาเสพติดอีกครั้ง

"ผมเลิกชกมวยไป 3 ปี พอไม่ต่อยมวย ก็ไม่มีเงินใช้ จะมีวิธีไหนที่ได้เงินใช้ง่ายที่สุดล่ะ? ผมเลยกลับไปวงจรเดิมอีกครั้ง พี่เชื่อไหม ช่วงที่ผมติดยาหนักๆ ผมดูดยาบ้าทั้งวันทั้งคืน ผมไม่ปีนเสาไฟฟ้าก็ดีแค่ไหนแล้ว อยู่แต่ห้อง ไม่ออกไปไหน ไม่หลับไม่นอน เป็นอย่างนั้นอยู่ 2 เดือน ตอนนั้นเสพด้วย ค้าด้วย"

"จนมาเจอแฟนคนนี้ (คุณจ๋า) เขาไม่รู้มาก่อนว่าผมกลับไปติดยา มาจับได้ตอนหลัง เขายังอยู่ข้างผม ขอร้องให้ผมเลิกยาเสพติด อยากให้ผมเริ่มต้นชีวิตใหม่ เขาจะยอมทิ้งทุกอย่าง หน้าที่การงานที่มั่นคง เพื่อนฝูง รวมถึงทางบ้าน ที่เขาไม่ยอมรับในตัวผม เพื่อให้โอกาสผมได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง"

 8

คู่ต่อสู้ของเฉลิมพรในเวลานั้น ไม่ใช่นักมวย แต่เป็นสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจของตัวเอง โดยมีภรรยาคอยอยู่เคียงข้าง และดูแลเขาในช่วงเวลาที่เปราะบางของชีวิต 

เฉลิมพรตัดขาดจากยาเสพติดทุกประเภท แม้แต่บุหรี่ กลับมาฟิตซ้อมร่างกาย (ในตอนแรก ภรรยาเป็นคนจับเป้าเตะให้ เพราะไม่มีเงินจ้างเทรนเนอร์) และหาเลี้ยงชีพด้วยการขายไส้อั่วตามตลาดนัดกับภรรยา รวมถึงรับจ้างทำงานทั่วไป ควบคู่กับการเดินสายไปขอโอกาสจากผู้ใหญ่ เพื่อหารายการลงชกมวยอีกสักครั้ง 

"ชีวิตคู่ตอนนั้นเราสองคนเริ่มต้นจาก 0 คือไม่มีอะไรติดตัวเลย เหลือแค่ลมหายใจ ผมเคยคิดจะฆ่าตัวตายนะ แต่เขาขอให้ผมสู้อีกสักตั้ง เราสองคนทำทุกอย่างที่เป็นอาชีพสุจริต ผมไปตัดหญ้าได้วันละ 200 บาท ผมทำมาแล้ว แฟนผมเก็บผักบุ้งได้กำละ 1 บาท เขาก็ทำ เพียงเพราะเขาไม่อยากให้ผมยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เขาไม่อยากเห็นผมกลับไปอยู่ในคุกอีกแล้ว"

"และผมไม่ได้อยากกลับไปด้วย เพราะถ้าผมติดคุกอีกครั้ง มันจะมีคำพูดอีกมากมายสารพัดว่า ‘เห็นไหม คนขี้คุก จะให้โอกาสมันทำไม? เดี๋ยวมันก็กลับมาทำผิดอีก’ ผมต้องสู้สิ ทำให้สังคมเห็นว่า อดีตนักโทษก็มีดีเหมือนกัน พวกเราต้องการโอกาสที่จะได้แก้ไขตัวเอง และกำลังใจจากคนรอบข้าง"

เฉลิมพรเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ในโลกภายนอกกำแพงสูง ที่ไม่มีผู้คุมมาสอดส่องชีวิตเขา พร้อมกับชื่อในการชกมวยใหม่ จาก เฉลิมพร มาเป็น "คนตัวลาย" คำนี้แต่เดิมเป็นฉายาที่สื่อมวลชนสายมวยตั้งให้กับเขา แต่เขาเลือกนำมาใช้ในการชกอีกหน 

 9

คนตัวลาย JM บ็อกซิงยิม เอาชนะทั้งตัวเอง และคู่ชก จนได้เข้ามาชกในรายการ MX มวยไทย เอ็กซ์ตรีม รวมถึงมีรายการมวยสากลอาชีพ ต่อยในต่างประเทศ 

จนมีทุนพอที่จะขยับขยาย มาเปิดยิมสอนมวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย ในชื่อ JM คนตัวลาย บ็อกซิง ยิม ที่ตั้งตรงข้ามซอยประชาอุทิศ 90 อยู่ด้านหลัง บิ๊กซี มาร์เกต โดยได้ดึงเอา โคบาล สิงห์หนุ่มพัฒนา นักชกอดีตนักโทษรุ่นน้อง ที่ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อครั้งเจ้าตัวได้แชมป์สถาบัน ABF มาช่วยงานเป็นเทรนเนอร์อีกแรง

ปัจจุบันมีคนมาสมัครเรียนกับเฉลิมพร ประมาณ 70 ราย สถานะของเขาเปลี่ยนไป จากวันวานที่เคยมีคำหน้าว่า "นักโทษชาย" วันนี้ลูกศิษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสังคมชนชั้นไหน เรียกเขาว่า "ครู"

แดน 5 : ผม จะ เป็น คน ดี

"ทุกครั้งที่มีคนเรียกว่า ครู ผมยังรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย ไม่คู่ควรกับคำนี้ ผมไม่เคยปิดบังอดีต ผมบอกลูกศิษย์ที่มาเรียกมวยกับผมทุกคน ว่าผมเป็นใคร ชีวิตเคยผ่านอะไรมาบ้าง ผมไม่เคยอายที่ตัวเองติดคุก ผมไม่ใช่คนเก่ง และผมไม่มีเงินทองจะซื้ออุปกรณ์ดีๆให้คุณได้เรียน แต่พวกคุณให้เกียรติผมมากๆ ดังนั้นผมจะสอนคุณ อย่างสุดความสามารถที่ผมมี" คนตัวลาย JM บ็อกซิงยิม กล่าวเริ่ม 

"ผมปลื้มใจที่ลูกศิษย์ยอมรับในอดีตของผม ให้กำลังใจว่า ‘ไม่เป็นไรครับครู ครูเอ็มสุดยอดแล้ว ที่สามารถกลับมายืนตรงนี้ได้’ ส่วนคนที่เขายังมองเราว่าไม่ดี ผมไม่คิดมาก เป็นสิทธิ์ของเขา เราไปห้ามความคิดใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นได้"

เฉลิมพรในวัย 39 ปี ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่กับภรรยาและลูกสาว รวมถึงเทรนเนอร์ ภายในตึกแถวที่ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่สอนมวยไทยของ JM คนตัวลาย บ็อกซิง ยิม หากเว้นว่างจากช่วงสายและเย็นที่เปิดสอนนักเรียน เขาจะใช้เวลาฟิตซ้อมร่างกาย เพื่อเตรียมตัวขึ้นชกตามรายการต่างๆที่มีคนว่าจ้าง

รายได้จากตรงนี้ อาจไม่ได้มากมาย หากเทียบกับช่วงเวลาที่เขาอยู่ในวงจรยาเสพติด แต่ความสุขกับชีวิตที่มีอิสรภาพ สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ นับเป็นอะไรที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ในความคิดของ เอ็ม เฉลิมพร 

 10

"จากประสบการณ์ที่ผมได้เคยใช้ชีวิตในเรือนจำ สิ่งที่ผมสามารถพูดได้ก็คือ นักโทษทุกคนไม่ใช่คนเลวโดยสันดาน คนที่เป็นแพะ บริสุทธิ์ หรือหลงผิดไป ก็มี ต้องแยกแยะให้ออก ถ้าไอ้พวกที่ติดคุกมา 8 รอบ ยังทำความผิดซ้ำซาก คุณตัดสินคนพวกนั้นไปได้เลยว่าเขาเป็นคนเลว"

"สิ่งที่นักโทษต้องการมากที่สุดหลังพ้นโทษ คือ โอกาส และคนที่เข้าใจ ไม่ใช่เห็นว่าเคยต้องโทษ ก็ถูกตราหน้าว่าเป็นไอ้ขี้คุก ไม่รับทำงาน แล้วพวกเขาจะทำมาหาอะไรกินกัน?"

"ผมอยากให้สังคมให้โอกาสคนที่เขาต้องการกลับตัวกลับใจ อย่างตัวผม ถ้าผมไม่ได้รับโอกาส ผมไม่รู้ว่าตัวเองจะเจอจุดเปลี่ยนในชีวิตไหม? ผมอาจตายในคุกก็ได้ ใครจะไปรู้"

สุดท้าย ไม่ว่าคนที่ยังอยู่ภายในเรือนจำหรืออยู่ด้านนอกสถานกักขัง สิ่งที่ทุกชีวิตต้องเผชิญเหมือนกัน ก็คือ การต้องดิ้นรนทำงาน ต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่างๆ และดำเนินชีวิตต่อไป ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ 

การสนทนากับ เฉลิมพร สวัสดิ์สุข ไม่ได้ทำให้ผู้เขียนคล้อยตามกับเหตุผลที่เขากระทำความผิดในอดีต เพราะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด การฆ่าคนก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

แต่การสนทนาครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นอีกด้านของชายที่เคยผ่านคุก ที่ทุกคำพูดของเขาถูกสื่อสารออกมาตรงไปตรงมา และกล้าที่จะบอกเล่าความผิดพลาดอันแสนสาหัสของตัวเองในอดีตอย่างไม่มีการปกปิดใดๆ 

แน่นอนว่า เขาย้อนเวลากลับไปแก้ไขสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ แต่เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างเข้าใจ ในทุกสิ่งที่ต้องพบเจอ อันเป็นผลจากการกระทำและดำเนินมันต่อไปอย่างสุจริตชนคนหนึ่งในทุกๆวันต่อจากนี้ 

 11

"ไม่มีไม้บรรทัดอันไหนวัดความดี ความเลวของคนได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่การกระทำ ก่อนที่เราจะรอโอกาสจากสังคม เราต้องให้โอกาสตัวเองได้แก้ไข ปรับปรุงตัวเองก่อน ผมได้โอกาสจากการชกมวย แต่ถ้าฝีมือการชกผมไม่ดี ผมไม่ดูแลตัวเอง ไม่ขยันฝึกซ้อม โอกาสนั้นก็จะหลุดลอยไป"

"อย่าประชดชีวิตว่า กูจะทำความดีไปทำไม? ในเมื่อสังคมไม่ยอมรับคนที่เคยติดคุก เหตุผลหนึ่งที่ผมเลือกเปิดยิมสอนมวย เพราะผมอยากทำให้สังคมได้เห็นว่า อดีตนักโทษอย่างผมก็สามารถใช้ชีวิต ยืนอยู่ในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป"

"เพียงแต่เราต้องให้โอกาสตัวเอง และอย่าหวนกลับไปอยู่ในเส้นทางที่ไม่ดีอีก ถ้าเราทำตัวเองให้ดีและยังสู้อยู่ คนในสังคม ก็จะหยิบยื่นโอกาสให้เราเอง โดยที่เราไม่ต้องร้องขอ"

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "ผมคงตายในคุกไปแล้ว หากไม่ได้รับโอกาสที่สองในชีวิตจากมวย"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook