Sunderland Till I die : สารคดีที่สะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีของแฟนฟุตบอล

Sunderland Till I die : สารคดีที่สะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีของแฟนฟุตบอล

Sunderland Till I die : สารคดีที่สะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีของแฟนฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยอค สตีน ตำนานนักเตะชาวสกอตแลนด์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ฟุตบอลไม่มีค่าอะไร หากไร้ซึ่งแฟนบอล” แต่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี ความภักดีในโลกลูกหนังหาได้ยากยิ่งขึ้น แฟนบอลพากันหลั่งไหลเข้าสนับสนุนสโมสรชั้นนำ ซึ่งเต็มไปด้วยความมั่งคั่งและความสำเร็จ ขณะที่ผู้ชมในสนามของทีมระดับล่าง ลดน้อยลงไปทุกที

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นถ้วยแชมป์สำคัญกว่าจิตวิญญาณของชุมชน  แฟนบอลบางกลุ่มยังยึดมั่นในสโมสรฟุตบอลที่มีความหมาย และเป็นยิ่งกว่าลมหายใจของชาวเมือง คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ในเมืองชื่อว่า ซันเดอร์แลนด์ พื้นที่ชนบทอันทุกข์ยากระดับต้นๆของประเทศอังกฤษ

 

เมื่อทีมกำลังอยู่ในช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร จากการตกชั้นสองปีติดต่อกัน เหตุใดแฟนบอลของพวกเขา จึงเข้าสนามมากขึ้นกว่าเดิม สารคดีชุด Sunderland ’Til I Die ซึ่งออกฉายทาง Netflix พาคนทั้งโลกไปดูเรื่องราวนอกสนามแข่งขัน ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายของซันเดอร์แลนด์ ในฤดูกาล 2018-19

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นอย่างไร ติดตามช่วงเวลาดังกล่าวกับ Main Stand ได้ที่นี่ 

สโมสรประจำเมืองต้องสาป

 1

ซันเดอร์แลนด์ เอเอฟซี คือสโมสรฟุตบอลประจำเมืองซันเดอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1879 เป็นหนึ่งในสามทีมฟุตบอลที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และ มิดเดิลสโบรห์ เอฟซี

แม้จะเป็นทีมที่มาจากเมืองเล็กและเต็มไปด้วยประชากรชนชั้นแรงงาน สโมสรซันเดอร์แลนด์ กลับประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วบนเวทีลีกสูงสุด พวกเขาคว้าแชมป์การแข่งขันดิวิชั่นหนึ่ง 4 สมัย ภายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1892 ถึง 1902 ทีมฟุตบอลแห่งนี้จึงเป็นความสุข และความภาคภูมิใจของชาวเมืองซันเดอร์แลนด์ อย่างแท้จริง

“มีคนไม่มากในซันเดอร์แลนด์ที่โชคดี ที่นี่คือเมืองที่ยากลำบาก แต่ซันเดอร์แลนด์เป็นเมืองฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่มาก นี่คือสิ่งจรรโลงชีวิตของพวกเรา” ปีเตอร์ ฟาร์เรอร์ แฟนบอลผู้ถือตั๋วปีสโมสรมาตั้งแต่ปี 1992 เล่าให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสโมสรฟุตบอลกับชาวเมือง

“นี่คือซันเดอร์แลนด์นะพวก เราไม่ได้พูดถึงออกซ์ฟอร์ดหรือเคมบริดจ์ เรากำลังพูดถึงเมืองของชนชั้นแรงงาน และประเด็นหลักที่พูดถึงกันในซันเดอร์แลนด์ คือสโมสรซันเดอร์แลนด์”

 2

เมื่ออู่ต่อเรือและเหมือง ที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในเมืองมาตั้งแต่ คริสต์ทศวรรษที่ 1850 เริ่มทยอยปิดตัวลงในช่วงปีคริสต์ทศวรรษ 1970 

สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอันกแตกร้าวของชาวซันเดอร์แลนด์ คือสโมสรฟุตบอล ปี 1973 ทีมก้าวไปคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ สมัยที่สองมาครองได้สำเร็จ และมันเป็นถ้วยรางวัลรายการใหญ่สุดท้ายของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้

“การชิงถ้วยเอฟเอ คัพ ปี 1973 คือหนึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดของประวัติศาสตร์ซันเดอร์แลนด์ในความคิดผม คุณอธิบายไม่ถูกหรอกว่ามันเป็นยังไง มันเหมือนช่วงเวลาปาร์ตี้ของเรา” ปีเตอร์ ฟาร์เรอร์ เปิดเผยกับสารคดีถึงความรู้สึกในช่วงเวลาดังกล่าว

แม้ปัญหาความยากจน และการว่างงาน จะโจมตีเมืองแห่งนี้มายาวนานหลายสิบปี แต่สโมสรซันเดอร์แลนด์กลับพัฒนาเดินหน้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง ทีมปรับปรุงสนามสเตเดี้ยม ออฟ ไลท์ จนมีความจุ 49,000 คน เพื่อรองรับความสำเร็จที่พวกเขาได้เป็นทีมขาประจำในพรีเมียร์ลีก

 3

“มันคือหนึ่งในสนามกีฬาที่ดีที่สุดของประเทศ ทุกอย่างตอนนั้นถูกต้องไปหมด ผู้หญิงพาลูกไปชมการแข่งขัน มีคนทุกเพศทุกวัยในสนาม เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากจริงๆ” ปีเตอร์ ฟาร์เรอร์ ย้อนเล่าให้ฟังถึงความหวังอันหวานชื่น

“แต่น่าเสียดาย มันเกิดข้อผิดพลาดขึ้น”

หลังได้ลงเล่นบนลีกสูงสุดยาวนาน 10 ปี ติดต่อกัน ชาวซันเดอร์แลนด์ต้องเจอกับความผิดหวังครั้งใหญ่ในฤดูกาล 2016-17 พวกเขาเก็บแต้มได้เพียง 24 คะแนน จากการแข่งขัน 38 นัด และต้องตกชั้นสู่ลีกรองในฤดูกาลถัดไป

“ซันเดอร์แลนด์ อย่าว่าแต่สโมสรฟุตบอลเลย ความจริงคือ ทีมฟุตบอลซันเดอร์แลนด์ ไม่แตกต่างจากเมืองซันเดอร์แลนด์ ถ้ามันไม่แย่ไปกว่านี้ ก็เป็นเพราะว่าเราไม่มีอะไรดีมาตั้งแต่แรก เรื่องนี้เป็นแค่การตอกย้ำความล้มเหลวอีกครั้งของเรา” 

 4

จุดเริ่มต้นที่ผิดพลาด

หลังร่วงไปสู่การแข่งขันระดับสอง หรือ เดอะ แชมเปี้ยนชิป สโมสรมีโจทย์ใหญ่ในการเรียกความเชื่อมั่นของแฟนๆกลับมาอีกครั้ง 

พวกเขาแต่งตั้ง ไซมอน เกรย์สัน ผู้จัดการทีมมากประสบการณ์ในลีกล่างเข้ามารับตำแหน่ง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ทีมเผชิญอยู่

ดูสนามกีฬาแห่งนี้สิ มันเป็นของทีมในพรีเมียร์ลีกมานานหลายปี มันยอดเยี่ยมมากที่ได้ลงแข่งขันในสภาพแวดล้อมแบบนี้ เราต้องทำให้ที่นี่ดีเยี่ยมให้ได้ เพราะแฟนบอลทุกคนคิดว่านี่คือปีที่ทีมฟุตบอลของพวกเขาได้เลื่อนชั้น ก้าวไปสู่การแข่งขันอีกระดับ และมีฤดูกาลที่ประสบความสำเร็จ” ไซมอน เกรย์สัน แสดงความมั่นใจหลังเข้ารับงานในช่วงเปิดฤดูกาล

 5

แต่ความจริงที่โหดร้ายได้ปรากฏ หลังการแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม พวกเขาชนะได้เพียงนัดเดียว จากการแข่งขัน 5 เกมแรกของฤดูกาล 2017-18 ทีมตกไปอยู่อันดับ 19 ของตาราง ห่างไกลจากเป้าหมายเลื่อนชั้นที่ตั้งไว้มากเหลือเกิน

ด้วยเหตุนี้ แฟนบอลจึงเรียกร้องให้สโมสรทำการทุ่มเงินมหาศาล เพื่อซื้อตัวผู้เล่นคุณภาพดีเข้าสู่ทีม ก่อนตลาดซื้อขายช่วงหน้าร้อนจะปิดตัวลงในวันที่ 1 กันยายน เพราะหากผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้ว พวกเขาจะไม่มีโอกาสแก้ตัวได้อีก

“การซื้อขายนักเตะในเดือนสิงหาคมคือกุญแจสำคัญ สำหรับสโมสรอย่างซันเดอร์แลนด์ที่อยู่ๆก็ลงไปเล่นในเดอะ แชมเปี้ยนชิป คนที่อยู่ในตำแหน่งสูงของสโมสร ต้องช่วยผู้จัดการทีม และเอาคนที่เขาต้องการมาให้ได้” จิม ไวท์ ผู้ประกาศข่าวจากสกาย สปอร์ต ชี้ให้เห็นความสำคัญของการลงทุนในตลาดซื้อขายนักเตะ

“เงินทั้งหมดที่พวกคุณมี ใช้มันซะ สร้างการซื้อขายที่สำคัญให้มันเกิดขึ้น เพื่อเอาตัวเองออกไปจากเดอะ แชมเปี้ยนชิป”

 6

อย่างไรก็ตาม สโมสรเลือกทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามจากความคาดหวังของแฟนบอล พวกเขาขาย จอร์แดน พิคฟอร์ด ผู้รักษาประตูดีกรีทีมชาติอังกฤษให้กับเอฟเวอร์ตัน ในราคา 30 ล้านปอนด์ เพื่อเซ็นสัญญา เจสัน สตีล นายทวารมือหนึ่งจากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ด้วยราคา 5 แสนปอนด์ เข้ามาแทนที่ ส่วนผู้เล่นตำแหน่งอื่นที่เป็นปัญหา ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเลย

“สโมสรต้องการกองหน้ามาก และผมเข้าใจสุดๆ แต่สิ่งที่คุณไม่ควรทำในการซื้อขายนักเตะคือ โดดลงไป ใช้เงินจำนวนมากเพื่ออุดช่องโหว่ ในแบบที่สโมสรเคยทำมาหลายปี การใช้จ่ายเงินโดยไม่จำเป็น คือการแก้ปัญหาแบบชั่วคราวเท่านั้น” มาร์ติน เบน ประธานฝ่ายบริหาร ชี้ให้เห็นแนวทางแบบใหม่ของซันเดอร์แลนด์

ด้วยแนวทางที่ใช้เงินอย่างประหยัดและพอเพียง สโมสรเลือกเน้นฝากความหวังไว้ที่นักเตะดาวรุ่งของทีม จอร์จ ฮันนีย์แมน ก้าวมารับบทจอมทัพแดนกลางในวัย 23 ปี ส่วนตำแหน่งอื่นที่ขาดหาย พวกเขาได้นักเตะฟรีและยืมตัวมากมายเข้ามา ทั้ง รอบบิน รอยเตอร์, มาร์ค วิลสัน, คัลลัม แมคมานามาน, จอนนี วิลเลียมส์ และ ลูอิส แกรบเบน ซันเดอร์แลนด์ไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่ปอนด์เดียว เพื่อเอาพวกเขามาใช้งาน

 7

อย่างไรก็ตาม นักเตะที่ผู้จัดการทีมอยากได้มากที่สุดอย่าง รอสส์ แม็คคอร์แม็ค ดาวยิงตัวเก่งของแอสตัน วิลล่า เพราะมีมาตรฐานที่สามารถค้าแข้งในระดับลีกสูงสุด กลับไม่ได้รับอนุมัติให้คว้าตัวมาร่วมทีม เนื่องจากราคาแพงเกินไป

“เวลาที่เราเห็นคนอย่างรอสส์ว่างอยู่ แน่นอนว่าเขาแพงเพราะเป็นกองหน้า และเพิ่งย้ายจากฟูแล่มด้วยราคา 12 ล้านปอนด์ แต่เราก็สามารถซื้อเขามาได้” ไซมอน เกรย์สัน ผู้จัดการทีมซันเดอร์แลนด์ ยอมรับว่าไม่พอใจการตัดสินใจของสโมสร

“ตอนนี้ผมไม่สามารถซื้อผู้เล่นที่แฟนซันเดอร์แลนด์คาดหวังได้ ถามว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นไหม ไม่เลย แต่นั่นเป็นแค่ความเห็นของผม”

แพะรับบาป

เมื่อนักเตะที่ได้มาในตลาดซื้อขาย มีแต่ผู้เล่นเกรดต่ำ ผลงานของทีมซึ่งแย่อยู่แล้วจึงมีแต่จะร่วงลงไปอีก ซันเดอร์แลนด์หาชัยชนะไม่เจอ 10 นัดติดต่อกัน จนกระทั่งตกไปอยู่อันดับที่ 23 ซึ่งเป็นรองบ๊วยของตาราง และสุ่มเสี่ยงที่จะตกชั้นไปยังการแข่งขันระดับลีกวัน

“เราเริ่มต้นได้ค่อนข้างดี ด้วยการอยู่ในหกอันดับแรก แต่ตอนนี้เราอยู่ท้ายตาราง ทุกคนกำลังรุมด่า ไซมอน เกรย์สัน แต่ฉันคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพราะ ไซมอน เกรย์สัน หรอก เขาทำเต็มที่เท่าที่เขาทำได้ เพราะเขาได้ทีมที่ห่วยแตกมาตั้งแต่แรกแล้ว” แฟนซันเดอร์แลนด์รายหนึ่ง ชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสโมสร

 8

แม้จะไม่ใช่ความผิดของเขาตั้งแต่แรก แต่ด้วยสถานการณ์ที่ออกมาไม่เป็นอย่างหวัง แฟนบอลเริ่มเรียกร้องให้ ไซมอน เกรย์สัน รับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เขาต้องรับความกดดันมหาศาลให้ออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีม แม้เข้ามาทำงานกับสโมสรได้เพียง 3 เดือน

“ถ้าคุณอยากจัดการอะไรในชีวิต มีสามสิ่งที่คุณต้องทำได้ดี หนึ่งจัดการคนได้ สองมีทักษะในการกระตุ้นคนได้ สุดท้ายคือมีกลยุทธ์และเทคนิคที่ถูกต้อง และน่าเสียดาย ผมไม่คิดว่าคุณเกรย์สัน ทำได้ดีที่สุดเมื่อพูดถึงสามอย่างนั้น” ปีเตอร์ ฟาร์เรอร์ เชื่อมันว่าผู้จัดการทีมของเขา หมดศักยภาพในการควบคุมซันเดอร์แลนด์

เสียงสาปแช่งให้นักเตะและผู้จัดการทีมไปตายดังขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกลับผลงานของทีมที่ดิ่งลงเหวทุกขณะ ซันเดอร์แลนด์จัดงานประชุมพูดคุยกับแฟนคลับ เพื่อชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาของสโมสร ซึ่งสุดท้ายนอกจากจะไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว ไซมอน เกรย์สัน ยังถูกวิจารณ์ต่อหน้าว่ามีศักยภาพพอจะคุมทีมจนจบฤดูกาลหรือไม่

“ผมได้คุยกับมาร์ตินเกือบทุกวัน และเราพูดคุยกันหลายเรื่อง เรื่องที่เราคุยกับเมื่อวันพุธคือ ตอนนี้เราทั้งคู่ลงเรือลำเดียวกัน และเราอยากทำให้ทีมเดินไปในทางที่ถูกต้อง เขาจ้างผมเพราะคิดว่าผมเหมาะกับงานนี้ และผมมั่นใจว่าเขาจะไม่เปลี่ยนความคิดกะทันหัน” ไซมอน เกรย์สัน ยังมั่นใจว่าเก้าอี้ของเขาแข็งแรง หลังพาทีมเสมอเบรนต์ฟอร์ด 3-3 ทั้งที่นำก่อนในครึ่งแรก 3-1

เกมชี้ตายอาชีพของ ไซมอน เกรย์สัน มาถึงในวันที่ 31 ตุลาคม เมื่อซันเดอร์แลนด์ต้องเปิดบ้านเจอกับ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ทีมอันดับสุดท้ายของตาราง หากพูดกันตามผลงาน นี่คือเกมที่ง่ายที่สุดในฤดูกาลสำหรับทุกทีม และสามแต้มเท่านั้น คือสิ่งที่แฟนๆและผู้บริหารของทีมต้องการ

หลังสิ้นสุดเก้าสิบนาทีของเกมดังกล่าว ซันเดอร์แลนด์แสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาเจอทางตันเข้าแล้วจริงๆ ผลการแข่งขันจบลงที่ 3-3 และ ไซมอน เกรย์สัน ถูกปลดทันทีหลังจบเกม สร้างสถิติเป็นผู้จัดการทีมที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด ตลอดระยะเวลา 137 ปี ของสโมสรฟุตบอลซันเดอร์แลนด์

 9

“ผมติดตามซันเดอร์แลนด์มา 60 หรือ 70 ปีแล้ว มีบางอย่างผิดปกติในสโมสรนี้ พวกเขาถึงต้องไล่ผู้จัดการทีมออกซ้ำแล้วซ้ำเล่า” กูรูฟุตบอลของบีบีซี พูดผ่านสถานีวิทยุว่าการปลดโค้ชครั้งนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความยุ่งเหยิงในทีมซันเดอร์แลนด์เท่านั้น

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

“สภาพที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ ผมหวังได้แค่อย่าตกชั้นลงไปอีก เพราะสโมสรนี้จะตกชั้นไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว แต่ใครจะไปรู้ล่ะ”

แพทริก เลสกา พ่อครัวประจำสโมสรซันเดอร์แลนด์ เริ่มมองเห็นข่าวร้ายที่อาจเกิดขึ้นหลังจบฤดูกาล หลังพวกเขาก้าวสู่ปี 2018 ด้วยการอยู่อันดับ 24 ของตาราง หรือตำแหน่งบ๊วยของการแข่งขัน แม้สโมสรจะแต่งตั้ง คริส โคลแมน อดีตผู้จัดการทีมชาติเวลส์เข้ามารับตำแหน่ง แต่สถานการณ์ของทีมยังคงไม่ดีขึ้น

เพื่อป้องกันไม่ให้ฝันร้ายกลายเป็นจริง และบทเรียนที่เกิดขึ้นจากช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ซันเดอร์แลนด์เดินหน้าเต็มกำลังในตลาดซื้อขายช่วงปีใหม่ และหวังจะดึงนักเตะคุณภาพดีเข้ามาสู่ทีมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก่อนสโมสรจะพบความจริงว่ามันสายไปเสียแล้ว

“คุณทำงานทั้งวันทั้งคืน ให้ทีมแพทย์เตรียมพร้อมสำหรับเย็นวันนี้ คิดว่านักเตะจะเข้ามาหาเรา แต่เมื่อคุณอยู่ตรงจุดนี้ในลีก การเอาผู้เล่นเข้ามาสู่ทีมให้ได้ มันเป็นงานที่สยองมาก และนี่คือสิ่งที่ผมเผชิญอยู่”  มาร์ติน เบน เปิดเผยหลัง คริส มาร์ติน ศูนย์หน้าของดาร์บี เคาท์ตี้ ยกเลิกตรวจร่างกายกับทีมกะทันหัน เพื่อเซ็นสัญญา เรดดิ้ง คู่แข่งร่วมลีกของพวกเขาในสัปดาห์ถัดมา

ไม่ใช่แค่นักเตะภายนอกที่ไม่อยากย้ายเข้ามาสู่ทีมบ๊วยของตาราง นักเตะภายในเองก็ไม่อยากอยู่กับทีมต่อไปเช่นกัน ลูอิส แกรบเบน ดาวซัลโวของทีมในช่วงครึ่งฤดูกาลแรกที่จำนวน 12 ประตู ตัดสินใจยกเลิกสัญญายืมตัวที่ทำไว้เกับซันเดอร์แลนด์ เพื่อหาต้นสังกัดใหม่ที่ดีกว่าลงสนามหลังจากนี้

 10

“ถ้าคุณไม่อยาก อยู่ที่นี่ ก็โอเค ไปซะ แต่มันมีเวลาที่คุณไปได้ กับเวลาที่คุณไปไม่ได้ และน่าเสียดายเราไม่ได้มีผู้เล่นมากพอ ที่จะปล่อยตัวพวกเขาออกไปได้จริงๆ” ปีเตอร์ ฟาร์เรอร์ ยอมรับว่าทีมรักของเขา กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

ขณะที่เวลาในตลาดซื้อขายรอบสุดท้ายลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ผู้เล่นรายใหม่ยังไม่เข้ามาปรากฏตัวที่สโมสรแม้แต่รายเดียว แฟนบอลเรียกร้องให้ เอลลิส ขอร์ต เจ้าของสโมสร ทุ่มเงินเหมือนดังที่เคยทำอีกครั้ง แต่หลังจากขาดทุน 145 ล้านปอนด์ ตลอดห้าปีที่ผ่านมา นักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกาจึงยืนยันว่า  เขาจะไม่ลงทุนกับสโมสรแห่งนี้ไปมากกว่านี้อีกแล้ว

“เราต้องการผู้รักษาประตูใหม่ บวกกับกองหน้าอีกสองสามคน แต่เรามีเจ้าของเป็นเศรษฐีพันล้านซึ่งไม่สนห่าอะไรเลย นี่คือปัญหาใหญ่ของเรา เรามีโค้ชคุณภาพเยี่ยมอย่าง คริส โคลแมน คุณเอาเขามา แต่ไม่สนับสนุนเขาเหรอ นี่มันอาชญากรรมชัดๆ” แอนดรูว์ แคมมิส ผู้ถือตั๋วปีสโมสรซันเดอร์แลนด์ ไม่เข้าใจถึงการกระทำของทีม

 11

เมื่อไร้เงินจากภายนอกอัดฉีดเข้ามา แถมปัญหาภายในยังจัดการไม่เสร็จ แจ็ค รอดเวลล์ อดีตกองกลางแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ปฏิเสธการยกเลิกสัญญากับสโมสร และเลือกรับค่าเหนื่อยเจ็ดหมื่นปอนด์ต่อสัปดาห์ แบบไม่ต้องทำงานต่อไป ทีมจึงทำได้เพียงยืมผู้เล่นคุณภาพต่ำเข้ามาสู่ทีมอีก 3 ราย ในการซื้อขายวันสุดท้ายของตลาดหน้าหนาว

“สุดท้าย ทุกสิ่งจะแย่ไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว เรารู้ว่าเราจำเป็นต้องพัฒนาทีม แต่คุณจะทำยังไงเมื่อไม่มีงบประมาณให้ทำแบบนั้น มันจะไม่ง่ายแน่นอน” มาร์ติน เบน ยอมรับว่าตอนนี้ ซันเดอร์แลนด์ต้องสู้แบบหลังชนฝาแล้ว

รอคอยปาฏิหารย์

หลังตลาดซื้อขายรอบสุดท้ายปิดตัวลง ซันเดอร์แลนด์ต้องรับกับความจริงว่าทีมไม่ได้มีผลงานที่ดีขึ้นเลย พวกเขาไม่ชนะ 10 นัดติดต่อกัน และจมอยู่อันดับที่ 24 หรืออันดับสุดท้ายของตารางยาวนานกว่าหนึ่งเดือน  ความวิตกกังวลว่าจะตกชั้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน แพร่ขยายออกไปทั่วเมือง 

“มีบางอย่างพิเศษเกี่ยวเมืองนี้ ศรัทธาและฟุตบอลเป็นของคู่กัน ในหลายแง่มุม สนามสเตเดียม ออฟ ไลท์ เป็นเหมือนโบสถ์ใหญ่ที่รวมศรัทธาของทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน” บาทหลวงมาร์ค ไลเดน สมิธ เปิดเผยความผูกพันที่มากกว่าฟุตบอลของสโมสรและชาวเมือง

“ฤดูกาลนี้ เราทุกคนต่างรู้ดีว่าเป็นฤดูกาลที่สิ้นหวัง มีคนมากมายเข้ามาด้วยความท้อแท้และวิตกกังวล สโมสรฟุตบอลคือผู้จ้างงานรายใหญ่ มันมีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ความกลัวที่จะตกชั้น คือความกังวลที่แท้จริงของทุกคนในเมืองนี้”

 12

แม้จะแย่สักแค่ไหน แฟนบอลซันเดอร์แลนด์ยังคงสนับสนุนทีมของตัวเอง พวกเขารวมตัวกันกว่าหนึ่งพันคน เพื่อตามไปเชียร์ทีมโปรดในเกมเยือน และสนามสเตเดียม ออฟ ไลท์ ไม่เคยมีคนดูน้อยกว่า 25,000 คน แม้จะชนะในบ้านแค่เกมเดียว ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา

“บริสตอลไกลจากที่นี่มาก คุณกำลังพูดถึงการนั่งรถไปห้าชั่วโมง กลับอีกห้าชั่วโมง มันเป็นวันที่เหนื่อยลากไส้ แต่ในความรู้สึกของคุณ มันวิเศษมากจริงๆ” แอนดรูว์ แคมมิส เปิดเผยถึงเหตุของการตามไปเชียร์ทีมรัก แม้ต้องเดินทางไกล 394 กิโลเมตร

สำหรับบางคนที่ทนต่อไปอีกไม่ไหว การเปลี่ยนความเจ็บปวดให้กลายเป็นเสียงหัวเราะ ถือเป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยม อัลฟี่ โจอี้ แฟนบอลซันเดอร์แลนด์ ผู้มีอาชีพหลักเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟน เล่นมุกตลกขำขันเกี่ยวกับทีมของตัวเอง ซึ่งกำลังจะตกชั้นเป็นปีที่สองติดต่อกันในไม่ช้านี้

“คนดูเหมือนหัวเราะเยาะให้กับตัวเอง แต่พวกเขาไม่ชอบที่จะเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว นั่นแหละคือชีวิตของแฟนบอลซันเดอร์แลนด์ ใช่ไหมล่ะ คุณจะทำตัวมั่นใจเกินความจริงไม่ได้ คุณต้องพูดตามความจริง อันไรที่มันเลวร้าย มันอาจจะเลวร้ายได้อีก” อัลฟี่ โจอี้ เปิดเผยเหตุผลที่เขาต้องสร้างเสียงหัวเราะให้ชาวเมือง

 13

เมื่อการแข่งขันดำเนินมาถึงโค้งสุดท้าย ทีมถูกบังคับให้คว้าผลชัยชนะเพื่อการอยู่รอด แฟนบอลซันเดอร์แลนด์รู้ดีว่าสิ่งที่รอคอยพวกเขาอยู่ตรงหน้า คือเส้นทางตกชั้นสู่การแข่งขันระดับสาม หรือ ลีกวัน แต่พวกเขายังไม่สิ้นความหวัง หลายคนคิดว่าปาฏิหารย์อาจเกิดขึ้นกับสโมสรแห่งนี้

“พ่อไม่สิ้นความหวังหรอก พ่อมีความหวังเสมอ เพราะด้วยศรัทธาและความหวัง และจิตวิญญาณของชุมชนที่มีอยู่ในเมืองนี้ เราจะเหมือนนกฟีนิกซ์ที่ผงาด และไม่ว่าเราจะไปที่ใด เราจะโบยบินขึ้นอีกครั้ง” บาทหลวงมาร์ค ไลเดน สมิธ กล่าวต่อสาธุชนผู้เชื่อมั่นในสโมสรซันเดอร์แลนด์

“สิ่งสุดท้ายก่อนออกจากบ้านไป คือแมวดำนำโชค” ปีเตอร์ ฟาร์เรล พูดพลางลูบตุ๊กตาแมวดำ มัสคอตของสโมสร เพื่อเพิ่มโชคลางให้กับตัวเอง “ผมเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่มันคงกลายเป็นอะไรที่ไร้ประโยชน์ไปแล้ว”

สมกับคำพูดของแฟนบอลพันธุ์แท้อย่าง ฟาร์เรล โชคไม่เคยเข้าข้างซันเดอร์แลนด์ ประตูที่ยิงได้ในนาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ถูกยกเลิกให้กลายเป็นการฟาวล์ ทีมแพ้คาบ้าน 1-2 ให้แก่เบอร์ตัน อัลเบียน ส่งพวกเขาตกชั้นสู่การแข่งขันลีกวัน อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 เมษายน ปี 2018

สิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนไป

หลังความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ สโมสรซันเดอร์แลนด์ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย คริส โคลแมน ถูกยกเลิกสัญญาทั้งที่เหลือเกมแข่งขันอีก 2 นัด โค้ชหลายคนจากลาสโมสรเพื่อหางานที่ดีกว่า ส่วนเจ้าของทีมอย่าง เอลลิส ชอร์ต ประกาศขายสโมสรในราคาเพียง 50 ล้านปอนด์ หลังไม่พร้อมลงทุนให้ทีมอีกต่อไป

“มันยากที่ผมจะพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ผมไม่ได้ใสซื่อจนหลงคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงรากฐานของสโมสรฟุตบอล” มาร์ติน เบน ยอมรับว่าโครงสร้างสโมสรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน หลังการเข้ามาของเจ้าของใหม่

“เรากังวลเกี่ยวกับงานของเรา เราได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในสโมสร ใช่ครับ เราทุกคนกังวล เราเป็นมนุษย์ครับ และเรามีครอบครัว เรามีหนี้สินภาระที่ต้องใช้จ่าย” จอห์น คุก ผู้จัดการอุปกรณ์สโมสรยอมรับอนาคตที่ไม่แน่นอนของตัวเอง 

เมื่อสถานการณ์ของทีมย่ำแย่สุดขีด แฟนบอลซันเดอร์แลนด์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศรัทธาที่ไม่เคยเสื่อมคลาย เหล่าบรรดาผู้ถือตั๋วปีพาเหรดกันเข้ามาต่ออายุที่นั่งของตัวเอง จนคิวยาวทะลุออฟฟิศของสโมสร ทั้งที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาพึ่งดูทีมตัวเองตกชั้นต่อหน้าต่อตาไปหมาดๆ

“ฉันไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นแบบนี้เลย หลังจากตกชั้นเมื่อวันเสาร์ เรานึกว่าวันนี้จะเงียบมาก แต่ตรงกันข้ามเลย แถวยาวไปนอกประตู ถือเป็นเรื่องบวกค่ะ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้” ลอร์นา ทอมป์สัน ผู้จัดการแผนกขายตั๋ว เปิดเผยว่าเธอประหลาดใจที่เห็นแฟนบอลรักมั่นกับทีมเหมือนเดิม

 14

“ตั๋วรายปีเป็นสิ่งที่ดีครับ ทำให้คุณเห็นว่าซันเดอร์แลนด์ต้องการเงินมากแค่ไหน ผมใช้บัตรเดิมมาสามปีแล้ว พวกเขาไม่ได้ทำบัตรใหม่เพื่อประหยัดเงิน” ปีเตอร์ ฟาร์เรล ชี้ให้เห็นเหตุผลที่เขาซื้อตั๋วปีต่อไป แม้ผลงานทีมจะย่ำแย่ต่อเนื่องสองฤดูกาล

ไม่เพียงแค่การสนับสนุนทางการเงินที่ทีมต้องการ แต่กำลังใจเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน หลังตกชั้น ซันเดอร์แลนด์ยังเหลือการแข่งขันอีกหนึ่งนัดในสเตเดียม ออฟ ไลท์ และมีโปรแกรมต้องเจอกับ วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส ซึ่งเป็นแชมป์ในการแข่งขันฤดูกาลนี้

“วูล์ฟพึ่งชนะลีกมา ส่วนซันเดอร์แลนด์พึ่งจะตกชั้น แต่ผมยังอยากเห็นทีมของเราชนะครับ” ปีเตอร์ ฟาร์เรล ยืนยันว่าเขาต้องไปชมการแข่งขันเกมสุดท้ายให้ได้

แม้ผลการแข่งขันจะไร้ความหมาย ผู้คนยังเดินทางมาชมเกมการแข่งขันแบบไม่ขาดสาย หลายคนแต่งชุดคอสเพลย์ราวกับเฉลิมฉลองให้การตกชั้น จำนวนแฟนบอลในเกมดังกล่าวอยู่ที่ 28,452 มากกว่านัดล่าสุดที่เล่นในบ้านถึงสามพันคน ทั้งที่ทีมตกชั้นไปแล้ว

“ไม่สำคัญหรอกว่ามันแย่แค่ไหน ผมเคยสนับสนุนซันเดอร์แลนด์มาแล้ว ตอนที่พวกเขาตกชั้นคราวก่อนไปดิวิชั่นสาม และตอนนี้ผมก็จะสนับสนุนพวกเขาอีกเหมือนกัน ตอนที่พวกเขาร่วงไปลีกวัน” แฟนบอลรายหนึ่งยืนยันว่าเขาจะไม่ทิ้งสโมสรแห่งนี้ไปไหน

 15

“เราจะอยู่ตรงนั้นเสมอ ตราบใดที่ทีมยังคงอยู่ให้ติดตาม ซันเดอร์แลนด์เป็นครอบครัวของเรามาเสมอ”

เมื่อเสียงตะโกน “เราคือซันเดอร์แลนด์” ดังไปทั่วสนาม ป้ายข้อความ “ซันเดอร์แลนด์จนวันตาย” ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า ไม่มีอะไรจะหยุดความมุ่งมั่นของนักเตะ และแฟนบอลซันเดอร์แลนด์ได้อีกต่อไป พวกเขาเอาชนะผู้มาเยือนซึ่งเป็นแชมป์ลีกขาดลอย 3-0 สร้างรอยยิ้มให้แฟนบอลได้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนฤดูกาลอันเลวร้ายสิ้นสุดลง

“คุณคงไม่ขออะไรมากกว่านี้แล้ว เราได้มาสามประตู เป็นประตูที่ดีด้วยจากเด็กๆในทีม สำหรับผม บอกตามตรงว่ามันเป็นการปิดฉากที่สวยงามจริงๆ” มาร์ติน เบน พูดด้วยรอยยิ้มกับสารคดี ก่อนยกเลิกสัญญากับสโมสร และออกจากตำแหน่งประธานฝ่ายบริหารในอีกไม่กี่เดือนถัดมา

 16

เรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดฤดูกาล 2017-18 อาจเป็นเหมือนฝันร้ายของแฟนบอลซันเดอร์แลนด์ทุกคน จากเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดและความเศร้า แต่สารคดี “Sunderland ’Til I Die” แสดงให้เห็นว่าตลอดหนทางที่พวกเขาฝ่าฟัน ความรักและความศรัทธาในสโมสรแห่งนี้ ยังไม่เคยจางหายไปไหน 
 
และไม่ว่าผลงานของซันเดอร์แลนด์จะย่ำแย่เพียงใด นักเตะ, ผู้จัดการทีม หรือ ผู้บริหาร จะเปลี่ยนหน้าไปอีกมากมายแค่ไหน แฟนบอลซันเดอร์แลนด์ยังคงอยู่กับสโมสรแห่งนี้ตลอดไป ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของพวกเขา ดั่งบทเพลงที่กึกก้องในสนามสเตเดียม ออฟ ไลท์ ตลอดไป

“บางสิ่งถูกกำหนดไว้ จับมือฉันไว้ เอาทั้งชีวิตของฉันไป เพราะฉันไม่อาจห้ามใจ ไม่ให้รักเธอได้เลย”

“ซันเดอร์แลนด์”

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ Sunderland Till I die : สารคดีที่สะท้อนให้เห็นความจงรักภักดีของแฟนฟุตบอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook