สกู๊ป : สาลิกาเจ้าเอย
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/47/239393/new1.jpgสกู๊ป : สาลิกาเจ้าเอย

    สกู๊ป : สาลิกาเจ้าเอย

    2016-05-13T17:15:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    อาจจะไม่ได้มีจำนวนมากนักเท่ากับทีมมหาชนอื่นๆ แต่ในหมู่มิตรสหายที่คบค้ากันมาตั้งแต่วัยเยาว์ของผมก็มีคนที่ปวารณาตนเป็นสาวก “ทูน อาร์มี่” อยู่บ้าง

    นับแล้วไม่ถึงสองมือ เพียงแต่หากคิดจะพูดถึงเรื่องของทีมอย่างนิวคาสเซิล อย่าไปใส่ใจเรื่องของ “จำนวน” ให้คลางแคลงใจกันมากนัก

    ความหนักแน่นในหัวใจของพวกเขาต่างหากที่สมควรจะจดจำ

    ไม่ง่ายครับกับการที่เอาหัวใจไปปักหลักกับทีมที่หากให้พูดกันตรงๆคือเอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างนิวคาสเซิล เพราะมันง่ายเหลือเกินที่จะแปรเปลี่ยนหัวใจไปมอบให้ทีมอื่นแทน แต่ดูเหมือนชาวทูน อาร์มี่ จะไม่ได้เป็นคนประเภทเช่นนั้น

    พวกเขารักแล้วรักเลยไม่เปลี่ยนใจอีก

    ดังนั้นในความเจ็บปวดของการที่ต้องเห็นทีมนี้ตกชั้นอีกครั้ง และเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้การบริหารของ ไมค์ แอชลีย์ เจ้าของสโมสรที่แฟนบอลรังเกียจมากที่สุดทำให้ผมอดรู้สึกร่วมไปด้วยไม่ได้

    นิวคาสเซิล ในความทรงจำของผมคือทีมที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะในยุคของ “คิงเคฟ” เควิน คีแกน ที่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนเคยเกือบสร้างเทพนิยายฉบับชาวจอร์ดี้เหมือนที่ เลสเตอร์ทำได้ในฤดูกาลนี้ เพียงแต่สุดท้ายพวกเขาแพ้ภัยตัวเองไปเสียก่อน


    ในยุคนั้น นิวคาสเซิล เป็นทีมที่เล่นฟุตบอลสนุก เปิดหน้าแลกทุกทีม และส่วนใหญ่จะกำชัยเพราะพลังมหาประลัยในแนวรุก พวกเขาอุดมไปด้วยสตาร์ที่ทำให้แฟนบอลชาวจอร์ดี้ยินดีที่จะเสียเงินเพื่อเข้ามาชมเกมในสนาม และเช่นกันกับแฟนบอลจากทั่วโลกที่พร้อมจะอดหลับอดนอนเพื่อดูสตาร์อย่าง แอนดี้ โคล, โรเบิร์ต ลี, ฟาอุสติโน่ อัสปริญ่า, เลส เฟอร์ดินานด์, ดาวิด ชิโนล่า, คีธ กิลเลสพี รวมถึง “ฮอตชอต” อลัน เชียเรอร์ ตำนานสายเลือดจอร์ดี้แท้ๆ

    ไม่ใช่ทีมที่เล่นได้อย่างน่าอดสูเหมือนที่เห็นและเป็นอยู่ในหลายฤดูกาลหลัง

    ทั้งที่ความจริงแล้วสำหรับ “ทูน อาร์มี่” ความสำเร็จในสนามไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากทีมเลยแม้แต่น้อย

    จริงอยู่ที่ใครก็อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จ แต่สำหรับทูน อาร์มี่ การเล่นฟุตบอลที่สนุก สู้อย่างเต็มที่จนวินาทีสุดท้ายเพื่อตอบสนองต่อเสียงจากกองเชียร์ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งไม่มีสองบนแผ่นดินอังกฤษ นั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ

    พูดให้สั้นๆคือขอแค่ทีมสู้ด้วย “ใจ” ก็ได้ “ใจ” กลับไปแล้ว

    แต่ในยามนี้ นิวคาสเซิล ไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาเคยเป็นเลยแม้แต่น้อย นอกเหนือจากการบริหารงานที่เต็มไปด้วยการตัดสินใจที่เลวร้ายของผู้บริหารทีม นักเตะในสนามก็ทำให้เหล่าจอร์ดี้ยิ่งต้องช้ำใจหนักเข้าไปอีก

    และความจริงช้ำแบบนี้กันมาหลายปีแล้ว

    นับตั้งแต่ที่ ไมค์ แอชลี่ย์ เข้าซื้อกิจการสโมสรต่อจาก เซอร์ จอห์น ฮอลล์ มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่กอบกู้จนนิวคาสเซิล เมื่อปี 2007 มีเพียงช่วงเดียวเท่านั้นที่ทีมทำผลงานได้ดีคือในช่วงที่ อลัน พาร์ดิว เป็นนายใหญ่ ในฤดูกาล 2011-12

    ฤดูกาลนั้น พาร์ดิว นำนิวคาสเซิล กลับไปเล่นสโมสรยุโรปได้สำเร็จ ได้เป็นผู้จัดการทีมยอดเยี่ยม 2 สถาบันทั้งของพรีเมียร์ลีก และ LMA หรือสมาคมผู้จัดการทีมฟุตบอล ขณะที่ ฟาบริซิโอ โคล็อคชินี่ ติดทีมยอดเยี่ยมพรีเมียร์ลีก และ ปาปิส ซิสเซ่ ได้รางวัลประตูยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล

    แต่ในขณะที่ทุกอย่างเหมือจนจะไปได้สวย การสูญเสียนักเตะแกนหลักอย่าง โยฮัน คาบาย, ฮาเต็ม เบน อาร์กฟา, สตีเวน เทย์เลอร์ และไรอัน เทยเลอร์ ทำลายทุกอย่างที่สร้างมา และนับจากวันนั้น นิวคาสเซิล ไม่เคยกลับมาอยู่ในสถานะเดิมได้อีกเลย

    ทั้งหมดนั้นโทษใครอื่นไม่ได้นอกจาก แอชลี่ย์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์กีฬาดังระดับโลกอย่าง Sport Direct ที่ตัดสินใจ “พลาด” มากมายจนจำแทบไม่หมด


    ตัวอย่างที่ชัดเจนในระยะหลังคือการตัดสินใจปลด พาร์ดิว ออกจากตำแหน่งกลางทางเมื่อฤดูกาลที่แล้วและให้ จอห์น คาร์เวอร์ ผู้ช่วยของ พาร์ดิว คุมทีมแทนจนจบฤดูกาลทั้งที่หลายฝ่ายมองว่า “มือไม่ถึง”

    สุดท้ายทีมรอดตกชั้นในวันสุดท้ายของฤดูกาลเมื่อชนะ เวสต์แฮม 2-0 โดยหนึ่งในฮีโร่วันสุดท้ายคือ โจนาส กูเตียร์เรซ อดีตสตาร์ชาวอาร์เจนไตน์ ที่กลับมาลงเตะได้อีกครั้งหลังป่วยเป็นมะเร็งอัณฑะจนต้องพักการเล่นไปอย่างยาวนาน

    กูเตียร์เรซ กลับมาช่วยทีมพ้นจากการตกชั้น แต่สุดท้ายโดยปล่อยตัวออกจากทีมแบบไม่ใยดี ก่อนจะมีการเปิดเผยในภายหลังจากสตาร์อาร์เจนไตน์ว่าแอชลี่ย์ และสโมสรไม่เคยดูแลตัวเขาเลยในระหว่างที่ป่วย

    สิ่งเหล่านี้ขัดต่อ “วิสัย” อันดีงามของชาวจอร์ดี้อย่างชัดเจน

    ขณะที่ในฤดูกาลนี้ก็ทู่ซี้กับ สตีฟ แม็คคลาเรน อย่างยาวนานเกินไป จนสุดท้ายปลดจากตำแหน่งและให้ ราฟาเอล เบนิเตซ เข้ามากอบกู้ทีมแทน

    แต่ในสภาพทีมที่แตกสลายตั้งแต่เปลือกยันแก่นเช่นนี้ กุนซือมีประสบการณ์อย่าง “เอล บอส” เองก็ช่วยไม่ไหว

    การตกชั้นครั้งนี้ของนิวคาสเซิล ไม่เพียงจะเป็นเรื่องน่าเสียใจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะในยุคที่บรรดาทีมเล็กทีมน้อยในพรีเมียร์ลีกกำลัง “ลืมตาอ้าปาก” ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่มากมายมหาศาล ซึ่งแม้แต่นิวคาสเซิล ที่ปกติ “เหนียม” ก็ยังจับจ่ายถึง 78 ล้านปอนด์ในฤดูกาลนี้ (แต่ก็อีกนั่นแหละ การซื้อตัวของพวกเขาล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง)

    หากไม่กลับมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว หมายถึงพวกเขาได้ตกขบวน “รถด่วน” ที่จำเป็นต่อการนำสโมสรให้ก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส

    ผมไม่ได้หมายความว่า “แม็กไพส์” จะกลายเป็นอย่าง ลีดส์ ยูไนเต็ด, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ หรือสองสโมสรจากเมืองเชฟฟิลด์ ที่ยังไม่สามารถกลับคืนสู่ลีกสูงสุดได้เลยจนถึงปัจจุบัน เพราะด้วยระบบเงินชดเชย parachute system น่าจะพอทำให้สภาพทางการเงินของนิวคาสเซิลดีกว่าสโมสรในระดับแชมเปี้ยนชิพเดิม และมีโอกาสที่พวกเขาจะเลื่อนชั้นกลับมาอีกครั้งเหมือนในปี 2009 ที่ตกชั้นเพียงปีเดียวก็กลับมา

    แต่ตราบที่การบริหารของแอชลี่ย์ ยังทำในสิ่งที่ตรงข้ามต่อทั้งความถูกต้องและความรู้สึกเช่นนี้ ผมไม่คิดว่าเจ้านกสาลิกาตัวนี้จะกลับมาเป็นทีมที่ดีและทำให้แฟนบอลภาคภูมิใจได้เหมือนในอดีตครับ

    ได้เพียงหวังว่าจะมีใครสักคนที่ปลดปล่อยเจ้าสาลิกาน้อยออกจากกรงทมิฬนี้เสียที