มุซาชิ มิสุชิมะ : นักเตะผู้ถูกเรียกว่าต้นแบบ "โอโซระ สึบาสะ"

มุซาชิ มิสุชิมะ : นักเตะผู้ถูกเรียกว่าต้นแบบ "โอโซระ สึบาสะ"

มุซาชิ มิสุชิมะ : นักเตะผู้ถูกเรียกว่าต้นแบบ "โอโซระ สึบาสะ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยถึง กัปตันสึบาสะ เชื่อว่าสิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง คือ ท่าไม้ตายที่เวอร์วังอลังการ ซึ่งเป็นจุดขายของการ์ตูนเรื่องนี้ จนทำให้มันโด่งดังไปทั่วโลก

ในขณะเดียวกัน นอกจากท่าไม้ตายเหนือโลกแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี้ คือการนำคาแร็คเตอร์จากนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงจริง ๆ มาดัดแปลงเป็นตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ริคาร์โด เอสปาดา ที่มามาจาก ฮอร์เก คัมโปส หรือ ฮวน ดิอาซ ที่มีต้นแบบจาก ดิเอโก มาราโดนา 

อย่างไรก็ดี สำหรับ โอโซระ สึบาสะ ตัวเอกของเรื่อง กลับเป็นคำถามว่าเขามีต้นแบบมาจากใครกันแน่ ? โดยหนึ่งในทฤษฎีที่พูดถึงกันมากที่สุด คือผู้เล่นที่ชื่อว่า "มุซาชิ มิสุชิมะ" 

เขาคือใคร ? เหตุใดถึงถูกมองว่ามีความสำคัญจนเป็นต้นแบบตัวเอกของการ์ตูนที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ฟุตบอลญี่ปุ่น ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand 

มังงะที่ได้แรงบันดาลใจจากนักเตะจริง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในจุดเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่น คือการนำเรื่องจริงมาเป็นวัตถุดิบ ก่อนจะดัดแปลง เสริมแต่งเป็นเรื่องราวหรือตัวละครในเรื่อง ที่นอกจากความบันเทิง ยังทำให้ผู้อ่านสนุกไปกับการสืบย้อน และค้นหาที่มาของสิ่งเหล่านั้น 

แนวทางดังกล่าว ถูกใช้ในการ์ตูนหลายเรื่อง โดยสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง คือ ฉากหลัง การ์ตูนจำนวนไม่น้อย ใช้สถานที่จริงเป็นฉากของเรื่องราวในเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง "ทัช ยอดรักนักกีฬา" ที่มีสนามกีฬาเมจิจิงงุ เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญ 

เช่นเดียวกับ "กัปตันสึบาสะ" การ์ตูนเรื่องฮิตจากปลายปากกาของ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ที่แม้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ จะเต็มไปด้วยท่าไม้ตายที่เวอร์วังอลังการระดับวัวตายควายล้ม แต่ก็มีสิ่งหนึ่งอ้างอิงมาจากโลกจริง นั่นก็คือคาแร็คเตอร์ของนักเตะในเรื่อง 

Photo : AS

ด้วยความที่อาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ได้แรงบันดาลใจตั้งต้นในการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ จากการชมฟุตบอลโลก 1978 ที่อาร์เจนตินา ทำให้ตัวละครจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนักเตะต่างชาติ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากนักเตะที่มีตัวตนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ 

ไม่ว่าจะเป็น คาร์ล ไฮนซ์ ชไนเดอร์ ที่มาจาก คาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิกเก้ อดีตกองหน้าทีมชาติเยอรมันของ บาเยิร์น มิวนิค, จิโน เฮอร์นันเดซ ที่มีต้นแบบมาจาก ดิโน ซอฟฟ์ อดีตนายทวารจอมหนึบทีมชาติอิตาลี หรือ ซัลวาตอเร เจนติเล ที่มาจาก เคลาดิโอ เจนติเล อดีตกองหลังยูเวนตุส

เช่นเดียวกับ ริคาร์โด เอสปาดา ที่มาจาก ฮอร์เก คัมโปส ผู้รักษาประตูจอมสีสันของเม็กซิโก หรือ มาร์ค โอไวรัน ที่มาจาก ซาอีด อัล-โอไวรัน อดีตดาวยิงซาอุดีอาระเบีย รวมไปถึง ฮวน ดิอาซ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ดิเอโก มาราโดนา ยอดนักเตะหมายเลข 10 ของอาร์เจนตินา 

Photo : IGN Latinoamérica

"ดิเอโก มาราโดนา ทำสิ่งพิเศษให้ผมเห็นอยู่เสมอ เขามักจะทำสิ่งตรงข้ามกับที่เราคิดไว้ เขาทำให้ตกใจอยู่เสมอ สิ่งที่เขาตัดสินใจทำมักจะถูก เขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างเรื่องราว และอยู่เบื้องหลังคาแร็คเตอร์ของ ฮวน ดิอาซ" ทาคาฮาชิ ให้สัมภาษณ์กับ AS

อย่างไรก็ดี แม้ว่านักเตะต่างชาติจะพอสืบได้ไม่ยากว่ามีที่มาจากนักเตะคนไหน แต่สำหรับนักเตะญี่ปุ่น ดูจะเป็นปริศนาสำหรับผู้อ่าน เพราะสมัยที่กัปตันสึบาสะตีพิมพ์เป็นครั้งแรก (ปี 1981) ฟุตบอลไม่ใช่กีฬายอดนิยมของญี่ปุ่น แถมนักเตะเลือดอาทิตย์อุทัยที่สร้างชื่อในระดับโลก ก็แทบไม่มี  

โดยเฉพาะ โอโซระ สึบาสะ ตัวเอกของเรื่องที่เป็นคำถามว่าเขามีต้นแบบมาจากนักเตะในโลกจริงหรือไม่  

Photo : Captain Tsubasa Manga

เพราะเขาเป็นตัวละครที่มีคาแร็คเตอร์ค่อนข้างชัดเจนคนหนึ่งของเรื่อง เขาเป็นคนที่ชื่นชอบการเล่นฟุตบอลมาก และเชื่อว่า "ฟุตบอลคือเพื่อน" เขารักพวกพ้อง มีหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ และมีความทะเยอทะยานที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองอยู่เสมอ 

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้หลายคนเชื่อว่า สึบาสะ อาจจะเป็นตัวละครที่ไม่ได้อ้างอิงมาจากนักเตะคนไหน โดยเกิดขึ้นจากจินตนาการของอาจารย์ทาคาฮาชิ ล้วน ๆ 

อย่างไรก็ดี มีข้อบ่งชี้ที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า สึบาสะ อาจมีต้นแบบมาจากนักเตะคนหนึ่ง และชื่อของเขาก็คือ "มุซาชิ มิสุชิมะ" อดีตผู้เล่นชาวญี่ปุ่นที่ค้าแข้งอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 80s-90s

อะไรที่ทำให้หลายคนเชื่ออย่างนั้น ?  

 

ต้นแบบสึบาสะ

ชีวิตของมิสุชิมะ ดูเหมือนจะต่างจากเด็กญี่ปุ่นทั่วไปในยุคนั้น เพราะเขาผูกพันกับฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก แทนที่จะเป็นเบสบอล กีฬายอดนิยมของชาวอาทิตย์อุทัย เนื่องมาจากพ่อของเขาชื่นชอบในกีฬาชนิดนี้ จากการมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดชิสุโอกะ จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่า "บ้าบอล" ที่สุดในญี่ปุ่น  

เขาเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบ และมีฝีเท้าที่โดดเด่นเกินวัย ตอนอายุ 5 ขวบ เขาสามารถข้ามขั้นไปเล่นกับเด็ก ป.6 (12 ปี) ได้อย่างสบาย ตอนขึ้นชั้นประถม (7 ขวบ) มิสุชิมะ จึงถูกส่งไปเรียน ที่โรงเรียนประถมฟูจิเอดะ จังหวัดชิสุโอกะ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องฟุตบอล เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของเขา 

ในตอนนั้น เขาไปอาศัยอยู่กับ ฮิโรยูกิ อุสึอิ ที่ต่อมาได้เป็นนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น แต่เขาก็อยู่โรงเรียนฟูจิเอดะได้เพียงแค่ปีเดียว เพราะในปีต่อมา (1972) มิสุชิมะ ได้รับการแนะนำจาก ริวอิจิ ซุงิยามะ อดีตนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ให้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประถมชิมิสุสึจิ ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนประถมที่แข็งแกร่งด้านฟุตบอลที่สุดในญี่ปุ่น 

Photo : 90Min

"โรงเรียนประถมสึจิมีชมรมฟุตบอลที่อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศในรุ่นประถม แต่ถึงอย่างนั้น ว่ากันว่ามิสุชิมะ ที่อยู่ ป.3 ก็มีเทคนิคที่สามารถลงแข่งกับเด็กที่อายุมากกว่าได้อย่างสบาย" ฮิราบายาชิ โทชิฮิโกะ บรรยายไว้ในหนังสือ "มุซาชิ เด็กอายุ 17 ที่ออกไปท้าทายโลก" 

ฝีเท้าของเขาดูเหมือนจะพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยความที่พ่อของเขาหลงใหลในฟุตบอลบราซิลอยู่แล้ว บวกกับสมัยนั้นคนญี่ปุ่นนิยมส่งลูกไปเรียนต่างประเทศที่บราซิล ทำให้ในปี 1975 มิสุชิมะ ถูกส่งไปเรียนศาสตร์ด้านลูกหนังที่แดนแซมบ้าด้วยวัยเพียง 10 ปีเท่านั้น 

เขาได้เข้าไปอยู่ในทีมเยาวชนของ เซา เปาโล หนึ่งในสโมสรยักษ์ใหญ่ของบราซิล โดยพักอยู่กับชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เขาได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนท้องถิ่น จนได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของที่นั่นไปพร้อมกับการเล่นฟุตบอล 

Photo : livedoor Blog

ชีวิตที่บราซิล ดูเหมือนจะไปได้สวย เมื่อมิสุชิมะ ที่เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุกและกองหน้า ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในทีมเยาวชนของ เซา เปาโล หลังซัดประตูได้อย่างถล่มทลายจน คว้ารางวัลดาวซัลโวและผู้เล่นยอดเยี่ยม รวมไปถึงผู้เล่นจอมเทคนิค ในการแข่งขันรุ่นอายุต่ำกว่า 12 ปีหลายรายการ 

ผลงานดังกล่าวทำให้เขา ถูกเลื่อนขั้นไปเล่นในทีมรุ่นถัดไปอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ในปี 1978 เขาจะถูกดันขึ้นไปเล่นในรุ่น Juvenil (รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี) ทั้งที่เพิ่งอายุเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น และทำให้เขากลายเป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ของ เซา เปาโล ที่ได้ข้ามรุ่น และได้เป็นกัปตันของทีมรุ่นนั้นอีกด้วย 

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในแดนกาแฟมา 9 ปีเต็ม เดือนกันยายน 1984 สิ่งที่มิสุชิมะ รอคอยมาตลอดก็มาถึง เมื่อ เซา เปาโล ตัดสินใจมอบสัญญาอาชีพอย่างเป็นทางการ และเขาก็ไม่รอช้าจรดปากกาเซ็นมันทันที ซึ่งทำให้เขากลายเป็นนักเตะญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลบราซิล (ก่อน "คิง คาซู" คาสุโยชิ มิอุระ เซ็นกับ ซานโตส 2 ปี) 

ในขณะเดียวกัน การเซ็นสัญญาในครั้งนั้น ยังทำให้เขากลายเป็นชาวญี่ปุ่นคนที่ 3 ต่อจาก ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ อดีตกองกลาง โคโลญจน์ และ คาสุโอะ โอซากิ อดีตกองหน้า อาร์มิเนีย บีเลเฟลด์ ที่ได้เซ็นสัญญาเป็น "นักเตะอาชีพ" อีกด้วย

นอกจากนี้ การได้เซ็นสัญญาครั้งดังกล่าว ยังทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังในญี่ปุ่น ในฐานะนักเตะประวัติศาสตร์ และได้เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าอีกหลายรายการ

และที่สำคัญ มันทำให้เขาถูกมองว่าเป็นต้นแบบของ โอโซระ สึบาสะ 

 

เรื่องจริง | จินตนาการ

แม้จะไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากปากของอาจารย์ทาคาฮาชิ แต่แหล่งข้อมูลหลายแห่งระบุตรงกันว่า มิสุชิมะ คือนักเตะที่เป็นต้นแบบให้กับสึบาสะ หนึ่งในนั้นคือ Sponichi สื่อกีฬาชื่อดังของญี่ปุ่นที่พาดหัวพูดถึงมิสุชิมะว่า "ต้นแบบกัปตันสึบาสะ" ในข่าวที่เขารับตำแหน่งคุมทีมฟูจิเอดะ MYFC เมื่อปี 2014 

เหตุผลก็คือชีวิตของทั้งคู่มีส่วนที่คล้ายกันมาก เริ่มตั้งแต่การใช้ชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดชิสุโอกะ อย่างที่ทราบกันดี สึบาสะนั้นย้ายมาอยู่ที่เมืองนันคัตสึ (เมืองที่สมมติขึ้นมา) ในจังหวัดแห่งนี้ ตั้งแต่อายุยังน้อย ในขณะที่ มิสุชิมะ แม้จะเกิดที่โตเกียว แต่ก่อนจะไปบราซิล เขาก็ถูกพ่อส่งมาเรียนฟุตบอลที่จังหวัดชิสุโอกะแห่งนี้

พวกเขายังมีลักษณะที่คล้ายกันคือเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุก หรือกองหน้าเหมือนกัน (สึบาสะเคยเล่นเป็นกองหน้าในช่วงเวลาสั้น ๆ) และเป็นนักเตะที่มีฝีเท้าที่โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมรุ่นมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ 

Photo : サンスポ

ในขณะเดียวกัน ทั้งมิสุชิมะ และสึบาสะ ยังมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือความเกี่ยวข้องกับบราซิล และที่สำคัญพวกเขายังเกือบได้ไปเรียนศาสตร์ด้านลูกหนังที่ดินแดนกาแฟในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน 

เพราะแม้ว่าสึบาสะ จะได้ไปบราซิลตอนอายุ 15 (หลังจบ ม.ต้น) ต่างจากมิสุชิมะ ที่ไปอยู่ที่นั่นตอนอายุ 10 ขวบ แต่ตอนอายุ 12 ปี (จบชั้นประถม) สึบาสะเองก็เกือบได้ไปบราซิล ตามคำชวนของ โรแบร์โต ฮอนโง แต่สุดท้ายต้องผิดหวัง เมื่อโรแบร์โต ผิดสัญญา

แถมในความเป็นจริง ตามเส้นเรื่องที่อาจารย์ทาคาฮาชิวางไว้ สึบาสะ ควรได้ไปบราซิลตั้งแต่ตอนนั้น เพียงแต่ว่าความโด่งดังเป็นพลุแตกของ ฮิวงะ โคจิโร คู่แข่งของสึบาสะในระดับประถม ทำให้การไปบราซิลของเขาต้องเลื่อนออกไป 

Photo : QManga

"หลังจากศึกชิงแชมป์แห่งชาติมัธยม โรแบร์โตตั้งใจที่จะพาซึบาสะไปบราซิลด้วยกัน ผมได้ร่างคู่ต่อสู้ใหม่ที่บราซิลของเขาไว้แล้ว" ทาคาฮาชิอธิบาย Davinci News

"แต่ตอนที่เปิดตัวฮิวงะ โคจิโร ครั้งแรก เขากลายเป็นคู่ต่อสู้ที่ได้รับความนิยม เนื่องจากผมเองวาดเองก็สนุกเอง เลยอยากลองให้สึบาสะได้สู้กับพวกเขาอีกครั้ง ดังนั้นก็เลยมีแต่โรแบร์โตเท่านั้นที่กลับบราซิลไป"

และเมื่อเทียบไทม์ไลน์ระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการ์ตูน ยังพบว่าการไปบราซิลของมิสุชิมะ นั้นเกิดก่อน เพราะเขาไปบราซิลตั้งแต่ปี 1975 ในขณะที่ สึบาสะ เกือบได้ไปบราซิลครั้งแรกในตอน 49 ของกัปตันสึบาสะภาคแรก ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 1981 

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เชื่อว่า มิสุชิมะ เป็นต้นแบบของตัวเอกการ์ตูนฟุตบอลชื่อดังเรื่องนี้ คือการที่เขาเป็นนักเตะ เซา เปาโล เหมือนกับสึบาสะ

หลังจากพานันคัตสึ คว้าแชมป์ฟุตบอลระดับมัธยมต้น 3 ปีติดต่อกัน สึบาสะ ก็มุ่งหน้าสู่บราซิล และได้เข้าร่วมทีม เซา เปาโล เอฟซี ซึ่งเป็นอดีตทีมเก่าของโรแบร์โต อาจารย์ของเขา 

ซึ่งหากเทียบกับเรื่องจริงจะพบว่าการเซ็นสัญญาเป็นนักเตะ เซา เปาโล ของมิสุชิมะนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1984 ในขณะที่การได้เป็นนักเตะเซา เปาโล ของสึบาสะเพิ่งจะเกิดขึ้นในภาคเยาวชนโลก ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1994 หรือเกือบ 10 ปีหลังเหตุการณ์ของ มิสุชิมะ   

อย่างไรก็ดี น่าเศร้าเส้นทางต่อจากนั้นของพวกเขากลับต่างไปอย่างสิ้นเชิง 

 

ทางขนานของสองนักเตะ 

หลังจากทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในสีเสื้อของ เซา เปาโล และพาทีมชาติญี่ปุ่นคว้าแชมป์เยาวชนโลก สึบาสะ ก็ได้ย้ายไปค้าแข้งกับยอดทีมในลีกสเปนอย่างบาร์เซโลนา ที่รายล้อมไปด้วยนักเตะระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ริวัล (ริวัลโด้), ลุยคาล (พาทริค ไคล์เวิร์ต) หรือ โจเซฟ แกรนดิออส (เป๊ป กวาร์ดิโอลา) 

โดยเขาเพิ่งจะเบียดแย่งตำแหน่งในทีมชุดใหญ่ของบาร์ซามาได้ หลังโชว์ฟอร์มเด่นในทีมสำรอง และตอนนี้สึบาสะ กำลังพาทีมชาติญี่ปุ่น U23 ลงชิงชัยล่าเหรียญทอง (อันยาวนานที่ไม่รู้จะจบเมื่อไร) ในศึกมาดริด โอลิมปิก ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ 

ในขณะที่มิสุชิมะ กลับต่างออกไป เพราะแม้จะได้รับสัญญาอาชีพ แต่ เซา เปาโล ในตอนนั้นอุดมไปด้วยนักเตะชั้นยอด ทั้ง มุลเลอร์ กองหน้าทีมชาติบราซิลที่ได้เล่นฟุตบอลโลก 3 สมัย และคว้าแชมป์โลกในปี 1994 เปาโล ซิลาส นักเตะชุดฟุตบอลโลก 2 สมัย (1986 และ 1990) รวมไปถึงนักเตะทีมชาติบราซิลอีกมากมาย จนเขาไม่สามารถเบียดแย่งตำแหน่งในทีมชุดใหญ่ได้ 

Photo : Lance!

นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้น ลีกบราซิลยังจำกัดนักเตะต่างชาติ ที่อนุญาตให้ลงเล่นได้เพียงแค่ 1 คนต่อ 1 สโมสร โดย เซา เปาโล มี ดาริโอ เปย์เรรา กองหลังทีมชาติอุรุกวัย ที่จองตำแหน่งนั้นเอาไว้ ทำให้โอกาสลงสนามของ มิสุชิมะ ต้องกลายเป็นศูนย์  

ทำให้หลังใช้ชีวิตอยู่กับ เซา เปาโล 2 ปี เขาต้องย้ายไปอยู่กับอีกหลายสโมสรในลีกบราซิล ทั้งเซา เบนโต, โปรตุกีซา รวมไปถึงซานโตส อดีตทีมของ "คิง คาซู" 

ก่อนที่ในปี 1989 มิสุชิมะ จะกลับมาเล่นในลีกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก หลังย้ายมาร่วมทีม ฮิตาชิ เขาเล่นให้ทีมจากจังหวัดจิบะอยู่ 2 ปี และได้ย้ายไปเล่นให้กับออล นิปปอน แอร์เวย์ ที่ทำให้เขาได้เป็นสมาชิกยุคก่อตั้งของ โยโกฮามา ฟลูเกลส์ ในการเตรียมพร้อมลงบู๊ในเจลีก

น่าเสียดายที่เขาไม่ได้มีโอกาสได้สัมผัสเกมเจลีกแม้แต่เกมเดียว เพราะในฤดูกาล 1992 หรือเพียงปีเดียวก่อนเจลีกเปิดฉากอย่างเป็นทางการ มิสุชิมะ ก็จำใจต้องแขวนสตั๊ด หลังได้รับบาดเจ็บหนักจนเล่นต่อไม่ไหว ด้วยวัยเพียง 28 ปีเท่านั้น 

Photo : Zimbio

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเส้นทางชีวิตนักเตะอาชีพของ มิสุชิมะ จะไม่ได้เป็นไปอย่างใจหวัง หรือพูดได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกลีกบราซิล ที่ทำให้แข้งชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก พาเหรดกันไปฝึกฝนฝีเท้าในเวลาต่อมา 

และที่สำคัญที่สุดคือความกล้าหาญของเขาในฐานะนักเตะญี่ปุ่นชุดแรก ๆ ที่ออกไปท้าทายโลกตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งมันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังเอาชนะ "ความกลัว" ในการออกไปค้าแข้งต่างแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาวงการฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องจนทัดเทียมระดับโลก 

จึงไม่แปลกที่เพราะเหตุใด "ต้นแบบสึบาสะ" คนนี้ ยังคงได้รับการระลึกถึงจวบจนปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook