ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม : การผจญภัยในญี่ปุ่นของแข้งไทยโนเนมผู้เติบโตจากความโดดเดี่ยว

ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม : การผจญภัยในญี่ปุ่นของแข้งไทยโนเนมผู้เติบโตจากความโดดเดี่ยว

ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม : การผจญภัยในญี่ปุ่นของแข้งไทยโนเนมผู้เติบโตจากความโดดเดี่ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฤดูหนาวต้นปี 2019 ท่ามกลางผู้คนมากมายในกรุงโตเกียว มีเด็กไทยคนหนึ่งซ่อนอยู่บนแผ่นดินเมืองหลวงที่ไม่เคยหลับใหลของญี่ปุ่น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความโดดเดี่ยวเข้ามาแวะเวียนจิตใจ "เบียว-ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม" เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขาคุ้นชินกับความเดียวดาย ตั้งแต่เริ่มหัดเตะลูกบอลเพียงลำพัง, พอแตกเนื้อหนุ่ม ก็ต้องออกจากบ้านเกิดในจังหวัดตาก เพื่อมาแสวงโอกาสทางศึกษาและเล่นกีฬาในกรุงเทพฯ  

จนถึงวันที่เขาได้ย่างก้าวออกจากประเทศไทย มาเล่นลีกอาชีพญี่ปุ่น ระดับ J3 League ด้วยสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาล ... ทุกย่างก้าวในชีวิต 23 ฝนของ ณัฐวุฒิ สุขสุ่ม ล้วนมีความโดดเดี่ยวเป็นฉากประกอบอยู่เสมอมา

 

มันเป็นการผจญภัยของ "แบ็กแพ็คเกอร์" ผู้ออกไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองด้วยตัวคนเดียว เป็นเวลา 1 ปี โดยมีจุดหมายที่ต้องพิชิตอยู่บนพื้นหญ้าแนวราบสีเขียว และการเดินทางครั้งนี้ ได้ทำให้เขาเรียนรู้ชีวิต จากประสบการณ์ใหม่ที่พบเจอตลอดระยะเวลาสัญญา 1 ปี กับสโมสร เอฟซี โตเกียว ชุด U-23

 

คุณเคยวาดฝันไหมว่าสักวันหนึ่งจะได้ไปเล่นฟุตบอลอาชีพในต่างแดน มีผู้คนรู้จักชื่อ-นามสกุล จากการเล่นกีฬาชนิดนี้

 

ตอนเด็กเคยจินตนาการว่า ถ้าตัวเองได้ลงเล่นฟุตบอล ท่ามกลางคนดูเยอะ ๆ ลากบอลผ่านกองหลัง เลี้ยงเข้าไปยิงประตู ทำท่าดีใจ มันจะเป็นความรู้สึกยังไง แต่ผมไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นไปได้ เพราะผมเป็นเด็กแค่เด็กต่างจังหวัด อยู่ห่างไกลกับโอกาสแบบนั้น 

มันเป็นแค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของเด็กคนหนึ่ง ที่โตมากับการเล่นลูกบอลอยู่คนเดียว เพราะแม่ไม่อยากให้ออกไปข้างนอกบ้าน 

 

 

 

ทำไมครอบครัวถึงไม่อยากให้คุณออกไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กคนอื่น 

ท่านคงอยากให้ผมอยู่ในกรอบ ไม่อยากให้ออกไปเจอสิ่งไม่ดีมั้งครับ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เท่าที่จำความได้ ส่วนมากผมจะเอาลูกบอลที่แถมมากับบรีส (ผงซักฝอก) มาเตะอยู่คนเดียว บางครั้งก็มีเพื่อนข้างบ้าน ชวนไปเล่นฟุตบอลบนลานดิน ไม่ใช่สนามหญ้า แถวที่ทำการชุมชนครับ

ผมอยู่กับมันมาตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ผมชอบและรักกีฬาฟุตบอลมาก ผมสนุกทุกครั้งเวลาได้เลี้ยงบอล ได้ยิงประตู เหมือนได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมา

ตามประวัติคุณเริ่มต้นสร้างชื่อจากการเป็น นักฟุตซอล ก่อนเปลี่ยนสายมาเอาดีทางฟุตบอล ในเวลาต่อมา เล่าให้เราฟังหน่อยว่าเพราะอะไร

 

ตอนเรียนอยู่ที่จังหวัดตาก ผมเล่นฟุตซอลเป็นหลัก จนกระทั่งตอนอายุ 16 ปี ผมเข้ามาคัดที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ก็เลยได้เล่นทั้งฟุตซอลและฟุตบอล ใจจริงฟุตซอลคือกีฬาที่เป็นต้นกำเนิดของผม แต่ผมเลือกฟุตบอล เพราะมีโอกาสที่ดีกว่า ถ้าผมได้ข้อเสนอจากทีมฟุตซอลอาชีพก่อน ผมอาจเอาดีทางนั้นก็ได้ 

ตอนนั้น ทรู แบงค็อกฯ ที่เป็นสโมสรพันธมิตร เซ็นสัญญาดึงผมไปเป็นเยาวชนของทีม เล่นรายการโค้ก คัพ, ยูธ ลีก ต่อมาผมได้เล่น ทีม บี ในไทยลีก 4 และขึ้นทีมชุดใหญ่ ก็เลยคิดว่า คงต้องเอาดีทางฟุตบอลเต็มตัว 

 

 

ความจริงก่อนย้ายไป เอฟซี โตเกียว U-23 ในซีซั่น 2019 คุณเป็นเพียงแค่ดาวรุ่งโนเนม ที่แทบไม่ค่อยได้ลงสนามให้ทีมชุดใหญ่ของ ทรู แบงค็อกฯ เลยด้วยซ้ำ เหตุใดถึงตอบรับข้อเสนอนั้น 

มันเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายนะครับ เพราะตอนแรกผมตั้งใจจะขอสโมสรปล่อยยืมตัว เพื่อหาทีมระดับไทยลีก 2-3 ลงเล่นบ่อยขึ้น แต่เอเยนต์บอกผมว่า มีข้อเสนอจากญี่ปุ่นเข้ามา ตอนแรกผมลังเลใจ ไม่ใช่ไม่อยากไปเล่นที่นั่นนะ แต่ผมคิดว่าฝีเท้าตัวเองยังไม่ถึงขั้นนั้น กลัวกดดันตัวเองมากเกินไป 

แต่พอคุยกับครอบครัว พ่อแม่ก็สนับสนุนบอกให้ผมลองดู เพราะน้อยคนที่ได้จะประสบการณ์แบบนี้ ผมก็เลยตอบรับข้อเสนอยืมตัวจาก เอฟซี โตเกียว

มีความกลัวหรือกังวลเรื่องใดเป็นพิเศษไหม ก่อนเดินทางไป เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่คุณได้ไปเล่นบอลในต่างแดน

 

ผมไม่เคยกลัวเรื่องปรับตัวกับชีวิตนอกสนามเลย ทั้ง สภาพอากาศ, อาหารการกิน หรือการต้องใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว ผมคิดว่ามันคงไม่ได้ต่างอะไรจากตอนที่ออกจาก จ.ตาก มาอยู่กรุงเทพฯ เท่าไหรอกครับ ต่างกันก็แค่ภาษาและวัฒนธรรม ผมคิดว่าตัวเองอยู่ได้แน่ ๆ

แต่ผมกังวล คือเรื่องในสนาม ผมก็โทรปรึกษาไอซ์ (จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ - เพื่อนร่วมรุ่นที่เคยไปเล่น เอฟซี โตเกียว มาก่อน)  ตลอดว่า ที่โน่นเล่นฟุตบอลกันแบบไหน ? ต้องทำอย่างไรบ้างในสนามซ้อม มีอะไรที่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ มีความยากอย่างไร ? ไอซ์ ก็บอกประมาณว่า ต้องตรงเวลา, ซ้อมให้เต็มที่, วิ่งเยอะ ๆ 

ซึ่งพออยู่ญี่ปุ่นจริง ๆ ผมไม่ได้มีปัญหาเรื่องโฮมซิก หรือการใช้ชีวิตนอกสนามเลย เพราะผมคุ้นชินกับการอยู่คนเดียวมานาน ส่วนเรื่องฟุตบอลมันก็ยากอย่างที่ผมคิดไว้จริง ๆ

 

 

ยังจำช่วงแรกที่ย้ายไปอยู่ตัวคนเดียวที่ โตเกียว ได้ไหม 

อาทิตย์แรกผมไม่สบาย เพราะไม่ชินกับสภาพอากาศ ตอนนั้นทีมไปเก็บตัวก่อนเปิดฤดูกาล 2019 ที่โอกินาวา ช่วงหน้าหนาวพอดี 

จากนั้นก็ออกไปสำรวจดูรอบ ๆ ที่พักว่ามีอะไรบ้าง ต้องเดินทางไปสนามซ้อมยังไง ? มีอะไรกินบ้าง ? เวลาเดินทางไปไหนมาไหนก็จะใช้จักรยานปั่นเอา 

 

 

การฝึกซ้อมฟุตบอลญี่ปุ่น ระดับ J3 League มีความแตกต่างกับลีกอาชีพไทยหรือไม่ ? 

รูปแบบการฝึกซ้อมไม่ต่างกัน แต่ที่แตกต่างคือระดับความเข้มข้น โชคดีที่ เอฟซี โตเกียว นักเตะชุดใหญ่และชุดเล็ก (U-23) จะฝึกซ้อมด้วยกัน ทำให้ผมได้เห็นว่าทุกคนในทีม ไม่ว่าจะซูเปอร์สตาร์ หรือนักบอลเยาวชน เขาจะใส่เกินร้อยตลอดเวลาอยู่ในสนามซ้อม 

ตอนแรกผมสปีดช้ามาก แปบอลก็ไม่ดี ถูกมองด้วยสายตาเหมือนคนไทยมองนักบอลโควต้าอาเซียน แบบว่ามีความสงสัยอยู่ บางทีก็โดนด่า โดนดูถูกเป็นภาษาญี่ปุ่น ถึงแม้ผมจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่พอจะสัมผัสได้ว่าเขากำลังว่าเราอยู่ ดูจากท่าทางที่ทำเขาก็รู้แล้วครับ 

ผมโดนเรียกให้ซ้อมคนเดียวเพิ่มเติมหลังเสร็จโปรแกรมช่วงเย็น นานถึง 5-6 เดือน กว่าจะตามสปีดเขาทัน และร่างกายดีขึ้น

เวลาอยู่กับทีม ผมจึงเป็นคนที่พยายามปรับตัวเข้าหาผู้เล่นญี่ปุ่นตลอด ไม่ใช่รอเขามาสอนเรา เวลาคนพูดอะไร หรือกำลังคุย ก็ต้องตั้งใจฟ้ง เพื่อเรียนรู้ โดยเฉพาะพวกคีย์เวิร์ดคำที่ต้องใช้ในสนามบอล เพราะเขาจะสั่งกันเป็นภาษาญี่ปุ่น เวลาแข่งจริง เราจำเป็นต้องสื่อสารเขากับให้เข้าใจ 

 

 

ตลอดระยะเวลาครึ่งปีแรก ที่ต้องทนอยู่กับสภาพนั้น คุณรู้สึกท้อแท้หรือกดดันบ้างไหม ?

ไม่ท้อครับ แค่เซ็งกับกิริยาที่นักเตะบางคนทำ มีครั้งหนึ่งผมจ่ายบอลเสียระหว่างซ้อม เขาก็ด่าผมไม่หยุดเลย ผมเฟลมาก ทั้งที่เวลาเขาทำพลาด ผมไม่เคยตำหนิเขาด้วยซ้ำ จนเลิกซ้อม ผมเดินออกจากสนามเข้าห้องอาบน้ำคนเดียว ผมคุยกับตัวเองว่าทำไมเขาต้องด่าเราขนาดนี้ ? ผมไม่โอเคเลย 

แต่ใจหนึ่งก็บอกตัวเอง "ต้องสู้" เรามาถึงขนาดนี้แล้ว จะมาท้อไม่ได้ พอตั้งสติได้ ผมเดินออกจากห้องน้ำ และลืมเรื่องนั้นไปเลย ตั้งใจโฟกัสกับการฝึกซ้อมในวันต่อไป อยากพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า คนไทยก็มีดีนะ 

 

 

มาตรฐานการแข่งขันล่ะ ? ฟุตบอล J3 League เทียบกับลีกบ้านเราแล้ว อยู่ในระดับไหน 

ผมว่าระดับไม่ได้ต่างกับไทยลีก หรือไทยลีก 2 เลยนะ เป็นการแข่งขันที่สูสีมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นทีมประจำเมืองนั้น ๆ ไม่มีใครยอมใคร แม้แต่ทีมระดับมหาวิทยาลัย เจอ เอฟซี โตเกียว ยังแพ้ยากเลย เพราะรากฐานฟุตบอลญี่ปุ่นเขาแข็งแรงทุกระดับ ปลูกฝังให้ทุกคนกระหายชัยชนะ ไม่ว่าจะคุณจะเล่นให้สโมสรใด 

ยิ่งเป็นทีม U-23 เวลาเจอนักเตะคู่แข่งที่เป็นผู้ใหญ่ เขาก็เล่นเกมหนักใส่เราตลอด เพื่อขู่ ทำให้ผมได้กระดูกประสบการณ์เพิ่มขึ้น และซึมซับความรู้สึกกระหายอยากเป็นผู้ชนะ จากการเล่นใน J3 League 

 

 

ยากแค่ไหน กว่าจะเอาชนะใจโค้ชจนได้ลงสนาม แถมคุณไปก็ไม่มีล่ามช่วยสื่อสารด้วย

ยากมากครับ เพราะเราไปในฐานะนักเตะต่างชาติ หากไม่โดดเด่นจริง ยังไงเขาก็ต้องเลือกเด็กญี่ปุ่นก่อน เนื่องจากสื่อสารภาษาเดียวกัน สั่งอะไรไปก็เข้าใจ ดังนั้นผมต้องพยายามให้มากกว่าเดิมตลอด ก็ใช้เวลานานครับ กว่าจะปรับตัวและเอาชนะใจให้โค้ชได้

ลีกระดับ 3 ของญี่ปุ่น มีคนดูมากน้อยแค่ไหน ? 

คนดูเยอะอยู่นะครับ กองเชียร์ญี่ปุ่นน่ารักมาก ไม่เคยมีวันไหนเลยที่มาซ้อมโดยไม่มีแฟนบอลมาท้องถิ่นมานั่งดู เขาค่อนข้างมีความรักและผูกพันกับทีมมาก ต่อให้เป็นทีม U-23 เขาก็ยังซัพพอร์ท 

ยิ่งเขาเห็นผมเป็นคนไทย มาอยู่ที่นี่ตัวคนเดียว เขาก็ส่งข้อความมาทางไอจี คอยให้กำลังใจตลอด เจอที่สนามก็ซื้อของขวัญ, ทำตุ๊กตาที่เป็นตัวเรามาให้ ผมรู้สึกอบอุ่นใจ และไม่เดียวดาย เพราะแฟนบอล เอฟซี โตเกียว 

 

 

คุณลงสนาม 16 นัด ตัวจริง 7 เกม สำรอง 9 เกม ทำได้ 3 ประตู ส่วนตัวพอใจกับโอกาสและผลงานแค่ไหน ?

ผมทำเต็มที่สุดแล้ว ถ้ามองจากช่วงแรกที่ต้องใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างนาน มาถึงช่วงท้ายฤดูกาล โค้ชไว้ใจให้ลงเล่นสม่ำเสมอ ก็รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ดี และมันช่วยเปลี่ยนแปลงผมไปในทุกด้าน 

 

 

ถ้างั้นอยากให้บอกถึงที่สิ่งได้รับกลับมา จากการไปผจญภัย 1 ฤดูกาลในญี่ปุ่น แบบตัวคนเดียว

อย่างแรกผมได้เรียนรู้ศาสตร์ฟุตบอลใหม่ ในชาติที่มาตรฐานสูงกว่าเรา ซึ่งความรู้เหล่านั้นมันทำให้สามารถนำกลับมาพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็น การวิ่ง การเพรสซิ่ง, ส่งบอล, การจบสกอร์, ความเร็ว, การหาพื้นที่สำหรับทำประตู, การเข้าบอลที่ไม่เหยาะแหยะแบบเมื่อก่อน 

ทุกอย่างที่เขาสอน มันช่วยทำให้ผมเล่นฟุตบอลได้ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก รวมถึงร่างกาย ผมฟิตและแข็งแกร่งกว่าเดิม 

ที่สำคัญสุดคือ ทัศนคติ ผมเปลี่ยนมุมมองในการเล่นฟุตบอลไปโดยสิ้นเชิง เพราะคนญี่ปุ่นเขาจะมีวัฒนธรรมว่า "ถ้าคุณไม่ทำงานหนัก เขาก็ไม่ยอมรับ แต่หากคุณทำงานหนัก เขาก็ค่อย ๆ ยอมรับและร่วมมือกับเรา"  

ในตอนเด็ก ครอบครัวผมเคยไม่เป็นที่ยอมรับจากคนในหมู่บ้าน ตัวผมเคยถูกมองว่าคงเอาดีไม่ได้แน่ ๆ แต่ผมจะใช้การทำงานหนักในอาชีพนักเตะ เพื่อพิสูจน์ให้พวกเขาเหล่านั้นได้เห็นตัวผมที่แท้จริงเป็นอย่างไร 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook