"ร็อบ ค็อกซ์" : ฝรั่งจากลอนดอนที่พูดภาษาไทยและรักมวยไทยนานกว่า 30 ปี

"ร็อบ ค็อกซ์" : ฝรั่งจากลอนดอนที่พูดภาษาไทยและรักมวยไทยนานกว่า 30 ปี

"ร็อบ ค็อกซ์" : ฝรั่งจากลอนดอนที่พูดภาษาไทยและรักมวยไทยนานกว่า 30 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากใครสักคนหนึ่งคน ยอมเก็บเงินนับแสนบาท เพื่อเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างแดนทุกปี รวมถึงลงทุนฝึกภาษาที่ไม่คุ้นเคยด้วยตัวเองในทุกวัน เพียงเพราะหลงรักกีฬาชนิดหนึ่ง ย่อมเป็นรักแท้ที่ไม่สามารถหาถึงขอบเขตของความรักนั้นได้

ร็อบ ค็อกซ์ หนุ่มใหญ่จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คือบุคคลผู้นั้น เขาหลงใหลในกีฬามวยไทย ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของเรา จนต้องบินข้ามทวีปมาที่ประเทศไทยในทุกๆปี ก่อนตัดสินใจลงหลักปักฐานใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในเมืองไทย มายาวนานเกือบ 20 ปี ในฐานะนักข่าวสายมวย และเจ้าของค่ายมวยไทย จนพูดภาษาไทยชัดแจ๋วในทุกถ้อยทุกคำ

 

Main Stand จะพาไปพบกับชายที่มาจากแดนผู้ดี ซึ่งรักกีฬามวยไทยมากกว่าสิ่งใดในชีวิตมายาวนานมากกว่า 30 ปี และได้มวยไทยเป็นกุญแจนำทางบนถนนสายชีวิต สุดที่ฝรั่งตาน้ำข้าวเช่นเขาจะคาดการณ์ได้

ชายผู้หลงใหลมวยจากแดนสยาม

“ผมรู้จักมวยไทยครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้วที่ประเทศอังกฤษ เพราะว่ามีคนไทยที่เป็นนักมวยไทยไปอยู่ที่อังกฤษ และเห็นกีฬามวยไทยในหนังสือการต่อสู้ที่อังกฤษ ก็เลยสนใจ อยากลองไปฝึกดู”

 1

ร็อบ ค็อกซ์ ย้อนความหลังไปเมื่อปี 1986 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาได้รู้จักศิลปะการต่อสู้ชื่อดังของประเทศไทย ซึ่งเดิมที หนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษ เป็นคนที่ชื่นชอบในกีฬาการต่อสู้อยู่แล้ว โดยในช่วงเวลานั้น เขากำลังฝึกวิชากังฟู ศาสตร์การต่อสู้ชื่อดังจากแดนมังกร

“ผมว่ามวยไทยมันแปลก ไม่เคยเห็นเลยอยากลองดู พอลองไปฝึกแล้ว ผมชอบมาก แม้ว่ามันจะเหนื่อยมากนะ แต่ว่ามันสนุก ที่สำคัญมวยไทยนั้นสวยงาม พอฝึกแล้วก็อยากไปฝึกอีก”

แต่การที่ใครสักคนจะมาฝึกฝนวิชามวยไทยบนแผ่นดินอังกฤษ เมื่อสักราวๆ 30 ปีที่แล้ว ดูเหมือนเป็นอะไรที่ยากลำบากพอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยุคนั้น มวยไทยยังไม่เป็นที่รู้จักหรือนิยมแพร่หลาย ร็อบ ค็อกซ์ จึงต้องเดินทางไปฝึกมวยไทยที่เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งมีนักมวยไทยไปอาศัยและเปิดสอนมวยที่นั่น

มากกว่า 300 กิโลเมตร คือระยะทางจากกรุงลอนดอนถิ่นพำนักของร็อบ ค็อกซ์ กับเมืองแมนเชสเตอร์ ที่ในช่วงแรกชายชาวอังกฤษผู้นี้ต้องเดินทางไกล เพื่อไปฝึกวิชามวยไทยในช่วงเริ่มต้นที่เขาเริ่มหลงไหลในเสน่ห์ของ "ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8"

“สมัยก่อนที่อังกฤษไม่ได้มีฝึกทุกวันแบบค่ายมวยที่ประเทศไทย มีฝึกแค่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ผมไปทุกครั้งที่มีฝึกเลยนะ ไม่เคยขาด ไปตลอด”

“หลังจากฝึกไป 1 ปี ผมก็มีโอกาสได้ขึ้นชก ตื่นเต้นมากเลยนะ และผมมีความสุขมากๆ ตอนได้ขึ้นไปบนเวทีเพื่อชกมวยไทย ส่วนหนึ่งเพราะนี่คือสิ่งที่เรารัก แต่ที่สำคัญที่สุดมันเหมือนกับการชนะใจตัวเอง ขึ้นไปชกจะชนะหรือแพ้ก็ไม่สำคัญแล้ว”

 2

หนุ่มจากแดนผู้ดียังคงฝึกซ้อมมวยไทยอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่เขามีเวลาจากงานประจำในฐานะช่างซ่อม แม้ว่ามวยไทยจะเป็นเพียงแค่งานอดิเรก แต่ร็อบ ค็อกซ์ ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับกีฬามวยไทยอย่างสุดตัว

“สมัยอยู่ที่อังกฤษ ผมต่อยมวยไม่เคยได้เงิน ต่อยเพื่อความชอบ ต่อยเพื่อความสุข หาประสบการณ์ให้กับตัวเองแค่นั้น”

ความรักในศิลปะแม่ไม้มวยไทยของร็อบ ค็อกซ์ ไม่ได้อยู่แค่การต่อสู้บนเวทีเท่านั้น เขายังศึกษาวัฒนธรรมของกีฬาชนิดนี้ พร้อมกับหาเทปบันทึกการแข่งขันของมวยไทยคู่ดังซึ่งจัดขึ้นที่เมืองไทยมารับชมอยู่เสมอ และเดินทางไปดูการแข่งขันมวยไทยทั่วทวีปยุโรป รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่ในฐานะแฟนของกีฬามวยไทย การขึ้นชกและชมการแข่งขันที่โลกตะวันตก ทำให้ร็อบ ค็อกซ์ ยังไม่รู้สึกว่าเขาเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของมวยไทยได้มากพอ และเป้าหมายของเขาคือการได้เดินทางมายังถิ่นกำเนิดของศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้

ประเทศไทย...

ไอ เลิฟ เมืองไทย, ไอ ไลค์ ลุมพินี

“ไม่มีที่ไหนเหมือนประเทศไทย” ร็อบ ค็อกซ์ ย้อนถึงความรู้สึกแรกเมื่อครั้งที่เขาเดินทางมายังดินแดนสยามเมืองยิ้ม

 3

หนุ่มอังกฤษผู้นี้มาประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 1991 เนื่องจากมีเพื่อนที่ซ้อมด้วยกันกับเขา แนะนำให้ร็อบมาฝึกซ้อมยังดินแดนต้นตำรับ เพื่อสัมผัสประสบการณ์มวยไทยของแท้

“เขาบอกผมว่า ที่ไทยมีทั้งการซ้อมที่แตกต่าง ค่ายมวยเยอะ และจะมีโอกาสดูมวยไทยดังๆที่ราชดำเนิน หรือ ลุมพินี สุดท้ายผมก็ปรึกษากับเพื่อนอีกคนและตัดสินใจมาที่เมืองไทย”

“ผมมาไทยครั้งแรกเพื่อซ้อมมวย เรียนมวย ดูมวยโดยเฉพาะ ผมมาซ้อมอยู่เดือนหนึ่ง ซ้อมทุกวัน เหนื่อยมาก แต่ยิ่งเหนื่อยก็ยิ่งชอบ”

“ผมได้โอกาสไปดูมวยที่ลุมพินีด้วย บรรยากาศสุดยอด คนดูมวยในสนามเยอะมาก มาที่ไทยครั้งแรกติดใจเลย ตอนนั้นผมไม่อยากไปที่ไหนแล้ว อยากมาแค่ประเทศไทย”

หลังจากหลงเสน่ห์เมืองไทยเข้าไปแบบเต็มเปา ร็อบ ค็อกซ์ กลับไปที่ประเทศอังกฤษ เพื่อทำงานเก็บเงินหวังกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง รวมไปถึงยังใช้เวลาว่างฝึกภาษาไทย เพื่อให้เขาสามารถสื่อสารกับคนไทยได้ง่ายขึ้น และเข้าใจในวัฒนธรรมความเป็นไทยได้มากยิ่งขึ้น

 4

“ตอนผมมาครั้งแรกเดือนหนึ่งพูดไทยไม่ได้เลย พูดได้แค่สวัสดีครับกับขอบคุณครับ ส่วนคนไทยที่ค่ายมวยพูดภาษาอังกฤษไม่เป็นเลย ผมเลยตัดสินใจว่าจะเรียนภาษาไทย”

“ผมซื้อเทป ซื้อหนังสือมาฝึกภาษาไทย ฝึกตอนขับรถไปซ้อมมวย เปิดเทปฟัง นั่งคุยกับเทป นั่งคุยกับตัวเองอยู่คนเดียวบนรถ” ร็อบ ค็อกซ์ เล่าเรื่องนี้ให้เราฟังด้วยการพูดภาษาไทยอย่างชัดเจนและฉะฉาน

ในปี 1992 เขากลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง โดยมาฝึกมวยไทยที่ค่ายมวยชื่อดังในยุคนั้น อย่าง ค่าย ส.ธนกุล เป็นเวลายาวนานถึง 6 เดือน โดยพักอาศัยอยู่ที่ค่าย ก่อนจะบินกลับไปอังกฤษ เพื่อทำงานเก็บเงิน และกลับมาฝึกมวยไทยอีกครั้งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 9 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางมาประเทศไทยแต่ละครั้ง ร็อบ ค็อกซ์ ต้องเก็บเงินกว่า 200,000 บาท (ค่าเงินในเวลานั้น) เพื่อมาใช้ชีวิตระยะยาวในเมืองไทย ซึ่งส่งผลต่อฐานะทางการเงินของเขา ทำให้ร็อบ ค็อกซ์ ต้องยอมถอยห่างจากสิ่งที่เขารัก แม้จะต้องเจ็บปวดอยู่ภายในหัวใจ

“ผมหันไปโฟกัสการทำงานเก็บเงินมากขึ้น เพื่อให้มีฐานะที่ดีขึ้นกับการใช้ชีวิตที่อังกฤษ และสามารถซื้อบ้านได้หนึ่งหลังที่นั่น”

“แต่ผมไม่ได้ทิ้งมวยไทยนะ ผมยังมาที่ประเทศไทยตลอดทุกปี มาอยู่ 2-3 อาทิตย์บ้าง 1 เดือนบ้าง ยังมาดูมวย มาซ้อมมวย ต่อยมวยเหมือนเดิม”

 5

ความรู้สึกที่เรียกว่าความรัก ไม่ใช่สิ่งที่จะฝืนใจได้โดยง่าย เช่นเดียวกับความรักที่มีต่อมวยไทยของร็อบ ค็อกซ์ เขาหาทางใช้เวลากับกีฬาโปรดของเขาให้ได้มากที่สุด ผ่านการเปิดสอนมวยไทยให้ชาวอังกฤษที่สนใจ ในยามที่เขาว่าง

ท้ายที่สุด เมื่อเขาไม่สามารถฝืนตัวเองจากความรักในกีฬามวยไทยได้อีกต่อไป ร็อบ ค็อกซ์ จึงตัดสินใจที่จะเลิกประกอบอาชีพช่างซ่อม และวางแผนที่จะเปิดค่ายมวยไทยอย่างจริงจังที่ประเทศอังกฤษ ทำให้ในปี 2002 เขากลับมาใช้ชีวิตระยะยาวที่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ให้มวยไทยนำทางชีวิต

“ตอนแรกผมคิดจะมาหาประสบการณ์ฝึกและต่อยมวยที่เมืองไทยสัก 1-2 ปี เพื่อนำกลับไปใช้ในการเปิดค่ายมวย ผมไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี มาฝึกมวย มาต่อยมวย แต่ว่าต่อยไปซักพักก็เลิกต่อย เพราะอายุ 30 กว่าปี ร่างกายไม่ไหวแล้ว”

 6

“ถึงจะไม่ได้ต่อยมวยแล้ว ผมยังอยากจะทำอะไรสักอย่างในวงการมวยไทยต่อไป ตอนนั้นมีเว็บไซต์จากต่างประเทศ เขาอยากได้ข่าวมวยการต่อสู้จากทุกประเทศ เช่น K-1, MMA”

“ผมเลยติดต่อเขาไปว่า ‘คุณอยากได้ข่าวมวยไทยไหม?’ เขาก็ตอบว่าอยากได้ ผมเลยเริ่มเป็นสื่อตั้งแต่ตอนนั้น ทำเองหมดทุกอย่าง ทั้งเขียนข่าวเอง ถ่ายรูปเอง โดยที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลย” ร็อบ ค็อกซ์ เล่าถึงการผันตัวเองจากช่างซ่อมที่ประเทศอังกฤษ มาเป็นนักข่าวที่ประเทศไทย

ด้วยความแปลกใหม่และน่าสนใจของกีฬามวยไทย ทำให้ ร็อบ ค็อกซ์ สร้างชื่ออย่างรวดเร็วในฐานะนักข่าวต่างชาติที่รายงานข่าวกีฬามวยไทยแบบเจาะลึกให้กับชาวต่างชาติ จนเขาได้มีโอกาสเขียนข่าวและสกู๊ปมวยไทย ลงในหลายนิตยสารศิลปะการต่อสู้ชื่อดังของชาติตะวันตก

“ต่อมาค่ายมวยเเก้วสัมฤทธิ์ มาชวนผมไปทำงานที่นั่น ให้ผมไปดูแลเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ ประชาสัมพันธ์ให้คนต่างประเทศ เพราะตอนนั้นค่ายนี้ดังมาก แต่ไม่ค่อยมีคนต่างประเทศเข้ามาฝึกเท่าไหร่ เขาจึงอยากได้คนไปช่วย”

“ผมรีบตอบรับเลย เพราะเป็นโอกาสได้ไปทำงานกับค่ายมวยชื่อดัง ผมก็มาอยู่ที่นี่ประมาณ 4-5 ปี รวมถึงทำงานเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์อยู่ด้วย ผมได้ประสบการณ์อะไรเยอะมาก”

 7

นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นนักเขียนข่าว ช่างภาพ และผู้ดูแลเว็บไซต์แล้ว ร็อบ ค็อกซ์ ยังได้รับโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อเขาถูกชักชวนให้เป็นนักพากย์การแข่งขันมวยไทยซึ่งถ่ายทอดสดทางเคเบิลทีวี และกลายเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของเขาจนถึงทุกวันนี้

“ผมเริ่มพากย์กับทางยูบีซี ชื่อเก่าของทรูวิชั่นนะครับ หลังจากนั้นก็มีคนมาชวนให้ผมไปพากย์มวยบันทึกเทปที่ขายเป็นแผ่นซีดีไปต่างประเทศอีก แล้วก็พากย์มาเรื่อยๆ พอมีไทยไฟต์ (Thai Fight) ผมก็ได้โอกาสไปพากย์อีก รวมถึงแม็ก มวยไทย (MAX Muay Thai) ด้วยเช่นกัน”

หากมองย้อนกลับไปถึงเหตุผลที่ร็อบ ค็อกซ์ ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยเพราะต้องการจะหาประสบการณ์เพื่อกลับไปเปิดค่ายมวยที่บ้านเกิด แต่หลังจากผ่านการทำหลากหลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย อาชีพที่ผู้ชายคนนี้ไม่อยากทำมากที่สุดคือ “เจ้าของค่ายมวย”

“ตอนนั้นผมไม่อยากเปิดค่ายมวยแล้ว เพราะรู้แล้วว่ามันลำบาก ปัญหาเยอะ ค่าใช้จ่ายก็เยอะ แถมรายได้ไม่ดีอีก”

 8

อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงโน้มน้าวจากคนใกล้ตัวทำให้ท้ายสุด ร็อบ ค็อกซ์ ได้ตัดสินใจเปิดค่ายมวยในชื่อค่าย “เกียรติพลทิพย์” ซึ่งปั้นนักมวยไทยชื่อดังออกมาแล้วหลายคน เช่น แป๊ะเท่ง เกียรติพลทิพย์, สามสมุทร เกียรติช่องเขา, สมิงพราย เกียรติพลทิพย์ และ คนคร เกียรติพลทิพย์

แม้จะประสบความสำเร็จสร้างแชมเปี้ยนขึ้นมาประดับวงการมวยไทยหลายคน แต่หนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษยืนยันว่าการทำค่ายมวยคือสิ่งที่ยากลำบากมากที่สุดในชีวิตของเขา นับตั้งแต่เข้าสู่วงการไทยมายาวนานกว่า 20 ปี

“เวลาผมรับเด็กเข้ามาดูแล ผมก็ต้องเลี้ยงดูเหมือนลูกคนหนึ่ง ต้องใส่ใจดูแลในหลายเรื่อง แต่บางทีเด็กก็มีปัญหา เช่นเรื่องยา อะไรแบบนี้ เราทุ่มเทดูแลเอาใจใส่ รักเหมือนลูก แต่ว่านักมวยบางคนเขาก็ไม่ได้รักเราตอบ”

“นอกจากนี้ทำค่ายมวยยังเจอปัญหาอื่นอีก ทั้งเรื่องทุจริต วางยานักมวย จ้างล้มมวย ทำตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่หนักที่สุด”

หากย้อนมองถึงจุดเริ่มต้น ของผู้ชายที่เคยคิดจะมาอยู่เมืองไทยเพียงแค่ 1-2 ปี แต่กลับกลายเป็นใช้ชีวิตอยู่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ร็อบ ค็อกซ์ ยอมรับว่า เขาไม่เคยคิดฝันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขาตลอด 17 ปีที่ผ่านมา แต่ทุกสิ่งเกิดขึ้น เพียงเพราะเขาเดินตามเข็มทิศชีวิต ซึ่งนำทางด้วยความรัก ความรักต่อสิ่งที่เรียกว่า “มวยไทย”

“ตอนแรกผมไม่ได้จะอยู่เมืองไทยนานขนาดนี้ แต่พอมาถึงได้เริ่มทำข่าวเลยยังไม่อยากกลับ สักพักได้มาอยู่กรุงเทพฯ พร้อมกับทำข่าว ได้ไปพากย์มวยด้วย ก็ยังไม่อยากกลับ เพราะผมกำลังมีความสุขกับการใช้ชีวิตในเมืองไทย สักพักก็แต่งงาน มีบ้านมีค่ายมวย เลยไม่รู้จะกลับยังไง เพราะกลับไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)”

 9

“ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ผมแค่ได้รับโอกาสเข้ามาให้ทำ แล้วก็ลองทำเท่านั้น ขอแค่เป็นงานเกี่ยวกับมวยไทย ผมอยากลองทำหมด ซึ่งพอได้ทำแล้วก็ชอบหมดเลย จึงทำมาตลอดจนถึงปัจจุบัน”

“ถ้าถามว่าผมชอบงานไหนมากที่สุด ผมชอบการถ่ายรูปมากที่สุดนะ ไม่รู้ทำไม ถ้าเลือกได้ผมอยากเป็นช่างภาพ แต่เดี๋ยวนี้ถ่ายภาพไม่ได้ตังค์ ผมเลยชอบพากย์มวยมากกว่า (หัวเราะ)”

ชายผู้ไม่เคยทำงานแม้แต่วันเดียว

การตกหลุมรักในสิ่งหนึ่งยาวนานกว่า 30 ปี โดยไม่เคยลดลงแม้แต่วันเดียวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับร็อบ ค็อกซ์ เขายังคงรักในกีฬามวยไทยอย่างไม่เคยน้อยลงแม้แต่วันเดียว

ด้วยความหลงใหลในศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านของประเทศไทย ที่หนุ่มอังกฤษรายนี้เห็นว่า แตกต่างและไม่เหมือนกับศาสตร์ใดบนโลกใบนี้

 10

“ผมรักมวยไทย เพราะมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่งดงาม แต่แข็งแกร่งและอันตราย ถือเป็นเสน่ห์ของมวยไทย ที่สำคัญคือเป็นกีฬาที่มีสปิริต มีการให้อภัย หลังต่อยมวยเสร็จเป็นเพื่อนกัน ไม่ทะเลาะกัน”

“ผมไม่ชอบแบบยูเอฟซี (UFC) ที่ต้องการสร้างความตื่นเต้นให้คนดู ด้วยการให้คนมาด่ากัน มาทะเลาะกันใช้คำแบบไม่สุภาพ อย่างเช่น คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ (Conor McGregor) ที่พูดหยาบคาย ทำตัวไม่ดี ไปถีบรถเมล์อะไรแบบนี้”

“สำหรับมวยไทย พวกเขาสู้กันแค่บนเวที มีแพ้มีชนะ แค่นั้นจบ มวยไทยคือการต่อสู้ที่แท้จริง น่าดูด้วยตัวของกีฬาเอง เป็นศิลปะการต่อสู้แบบเพียวๆ นักมวยส่วนใหญ่ให้ความเคารพกันในการต่อสู้ ผมชอบตรงนี้มากที่สุด”

“อีกมุมหนึ่ง มวยไทยไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย เช่น การไหว้ครู อย่างกีฬาต่อสู้ชนิดอื่นแค่วอร์มอัพ แล้วก็ไปต่อสู้ แต่ของมวยไทยไม่ใช่แบบนั้น ก่อนชกต้องไหว้ครูก่อน มันมีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาด้วย ถ้าคุณชอบมวยไทยคุณต้องศึกษาวัฒนธรรมของกีฬามวยไทย”

 11

ความรักในกีฬามวยไทย ทำให้ร็อบ ค็อกซ์ ยังคงมีความสุข ในทุกวันที่เขาทำงานในวงการมวยไทย เพราะมวยไทยได้ให้หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ที่ตัวเขาไม่เคยคิดว่าจะมีโอกาสได้รับมาก่อน

“มวยไทยให้โอกาสผมเดินทางไปหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ สิงค์โปร์ พม่า มาเก๊า ทั้งไปพากย์มวย หรือพานักมวยในค่ายไปต่อย ผมได้เจอประสบการณ์เยอะแยะมากมาย บางครั้งผมได้โอกาสไปดูมวยคู่ใหญ่ คู่ดังติดขอบสนาม เพราะผมได้เชิญให้ไปพากย์บ้าง ไปถ่ายรูปบ้าง ผมได้ดูมวยที่ดุเดือด รู้สึกว่ามันโอกาสดีที่หาไม่ได้ง่ายๆ เป็นประสบการณ์ที่สุดยอดมาก”

“ทุกวันนี้ผมยังตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ไปที่ข้างสนามเห็นนักมวยเก่งๆขึ้นชก หรือตอนพานักมวยของผมที่ไม่มีชื่อเสียงไปชก แล้วเอาชนะนักมวยดังๆได้เป็นความรู้สึกที่มีความสุขมาก แต่ที่ผมประทับใจมากที่สุดคงเป็นการได้เห็นชีวิตเด็กนักมวยที่เขามีความตั้งใจ ได้พัฒนาชีวิต ได้สู้ตามฝัน มีเป้าหมายในการเป็นนักมวย ได้ประสบความสำเร็จ”

 12

ปัจจุบันร็อบ ค็อกซ์ ยังคงทำงานหลากหลายเกี่ยวกับวงการมวยไทยไม่ว่าจะในฐานะนักพากย์ หรือการเปิดค่ายมวย ซึ่งมีทั้งค่ายมวยอาชีพ และค่ายมวยฟิตเนสซึ่งเป็นค่ายมวยไทยรูปแบบใหม่ ที่ให้คนได้มาออกกำลังกายและรักษารูปร่างด้วยกีฬามวยไทย

แม้หลายครั้งที่เขาจะต้องเจอปัญหากับการประกอบอาชีพในวงการมวยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำค่ายมวย ที่ต้องใช้เงินลงทุนหลายล้านบาท แต่สำหรับร็อบ ค็อกซ์ เขาบอกกับเราว่า ไม่มีวันไหนที่เขาคิดจะเลิกยุ่งกับวงการมวยไทย เพราะสำหรับเขาแล้ว ชีวิตที่ได้อยู่ท่ามกลางสิ่งที่เขารักนั้นมีค่าเกินกว่าจะประเมินค่าได้อีก

 13

“ผมยังสนุกกับทุกวันที่อยู่กับมวยไทย ผมมีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ทำกับมวยไทย มีคำกล่าวที่ประเทศอังกฤษว่า ‘you do what you love, you'll never work a day in your life’ แปลว่า ถ้าคุณได้ทำในสิ่งที่รัก คุณเหมือนไม่ได้ทำงานแม้แต่วันเดียว”

“สำหรับผมแล้ว การทำงานเกี่ยวกับมวยไทย ก็คือการทำในสิ่งที่ชอบในทุกวัน” ร็อบ ค็อกซ์ ทิ้งท้ายกับ Main Stand

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ "ร็อบ ค็อกซ์" : ฝรั่งจากลอนดอนที่พูดภาษาไทยและรักมวยไทยนานกว่า 30 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook