การพลิกแพลงวิกฤติการเมืองขั้นเทพของชาว "ยูเครน" ในฐานะเจ้าภาพ ยูโร 2012

การพลิกแพลงวิกฤติการเมืองขั้นเทพของชาว "ยูเครน" ในฐานะเจ้าภาพ ยูโร 2012

การพลิกแพลงวิกฤติการเมืองขั้นเทพของชาว "ยูเครน" ในฐานะเจ้าภาพ ยูโร 2012
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่ประเทศโปแลนด์ เป็นเจ้าภาพยูโร 2012 และประสบความสำเร็จทุกด้านอย่างดี จนหลายคนชื่นชมการวางแผนงานที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ทว่าเจ้าภาพร่วมอย่าง ยูเครน นั้นยักแย่ยักยันกว่ากันเยอะ พวกเขามีปัญหาการเมืองครั้งใหญ่ มีการประท้วงในเมืองเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จนการเตรียมความพร้อมไม่คืบหน้าดังที่ควรจะเป็น

ทั้ง ๆ ที่กำลังจะกลายเป็น ยูโร ที่ล้มเหลวที่สุด เหตุใดชาวยูเครนจึงพลิกสถานการณ์จากหลังมือเป็นหน้ามือได้ จนได้รับการกล่าวถึงมาจนทุกวันนี้ ?

ติดตามเรื่องราวการรวมพลังของประชาชนชาวยูเครน สู่ความเบ่งบานครั้งตำนานได้ที่นี่

ยูโร 2012 ความหวังของชาติ

ยูเครน เป็นประเทศที่มีสิ่งปลูกสร้างที่งดงาม ว่ากันว่าผู้คนที่นี่อัธยาศัยดีกว่าชาวบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง รัสเซีย พอสมควร ดังนั้นในการที่พวกเขาได้รับเลือกให้ร่วมจัดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 กับ โปแลนด์ ทำให้มีการคาดกันว่าแฟนฟุตบอลจากทั่วโลก จะถือโอกาสนี้มาสัมผัสดินแดนแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดูสักครั้ง

 

ความคาดหมายของภาครัฐยูเครน ณ ขณะนั้นคือ นี่จะเป็นโอกาสดีที่ทำให้ ยูเครน สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ใน 4 หัวเมืองหลักที่จัดการแข่ขันได้แก่ เคียฟ เมืองหลวง, โดเนตสค์, ลวีฟ และ คาร์คิฟ พวกเขาตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศทั้งหมด 1 ล้านคน นั่นคือเป้าที่สูงกว่าเจ้าภาพร่วมอย่าง โปแลนด์ ที่ตั้งไว้ 450,000 คน แบบครึ่งต่อครึ่ง 


Photo : Brno Daily

การเป็นเจ้าภาพของยูเครนนั้น มีเรื่องของการทูตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ได้รับการแทงเรื่องจาก สหภาพยุโรป หรือ อียู เพื่อช่วยเหลือประเทศยูเครน เนื่องจาก ณ เวลานั้น พวกเขาต้องการให้ยูเครนเข้ามาเป็น 1 ในสมาชิกของสหภาพยุโรป และการได้เป็นเจ้าภาพก็เหมือนกับของขวัญกล่องใหญ่ที่จะทำให้ประเทศของพวกเขาเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปมากขึ้นนั่นเอง 

"ยูฟ่ามีผลอย่างมากในการผลักดันการเป็นเจ้าภาพของยูเครน พวกเขาต้องการให้ยูเครนเข้าใกล้กับชาติอื่น ๆ ในยุโรปมากขึ้น สหพันธ์ฯ เดินทางมาที่ยูเครนบ่อยมาก พวกเขาไถ่ถามคำถามเป็นพัน ๆ ข้อ เพื่อทำให้แน่ใจว่า การแข่งขันครั้งนี้จะทำให้ยูเครนมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม รวมไปถึงการลบภาพลักษณ์การทุจริตในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มักมีเรื่องรุนแรงและฉาวโฉ่ อาทิ การรีดไถเงินจากนักท่องเที่ยว" มาร์คิยาน ลุบเคียฟสกี อดีตทูตของยูเครน ประจำประเทศบอสเนีย เผยเบื้องหลังวงในครั้งนี้ 

"ผมเชื่อว่ามันจะเป็นไปตามที่พวกเขาหวัง ภาพลักษณ์ของตำรวจยูเครนจะเปลี่ยนไปหลังจากทัวร์นาเมนต์นี้จบลง และชาวยุโรปจะได้รู้จักกับประเทศยูเครนมากกว่าที่เป็นอยู่" เขากล่าวทิ้งท้าย

 


Photo : Business Insiider 

ทุกอย่างทั้งหมดทั้งมวลเริ่มจากนักท่องเที่ยว ... เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา พวกเขาก็จะได้เงินจากนักท่องเที่ยวเหล่านั้นเป็นเงาตามตัว สำหรับยูเครน พวกเขาก็คล้าย ๆ โปแลนด์ ที่ต้องการให้การเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ผลักดันหลาย ๆ สิ่งในประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม, อสังหาริมทรัพย์, การคมนาคม และที่สำคัญคือการผลักดันเศรษฐกิจให้พ้นจากช่วงเวลาที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก นั่นคือความต่างระหว่าง 2 เจ้าภาพ 

ขณะที่โปแลนด์กำลังเติบโตในโครงสร้างด้านพื้นฐานและเศรษฐกิจ พวกเขาฟื้นตัวได้จากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 แต่ยูเครนนั้นแตกต่างออกไป พวกเขายังล้มไม่ลุก มีการรายงานจาก Business Insider ว่า ยูเครนต้องทำงบประมาณของรัฐบาลกลางออกมาใช้ถึง 1 แสนล้านฮรีฟเนีย (3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั่นเท่ากับ 8.3% ของจีดีพีประเทศ โดยสิ่งที่คาดว่าจะตามมาก็คือ งบประมาณก้อนนี้จะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน, คมนาคม ทั้งทางรถไฟและสนามบินให้ดีกว่าเดิม 

เรียกได้ว่ามันคือการลงทุนเพื่ออนาคต และทำให้ทุกคนในประเทศตื่นตัวอย่างแท้จริง 

"ชาวยูเครนทุกคนตั้งตารอฟุตบอลยูโร 2012 อย่างใจจดใจจ่อ ทุกคนจริง ๆ ตั้งแต่คนขับแท็กซี่, ทนายความ, นักธุรกิจระดับท้องถิ่น, เจ้าของโรงแรม, ตำรวจ หรือแม้กระทั่งพวกนักต้มตุ๋นตบทรัพย์ และ ตลาดมืดซ่องโสเภณี ก็ตื่นเต้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน" เซอร์เกย์ ซาห์ดาน (Sergei Zhadan) นักเขียนชาวยูเครน ว่าไว้ในเว็บไซต์ Opendemocracy

 


Photo : Education Ukraine

ตัดเรื่องฟุตบอลทิ้งไปเลยก็ยังได้ แม้ทีมชาติยูเครนจะไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้ แต่ประชาชนของพวกเขาเชื่อว่า "ประเทศต้องชนะ" จากมหกรรมครั้งสำคัญ แต่ช้าก่อน เรื่องบางอย่างถ้ามันสวยงามเกินไปก็จงระวังเอาไว้บ้าง เพราะบางทีเรื่องร้ายอาจจะตามมาในไม่ช้า ... ก็เป็นได้ 

ฝันค้าง ... ซะงั้น 

ระหว่างที่ได้รับการสนับสนุนจาก อียู และ ยูฟ่า ยูเครนก็เริ่มพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน จนมาถึงปี 2010 ประเทศยูเครนก็ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ชื่อ วิคเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งตัวของท่านประธานาธิบดีท่านนี้ เป็นคนที่มีความสนิทสนมกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานธิบดีของประเทศรัสเซีย แน่นอน แนวคิดของเขาดูจะโอนเอียงไปทางสายหมีขาว มากกว่าสายอียู


Photo : Thairath 

หลังจากเข้ามารับงานแล้ว ยาคูโนวิช ให้การสนับสนุนเรื่องการเป็นเจ้าภาพยูโรเป็นอย่างดี เขาทุ่มเงินเพิ่มเป็นยอดรวมทั้งหมด 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสิ่งต่าง ๆ ตามแผนเดิมและหวังจะให้ดีกว่าที่เคยเป็น เรียกได้ว่าครั้งเดียวเอาให้คุ้ม

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ยูเครนนั้นเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนจากปัญหาและความขัดแย้งของมรดกทางประวัติศาสตร์ คนในประเทศมี 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งยูเครนตะวันออก มีแนวคิดและวิถีชีวิตคล้ายคลึงไปในทางรัสเซีย และใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ โดยได้รับอิทธิพลมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ขณะที่ฝั่งตะวันตก ที่มีพื้นที่ติดกับยุโรป กลับมีแนวคิดและวิถีชีวิตใกล้เคียงกับชาวยุโรป และเริ่มเปิดรับระบบทุนนิยมเข้ามา 

ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างผู้ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกและตะวันออก ส่งผลให้ประชาชนในประเทศซึ่งแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่ฝักใฝ่สหภาพยุโรป (Pro-Euromaiden) และฝ่ายที่ฝักใฝ่รัสเซีย (Pro-Russian) มีปัญหาความไม่ลงรอยกันมาโดยตลอด และการจัดการแข่งขัน ยูโร 2012 ก็ได้รับปัญหานั้นเช่นกัน 

ดังนั้นการได้เป็นประธานาธิบดีของตัวแทนฝั่งตะวันออกอย่าง วิคเตอร์ ยานูโควิช ทำให้ฝั่งฝักใฝ่สหภาพยุโรปหาทางโจมตีรัฐบาลกลางของยาคูโนวิชว่า ที่ใส่ใจและทุ่มกำลังทรัพย์มากมายในการเป็นเจ้าภาพยูโร 2012 ครั้งนี้ เป็นการทำขึ้นเพื่อต้องการผลประโยชน์ และเอื้อให้กับนายทุนชนชั้นอีลิทระดับประเทศ อาทิ โอเล็กซานเดอร์ ยาโรสลาฟสกี (Oleksandr Yaroslavsky) ที่เป็นเหมือนผู้ยิ่งใหญ่ในเมืองคาร์คิฟ และเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยูเครน ที่ว่ากันว่าคือผู้ผลักดันให้เมืองนี้ได้สิทธิ์เป็นเมืองเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เพราะต้องการงบประมาณปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล มาลงที่เมืองแห่งนี้ เมืองจะได้เจริญ และธุรกิจของเขาก็ได้ผลบวกตามน้ำมานั่นเอง  


Photo : Russian Fella 

บ้างก็บอกว่าการผลักดันของ ยาโรสลาฟสกี นั้นทำให้เมืองคาร์คิฟปาดหน้าเค้ก ได้รับจัดงานแทนที่จะเป็นเมืองดนีโปรเปตรอฟสค์ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมกว่าและใกล้เมืองอื่น ๆ ที่จัดแข่งมากกว่า โดยเหตุผลที่ดนีโปรเปตรอฟสค์ไม่ได้จัดงาน หลายฝ่ายก็เชื่อว่า เป็นการสนับสนุนกันเองภายในกลุ่มหัวเมืองที่เป็นฝ่ายฝักใฝ่รัสเซีย

 

เมื่อมีคนจุดไฟ ก็เริ่มมีคนคล้อยตาม หลังจากนั้นก็เริ่มมีการชุมนุมประท้วงในหมู่ชาวยูเครนจากฝั่งฝักใฝ่ยุโรป ที่เชื่อว่าการจัดและเป็นเจ้าภาพยูโร 2012 เป็นการหาเสียงทางอ้อมของรัฐบาลฝั่งโปรรัสเซีย อีกทั้งยังแต่งตั้งคนกันเองเข้ามาดูแลเรื่องงบประมาณโดยเฉพาะ ซึ่งจุดนี้เองทำให้หลายฝ่ายมองว่าสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น 

จากนั้นก็เรียกได้ว่าซัดกันเละ ... แทนที่ประเทศจะร่วมมือกันจัดการแข่งขันยูโร 2012 ให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่จดจำ และสร้างความประทับใจให้กับประชาชนเหมือนที่โปแลนด์ทำได้ ยูเครนกลับเกิดสถานการณ์ตึงเครียด เพราะประชาชนฝั่งฝักใฝ่ยุโรป ไม่พอใจในความไม่โปร่งใส ไม่ใช่แค่เรื่องยูโร 2012 เท่านั้น แต่มันยังมาจากการที่ยาคูโนวิชนำประเทศแสดงท่าทีออกห่างจากยุโรป เพื่อไปคบหากับรัสเซีย ซึ่งเป็นวิธีการที่ชาวยูเครนส่วนใหญ่รับไม่ได้ เพราะเป็นการพาประเทศเดินถอยหลังนั่นเอง 

เรื่องดังกล่าวสั่งสมกันมานานตั้งแต่ปี 2004 แล้ว มันเคยเกิดขึ้นมาหนึ่งครั้งภายในชื่อ การปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ที่ชาวยูเครน รวมพลประท้วง ยาคูโนวิช ในข้อหาโกงเลือกตั้ง จนทำให้มีการชุมนุมในจตุรัสกลางเมืองเคียฟ จนนำมาซึ่งการประกาศโมฆะเลือกตั้ง และทำให้ ยาคูโนวิช เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ วิคเตอร์ ยุชเชนโก ไปในการเลือกตั้งครั้งใหม่ 


Photo : CNN 

นโนบายเดิม ๆ แนวคิดเดิม ๆ และผู้ต่อต้านที่ยังอยู่ กระแสการขับไล่ยาคูโนวิชยังมีเสมอมา กลุ่มมวลชนเริ่มรวมกลุ่มประท้วงในกรณีที่รัฐบาลฝักใฝ่รัสเซียเกินเหตุ ด้วยการปฏิเสธข้อเสนอและการสนับสนุนจาก อียู แต่เลือกที่จะไปกู้เงินจากรัสเซีย เพื่อรับโปรโมชั่นลดราคาก๊าซและพลังงานต่าง ๆ

 

จากเล็กไปใหญ่ คนผู้ชุมนุมจำนวนจากน้อยไปมาก นำไปสู่สถานะทางการเมืองที่ไม่แน่นอน และโครงการต่างๆ โดนตรวจสอบจนต้องทำบ้าง หยุดบ้าง จนที่สุดแล้วบางโครงการก็ต้องพับไป ทำไม่สำเร็จตามเป้าที่ว่างไว้ 

ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้นำมาสู่ฟางเส้นสุดท้ายและเป็นเหตุการณ์ระดับโลกอย่าง ยูโรไมดาน ในปี 2013 สิ่งที่ตามมาซึ่งมีการชุมนุมกันในกรุงเคียฟ เมืองหลวง โดยประชาชนฝั่งที่ไม่พอใจเป็นจำนวนมากกว่า 3 แสนคน 

จุดเริ่มต้นมาจากจตุรัสไมดาน และกลายเป็นการต่อสู้ของประชาชน ข้อเรียกร้องเลยเถิดไปถึงการให้ยูเครนเข้าสู่สหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการไปเสียเลย เพื่อความเจริญและพัฒนาของประเทศ ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นกินเวลาเป็นเดือน ๆ ในช่วงปี 2013 ก่อนจะที่สุดท้ายจะนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงและมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตมากกว่า 100 คน ภายหลังจากการแข่งขัน ยูโร 2012 เพียง 1 ปีเท่านั้น

กลับมาที่เรื่องของเรา เห็นได้ชัดว่าปัญหาการเมืองภายใน ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศบอบช้ำ ในฐานะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลระดับทวีป โดยมีเวลา 4 ปีให้พัฒนาส่วนต่าง ๆ และยังมีงบประมาณและเงินสนับสนุนมากมาย สุดท้าย เงินและเวลาที่ควรจะได้ใช้เพื่อจัดการแข่งขันที่นำมาสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องเอามาใช้ในการปราบจราจล 


Photo : DW

เท่ากับว่า ยูเครน เสียเวลาไปไม่น้อยกับการคัดค้าน และสั่งตรวจสอบกันไปมา จนทำให้ส่งผลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทำให้การเป็นเจ้าภาพของเขาเป็นที่จดจำ

ขณะที่ โปแลนด์ พากันวินทั้งประเทศ ยูเครน กลับประสบปัญหาสำคัญ เพราะเมื่อฟุตบอลยูโร 2012 เดินทางมาถึง อุตสหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมในประเทศนี้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ... ยูเครน กำลังจะขายหน้า 

ถึงเวลาประชาชนต้องลงมือ 

สำหรับแฟนฟุตบอลนั้น เชื่อว่าหลายคนไม่ได้มีนิสัยเรื่องมากซับซ้อนอะไร พวกเขามาเพื่อดูฟุตบอล เสพความสุขกับมหกรรมกีฬาที่ 4 ปีมีครั้ง มาดูชาติของตัวเองป็นผู้ชนะ ... นั่นคือเป้าหมายหลัก 

ดังนั้นส่วนอื่น ๆ ถือว่าเป็นปัญหารอง ๆ ลงมา เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลเบรกไว้เพราะปัญหาการเมือง ดูจะไม่ได้ส่งผลอะไรมากมาย ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ อาจจะพอเผื่อเวลาการเดินทางได้, รถไฟเก่า ก็ขอให้นั่งได้และถึงที่หมายตรงเวลา, สนามบินเก่า ก็ขอแค่ให้มีความปลอดภัย เพราะพวกเขาเป็นนักท่องเที่ยว พวกเขามาอยู่แค่ไม่ถึงเดือนแล้วก็กลับ 


Photo : Agoda

แต่การไปดูฟุตบอลและต้องเสียเงินในกระเป๋าเพิ่มชนิดที่เทียบเท่ากับเงินเดือนหลายเดือนของพวกเขา เพราะเพียงแค่ต้องการที่นอนเพื่อหลับพักผ่อน ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ มันแตกต่างออกไป มันคือสิ่งสำคัญที่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ 

เมื่อถึงเวลาแข่งขันจริง ปัญหาที่พักในประเทศยูเครนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะจำนวนไม่พอต่อนักท่องเที่ยว ... พวกเขามีแฟนบอลเข้ามาจากต่างแดนมากถึง 1.2 ล้านคน มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แทนที่จะประสบความสำเร็จ และนำเงินจากนักท่องเที่ยวมาหมุนเวียนและพัฒนาท้องถิ่น สุดท้ายก็แทบไม่มีใครได้ประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย 

เพราะที่พักนั้นมีจำนวนไม่พอต่อความต้องการ ทำให้แต่ละห้องแต่ละโรงแรมขึ้นราคากันหลายเท่า แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามเกลี้ยกล่อมและขอความร่วมมือให้ธุรกิจการโรงแรมต่าง ๆ ไม่ให้ตั้งราคาค่าห้องพักเกินคืนละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อที่พักมีค่ามากกว่าทอง ไม่มีใครที่ไม่คว้าโอกาสนั้น ... พวกเขาเริ่มฟันนักท่องเที่ยว และทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนอยู่ในสภาวะ "ไม่มีที่ไป" เพราะไม่รู้จะไปพักที่ไหนดี 

"อะไรก็แพงไปหมดทุกอย่างทั้งค่าที่พักค่ากิน มันเป็นเรื่องยากมากเลย ผมจะยอมจ่ายนะหากมันสมเหตุสมผล" ลูเธอร์ แฟนบอลชาวอังกฤษที่เดินทางมายูเครนว่าไว้ 

ดูท่าจะไม่รอด ... หลายคนคงคิดแบบนั้น เพราะนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง สถานการณ์ทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่น กำลังจะทำทุกอย่างพัง แต่โชคยังดีที่พวกเขามีประชากรที่อยู่ในระดับที่มี "คุณภาพ" ในภาวะที่ประเทศกำลังโดนมองแง่ลบ ชาวยูเครนกลุ่มหนึ่งก็ได้ก่อตั้งแคมเปญ "Ukraine: Friendlier Than You Think!" (ยูเครน เป็นมิตรกับคุณกว่าที่คิด) 


Photo : Visit Ukraine 

แคมเปญดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นโดย โรมัน คาร์เชนโก สถาปนิกหนุ่มจากเมืองที่ชื่อว่า เชอร์นิกอฟ เมืองนี้เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างจากเมืองที่จัดการแข่งขัน (ใกล้กรุงเคียฟที่สุด) พวกเขาอาจจะไม่มีนักท่องเที่ยว แต่พวกเขามีสิ่งที่เมืองใหญ่ไม่มี ณ เวลานั้น นั่นคือ "ที่พักอาศัย" นั่นเอง 

"เมืองของเราไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการแข่งขันหรอก เราถูกมองเป็นลำดับความสำคัญท้าย ๆ แต่เราก็หวังว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ผมอยากให้เมืองเชอร์นิกอฟมีคนมาสนใจบ้าง เราเป็นเมืองเล็กที่เงียบสงบ บรรยากาศเขียวขจี มีโบสถ์ใหญ่ที่เก่าแก่อายุเป็นพัน ๆ ปีด้วย" 

เขาคิดที่จะให้นักท่องเที่ยวจากเมืองใหญ่มาเที่ยวที่เมืองของเขา อย่างน้อยก็มาหาที่พักที่ในเมืองใหญ่ให้ไม่ได้ จากนั้นพวกเขาก็เริ่มทำเว็บไซต์ขึ้นมาชื่อว่า Rooms4Free ... ใช่แล้วมันแปลว่า "ห้องพักฟรี" กล่าวคือพวกเขาจะให้แฟนบอลต่างแดน มาพักที่บ้านของพวกเขาแบบฟรี ๆ ไม่คิดเงินสักบาท ซึ่งหลังจากปล่อยแคมเปญนี้ลงในอินเตอร์เน็ต ชาวยูเครนหลายคน ทั้งในเมืองใหญ่ และเมืองที่ไม่ได้มีการแข่งขัน ก็ให้ความสนใจ และเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเลี้ยงแขกบ้านแขกเมืองแบบไม่คิดเงินหลายพันครัวเรือนเลยทีเดียว  

"ฉันเห็นข่าวว่ามีแคมเปญนี้ ในเนื้อข่าวบอกว่าค่าที่พักในเมืองที่มีการแข่งขันกระโดดไปไม่รู้ต่อกี่เท่า ดังนั้นมันทำให้พวกนักท่องเที่ยวผิดหวัง" มาร์ยานา ลีตอฟเชนโก หนึ่งในผู้ร่วมแคมเปญกล่าว 


Photo : VOA 

"เมื่อได้ทราบราคาที่พักก็เข้าใจได้ว่ามันมากเกินไปจริง ๆ สำหรับพวกเขาที่เดินทางข้ามประเทศมา มันแพงเกินจริงจนไม่สามารถจ่ายได้ ดังนั้นพวกเราในฐานะตัวแทนคนยูเครนพร้อมจะให้โอกาสสำคัญแก่แฟนบอลเหล่านั้น"  

ไม่ใช่แค่ที่พักฟรี ชาวยูเครนหลายคนยังแจกอาหารฟรี และมอบมิตรภาพให้กับนักท่องเที่ยว และแฟนบอลที่กำลังไปไม่ถูกในต่างแดน ซึ่งสุดท้ายแล้ว นี่แหละคือสิ่งที่แฟนบอลและนักท่องเที่ยวต้องการ การมีปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น ได้แลกเปลี่ยนเล่าเรื่องราวในประเทศของกันและกัน วันไหนที่ชาติของพวกเขาไม่ลงแข่ง พวกเขาก็ซื้อเบียร์สักขวดและชวนกันดื่มกับเจ้าบ้านไปพร้อม ๆ กับการดูการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ 

"เหตุผลสำคัญที่ผมชอบแคมเปญนี้มาก ๆ คือ ผมเป็นคนชอบเดินทาง พบปะผู้คน แลกเปลี่ยนเรื่องราวที่เราเคยเจอ สร้างความเข้าใจถึงบริบทต่าง ๆ ของแต่ละประเทศที่เราจะได้รู้จากคนท้องถิ่นจริง ๆ การได้มาอยู่กินกับพวกเขาแม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ต้องบอกเลยว่า มันคุ้มค่าและประทับใจกว่าการนอนโรงแรมหรู 5 ดาวเยอะ" แฟนบอลชาวอังกฤษว่าต่อ 


Photo : Football Cult 

ในขณะที่แฟนบอลและนักท่องเที่ยวกำลังหัวเสีย พวกเขากำลังคิดแง่ลบกับประเทศยูเครน จากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลกระทบกับทุกเรื่อง ประชาชนชาวยูเครนเหล่านี้เป็นผู้พลิกฟื้นความสุขและเปลี่ยนความคิดของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นอย่างแท้จริง พวกนักท่องเที่ยวได้รับรู้ว่าแม้การเมืองจะรุนแรง แต่คนที่ยูเครนยังคงมีมิตรภาพที่ดีมอบให้คุณได้เสมอ ... คุณอาจจะผิดหวังกับรัฐบาล แต่คุณไม่มีทางผิดหวังกับเจ้าบ้านเหล่านี้อย่างแน่นอน 

"พวกเราอยากแสดงออกให้คนข้างนอกเห็นบ้างนะว่า ยูเครน ก็ไม่ได้หัวรุนแรงเหมือนกับการเมือง นอกจากเรื่องการเมืองแย่ ๆ พวกเราชาวยูเครนยังคงมีความเป็นมนุษย์และพร้อมจะมอบมิตรภาพให้กับทุกคน เชื่อเถอะว่านี่คือนิสัยทั่วไปของชาวยูเครน เรายินดีต้อนรับทุกคนเสมอ" วิคตอเรีย เดนีเชนโก ผู้ประสานงานแคมเปญ กล่าวอย่างมีความสุข 

แม้ข้อมูลทางตัวเลขจะไม่มีระบุชัดเท่ากับโปแลนด์เจ้าภาพร่วม ว่ายูเครนใช้เงินไปเท่าไหร่ ขาดทุนเท่าไหร่บ้าง ใครกันคือผู้ชนะและได้ผลประโยชน์จากการแข่งขันครั้งนี้ 

อย่างไรก็ตามสำหรับแฟนบอลที่มาที่นี่เพื่อฟุตบอลและท่องเที่ยวเปิดโลกใหม่ พวกเขาได้รับรู้ว่าภายใต้การเมืองที่ร้อนแรง และการจัดการที่สื่อบอกว่าสอบตกนั้น มีสิ่งที่สวยงามที่สุดเท่าที่พวกเขาได้พบเจอ เรียกได้ว่ามิตรภาพและน้ำใจของชาวยูเครน ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด แม้จะเป็นชัยชนะในแง่มุมเล็ก ๆ ก็ตาม 


Photo : Business Insiider 

"ยูโร ครั้งนี้ประสบความสำเร็จไหมน่ะเหรอ ? ไม่ต้องถามเลย ผมคิดว่าแน่นอนที่สุด" เจสัน ไนท์ ชาวยูเครนที่อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา และบินกลับมาเพื่อเชียร์ชาติบ้านเกิดลงแข่งขันชิงแชมป์ยุโรปว่าไว้ 

"ประชาชนยูเครนได้รับชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ด้วยเหตุผลเดียว พวกเขามอบน้ำใจและสร้างความประทับใจในทุก ๆ ตารางนิ้วบนแผนที่ ทุก ๆ หมู่บ้าน ทุก ๆ เมืองล้วนแต่อยู่ในความทรงจำของทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนอย่างแท้จริง" 

ต่อให้เราจะมองข้ามคำว่ามิตรภาพไป เราก็ยังพบว่าแคมเปญนี้ทำให้ชาวยูเครน และท้องถิ่นของพวกเขา "WIN" อยู่ดี แฟนบอลกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ ที่เงียบเหงา เศรษฐกิจท้องถิ่นมีเงินหมุนเวียนมากแบบที่ไม่เคยเป็น แม้รัฐจะมองข้าม แต่พวกเขาก็แสดงให้เห็นว่าแค่เข้าใจสถานการณ์ รู้จักพลิกแพลงอย่างสร้างสรรค์ วิกฤติ สามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสได้เสมอ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook