คุยกับ “วรวีร์ มะกูดี” ในวันที่ชีวิตไม่ได้มี (แค่) ฟุตบอล

คุยกับ “วรวีร์ มะกูดี” ในวันที่ชีวิตไม่ได้มี (แค่) ฟุตบอล

คุยกับ “วรวีร์ มะกูดี” ในวันที่ชีวิตไม่ได้มี (แค่) ฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเอ่ยถึงผู้ชายที่ถูกเรียกขาน “บังยี” เชื่อเหลือเกินว่า คนไทยจำนวนมาก ต่อให้ไม่ได้ติดตามฟุตบอล ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อของเขา ผ่านทางข่าวคราวต่างๆมากมาย…

ไม่ว่าจะเป็นในฐานะของ ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการฟุตบอลไทยมานานกว่า 30 ปี, อดีตผู้บริหารและคณะทำงานของ สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) และ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA)  รวมถึง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

ถึงแม้ชื่อของ บังยี - วรวีร์ มะกูดี จะเป็นที่คุ้นหู และเคยเห็นผ่านตาผู้คนมาบ้าง ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่คนอ่าน ก็ได้ทำความรู้จัก บางแง่มุมของเขาผ่านตัวหนังสือ และภาพข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปเท่านั้น

น้อยคนนัก จะล่วงรู้ถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา ผ่านการได้สัมผัส นั่งพูดคุยแบบตัวต่อตัว และแน่นอนว่า บางคนก็ตัดสินไปแล้วว่าเขาเป็นคนอย่างไร จากข้อความบนหน้าข่าว…

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับรู้ และติดตามข่าวสารมาไม่น้อย ตลอดหลายปีที่ วรวีร์ มะกูดี นั่งแท่นอยู่บนตำแหน่งผู้นำองค์กรกีฬาที่ทรงอิทธิพล และมีมูลค่ามากที่สุดในประเทศไทย

จนคิดว่าที่ในฐานะสื่อคนหนึ่ง เราควรจะต้องเดินไปเข้าทำความรู้จัก ผู้ชายคนนี้ ให้มากกว่าแค่ข้อความที่ตัวเองเคยเห็นบนหน้าบน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอีกบางแง่มุม ที่ยังไม่ได้ถูกเล่าผ่านตัวอักษรมานำเสนอแก่ผู้อ่าน…

นี่ไม่ใช่การถ่ายทอดเรื่องราวเขาคนๆนี้ เคยประสบความสำเร็จหรือไม่ เคยทำอะไรให้วงการฟุตบอลไทย มีภาพลักษณ์ที่ดีหรือร้าย แต่นี่คือการถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องลึกของชายคนหนึ่ง ที่เคยมีบทบาทสำคัญในในวงการฟุตบอลไทย และมีชื่ออยู่บนหน้าสื่อแทบไม่เว้นแต่ละวัน

ผู้ชายคนนี้บอกกับเราว่า “เขาอยู่กับฟุตบอลมาเกือบทั้งชีวิต” หากเป็นเช่นนั้นจริง ในวันนี้ที่ชีวิตของเขาไม่ได้มีกีฬาลูกหนังวนเวียนอยู่ในลมหายใจเข้าออก ไม่ได้อยู่หน้าโต๊ะทำงานที่มีแต่เรื่องฟุตบอล ชีวิตของเขาเป็นอย่างไรบ้าง?

และไม่ว่าคุณจะรู้จักผู้ชายคนนี้ ผ่านตัวอักษรมามากน้อยแค่ไหน? หรืออาจตัดสินเขาไปในทางใด ทางหนึ่ง เราก็อยากชวนทุกท่าน มาอ่านเรื่องราวของ วรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ผ่านข้อความอีกสักครั้ง

ความหลงใหล และเงิน 60 บาท
“ผมมีความหลงใหลในกีฬาฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก ทุกๆเช้า ผมจะต้องรีบตื่นไปถึงโรงเรียนก่อน 7 โมงเช้า เพื่อจองพื้นที่ตรงสนามบาสฯ ไว้ใช้เตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ โดยยึดเอาขาสแตนด์บาส เป็นโกล์”

“พอถึงเวลาพักเที่ยง พวกผมก็จะรีบกินข้าวให้ไว เพื่อจะได้มาเตะบอลกันต่อ จำได้ว่า  เตะกันตอนกลางวัน แดดร้อนๆ เหงื่อโชกเต็มตัว ก่อนเข้าเรียนช่วงบ่ายเป็นประจำ หลังเลิกเรียนตอนเย็น ก็มาเตะบอลอีก สนุกสนานมาก ฟุตบอลจึงเป็นสิ่งที่เราหลงใหลมาก”

a1
หากหมุนเข็มเวลากลับไปสักประมาณ 50 ปีที่แล้ว วรวีร์ มะกูดี ยังเป็นเพียงเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาคนหนึ่งที่มีความชื่นชอบในการเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ก่อนต่อยอดเส้นทางลูกหนังด้วยการเป็น นักฟุตบอลประจำโรงเรียนอำนวยศิลป์ สถานศึกษาเอกชนที่ขึ้นชื่อเรื่องฟุตบอลในยุคนั้น

วรวีร์ ได้เข้าร่วมทีม โรงเรียนอำนวยศิลป์ ในหลากหลายรายการ อาทิ  ฟุตบอลเทศบาลนครกรุงเทพ (ชื่อเดิมของหน่วยงานปกครองกรุงเทพมหานครฯ) การแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย ที่ถูกจัดขึ้นโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย (ชื่อในเวลานั้น)

จนเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม วรวีร์ ก็ได้สัมผัสการเล่นฟุตบอลระดับสูงขึ้นเป็นครั้งแรก ในรายการถ้วยพระราชทาน ประเภท ง. กับสโมสรมุสลิม ควบคู่การเรียนหนังสือไปด้วยในระดับอุดมศึกษา

“ผมเล่นให้ทีมมุสลิม จากถ้วย ง. ขึ้นมาถ้วย ค. แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ เพราะเราเป็นทีมเล็กคงสู้ ทหารอากาศ, การท่าเรือ, ราชประชา (ในอดีตทีมเหล่านี้ มีทีมสำรองส่งแข่งทุกถ้วย) ต่อมาผมย้ายสังกัดมาอยู่กับ สโมสรธนาคารกรุงเทพ ในถ้วย ข. เล่นให้ทีมได้ปีเดียว ทีมก็เลื่อนชั้นขึ้นถ้วย ก.”

“ถ้วย ก. เปรียบเสมือนกับ ลีกสูงสุดในยุคนั้น แต่ว่าฟุตบอลสมัยก่อน ยังไม่ได้เป็นอาชีพ สโมสรต่างๆ ที่ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการประชาสัมพันธ์องค์กร”

“ฟุตบอลจึงเป็นแค่กีฬาสมัครเล่น ค่าตอบแทนน้อยมาก อย่างตอนที่ผมเล่นให้ ธ.กรุงเทพ ซึ่งถือว่าเป็นสโมสรใหญ่มากในยุคนั้น และมีสถานะทางการเงินที่ดี ร่ำรวยที่สุดก็ว่าได้ รู้ไหม? ผมได้เบี้ยเลี้ยงซ้อมวันละ 60 บาทเท่านั้น ไม่มีเงินเดือน นี่คือสภาพของฟุตบอลไทยที่ยุคนั้นยังไม่เป็นอาชีพ”

การเล่นฟุตบอล เพื่อแลกกับเบี้ยเลี้ยงซ้อมเดือนละ 1,000 กว่าบาท ในเวลานั้น คงไม่ใช่ทางเลือกที่มั่นคงมากนัก สำหรับอนาคตของหนุ่มน้อยเช่นเขา และด้วยจังหวะชีวิตที่แตกต่างกับนักฟุตบอลคนอื่นๆ “วรวีร์ มะกูดี” ในวัย 20 ปี จึงต้องละทิ้งความชอบด้านฟุตบอล เพื่อบินไปศึกษาปริญญาตรี ที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติคูเวต ภายใต้ทุนของรัฐบาลคูเวต

“คูเวต ในตอนนั้นเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก ติดอันดับต้นๆของโลก ช่วงแรกที่ย้ายไป ผมก็ยังเล่นฟุตบอลให้ทีมมหาวิทยาลัย แต่ก็เล่นไปได้แค่ปีเดียว ด้วยความที่ผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง ก็ต้องให้ความสำคัญกับการเรียนมากขึ้น ดูหนังสืออย่างคร่ำเคร่ง พยายามเรียนและปรับตัวให้ได้ จึงห่างๆกับการเล่นฟุตบอลไป”

“แต่ในหัวก็ยังคิดถึงฟุตบอลอยู่ตลอดว่า ทำไมโครงสร้างฟุตบอลบ้านเรา มันถึงเป็นแค่กิจกรรม การประชาสัมพันธ์ขององค์กร หรือเป็นแค่ประเพณีที่สืบทอดกันมา ทำไมไม่สามารถทำให้เป็นโครงสร้างอาชีพได้ คิดไปถึงขั้นที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะเกิดฟุตบอลอาชีพขึ้นที่ไทย”

a2
ใต้หมวกสามใบ
ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ “วรวีร์ มะกูดี” เดินทางกลับมายังมาตุภูมิ ความหลงใหลด้านฟุตบอลที่ไม่เคยหายไป เขาคัมแบ็กกลับคืนสู่สนามหญ้าอีกครั้ง ให้กับสโมสรตำรวจดับเพลิง ทีมในระดับ ถ้วยพระราชทาน ประเภท ข.

ต่อมา ในปี 1986 วรวีร์ เริ่มเข้าใกล้โอกาสที่จะได้เปลี่ยนแปลงวงการลูกหนังไทย เมื่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในยุคที่ พลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ ดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคมฯ ได้ชักชวนให้ วรวีร์ มะกูดี เข้ามาทำงานเป็นหนึ่งในคณะทำงานของสมาคม

“ผมได้เข้ามาอยู่ในสมาคมฟุตบอลฯ ตั้งแต่อายุ 30 ต้นๆ ช่วงแรกๆผมยังไม่ได้มีตำแหน่ง แต่หลังจากอยู่ไปได้สักสองสามปี ท่านพลตำรวจโท ชลอ และ อาจารย์วิจิตร (เกตุแก้ว) ก็มอบหมายให้ผม ช่วยเหลืองานด้านการต่างประเทศ เพราะเราสามารถติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ และใช้ภาษาได้ดี ผมจึงได้มีโอกาสได้ไปกับผู้บริหารสมาคม ในการประชุม สัมมนาในระดับทวีป และระดับนานาชาติ บ่อยครั้ง”

“เพราะสมัยก่อน คณะกรรมการบริหารของ เอเอฟซี ไม่ได้เป็นในนามบุคคล แต่เป็นในนามของสมาคม เพิ่งมาเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ซึ่งจากการที่ผมได้เข้าไปอยู่ตรงนั้น ผมเห็นว่า ประเทศใหญ่ ที่ช่ำชองในเวทีต่างประเทศ มักมีบทบาทในเอเอฟซี ก็เลยเกิดความคิดที่ว่า เอ๊ะ ทำไมเราไม่รวมชาติต่างๆในอาเซียน เข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกัน พวกเราต่างรู้ว่าตัวเองคืออาเซียน แต่เราจะรวบรวมกลุ่มชาติอาเซียนพวกนี้ได้อย่างไร”

วรวีร์ เล่าต่อว่าในช่วงก่อนการตั้ง สหพันธ์ฟุตบอลแห่งอาเซียน (AFF) นับเป็นช่วงที่ค่อนข้างอ่อนไหว เพราะบางประเทศยังมีปัญหาภายในประเทศ จากสงคราม

a3
ดังนั้น สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในฐานะโต้โผใหญ่ จึงต้องรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพเชิญชาติต่างๆ เข้าร่วมประชุม ในหลายๆวาระที่โรงแรมซัน รูท พระราม 9 (ปัจจุบันชื่อโรงแรมแม็กซ์) แต่ท้ายที่สุดก็สามารถทำภารกิจใหญ่นี้สำเร็จ

“พอเราตั้งสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียนได้แล้ว เราก็เริ่มมาคิดกันต่อว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถหารายได้เพื่อเอามาบริหารองค์กร ก็เลยเกิดเป็นแนวคิด การนำชาติต่างๆในอาเซียน มาแข่งขันกัน ตอนนั้นฟุตบอลในอาเซียนยังไม่ได้มีคนดูมากนัก ทำอย่างไรคนถึงจะมาสนใจ และเกิดมูลค่า?”

“ถ้าเราจัดแข่งขันแบบประเทศเดียว เหมือนรายการระดับนานาชาติทั่วไป สมมุติเจ้าภาพตกรอบแรก รอบต่อไปก็แทบไม่มีคนดูแล้วนะ สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า รอบแรกจัดแข่งในประเทศหนึ่ง มีเจ้าภาพกลุ่ม แบ่ง 2 สาย 2 ประเทศ ส่วนรอบรองชนะเลิศ รอบชิงชนะเลิศ ใช้ระบบเหย้า เยือน โอโห ปรากฎว่า รายการชิงแชมป์อาเซียน หรือ ไทเกอร์ คัพ, ซูซูกิ คัพ กระแสคนดูล้นหลาม โดยเฉพาะรอบลึกๆ”

“นี่จึงเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจอย่างมาก ที่มีส่วนในการเป็นผู้ร่วมก่อการให้เกิดการแข่งขันชิงแชมป์อาเซียน ซึ่งจากการที่เราเป็นพี่ใหญ่ที่ดูแลในเรื่องนี้ เครดิตเหล่านี้จึงส่งผลให้ผม  ได้ดำรงตำแหน่งระดับนานาชาติ เป็นสมาชิกผู้บริหาร (Executive member) ของฟีฟ่า และ กรรมการบริหารชาติสมาชิก (Executive committee member) ของเอเอฟซี พร้อมกันในปี 1997”

ชื่อเสียง และเครดิตของ วรวีร์ มะกูดี ในเส้นทางการเมืองฟุตบอลกำลังเติบโตไปได้สวย จนมีหน้าที่ความรับผิดชอบดูแลต้องสวมหมวกถึง 3 ใบ  

นอกเหนือจากการเป็น บอร์ดของ ฟีฟ่า และเอเอฟซี ซึ่งเขาได้รับความไว้วางใจจากชาติสมาชิกที่โหวต ให้ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด เขายังมีตำแหน่งเป็น  เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในยุคสมัยที่ วิจิตร เกตุแก้ว ก้าวขึ้นมาเป็นนายกสมาคมช่วงปี 1995 - 2007 อีกด้วย

ซึ่งในปี 2007 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการฟุตบอลไทย วิจิตร เกตุแก้ว ที่ดำรงตำแหน่งประมุขลูกหนังไทย มานานถึง 12 ปี ก้าวลงจากตำแหน่ง เปิดทางให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ คนใหม่ และผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้แก่...

“นายกยี”
“ช่วงที้เราเป็นหนึ่งในผู้บริหารองค์กรทั้ง เอเอฟซี และฟีฟ่า ก็มีส่วนในการผลักดันนโยบาย ให้เกิดขึ้นฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มรูปแบบ และเมื่อผมได้รับเลือกตั้ง นายกสมาคมฯ ในปี 2007 ผมจึงได้เข้ามาเริ่มต้นทำการปฏิรูปโครงการสร้างฟุตบอลอาชีพในบ้านเราครั้งยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

a4
“ด้วยประสบการณ์ที่ผมได้ไปเห็น การบริหารจัดการฟุตบอล ในหลายๆประเทศทั่วโลก ต้องยอมรับว่า สภาพแวดล้อมของฟุตบอลไทย ไม่เหมือนกับที่ไหนในโลก ทั้ง โครงสร้าง สโมสร นักกีฬาที่มาจากส่วนต่างๆ ไม่เหมือนกันเลย โอเค เราดูอังกฤษ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้นแบบได้ แต่ไม่ใช่ลอกเขามาทั้งหมด แล้วนำมาใช้ มันเป็นไปไม่ได้”

“ฉะนั้นวิธีการที่ดีสุด คือนำเอาส่วนดีของแต่ละที่ มาปรับใช้และประยุกต์ให้เหมาะสมกับฟุตบอลบ้านเรา อย่าง อังกฤษ เขามีองค์กรพรีเมียร์ลีก ที่รวบรวมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถมาบริหารจัดการองค์กร โดยมี ตัวแทนสโมสรสมาชิก ร่วมเป็นคณะกรรมการ แบบนี้ผมว่าดี ก็นำมาตั้งเป็น TPL (องค์กรที่บริหารไทยลีก ช่วงปี 2009-2015) ผมดูสโมสรเล็กๆในอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย เขาอยู่กันอย่างไร นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับบ้านเรา เพื่อจัดการลีกให้เหมาะสม”

นายกสมาคมฯ ป้ายแดง เริ่มทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างฟุตบอลภายในประเทศ ให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางที่พลิกวงการ คือ การก่อกำเนิดของ ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ที่ขยายสิทธิ์ และกระจายการแข่งขันไปทั่วประเทศ จนเกิดเป็นกระแสตื่นตัวของฟุตบอลลีกรากหญ้า

ควบคู่กับการนำเอา คลับ ไลเซนซิ่ง มาเริ่มใช้กับสโมสรในลีกระดับบน เพื่อให้การบริหารงาน เป็นไปอย่างที่สโมสรอาชีพควรจะเป็น จนทำให้มาตรฐานของลีก และมูลค่าการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับความนิยมที่เกิดกระแส “ไทยลีก บูม” ในช่วงเวลานั้น

“สิ่งที่สำคัญสำหรับฟุตบอล คือ การที่ต้องกระจายการแข่งขันออกไปทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้นเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะไม่มีโอกาส”

“การจัดการแข่งขันลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 จึงเหมาะสมอย่างมากกับบ้านเรา เพราะสามารถปลุกกระแสให้คนในต่างจังหวัด ตื่นตัว ในทุกๆวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้คนจะมีกิจกรรมร่วมกัน ได้ใส่เสื้อทีมบ้านเกิด เชียร์ฟุตบอล ช่วงนั้นสนุกสนานมาก และผลประโยชน์ท้ายที่สุดก็ตกมาถึงทีมชาติ ในปัจจุบันเราได้ผู้เล่นที่มาจากลีกภูมิภาค เติบโตขึ้นมาเล่นในทีมชาติมากมายหลายคน”

“การปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งนั้น ทำให้ลีกของไทย พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ขึ้นมาเป็นลีกอันดับต้นๆของเอเชีย ซึ่งส่วนตัวผมดีใจมา จากที่เราเคยเล่นได้วันละ 60 บาท แต่ในวันหนึ่งเราและทีมงานทุกคน สามารถช่วยกันคิดและสร้างให้ ลีกอาชีพเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย รวมถึงต้องขอบคุณสโมสรต่างๆที่ช่วยกันพัฒนาทีม และเข้ามาลงทุน”

“ทำให้เด็ก เยาวชน จำนวนมากที่เล่นฟุตบอล มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ทำให้คนรุ่นใหม่ มีความหวังและความฝันอยากเป็นนักฟุตบอล เพราะเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูง”

b1
อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ของ วรวีร์ มะกูดี ในสายตาของแฟนบอลบางส่วน กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด เพราะตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ  8 ปี มีข่าวคราวมากมายเกิดขึ้น เกี่ยวกับตัวเขา

รวมถึงกระแสวิจารณ์โจมตีต่างๆ ประเดประดัง มาหา นายก’ยี ในฐานะคนที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารฟุตบอลไทย กีฬาแห่งความหวังของคนทั้งชาติ

กระทั่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2015 คณะกรรมการควบคุมวินัยและจริยธรรม ได้ออกคำสั่งให้ วรวีร์ มะกูดี ระงับความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใด ๆ ในวงการฟุตบอลทั่วโลก เป็นเวลา 90 วัน โดยให้มีผลทันที เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหา กรณีละเมิดประมวลจริยธรรมของฟีฟ่า

ในวันที่ชีวิตไม่มีฟุตบอล
“เรื่องคดีความถ้าพูดไป มันเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยคิดว่า เขาจะเอามาเล่นงานเราได้ถึงขนาดนี้ เริ่มจากเราไปแก้ไขข้อบังคับ ตามที่ฟีฟ่าต้องการ แต่ข้อบังคับที่เราแก้ (ข้อบังคับระเบียบการปกครอง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย) ดันไม่สอดคล้องกับกฏหมายไทย เราก็ต้องเคารพกฏหมายไทย ใช่ไหม เราก็แก้ให้มันสอดคล้องกัน”

วรวีร์ มะกูดี ตกอยู่ภายใต้มนทิน หลังมีคำสั่งระงับการทำหน้าที่ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลเป็นเวลา 90 วัน พร้อมกับถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ก่อนขยายโทษแบนออกไปอีก 45 วัน และนั่นทำให้เขาหมดสิทธิ์ลงสมัครชิงชัยเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2016

จนเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2016  ฟีฟ่า สั่งลงโทษแบน อดีตนายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ เป็นเวลา 5 ปี และปรับเงิน 10,000 ฟรังก์สวิส ฐานแก้ไขข้อบังคับของสมาคมฟุตบอลฯ โดยไม่ผ่านการรับรอง

หลังจากวันนั้น “บังยี” หายหน้าหายตาไปจากวงการฟุตบอล และแวดวงสื่อ เขาใช้เวลาต่อสู้ทางชั้นกฎหมาย นานถึง 2 ปีครึ่ง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และลบล้างข้อกล่าวหา น้อยคนนักที่ล่วงรู้ความรู้สึกที่อยู่ในใจของเขา ในวันที่ไม่สามารถข้องเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลที่ตนเองหลงใหล มาเกือบทั้งชีวิตได้

b3
“ความจริงเวลาเราถูกกล่าวหา มันย่อมทำให้เราเกิดความทุกข์ ไม่สบายใจ และความกังวล ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเรา แต่ยังรวมถึงคนในครอบครัวเราด้วยว่า ทำไมเราถึงถูกกล่าวหาลักษณะนี้”

“แต่ผมยึดหลักการหนึ่งที่ว่า ถ้าเราไม่ผิด จิตใจเราจะไม่หวั่นไหวเลย สักวันหนึ่งเราต้องพิสูจน์ได้ว่า เราไม่ผิด ซึ่งสุดท้ายแล้ว ศาลในประเทศ ศาลกีฬาโลก ก็ตัดสินว่าเราไม่มีความผิดอะไร เรื่องนี้ผมเป็นคนมุสลิม นับถือพระเจ้า ผมคิดว่า เวลาเจอปัญหาอุปสรรค พระองค์กำลังทดสอบเรา และให้เราได้แก้ไขปัญหา เพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นหลุดพ้นจากเราไป เพื่อประสบความสำเร็จในวันข้างหน้า นี่เป็นความเชื่อที่ผมคิดมาตลอด”

“ดังนั้นผมมองว่านี่คือ บททดสอบของชีวิต และปัจจุบันทุกอย่างก็คลี่คลายลงไปแล้ว ช่วงที่ผ่านมาสภาพจิตใจผมจึงไม่ได้คิดมากกับเรื่องนี้ มองไปข้างหน้าว่า ในอนาคต เราจะสามารถทำงานเพื่อพัฒนาวงการกีฬาบ้านเราได้อย่างไร”

วรวีร์ มะกูดี ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ในเดือน พฤษภาคม 2018 เขาได้รับการลดโทษแบนเหลือ 3 ปีครึ่ง แต่คงโทษปรับไว้

ท้ายที่สุดในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2019 ศาลกีฬาโลก ได้ประกาศยกเลิกโทษแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล และลดโทษปรับเหลือครึ่งเดียว  

รวมแล้วเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ วรวีร์ มะกูดี อยู่ภายใต้มลทิน และไม่สามารถทำกิจกรรมเกี่ยวกับวงการฟุตบอลได้  

“ช่วงเทอมสุดท้ายก่อนจะหมดวาระ ทีมชาติไทยเราทำผลงานได้โดดเด่นมาก เข้ารอบสุดท้ายในระดับเอเชียทุกชุด ทีมชาติชุดใหญ่ได้ไป ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย โซนเอเชีย ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) กำลังทำทีมได้ดี หากเราดูแล ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ให้ขวัญกำลังใจ สร้างแรงจูงใจให้นักกีฬาเยอะๆ ผมเชื่อว่าเรามีโอกาสได้ไปฟุตบอลโลก

c3
“ถ้าเราได้ผ่านไปเล่นฟุตบอลโลกจริงๆ สิทธิประโยชน์มหาศาลเลยนะ เฉพาะเงินอุดหนุนจากฟีฟ่าอย่างเดียว ก็ 300 ล้านบาทแล้ว เราตั้งใจให้เด็กไป เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เด็กควรได้  เราคิดว่าสิทธิประโยชน์ที่เราหามาได้น่าเป็น 1,000 ล้าน ยังไงเราก็หามาได้อยู่แล้ว ถามหน่อยถ้าเด็กได้โบนัสก้อนใหญ่ๆ ใจมันฮึกเหิม ทำไมจะเป็นไปไม่ได้”

“จริงๆ ผมมีความตั้งใจอยากอำลาวงการฟุตบอล ในปี 2018 หากทุกอย่างเป็นไปได้ตามที่เราตั้งใจไว้ เพราะถือว่านี่คือความสำเร็จสูงสุดแล้ว ก็คงถึงเวลาต้องส่งมอบตำแหน่งให้คนอื่นมาบริหารต่อ แต่ตรงนี้มันผ่านจุดนั้นไปแล้ว ผมก็คงไม่ไปวิจารณ์สมาคมฯชุดใหม่”

“ถ้าถามว่า ยังอยากกลับไปสานงานต่อในสมาคมฯ ไหม ? ก็ต้องบอกว่า ตอนนี้ผมยังไม่มีความคิดจะกลับไป”

ในวันที่ชีวิตไม่ได้มีแค่ฟุตบอล
วรวีร์ มะกูดี ตัดสินใจลงสู่สนามการเมืองระดับประเทศ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเจ้าตัวได้มีส่วนในการร่างนโยบายเกี่ยวกับด้านกีฬา และเยาวชน

เพราะจากประสบการณ์ที่เคยบริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เขามองเห็นปัญหา และสิ่งที่ภาครัฐควรเข้าไปสนับสนุนส่งเสริม ให้วงการกีฬาไทย ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

“ทุกวันนี้แม้จะไม่ได้มีตำแหน่ง แต่ผมยังติดตามฟุตบอล รวมถึงกีฬาอื่นๆ อยู่ตลอด เพราะสมัยนี้ การสื่อสารง่ายขึ้น เปิดมือถือก็สามารถเช็คข่าวสารได้ฉับไว สิ่งที่เห็นก็คือ การเติบโตของวงการกีฬาบ้านเรา มันขึ้นๆลงๆ ไม่ได้ขึ้นไปอย่างมั่นคง ช่วงที่ว่างเว้นไม่ได้มีหน้าที่อะไร ก็มานั่งคิดนโยบายว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถขับเคลื่อนให้วงการกีฬา โตขึ้นอย่างมั่นคง”

“เราเคยผ่านการบริหาร สมาคมฟุตบอลฯ ซึ่งว่ากันตามความจริง เป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ใหญ่โตเท่าไหร่ แต่คนอาจไม่รู้ว่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบมากมาย ทั้ง การพัฒนานักฟุตบอล ผู้ตัดสิน บุคลากรต่างๆ บริหารจัดการแข่งขันฟุตบอลในประเทศ และส่งแข่งขันในต่างประเทศ ดังนั้นสมาคมกีฬาแห่งหนึ่ง มีภาระความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มากนะ”

“ที่ผ่านมา สมาคมต่างๆ ต้องพึ่งพาตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ในการหารายได้เข้ามาบริหารจัดการ ถ้าเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม อาจไม่ยากลำบากมาก แต่พวกสมาคมกีฬาสมัครเล่นหลายๆชนิด ภาครัฐ ก่อนที่จะไปคาดหวังถึงความสำเร็จ ต้องเข้ามาอุดหนุน ลงทุน ช่วยเหลือสมาคมต่างๆ ให้เขามีที่ฝึกซ้อม และงบประมาณสำหรับบริหารจัดการ สนับสนุนการ ส่งทีมไปแข่งในรายการต่างๆ”

“จากประสบการณ์ที่เราได้เห็นสิ่งต่างๆมากมาย บวกกับความรู้ความสามารถที่เรามีในด้านกีฬา ทำให้เราตัดสินใจเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้รับใช้บ้านเมือง เพื่อหวังนำเอาสิ่งที่ตัวเองสั่งสมมาทั้งชีวิต มาใช้การพัฒนาเยาวชนและกีฬา เพื่อเป็นอนุสรณ์สุดท้ายในการทำงาน โดยได้เข้ามาทำงานเรื่องนี้ร่วมกับผู้ใหญ่หลายๆท่าน ในพรรคประชาชาติ”

วรวีร์ มะกูดี อธิบายว่า ทิศทางการบริหารองค์กรกีฬาในไทย แนวทาง นโยบายต่างๆ ยังไม่เคยถูกกำหนดออกมาอย่างชัดเจน ดังนั้นเขาจึงอยากเข้าไปผลักดันให้เกิด “สภากีฬาแห่งชาติ” เหมือนกับที่ ภาคเศรษฐกิจ มี สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และภาคการเกษตร ที่มี สภาเกษตรแห่งชาติ

ซึ่งองค์กรนี้จะประกอบด้วย บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ในหลากหลายประเภทกีฬา เพื่อเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายการพัฒนากีฬาในระดับชาติ

นอกจากนี้ วรวีร์ ยังเผยต่อว่า พรรคประชาชาติ มีนโยบายที่ต้องการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างการบริการสาธารณะด้านกีฬาทั่วประเทศ ที่ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนให้ประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดสโมสรกีฬาระดับชุมชน

“โครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬาในบ้านเรามีน้อยมาก ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเข้ามาลงทุนกับเรื่องพวกนี้ ที่ผ่านมาคนถืองบประมาณ อาจไม่ได้เห็นความสำคัญของเรื่องกีฬา เพราะเขาอาจไม่เคยเห็นหรือรับรู้ว่า ในประเทศที่เจริญแล้ว กีฬามีความสำคัญมากแค่ไหน แต่เราเป็นคนที่อยู่กับวงการกีฬามาทั้งชีวิต เราจึงรู้ว่ามันสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และอยากผลักดันให้เกิดขึ้น”

c5
“ยกตัวอย่าง นโยบายเรื่องการบริการสาธารณะด้านกีฬา ภาครัฐอาจสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง สปอร์ตคลับในชุมชน เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้ว สมมุติลูกหลานของเขา อยากไปเป็นนักกีฬาวิ่ง วอลเลย์บอล ว่ายน้ำ ฟุตบอล แบดมินตัน ตะกร้อ เขาก็จะสามารถมีพื้นที่ ให้บุตรหลานเขาไปฝึกหัดเล่นได้”

“นี่เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้บริการประชาชน เราเขียนในนโยบายชัดเจนว่า เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สุงอายุ และผู้พิการ ควรต้องมีสถานที่ให้เขาได้ออกกำลังกาย เพราะกีฬาสามารถแก้ปัญหาสังคมได้ อย่าลืมว่าแต่ละปี รัฐเสียงบประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท หมดไปกับค่ารักษาพยาบาลประชาชน และบุคลากรด้านการแพทย์ แต่ถ้าคนในชาติแข็งแรง ก็จะสามารถลดงบประมาณตรงนี้ไปได้มากเลย”

อดีตประมุขบอลไทย ยกตัวอย่าง เยอรมัน, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ล้วนแล้วแต่มีสถานที่เหล่านี้ คอยให้บริการประชาชน ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้ คนในชาติ มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาอื่นที่ตามๆมาได้เช่น ปัญหาคนว่างงานลดลง

เพราะเมื่อมีศูนย์กีฬาให้บริการ เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ ก็จะทำให้ บุคลากรที่สำเร็จด้านกีฬา มีงานทำเพิ่มขึ้น

รวมถึงกีฬายังช่วยให้ เยาวชนห่างไกลจากสิ่งเสพติด และช่วยปลูกฝังความมีน้ำใจนักกีฬา ไปจนถึงการที่เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้ ฝึกฝน การเล่นกีฬาอย่างถูกวิธี ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ เติบโตมาเป็นทรัพยากรนักกีฬาที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป

“แน่นอนว่า การผลักดันให้การบริการสาธารณะด้านกีฬาแก่ประชาชนทั่วประเทศ เกิดขึ้นได้จริง ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และลำพังภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นนโยบายด้านกีฬาอีกอย่างของเรา คือ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนด้านกีฬามากขึ้น”

“ที่ผ่านมา ภาครัฐ มีการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆ มากมาย แต่บ้านเรายังไม่ได้ส่งเสริมการลงทุนด้านกีฬาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว การที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้ ภาครัฐก็ควรต้องสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่เขาลงทุนไปแล้วรู้สึกคุ้มค่า”

ในวัย 67 ปี วรวีร์ มะกูดี ยังคงมีไฟ และแรงปรารถนาด้านกีฬา ไม่ต่างกับเด็กน้อย ในวันวานที่เคยวิ่งไล่ลูกฟุตบอลพลาสติกในสนามบาส และนั่นทำให้เขายังไม่มีความคิดที่จะเกษียณตัวเองออกจากวงการ

พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า นโยบายด้านกีฬาและการพัฒนาเยาวชนที่เขาคิดและอยากผลักดันให้เกิดขึ้น จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย เนื่องจากกีฬาเป็นเรื่องที่บริสุทธิ์ และทุกฝ่ายในชาติได้ประโยชน์

“ความหลงใหลในฟุตบอล มันยังฝังอยู่ในใจและสายเลือดเรา แต่ว่าตอนนี้เราเปลี่ยนมามองภาพที่ใหญ่ขึ้น เป็นภาพที่ทำเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ”

“ถ้าเรามีอำนาจทางการเมือง อำนาจรัฐ เราอยากที่จะผลักดันและส่งเสริมวงการกีฬา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อทุกคน บางประเทศถึงขั้นใช้กีฬาในการพัฒนาคน เพราะสุดท้ายแล้ว คนก็จะไปพัฒนาประเทศต่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในระดับสามัญสำนึก และเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริงให้ได้” อดีตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook