กฎหมายจากหลักศาสนา : ทำไมตาลีบันถึงจ้องกวาดล้างทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน?

กฎหมายจากหลักศาสนา : ทำไมตาลีบันถึงจ้องกวาดล้างทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน?

กฎหมายจากหลักศาสนา : ทำไมตาลีบันถึงจ้องกวาดล้างทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากกล่าวถึงประเด็นร้อนแรงที่สุดในโลกวันนี้ ย่อมหนีไม่พ้น การกลับมายึดครองประเทศอัฟกานิสถานอีกครั้งของ ตาลีบัน ขบวนการทางศาสนา และองค์กรทางทหารที่เชื่อมั่นคำสอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีแบบสุดโต่ง

การเข้ามาปกครองประเทศอีกครั้งของตาลีบัน เป็นภัยต่อสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะกับ นักกีฬาเพศหญิง ซึ่งประพฤติตัวผิดกฎหมายชารีอะห์แบบสุดโต่งตามการตีความของตาลีบัน นำมาสู่การลี้ภัยออกนอกประเทศครั้งใหญ่ของนักกีฬา

ทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน ถือเป็นหนึ่งในทีมกีฬาที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ พวกเธอถูกทำร้ายและต้องหลบหลีกลูกกระสุนจากทหารตาลีบัน เพื่อจะหนีออกนอกประเทศไปอย่างปลอดภัย ... แต่ทำไมตาลีบันถึงเกลียดชังพวกเธอขนาดนั้น

 

นี่คือคำตอบที่จะช่วยให้คุณเข้าใจแนวคิดของตาลีบัน, สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน และชะตากรรมของนักฟุตบอลหญิงชาวอัฟกันมากขึ้น

ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand ได้เลย

ตาลีบันคือใคร ?

ตาลีบัน คือขบวนการทางศาสนา และองค์กรทางทหารในประเทศอัฟกานิสถาน ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกช่วงต้นทศวรรษ 1990s ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ของสหภาพโซเวียต อันเป็นผลลัพธ์จากสงครามโซเวียต–อัฟกานิสถาน

 

คำว่า "ตาลีบัน" ในภาษาพัชโต มีความหมายว่า "นักเรียน" บรรดาผู้เคลื่อนไหวของกลุ่มเริ่มปลูกฝังความคิดจากโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งเชื่อในคำสอนศาสนาอิสลามนิกายซุนนีแบบสุดโต่ง ตาลีบันจึงมีแนวคิดในรูปแบบลัทธิชาตินิยมทางศาสนา รวมถึงลัทธิญิฮาด เนื่องจากมีจุดประสงค์ในการสร้างรัฐอิสลาม ผ่านความรุนแรงแบบสุดโต่ง

การเคลื่อนไหวช่วงแรกของตาลีบัน พวกเขามีความตั้งใจที่จะเข้ามาปกครองประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงและสันติภาพในอัฟกานิสถาน ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานหลายปี โดยตาลีบันให้คำมั่นว่า พวกเขาจะนำกฎหมายอิสลาม หรือกฎหมายชารีอะห์ มาใช้ปกครองประชาชนอีกครั้ง

เมื่อตาลีบันครองอำนาจเหนืออัฟกานิสถาน ในปี 1996 (โดยไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ) ฝันร้ายของชาวอัฟกานิสถานก็ได้เริ่มต้นขึ้น เพราะ ชารีอะห์ หรือระบบยุติธรรมของศาสนาอิสลาม ไม่ใช่กฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นตามยุคสมัย แต่เป็นการตีความจากคำสอนของศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7

กฎหมายชารีอะห์ จึงสามารถบังคับใช้โดยกำหนดความเข้มงวดตามใจผู้ปกครอง และตาลีบันเลือกปกครองอัฟกานิสถานด้วยความเข็มงวดขั้นสูงสุด การลงโทษแบบ "ฮุดูด" หรือการลงโทษสถานหนักถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด ชาวอัฟกานิสถานที่มีความผิดฐานลักขโมยจะถูกตัดมือ ส่วนผู้กระทำความผิดฐานชู้สาวจะถูกประหารชีวิต

 

ตาลีบันบังคับให้ผู้ชายไว้หนวด และไม่สามารถใส่เสื้อผ้าที่เปิดเผยให้เห็นข้อเท้า ขณะที่ผู้หญิงต้องใส่ชุดแบบปกปิดทั้งตัวตามหลักอิสลาม เนื่องจากกฎหมายชารีอะห์ระบุว่า ทั้งชายและหญิงต้องปกปิดร่างกายให้มิดชิด โดยสิทธิสตรีถือเป็นปัญหาใหญ่ภายใต้การตีความกฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัด ภายใต้การปกครองของตาลีบัน ผู้หญิงจะออกนอกบ้านได้เมื่อมีใบอนุญาตจากผู้ชาย และอาจถูกเฆี่ยนตีต่อหน้าฝูงชน หากพบว่าอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง

นอกจากนี้ ตาลีบันยังไม่อนุญาตให้มีการดูหนัง ฟังเพลง แม้กระทั่งดูทีวี การปกครองของตาลีบันจึงถูกประณามโดยนานาชาติในฐานะ "เผด็จการทางศาสนา" เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง โดยรัฐบาลที่ไม่ต่างจากผู้ก่อการร้ายติดอาวุธ

ยุคทองของตาลีบันสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม ปี 2001 หลังสหรัฐอเมริกา และกองกำลังร่วมของชาติตะวันตก บุกโจมตีอัฟกานิสถาน เพื่อตอบโต้วินาศกรรม 11 กันยายน โดยสหรัฐอเมริกากล่าวว่า รัฐบาลตาลีบันให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอน

กองทัพจากตะวันตกใช้เวลาราว 2 เดือน ทำลายเครือข่ายของตาลีบันจนพังทลาย แต่อิทธิพลของพวกเขาไม่เคยหายไปจากอัฟกานิสถาน การก่อความไม่สงบเพื่อทวงคืนอำนาจของตาลีบัน เกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นำมาสู่สงครามในอัฟกานิสถาน ซึ่งดูเหมือนจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีวันจบ จนกระทั่งเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

การกลับมาของตาลีบัน

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นกับอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 หลังสหรัฐอเมริกา ในยุคที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี บรรลุข้อตกลงสันติภาพกับตาลีบัน นำมาสู่การถอนกำลังกองทัพสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานภายในระยะเวลา 14 เดือน โดย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบันให้คำมั่นว่า ทหารชาวอเมริกันทุกคนจะได้กลับบ้านก่อนวันที่ 11 กันยายน ปี 2021 โดยวันสุดท้ายที่ทหารอเมริกันจะอยู่ในอัฟกานิสถาน คือวันที่ 31 สิงหาคม

การถอนกำลังทหารของสหรัฐอเมริกา นำมาสู่ความกังวลของผู้คนในอัฟกานิสถาน เพราะเมื่อปราศจากแรงสนับสนุนจากนานาชาติ รัฐบาลอัฟกานิสถานมีความเสี่ยงจะถูกโค่นล้มโดยตาลีบันอีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตกลงเจรจากับตาลีบันเพื่อรักษาเสรีภาพ แต่เป็นไปเพื่อหาผลประโยชน์จากสงครามที่กำลังจะสิ้นสุด

หลังจากบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับสหรัฐอเมริกา ตาลีบันเริ่มโจมตีพลเรือนอัฟกานิสถานที่ต่อต้านพวกเขา เช่น นักข่าว, นักเคลื่อนไหวด้านสันติภาพ, ผู้พิพากษาหัวสมัยใหม่ และผู้หญิงที่มีอำนาจ

 

หน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า รัฐบาลอัฟกานิสถานอาจถูกโค่นลงภายใน 6 เดือนหลังจากการถอนกำลังของสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันที่เครื่องบินลำสุดท้ายของกองทัพสหรัฐฯ จะบินกลับบ้าน กลุ่มตาลีบันสามารถยึดกรุงคาบูลได้เป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม และฟื้นคืนเอมิเรตส์อิสลามอัฟกานิสถาน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

การกลับมาของตาลีบัน นำมาสู่การอพยพออกนอกประเทศของชาวอัฟกานิสถานจำนวนมาก เพราะผู้คนต่างหวาดกลัวที่จะกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองโดยกฎเหล็กทางศาสนาที่เข้มงวดอีกครั้ง จอห์น ซิมป์สัน บรรณาธิการข่าวโลกของ BBC กล่าวว่า ช่วงปี 1996-2001 ที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน คือ "ช่วงเวลา 5 ปีของยุคแห่งเผด็จการทางศาสนาที่สุดโต่งที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่"

การบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ การประหารชีวิต, การปาหิน หรือเฆี่ยนตีผู้กระทำผิดในที่สาธารณะ สามารถพบเห็นได้เป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกการกดขี่ทางเพศ เมื่อผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ถูกสั่งห้ามเรียนหนังสือ

ตาลีบันลดแรงกดดันจากนานาชาติ ด้วยการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อรับประกันว่า ผู้หญิงในอัฟกานิสถานจะทำงานและเรียนหนังสือได้อย่างเสรี แต่ต้องอยู่ภายใต้ธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม ท่ามกลางการรายงานถึงบางพื้นที่ในประเทศ ซึ่งผู้หญิงถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกจากบ้านโดยไม่มีญาติผู้ชาย และยังถูกบังคับให้ออกจากงาน

 

หนึ่งสัปดาห์หลังการแถลงข่าวครั้งแรก ตาลีบันออกมายอมรับว่า ได้ออกคำสั่งให้ผู้หญิงที่มีงานทำกลับไปอยู่ที่บ้านโดยไม่มีกำหนด นำมาสู่การประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน รวมถึงการเกณฑ์แรงงานเด็กไปเป็นทหาร รวมถึงการสังหารประชาชนในประเทศ

ผู้หญิงในอัฟกานิสถาน จึงมีชีวิตไม่ต่างกับนักโทษ เพราะถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพจนแทบไม่เหลือ ซึ่งเรื่องราวจะแย่ลงไปมากกว่านี้ หากคุณเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าที่เลือกทำงานไม่เหมาะสมกับเพศสภาพ และ นักกีฬาเพศหญิง ถือเป็นหนึ่งในนั้น

ชะตากรรมของนักฟุตบอลหญิง

ตลอดช่วงปี 1996–2001 ที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถานเป็นครั้งแรก กิจกรรมสันทนาการหลายประเภทถูกแบนจากประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล, การเล่นว่าว หรือแม้กระทั่งหมากรุก ส่วนนักกีฬาทีมชาติ ถูกตาลีบันแบนไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติตลอด 5 ปี

เมื่อตาลีบันกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง จึงเกิดความกังวลขึ้นในหมู่นักกีฬาชาวอัฟกัน โดยเฉพาะนักกีฬาเพศหญิง เพราะพวกเธอถือเป็นเป้าโจมตีใหญ่ของตาลีบัน ที่ถูกมองว่าฝ่าฝืนธรรมเนียมตามหลักอิสลามถึงสองด้าน ทั้ง การเล่นกีฬา และการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในฐานะผู้หญิง

ทีมกีฬาที่ได้รับการจับตามากที่สุดคือ คริกเกตหญิงทีมชาติอัฟกานิสถาน เนื่องจากคริกเกตถือเป็นกีฬาอันดับหนึ่งในอัฟกานิสถาน และดูเหมือนว่าคริกเกตทีมชายจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของตาลีบันเท่าใดนัก แต่สำหรับทีมหญิงอาจเจอปัญหาใหญ่ และถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด พวกเธอน่าจะถูกสั่งห้ามเล่นคริกเกตในไม่ช้า

"ผมคิดว่าทีมหญิงจะหยุด นั่นคือข้อสันนิษฐานของผมนะ" ฮามิด ชินวารี ประธานคณะกรรมการคริกเกตอัฟกานิสถาน กล่าว

"พูดตามตรง ผมไม่รู้จริง ๆ ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แม้ตอนนี้เรายังมีงบประมาณ และจ่ายเงินเดือนพวกเขาตามปกติ แต่ถ้ารัฐบาลตัดสินไม่ให้ทีมชาติหญิงไปต่อ ทุกอย่างก็ต้องหยุด"

ท่ามกลางการเฝ้ามองอนาคตของคริกเกตหญิงทีมชาติอัฟกานิสถาน นักกีฬาหญิงชาวอัฟกันในวงการอื่นเริ่มถูกเช็คบิลโดยตาลีบัน โดยเฉพาะ กีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในสายตาชาวโลกว่า ตาลีบันเกลียดชังกีฬาฟุตบอลมากแค่ไหน หากย้อนกลับไปช่วงห้าปีแรกที่ตาลีบันเข้าครองอำนาจ กาซี สเตเดียม (Ghazi Stadium) สนามกีฬาแห่งชาติ ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตผู้กระทำความผิด ซึ่งยังเป็นภาพเหตุการณ์อันเลวร้ายที่ตามหลอกหลอนชาวอัฟกันมาจนถึงปัจจุบัน

การประกาศว่า "ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้ธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม" ของตาลีบัน จึงถือเป็นจุดจบของฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน เพราะตามหลักกฎหมายชารีอะห์แบบสุดโต่งของตาลีบัน ผู้หญิงถูกสั่งห้ามเล่นกีฬาโดยเด็ดขาด และถ้าหากไม่ใช่นักกีฬาคริกเกตที่พอจะได้รับการยกเว้นอยู่บ้าง พวกเธอและครอบครัวไม่มีทางที่จะรอดจากการถูกลงโทษโดยตาลีบัน

"ฉันรู้สึกเจ็บปวดแทนผู้หญิงทุกคนในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะกับทีมฟุตบอลของเรา เพราะฉันรู้ดีว่า พวกเราโบกมือลาทีมฟุตบอลหญิงไปตั้งแต่สองวันก่อน" ชามีล่า โคเฮสตานี อดีตกัปตันทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถานให้สัมภาษณ์ สองวันหลังจากการกลับมาของเอมิเรตส์อิสลามอัฟกานิสถาน

นักกีฬาฟุตบอลหญิงชาวอัฟกัน จึงไม่มีทางเลือกนอกจากช่วยเหลือตัวเอง ผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 75 คน ไม่ว่าจะเป็น นักกีฬา, เจ้าหน้าที่ทีม และครอบครัวของผู้เกี่ยวข้อง ตัดสินใจลี้ภัยออกจากอัฟกานิสถาน เพราะเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยและอนาคตของตัวเอง โดยนักกีฬาบางคนถูกทุบตีและต้องวิ่งหนีกระสุนปืน ขณะผ่านด่านตรวจของตาลีบัน ก่อนจะเดินทางถึงสนามบินอย่างปลอดภัย

คาห์ลิดา โปปอล อดีตกัปตันทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน ที่ลี้ภัยมาอยู่ในเดนมาร์กตั้งแต่ปี 2011 ต้องลงมือปิดบัญชีออนไลน์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬาฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน เพื่อปกปิดตัวตนของพวกเธอไม่ให้ตาลีบันรับรู้ และยังเป็นคนประสานงานกับรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อขอวีซ่าให้แก่นักฟุตบอลหญิงชาวอัฟกัน

หลังเดินทางสู่ประเทศออสเตรเลียอย่างปลอดภัย นักกีฬาฟุตบอลหญิงชาวอัฟกันต่างประกาศชัยชนะที่รวบรวมความกล้าหาญ และแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง จนสามารถฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศ จนได้ออกมาใช้ชีวิตยังต่างแดน แต่ความจริงที่พวกเธอต้องยอมรับ คือความฝันในฐานะนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติอัฟกานิสถานที่สิ้นสุดลงและไม่มีวันหวนคืนกลับเป็นเช่นเดิม ตราบใดที่กลุ่มตาลีบันยังมีอำนาจเหนืออัฟกานิสถาน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความทุกข์ทรมานที่ผู้หญิงชาวอัฟกันต้องพบเจอ นับตั้งแต่ตาลีบันกลับมาคืนอำนาจเป็นคำรบสอง พวกเธอต้องสูญเสียอิสรภาพ ความหวัง และความฝัน เพียงเพราะการตีความกฎหมายผ่านหลักศาสนาที่สุดโต่งมากเกินไป รวมถึงการยื่นมือเข้ามาจากโลกตะวันตก ซึ่งไม่เคยทำไปเพื่อเสรีภาพ แต่เป็นเพราะการล้างแค้นและผลประโยชน์

ผู้โชคร้ายจึงตกเป็นประชาชนชาวอัฟกานิสถาน ที่เฝ้ามองความผิดพลาดมากมายที่เกิดขึ้นในประเทศของตนมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อ ตาลีบัน กลับมาอีกครั้ง พวกเขามีทางเลือกอยู่เพียงสองทาง คือหลบหนีออกนอกประเทศ หรือ ใช้ชีวิตในบ้านเกิดต่อไปท่ามกลางความหวาดกลัว แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ชาวอัฟกันก็ไม่อาจทวงคืนความสุขที่เคยเป็นในชีวิตกลับมาได้อีกแล้ว

"ใครก็ตามที่เชื่อว่าตาลีบันเปลี่ยนไปคงคิดผิด เพราะฉันไม่เห็นอะไรที่ทำให้ฉันรับรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนจะไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง การเล่นฟุตบอล และตามหาเด็กผู้หญิงที่รักในกีฬาลูกหนังจากทั่วทั้งอัฟกานิสถาน คืออิสรภาพที่เราเคยมี และมันสวยงามมาก"
 
"แต่วันนี้ ทุกอย่างมันจบลงแล้ว"
ชามีล่า โคเฮสตานี กล่าวถึงสิ่งที่เหลืออยู่ของนักฟุตบอลหญิงทีมชาติอัฟกานิสถาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook