อีกด้านของตำนาน : ยูเซน โบลต์ พัฒนาตัวเองอย่างไร เพื่อก้าวเป็นชายที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก

อีกด้านของตำนาน : ยูเซน โบลต์ พัฒนาตัวเองอย่างไร เพื่อก้าวเป็นชายที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก

อีกด้านของตำนาน : ยูเซน โบลต์ พัฒนาตัวเองอย่างไร เพื่อก้าวเป็นชายที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำชีวิตมาเป็นแบบอย่างของคนทั่วไป ย่อมหนีไม่พ้น ยูเซน โบลต์ นักวิ่งชาวจาเมกา เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 8 สมัย

ความสามารถด้านร่างกายและทักษะการวิ่งของเขาถูกวิเคราะห์จนทะลุปรุโปร่ง แต่ถ้าโบลต์แกร่งแค่ภายนอกเขาคงไม่มีวันก้าวขึ้นมาเป็นตำนานอย่างทุกวันนี้

Main Stand จะพาคุณย้อนดูเรื่องราวของ ยูเซน โบลต์ ในวันที่เขายังมัวเมาไปกับแสงสี จนถึงวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และนำตัวตนอีกด้านเข้ามาเป็นเคล็ดสำคัญในการไล่ล่าความสำเร็จให้กับชีวิต

อาจหลงทางหากปราศจากครูผู้รู้ใจ

เฉกเช่นนักกีฬาชื่อดังรายอื่นที่มีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเป็นโค้ชโนเนมไร้ชื่อเสียง ยูเซน โบลต์ คงจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้หากปราศจาก ปาโบล แมคนีล (Pablo McNeil) อดีตครูพละแห่งโรงเรียน William Knibb Memorial High School โดยดีกรีของแมคนีลไม่ธรรมดา เพราะเขาเคยเป็นตัวแทนของทีมชาติจาเมกาลงแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ มาแล้วถึงสองครั้ง ในปี 1964 และ 1968


Photo : zaheerliesandstatistics.files.wordpress.com

ปาโบลถือเป็นเพียงไม่กี่คนบนโลกที่มองเห็นศักยภาพของโบลต์ตั้งแต่วัยเยาว์ เขาคือคนที่เอ่ยปากให้โบลต์เลิกเล่นคริกเกตเพื่อมาเอาดีด้านการวิ่งอย่างจริงจังด้วยวัยที่ไม่ถึง 15 ปี ปาโบลออกปากอย่างมั่นใจว่า ยูเซน โบลต์ จะกลายเป็นนักวิ่งระดับโลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าเด็กหนุ่มรายนี้จะสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง

"มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะฝึกฝนเขา มีอุปสรรคมากมายที่เราทั้งสองต้องฝ่าฝันด้วยกันตลอดเส้นทางที่ผ่านมา" ปาโบล ให้สัมภาษณ์ถึงลูกศิษย์คนโปรด

 

"ครั้งแรกที่ผมเห็น ยูเซน โบลต์ ผมรู้ได้ทันทีว่าเขาเกิดมาเป็นนักวิ่ง แต่เขาบ้ากีฬาคริกเกตมาก ผมจึงพยายามไม่น้อยกว่าเขาจะเปลี่ยนใจ ซึ่งในช่วงแรกมันไม่ง่ายเลยที่จะทำงานกับเขา เพราะคุณต้องควบคุมพฤติกรรมเขาอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่อะไรร้ายแรงหรอกนะ เขาแค่ชอบเล่นอะไรพิเรนทร์เท่านั้น"

โบลต์ไม่แตกต่างจากนักกีฬาวัยรุ่นทั่วไปที่สามารถหลงทางและไขว้เขวจากเป้าหมายเนื่องจากแสงสีรอบตัว ปาโบลเล่าว่า โบลต์ชอบที่จะหายตัวไปจากสนามฝึกซ้อมของโรงเรียนเพียงเพื่อจะนั่งแท็กซี่เข้าไปหาความสำราญกับสาว ๆ ในตัวเมือง เดือดร้อนให้ปาโบลต้องไปพาตัวเขากลับมาหลายครั้ง

"เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุการณ์แบบนั้น ผมจำเป็นต้องพาเขากลับมาเพื่อฝึกซ้อมที่โรงเรียนให้ได้ เขาเป็นคนที่ดื้อรั้นมากที่สุดคนหนึ่งเลยล่ะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเข้าใจในตัวเขา การทำงานร่วมกับโบลต์นั้นก็จะไม่ยาก เพราะเขาทุ่มเทเต็มที่เกินร้อยเปอร์เซ็นต์โดยไม่ปริปากบ่นเลย"

ปาโบลมีวิธีฝึกสอนโบลต์ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากโค้ชคนอื่น นั่นคือการเน้นเรื่องสภาพจิตใจและหลักความคิดเป็นสำคัญ เขาไม่เคยให้โบลต์ดูว่าเจ้าตัวสามารถวิ่งด้วยระยะเวลาเท่าไร เพื่อให้โบลต์แข่งขันและพัฒนาตัวเองจากความรู้สึกที่ร่างกายสัมผัสด้วยภาพความเร็วของตนเองที่อยู่ในหัว

 

นอกจากนี้ปาโบลยังเคยใช้ไม่แข็งมาจัดการกับ ยูเซน โบลต์ ด้วยการให้ตำรวจควบคุมตัวเขากลับมาที่โรงเรียน หลังเจ้าตัวหนีหายไปจากทีมหลังการแข่งขันรายการหนึ่งเมื่อปี 2002 ซึ่งการใช้ตำรวจมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมความประพฤติของม้าพยศรายนี้ก็เกือบทำให้ครอบครัวของโบลต์และปาโบลแตกหักกันเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะโหดขนาดไหนแต่ปาโบลก็ทำไปเพียงเพราะเป็นห่วงอนาคตของลูกศิษย์รายนี้ เขาคือคนที่จัดการให้โบลต์ได้รับการช่วยเหลือจาก พี เจ แพตเตอร์สัน อดีตประธานาธิบดีจาเมกา ในการย้ายเข้าไปใช้ชีวิตยังกรุงคิงส์ตัน เมืองหลวงของประเทศ เมื่อโบลต์อายุได้ 16 ปี ซึ่งก่อนจากกันปาโบลยังคงเป็นกังวลต่อนิสัยชอบปาร์ตี้และหลงระเริงไปกับสิ่งยั่วยวนของลูกศิษย์รายนี้ โชคดีที่โบลต์ยังคงจดจำคำสอนของโค้ชคนสำคัญได้เสมอ

"ผมฝึกซ้อมอย่างหนักเสมอมา มันไม่มีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม ผมยังคงฝึกซ้อมหนักอย่างที่เคยทำ สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปสำหรับตัวผมคือความสูงที่เพิ่มขึ้นสองสามนิ้วจากปีที่แล้ว"

แม้ ปาโบล แมคนีล จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2011 จากการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นมาตั้งแต่ปี 2008 แถมยังมีดวงตาที่พร่าเลือนจนไม่สามารถรับชมโทรทัศน์ได้ แต่ถึงอย่างนั้นปาโบลก็ยังใช้เพียงหูสองข้างรับฟังความยิ่งใหญ่ของลูกศิษย์ที่ก้าวไปคว้าสองเหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์ 2008 แถมยังแน่ใจเกินกว่าใครถึงโอกาสที่ ยูเซน โบลต์ จะทำลายทุกสถิติโลกอย่างทุกวันนี้

 

"หากเขาเอาจริงในการแข่งขัน พวกคุณจินตนาการไม่ออกหรอกว่าเขาจะทำเวลาได้ดีมากแค่ไหน ?" ปาโบล แมคนีล กล่าวกับผู้สื่อข่าว ก่อนโบลต์จะเขย่าโลกด้วยผลงานของเขาในปักกิ่ง เกมส์ อันเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายที่เขาได้รับรู้ความสำเร็จของลูกศิษย์คนโปรด

อย่าทิ้งตัวตนอีกด้านของชีวิต

หากวัดจากคำบอกเล่าเรื่องการฝึกสอนของ ปาโบล แมคนีล แล้ว คงพอจะเห็นภาพถึงศัตรูร้ายกาจที่สุดในชีวิตของ ยูเซน โบลต์ นั่นคือ ตัวเขาเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าตำนานนักวิ่งรายนี้ผ่านบททดสอบในช่วงวัยรุ่นมาได้อย่างไร เพราะในแต่ละปีมีนักวิ่งดาวรุ่งชาวจาเมกาแจ้งเกิดปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 คน แต่กลับมีเพียงไม่กี่คนที่จะก้าวสู่จุดสูงสุด

ชีวิตช่วงแรกของโบลต์ในกรุงคิงส์ตันไม่ต่างจากเดิมมากนัก เขาไม่โฟกัสกับภาระหน้าที่ของตน ชอบเที่ยวไนท์คลับ และเล่นบาสเกตบอล มากกว่าจะฝึกซ้อมวิ่งอย่างจริงจัง โชคดีที่เขากลับตัวได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากต้องการประสบความสำเร็จเพื่อหาเงินมาช่วยเหลือทางบ้านที่ยากจน 

 

ยูเซน โบลต์ จึงก้าวมาเป็นสุดยอดนักวิ่งอย่างในทุกวันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากตัวเขาคือความรักสนุกและความหลงไหลในแสงสี และนี่ก็ไม่ใช่ความลับถึงความชื่นชอบของโบลต์ที่จะเซลฟี่กับแฟน ๆ หรือเฉลิมฉลองด้วยท่าทางแปลก ๆ จนกลายเป็นเป้าสายตาของบรรดาช่างภาพทั่วโลก

โบลต์รักที่จะอยู่ใต้สปอตไลท์ และเขาไม่เคยทิ้งความสำราญนี้ไปจากชีวิต แม้ ปาโบล แมคนีล จะคอยย้ำเตือนว่ามันอาจพรากทุกอย่างไป แต่ในสายตาของนักวิ่งคนอื่นนี่คือสิ่งที่ทำให้โบลต์แตกต่างและเป็นสุดยอดของวงการอย่างที่เห็น

"ผมไม่เคยเห็นใครที่ลงแข่งขันด้วยทัศนคติที่สบาย ๆ และมีความสนุกในการเฉลิมฉลองต่อผลงานของเขามากขนาดนี้ ผมคิดว่าเรื่องราวเหล่านั้นมันทำให้ตัวเขาโดดเด่นขึ้นมาไม่แพ้ทักษะการวิ่งของเขาและความสำเร็จของเขาเลย" โจนาธาน เอ็ดเวิร์ดส์ แชมป์โลกกีฬาเขย่งก้าวกระโดดจากสหราชอาณาจักร เล่าถึงความรู้สึกของเขาต่อยูเซน โบลต์


ยูเซน โบลต์ กล่าวว่า นี่คือตัวตนที่เขาพยายามรักษาไว้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเล่นสนุกและได้รับเสียงเชียร์จากแฟน ๆ มันจะกลายเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ตัวเขามีผลงานที่ยอดเยี่ยมมากกว่าเดิม และความผ่อนคลายอันเป็นจุดเด่นนี้ถึงกับทำให้โบลต์ได้รับคำชมจากศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อดังเลยทีเดียว

 

"มันทำให้โบลต์สามารถเรียนรู้ที่จะโฟกัสในจังหวะที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มจะเกิดความกลัวเล็ก ๆ ที่จะล้มเหลวหรือทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งนั้นนำมาสู่การเตรียมตัวเป็นอย่างดี" ศาสตราจารย์ สตีฟ ปีเตอร์ส เจ้าของหนังสือ The Chimp Paradox กล่าวชื่นชมจิตวิทยาก่อนลงแข่งขันของยูเซน โบลต์

สตีฟ ปีเตอร์ส กล่าวว่านี่คือภาวะทางจิตวิทยาที่เกือบสมบูรณ์แบบสำหรับนักวิ่ง เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก่อนออกสตาร์ทคือความผ่อนคลายและไม่วิตกกังวลอะไรเลย เพราะหากพวกเขาเกิดจิตใจไม่นิ่งขึ้นมาก็ไม่มีทางเลยที่นักวิ่งจะดึงศักยภาพของตัวเองในการแข่งขันออกมาเต็มร้อย

"ผมพยายามจะคิดอะไรเรื่อยเปื่อยก่อนจะออกวิ่ง ยกตัวอย่างเช่น พรุ่งนี้จะกินข้าวเย็นอะไรดี หรือ อะไรคือเรื่องสำคัญที่ผมต้องทำในวันพรุ่งนี้" ยูเซน โบลต์ เปิดเผยถึงความคิดที่อยู่ในหัวของเขาก่อนออกตัวจากจุดสตาร์ท

โบลต์พยายามจะไม่คิดถึงการแข่งขันที่รออยู่เบื้องหน้าจนกว่าจะถึงเวลาแข่งขันจริง การปล่อยให้ชีวิตในฐานะผู้ชายธรรมดาที่รักการกินอาหารหรือมีหน้าที่ต้องทำงานบ้านเข้ามาปะปนกับชีวิตนักวิ่งช่วยทำให้ตัวตนของโบลต์ในฐานะนักกีฬาและบุคคลจริงพร่าเลือน และเมื่อเขาต้องก้าวสู่สนามแข่งขันความกดดันที่รออยู่เบื้องหน้าจึงลดลงไป เพราะมันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ต่างจากกิจกรรมอื่นทั่วไป

ถึงอย่างนั้น ยูเซน โบลต์ ก็ไม่เคยผ่อนคลายเกินไปจนไม่จริงจังกับผลการแข่งขัน เขาเป็นคนที่เต็มที่กับการวิ่งและตั้งเป้าหมายว่าต้องคว้าชัยชนะให้ได้ในทุกเรซของตน นี่คือแนวคิดสำคัญที่ช่วยปลุกปั้นให้โบลต์ประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้ แม้ว่าตัวตนนอกสนามของเขาจะเป็นคนผ่อนคลายและรักสนุกมากก็ตาม


"สิ่งสำคัญมากที่สุดคือต้องคว้าชัยชนะกลับมาให้ได้ทุกครั้ง หลังจากนั้นผมถึงค่อยมาเช็คเวลาว่าตัวเองวิ่งได้เร็วเท่าไหร่ หลังจากนั้นผมก็จะเดินไปขอบคุณแฟน ๆ เพื่อตอบแทนแรงสนับสนุนของพวกเขา ปกติผมมักจะวิ่งเฉลิมฉลองชัยชนะตอบแทนพวกเขานะ ซึ่งมันจะมาพร้อมกับการเซลฟี่และการแจกลายเซ็นนั่นแหละ"

นี่คือตัวตนของ ยูเซน โบลต์ ที่หลายคนมองข้าม เพราะส่วนใหญ่มักจะไปโฟกัสที่สมรรถภาพร่างกายอันเหนือชั้นของเขา แต่ความจริงแล้วเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้นั้นติดตัวเขามาตั้งแต่เกิด นั่นคือความรักสนุก จนนำมาสู่การสรรค์สร้างสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง ซึ่งเหมาะสมที่สุดกับการวิ่งระยะ 100-200 เมตร และทำให้นักวิ่งชาวจาเมกาผู้นี้กลายเป็นตำนานอย่างในทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook