วิเคราะห์การเปลี่ยนหน้าท้องให้เป็นแผ่นเหล็กของนักมวยไทย

วิเคราะห์การเปลี่ยนหน้าท้องให้เป็นแผ่นเหล็กของนักมวยไทย

วิเคราะห์การเปลี่ยนหน้าท้องให้เป็นแผ่นเหล็กของนักมวยไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเปรียบพลังเตะของนักมวยไทย เหมือนการตีด้วยไม้เบสบอล เหตุใดส่วนที่ดูบอบบางของร่างกายอย่าง “หน้าท้อง” ถึงสามารถรับแรงกระแทกขนาดนั้นได้?

มวยไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็น ศิลปะการต่อสู้แบบยืนสู้ที่ดีสุดในโลก ด้วย รูปแบบการต่อสู้ที่สนุก เร้าใจ ใช้อาวุธได้ทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก แถมยังสามารถแพ้ชนะกันได้ทุกนาที 

ช่วงลำตัวของนักมวย จึงกลายเป็นเป้าขนาดใหญ่ที่ นักสู้บนสังเวียน ต่างฝ่ายต่างพยายามหาเหลี่ยม โจมตีอาวุธ ใส่กัน เพื่อคว้าชัยในการชก นั่นทำให้ กล้ามเนื้อท้องของนักมวยไทย กับนักกีฬาประเภทอื่น มีความแตกต่างกัน 

และความแตกต่างที่ว่านี้ อยู่ตรงไหน ? หาคำตอบได้ที่นี่ Grand Stand

เตรียมพร้อมรับแรงกระแทก 

กล้ามท้อง จัดเป็นส่วนที่สำคัญในร่างกายนักชกมวยไทย เพราะนี่คือจุดปราการด่านหน้า ที่มีอวัยวะสำคัญอย่าง กระเพาะอาหาร, ตับ, ไต, ลำไส้เล็ก, ลำไส้ใหญ่ อยู่ด้านใน

 1

นอกจากนี้ กล้ามท้อง ยังสัมพันธ์กับระบบหายใจ รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย และการทรงตัว อีกทั้ง  บริเวณท้อง ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ในกีฬามวยไทย ที่ต้องรับแรงกระแทก จากพลังหมัด, ลูกเตะ, ลูกถีบ รวมถึงการแทงเข่า เสียบเข่า

ยิ่งโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่มวยไทยอาชีพประเภท “เข่าแข็งแรง” คลุกตีวงในเก่ง จะมีโอกาสชนะมากกว่า มวยฝีมือ ที่รอดักจังหวะเตะ ต่อย นั่นทำให้ นักมวยไทย เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องโดนปะทะตรงส่วนท้องมากขึ้น 

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า มวยไทยที่ชกในประเทศ ตามเวทีมาตรฐาน มีความแตกต่างกับ กีฬาการต่อสู้แบบอื่น ตรงที่ตัดสินผลแพ้ชนะ โดยดูจากทรงมวย ใครทำให้คู่ต่อสู้เสียอาการ มากกว่าจะสนใจว่าใครออกอาวุธเยอะกว่ากัน

นักมวยไทย จึงต้องจำเป็นต้องถูกฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีกล้ามเนื้อท้องที่แข็งแรง ทนทาน พร้อมรับอาวุธเหล่านี้ และสามารถทำให้ตัวเองไม่เสียอาการ เพราะนั่นอาจหมายถึง ความพ่ายแพ้ในการชกเลยก็เป็นได้ หากนักชกคนนั้นทนความรุนแรงของอาวุธมวยไทยไม่ได้

เปลี่ยนหน้าท้องเป็นแผ่นเหล็ก

“ผมถูกฝึกเรื่องการสร้างกล้ามท้อง ให้มีความทนทานตั้งแต่อายุยังน้อยครับ ตอนเด็ก ผมจำได้ว่า ผมถูกฝึกเล่นหน้าท้องมากกว่่าตอนโตเสียอีก เพราะตอนเด็กเรายังไม่ค่อยมีแรง ระบบหายใจ อะไรยังไม่ค่อยดี ส่งผลให้เหนื่อย และอาจเกิดอาการจุกได้ หากโดนอาวุธบ่อยๆ” 

 2

“แต่ถ้าเรามีกล้ามเนื้อท้องที่แข็งแรง เวลาโดนก็จะไม่ยุบ แรงไม่หมด หายใจสะดวก สามารถผ่อนแรงได้” ซุปเปอร์เล็ก ม.รัตนบัณฑิต หรือ นายมนัสชัย เอี่ยมศิริ นักชกมวยไทยชื่อดัง เผยกับเราถึงเหตุผลที่เขาถูกฝึกกล้ามท้องมาตั้งแต่อายุยังน้อย 

ในวัย 24 ปี ซุปเปอร์เล็ก ผ่านการชกมวยไทยมากกว่า 200 ไฟต์ และเคยไปต่อยกับนักมวยต่างชาติ ในศึก ONE Championship แต่เขากลับบอกว่า ตนเองแทบไม่เคยมีอาการจุก หรือเสียอาการเลย ยามถูกโจมตีเข้าช่วงท้อง นับตั้งแต่เริ่มชกอาชีพ ซึ่งก็เป็นผลทื่มาจากการเทรนนี่เอง 

น่าสนใจไม่น้อยว่า นักมวยไทย ฝึกซ้อมอะไรกัน ? ทำไมถึงได้มี กล้ามท้อง ที่แข็งแรงประหนึ่งเหล็กกล้า เรื่องนี้ “ฮอต” พีรภัทร ศิริเรือง นักวิทยาศาสตร์การกีฬา แห่งค่ายมวย เพชรยินดี ให้คำอธิบายกับเรา พร้อมเปรียบให้เห็นความแตกต่างของ การเทรนกล้ามท้อง ระหว่าง นักมวยไทย กับ นักเพาะกาย 

“การเทรนกล้ามท้องของนักมวยไทย กับ นักเพาะกาย มีความแตกต่างกัน อย่าง นักเพาะกาย จะเน้นไปที่การสร้างโทนท้องให้มีความสวยงาม เห็นกล้ามเนื้อ เส้นเลือดชัดเจน แต่มวยไทย กล้ามเนื้อจะเป็นลักษณะก้อนๆ ซึ่งเกิดจากการถูกต่อย และการเกร็งกล้ามท้องโดยไม่รู้ตัว”

“รูปแบบการเทรนไม่มีอะไรซับซ้อน ใช้การซิท อัพ และเสริมด้วยการ ตีท้อง ทุบท้อง เพื่อให้นักมวยได้ฝึกการเกร็ง การฝึกแบบนี้ช่วยให้เวลาเขาขึ้นไปเวที กล้ามเนื้อจะมีการเกร็งอย่างเป็นธรรมชาติ หายใจได้อย่างเป็นระบบ ถูกวิธี” 

 3

โดยทั่วไป นักมวยไทย จะมีการฝึกซ้อมเป็นประจำอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน นอกเหนือจากการฝึก โดยใช้เป้าตีท้อง หรือกำปั้นต่อยท้อง เพื่อให้ กล้ามท้อง ทนทานต่อการรับแรงกระแทก 

การฝึกกล้ามท้อง ก็อยู่ในแทบทุกกระบวนการฝึก ตั้งแต่การซิท อัพ, การหมุนตัว (Oblique Twists) การกระโดดเชือก (Skipping Rope) ไปจนถึงการฝึก ตีเข่า, ฝึกเตะ, ฝึกหลบ, ชกเป้า ที่ต่างช่วยเสริมสร้างให้ บริเวณหน้าท้องและด้านข้างแข็งแรง รวมถึงยังทำให้ บาลานซ์ร่างกายและการเคลื่อนไหวดีขึ้นอีกด้วย 

กล้ามเนื้อท้องของ นักมวยไทย จึงไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่เด่นชัด สวยงามเหมือนกับ นักเพาะกาย แต่ก็มีความแข็งแรง ชนิดที่ แทงเข่าไม่ยุบ เตะ-ต่อย ไม่สะเทือน และในทางตรงข้าม การที่ นักสู้มวยไทย มีกล้ามท้องที่ไม่ได้ขึ้นรูปสวยงาม ยังส่งผลต่อดีต่อพวกเขาอีกด้วย 

“ผมมองว่า การที่นักมวยลีนมากเกินไป จนกล้ามเนื้่อเด่นชัด ไม่ค่อยส่งผลดีต่อพวกเขา เพราะจะทำให้คู่ต่อสู้เห็นจุดที่โจมตีได้ง่าย โดยเฉพาะซี่โครงซี่สุดท้าย แม้จะเป็นจุดที่ต่อยยาก แต่ถ้านักมวยที่ชกตัดลำตัวเก่งๆ ก็สามารถโจมตีและชัตดาวน์ได้เลย เพราะตรงนี้เป็นจุดบอบบาง เหมือนกับลิ้นปี่”

“นักมวยที่มีไขมันนิดๆ กลับดีเสียกว่า นักมวยที่กล้ามขึ้นรูปชัดเจน เพราะไขมันก็เปรียบเสมือนฉนวนป้องกันแรงกระแทกก่อนถึงกล้ามเนื้อ” พีรภัทร ศิริเรือง นักวิทย์ฯ มวยไทย กล่าวถึงข้อมูลอีกด้านที่น่าสนใจ

กล้ามท้องดี มีชัยไปกว่าครึ่ง 

ผลพลอยได้จากการฝึกกล้ามท้องอย่างสม่ำเสมอ ยังช่วยให้ นักมวยไทย มีระบบการหายใจที่ดี ส่งผลต่อเรื่องพละกำลังบนยามขึ้นชกบนสังเวียน ที่ไม่หมดแรงลงไปง่ายๆ ในช่วงยกท้ายๆ

ยิ่งไปกว่านั้น นักมวยไทยบางคนที่มีกล้ามท้องแข็งแรง ยังเลือกใช้จุดนี้ เพื่อเอาชนะในกติกามวยไทย เพราะหากเขาสามารถทนทานอาวุธจากคู่ชกได้นับ 10 ครั้ง โดยไม่แสดงอาการ และเลือกสวนกลับไปด้วยจังหวะโยนแข้งเพียงครั้งเดียว จนคู่ต่อสู้เสียทรง สถานการณ์ก็อาจจะพลิกกลับมาชนะได้ทันที 

รถถัง จิตรเมืองนนท์, เสกสรร อ.ขวัญเมือง และ ยอดเหล็กเพชร อ.อัจฉริยะ  คือ สามตัวอย่างของนักชกประเภทใช้ร่างกายลงทุน ด้วยการเปิดฉากให้คู่ชก เข้ามาโจมตีก่อน โดยไม่แสดงอาการเจ็บหรือจุก เพื่อให้เกิดราคาต่อรองไปทางฝ่ายตรงข้าม

 4

ก่อนเลือกหาเหลี่ยม และช่องสวนกลับเอาคืน จนราคาต่อรอง และเกมการชก พลิกกลับมา ซึ่งแน่นอนว่าสไตล์ประเภทยอมเจ็บตัวเช่นนี้ หากสภาพร่างกายไม่ถึงจริง กล้ามท้องไม่ทนทานจริง ก็มีสิทธิ์เสียทรงได้ง่ายๆ 

กล้ามท้อง จึงเป็นส่วนสำคัญที่ นักมวยไทย ต่างตระหนักเป็นอย่างดี แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นเหมือนการทดสอบนักมวยด้วยว่า ใครฟิตซ้อม ดูแลตัวเอง มีระเบียบวินัย ดีกว่ากัน ยามอยู่บนเวที… 

เพราะในมวยไทยอาชีพ “การออกอาวุธ” อาจช่วยให้คุณชนะ แต่การมี “ร่างกายแข็งแรง” จะช่วยให้คุณไม่แพ้

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ วิเคราะห์การเปลี่ยนหน้าท้องให้เป็นแผ่นเหล็กของนักมวยไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook