เกณฑ์ทหาร: ข้อจำกัดที่ทำให้นักฟุตบอลเกาหลีไปไม่สุด?

เกณฑ์ทหาร: ข้อจำกัดที่ทำให้นักฟุตบอลเกาหลีไปไม่สุด?

เกณฑ์ทหาร: ข้อจำกัดที่ทำให้นักฟุตบอลเกาหลีไปไม่สุด?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความดีใจแบบสุดเหวี่ยงของ ซน ฮึงมิน กองหน้าของเกาหลีใต้ หลังสิ้นเสียงนกหวีดในนัดชิงชนะเลิศ เอเชียนเกมส์ 2018 บ่งบอกความรู้สึกภายในใจที่เอ่อล้นของเขาได้เป็นอย่างดี

เหรียญทองเหรียญนี้ถือเป็นหนึ่งในเหรียญที่สำคัญที่สุดของเขาก็ว่าได้ เพราะมันคือเครื่องยืนยันว่าเขาไม่ต้องกลับไปอยู่ในสังกัดของกองทัพในบ้านเกิด เป็นระยะเวลาถึง 2 ปี ตามกฎหมายเกาหลีใต้

การเป็นทหารมันส่งผลกระทบต่อชีวิตนักฟุตบอลอาชีพขนาดไหน เหตุใดพวกเขาจึงไม่อยากเป็นทหารหากเลี่ยงได้

ภาวะสงคราม
เกาหลีใต้ ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมไปพร้อมกับสินค้าเทคโนโลยี ที่ทำให้เรารู้จักวงดนดรีบอยแบนด์หรือเกิลด์กรุ๊ปอย่าง ซูเปอร์จูเนียร์ บิ๊กแบง เกิร์ล เจนเนเรชั่น หรือ แบล็คพิงค์ ไปพร้อมกับ ซัมซุง และ แอลจี

ยิ่งไปกว่านั้น แดนโสมขาวยังเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยสภาพอากาศที่เย็นสบาย ทัศนียภาพทางธรรมชาติที่งดงาม และแหล่งช็อปปิ้งมากมาย จนติดหนึ่งใน 10 ประเทศน่าเที่ยวที่สุดในโลกประจำปี 2018 ของนิตยสาร Lonely Planet

ทว่า เบื้องหลังการเป็นประเทศน่าเที่ยวของเกาหลีใต้ อันที่จริงพวกเขายังอยู่ในภาวะสงคราม แม้จะในทางเทคนิคก็ตาม

ย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากจักรวรรดิญี่ปุ่น พ่ายแพ้ต่อสัมพันธมิตร ดินแดนเกาหลีที่ถูกยึดครองจึงได้รับการปลดปล่อย แต่ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ ด้วยเส้นรุ้งที่ 38 โดยโซเวียตเป็นฝ่ายดูแลดินแดนทางเหนือ ส่วนทางใต้มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดูแล

000_1577xh
เดิมทีพวกเขามีเป้าหมายในการรวมประเทศ แต่หลังการเจรจารวมชาติที่ล้มเหลว ทำให้ความตึงเครียดทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เป็นระยะ

แต่แล้วฟางเส้นสุดท้ายก็ขาดสะบั้น เมื่อกองทัพเกาหลีเหนือบุกข้ามพรมแดน เข้ามาโจมตีเกาหลีใต้ ทำให้กองทัพสันนิบาตชาติที่นำโดยอเมริกา เป็นฝ่ายเข้ามาช่วยเกาหลีใต้ จนเกิดเป็นสงครามคาบสมุทรเกาหลีในปี 1950

สงครามดังกล่าวเป็นเหมือนสงครามตัวแทนในยุคสงครามเย็น เนื่องจากทางเหนือได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต ส่วนทางใต้ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา ตลอดระยะเวลาของสงครามมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นเกือบ 1 ล้านคน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ก่อนที่ในปี 1953 การเจรจาสงบศึกก็จะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการหยุดยิงเท่านั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมรับในอธิปไตยของกันและกัน ซึ่งทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะสงครามมาจนถึงปัจจุบันนี้

สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ของชายเกาหลี
เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือมีความพยายามรวมประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 แต่การเจรจาที่ล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้สงครามยังไม่มอดลงอย่างเป็นทางการ และต่างฝ่ายต้องอยู่คนละฝั่งของเส้นรุ้งที่ 38 มานานเกือบ 70 ปี

การตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การเกณฑ์ทหาร เป็นหน้าที่สำคัญสำหรับชายชาวเกาหลีทุกคน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีสงครามเกิดขึ้นทุกเมื่อ ตราบใดที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญายุติสงคราม

000_arp3446185
ชายชาวเกาหลีทุกคนมีอายุตั้งแต่ 18-35 ปี จึงต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุถึงเกณฑ์ แต่สามารถผ่อนผันได้หากกำลังศึกษาอยู่จนกว่าจะเรียนจบ  

ทั้งนี้ ระบบทหารของเกาหลีจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ทหารแบบประจำการปกติ (Active Duty Military Service) คือคนที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ โดยจะพักอาศัยอยู่ในกรม มีการเลื่อนยศ ส่วนอีกแบบคือ ทหารบริการสาธารณะ (Non Active Military Service) ที่ทำงานเหมือนราชการ ไปเช้าเย็นกลับมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ไม่มีการเลื่อนยศ

แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน พวกเขาจะต้องเข้ารับการฝึกพื้นฐานเป็นระยะเวลา 4-5 สัปดาห์ก่อนจะเข้าประจำการอย่างน้อย 22 เดือน ขึ้นอยู่กับสังกัด และรับเงินเดือนเริ่มต้นเพียงแค่ 108,000 วอนต่อเดือน (ราว 3,200 บาท) ซึ่งน้อยกว่าแรงงานขั้นต่ำเสียอีก

การจะได้รับการยกเว้นสำหรับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ครบมีเพียงสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ ด้วยการคว้าเหรียญโอลิมปิก หรือเหรียญทองเอเชียนเกมส์ เท่านั้น

นั่นคือเหตุผลว่าเหตุใด ซน ฮึงมิน กองหน้าทีมชาติเกาหลีใต้ของ ท็อตแนม ฮอตสปอร์ส ถึงดีใจอย่างสุดเหวี่ยง หลังเพื่อนร่วมทีมร่วมแรงร่วมใจเอาชนะญี่ปุ่นในนัดชิงเหรียญทองเอเชียนเกมส์ เมื่อปีที่ผ่านมา

000_arp2711024
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพล เศรษฐี นักแสดง หรือแม้แต่นักฟุตบอลอาชีพ ก็ไม่มีใครหลีกหนีจากเรื่องนี้เรื่องนี้ได้

ถ้าอย่างนั้นในกรณีของนักฟุตบอลพวกเขาต้องทำอย่างไรตอนไปเป็นทหาร?

ซังจู ซังมู และ อาซาน มุกวังฮวา
หลายคนที่ติดตามฟุตบอลเอเชียอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู ซังจู ซังมู และ อาซาน มุกวังฮวา มากนัก เนื่องจากพวกเขาวนเวียนขึ้นลงระหว่างเคลีก 1 และเคลีก 2 เป็นประจำ

สิ่งสำคัญที่ทำให้สองทีมนี้ไม่สามารถทำผลงานได้อย่างคงเส้นคงวา เพราะพวกเขาไม่ได้บริหารด้วยองค์กรที่เป็นบริษัท แต่เป็นเพียงทีมของกองทัพที่ไว้รองรับนักฟุตบอลที่ต้องเข้ามาเป็นทหารเมื่ออายุถึงเกณฑ์

ในแต่ละปี นักเตะที่อายุไม่เกิน 28 ปีจำนวน 15 คนจะถูกคัดเลือกเข้ามาเล่นในทีมนี้ เช่นเดียวกับ 15 คนที่จะถูกปลดประจำการ โดยไม่มีนักเตะต่างชาติในทีมแม้แต่คนเดียว ทำให้บางฤดูกาล พวกเขาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ในอีกไม่กี่ฤดูกาลถัดมาต้องตกชั้นลงไปเล่นในลีกล่าง สลับกันไปมาแบบนี้เป็นประจำแทบทุกปี

ผลงานที่ดีที่สุดของ ซังมู คือการจบในอันดับ 6 ในปี 2016 ส่วนในฟุตบอลถ้วยคือการเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เอฟเอ คัพเกาหลีในปีก่อนหน้า ในขณะที่อาซาน คือการคว้าแชมป์เคลีก 2 เมื่อปีที่แล้ว

000_sapa990112124390
แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่นักเตะทีมชาติเกาหลีใต้ชื่อดังหลายคนก็ต่างแวะเวียนมาเล่นให้กับทั้ง ซังจู และ อาซาน ไล่ตั้งแต่ อี ดองกุ๊ก ดาวยิงระดับตำนานของ ชุนบุค มอเตอร์ส, อี ควนโฮ กองหน้าชุดฟุตบอลโลก 2014, ยู จุนซู อดีตดาวเตะสารพัดประโยชน์ของบุรีรัมย์ หรือ จู เซจอง แข้งจากเวิลด์คัพที่รัสเซีย ก็ต่างเป็นศิษย์เก่าของทีมเหล่านี้

และการที่จะมาเล่นให้ทีมนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องสมัครก่อนอายุ 28 ปี หากเป็นนักเตะที่เล่นในต่างแดน จำเป็นต้องกลับมาเล่นในสโมสรของเคลีกอย่างน้อย 1 ฤดูกาลก่อนหน้าที่จะสมัครเข้าเป็นนักเตะของกองทัพอีกด้วย

แม้จะมีทุกอย่างรองรับไว้หมดแล้ว แต่เพราะเหตุใด นักฟุตบอลจึงไม่อยากเป็นทหาร หากเป็นไปได้ ?

อนาคตที่ไม่มีใครรู้
ในชีวิตนักเตะอาชีพของเกาหลีใต้ การเผื่อใจไว้สองปีสำหรับการเป็นทหารอาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถึงอย่างนั้น ไม่มีใครรู้อนาคต พวกเขาอาจจะต้องเป็นทหารตอนที่อยู่ในช่วงขาขึ้นของชีวิตก็เป็นได้

กรณีล่าสุดที่เห็นได้ชัดคือ ฮึงมิน เขากำลังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมให้กับ สเปอร์ส กลายเป็นกุญแจสำคัญในการลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงฤดูกาลนี้ แต่เขากำลังจะอายุครบ 27 ปีในปีหน้า ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่สามารถสมัครเล่นให้กับทีมของกองทัพได้

sangjusalute
นั่นคือเหตุผลว่าเพราะเหตุใดเขาจึงร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร หลังเกาหลีใต้ ต้องตกรอบแปดทีมสุดท้ายในฟุตบอลโอลิมปิก 2016 หลังพ่ายต่อฮอนดูรัส 0-1 ก่อนที่สุดท้ายเขาจะมาสมหวังกับฟุตบอลเอเชียนเกมส์ที่ผ่านมา  

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสเหมือนฮึงมิน และ อี ควนโฮ คือหนึ่งในนั้น

ควนโฮ สร้างชื่อในบ้านเกิด ด้วยผลงานการยิงประตูอย่างถล่มทลายในสีเสื้อของแดกู เอฟซี และติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปีเคลีก จนได้รับความสนใจจากหลายทีมในยุโรป

แม้ต่อมาเจ้าตัวจะย้ายมาเล่นในเจลีกให้กับ จูบิโล อิวาตะ และ กัมบะ โอซากา แต่ความร้อนแรงก็ยังไม่ลดลง ยิงไปทั้งสิ้น 32 ประตูจาก 88 นัดบนผืนแผ่นดินอาทิตย์อุทัย จนทำให้เชื่อว่าเส้นทางต่อไปของเขาคือยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ในขณะนั้นเขาอายุ 27 พอดี และใกล้ถึงเกณฑ์ทหาร ทำให้ ควน โฮต้องกลับมาเล่นในเคลีก ตามกฎกับอุลซาน ฮุนได ก่อนจะโชว์ฟอร์มได้อย่างสุดยอด พาทีมคว้าแชมป์ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกในปี 2012 พร้อมซิวรางวัลนักเตะทรงคุณค่าของทัวร์นาเมนต์

ทว่าในฤดูกาลต่อมาเขาต้องลงไปช่วย ซังจู ในลีกระดับ 2 ในฐานะทหารของกองทัพ แต่ก็ยังสามารถยิงประตูเป็นว่าเล่น พาทีมเลื่อนชั้นด้วยจำแหน่งแชมป์เคลีก 2 พร้อมรางวัลดาวซัลโว จนมีชื่อติดทีมไปฟุตบอลโลก 2014 แถมยังมีชื่อเป็นคนยิงประตูในรอบสุดท้ายได้อีกด้วย

000_13o9tw
“พวกเราภูมิใจในตัวเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีนักเตะจากเคลีกไม่มากในทีม” เจ้าหน้าที่ของกองทัพกล่าวกับ Reuters

“เรารู้สึกดีใจที่เขาช่วยให้เกาหลีใต้เล่นดี และผมแน่ใจว่ามันไม่ได้มอบความหวังให้แก่ประชาชนเกาหลีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทหารอีก 600,000 นายทั่วประเทศ”

แม้จะทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งในสีเสื้อของสโมสรและทีมชาติ แต่หลังจากปลดประจำการ ยุโรป กับเขาก็กลายเป็นเส้นขนาน เนื่องจากตอนนั้นอายุเกือบ 30 ปีแล้ว

ควน โฮ ได้มีโอกาสย้ายไปเล่นในลีกกาตาร์ กับ อัล ญาอิช ในปี 2014 และกลับมาร่วมคว้าแชมป์เคลีกกับชุนบุค ในปีถัดมา แต่นับตั้งแต่เป็นทหาร เขาไม่เคยยิงประตูได้เกิน 10 ลูกอีกเลย

เคสดังกล่าวคล้ายกับกรณีของ แบ ซังมูน นักกอล์ฟอาชีพ ที่ติดหนึ่งใน 100 ของ PGA Tour แม้ว่าเขาพยายามยื่นหลักฐานการพำนักถาวรที่สหรัฐฯ เพื่อยืดเวลาการกลับมารับใช้ชาติ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล เขาต้องมาเป็นพลไรเฟิลในกองทัพอยู่ 2 ปี

000_1cn1sy
แม้จะพยายามรักษาวินัยในการฝึกซ้อมเพิ่มเติม รวมไปถึงการยกน้ำหนักในระหว่างการเป็นทหารจนสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งกว่าเดิม แต่มันไม่ใช่สำหรับนักกอล์ฟ เขาไม่ผ่านการตัดตัวใน PGA อีกเลยตั้งแต่ปี 2016

นอกจากนี้ในกองทัพยังมีปัญหาความรุนแรงในค่ายทหาร เดือนกันยายน ปี 2014 มีทหารผูกคอตายในค่ายในระยะเวลาไล่เรี่ยกันถึง 3 ราย จนมีการเปิดโปงว่าตั้งแต่ปี 2004-2014 มีทหารฆ่าตัวตายไปถึง 820 ราย และอีก 15 เปอร์เซ็นต์ล้วนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ

นั่นคือเหตุผลว่าเพราะเหตุใด นักกีฬาหรือนักแสดงจำนวนไม่น้อยจึงพยายามเลี่ยงการเป็นทหาร หรือใช้ช่องโหว่ทางกฏหมายที่จะยืดเวลาออกไป แต่มันก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในสังคมเกาหลี

บทลงโทษจากสังคม  
“ยิ่งเป็นคนดังเท่าไร ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะหนีออกจากเรื่องพวกนี้” เจมส์ โฮอาเร ผู้เชี่ยวชาญด้านคาบสมุทรเกาหลีกล่าวกับ BBC Sports

000_hkg10134771
“ไม่มีระบบไหนในโลกที่ไม่มีช่องโหว่ แต่มันเป็นเหมือนหนึ่งความรับผิดชอบสำคัญที่มีต่อประเทศ การพยายามหนีจากมัน มักจะไม่ได้รับการถูกมองในแง่บวก”

“การเป็นทหารเป็นทั้งความภาคภูมิใจและหน้าที่ มันถูกมองในฐานะเครื่องพิสูจน์ว่าคุณคือคนเกาหลีจริงๆ และคุณให้ความสนใจในประเทศชาติจากหัวใจ แม้ว่าคุณจะผมยาวหรือสวมสตั๊ดวิเศษ”

“กองทัพเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพล พวกเขามีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนคนรวยหรือผู้มีอิทธิพล”

การหนีทหารในสายตาของสังคมถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาท และอาจถูกแบนออกจากวงการ ปี 2010 เอ็มซี มอง นักแสดงจากรายการเรียลลิตี้ และศิลปินฮิปฮ็อปชื่อดัง ถูกตั้งข้อหาว่าตั้งใจถอนฟันออกสองซี่เพื่อให้ตรวจร่างกายไม่ผ่าน ผลสุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน ก่อนจะต้องเข้าไปเป็นทหาร

ตอนนั้นเขากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นในวงการเคป๊อป ก่อนจะหายหน้าออกไปจากสื่อพักใหญ่หลังปลดประจำการ หลังถูกแบนจากสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่อย่าง KBS และ MBC และเพิ่งได้รับโอกาสกลับมาไม่นานนี้

000_hkg8689526
หรือกรณีที่โด่งดังที่สุดของวงการฟุตบอล คือเคสของพัค ชูยอง เมื่อปี 2012 กองหน้าวัย 26 ปีในขณะนั้นใช้หลักฐานการได้พำนักถาวรในโมนาโก 10 ปีทำให้เขาเลื่อนการเป็นทหารออกไปได้

ชูยอง ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากคนในประเทศ เขาถูกตัดออกจากทีมชาติชั่วคราว จนทำให้เจ้าตัวต้องกลับมาขอโทษต่อสาธารณชนถึงกรุงโซล และเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้กฎหมายเรื่องถิ่นพำนักให้รัดกุมขึ้น  

ตลกร้ายที่ต่อมาในปีเดียวกันนั้น เขาอยู่ในทีมโอลิมปิกชุดประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ รวมทั้งเป็นผู้ยิงหนึ่งประตูในนัดชิงที่ 3 พาทีมคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิก ที่ทำให้สมาชิกทั้งทีมได้รับการยกเว้นการเป็นทหาร

sssssss
ปัจจุบัน เกาหลีใต้กำลังแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยจะลดระยะเวลาการประจำการน้อยที่สุดจาก 21 เดือนเหลือ 18 เดือน รวมไปถึงการลดกำลังนายพลจาก 436 นายให้เหลือเพียง 360 นายภายในปี 2022

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือกำลังเป็นไปด้วยดี และมีสัญญาณในเชิงบวก หลังการพบปะกันหลายครั้งของผู้นำทั้งสองประเทศ ในความหวังของการยุติความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี

หากทั้งสองฝ่ายสามารถเซ็นสัญญาสงบศึกได้จริง การเกณฑ์ทหารอาจจะไม่ใช่เรื่องบังคับของชายชาวเกาหลีใต้อีกต่อไป และเมื่อถึงเวลานั้นเหล่านักฟุตบอลอาจจะไม่ต้องพะวงกับการเกณฑ์ทหาร หรือลุ้นอย่างใจจดใจจ่อเหมือนกับ ซน ฮึงมิน อีกแล้วก็เป็นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook