ไม่ได้เชียร์แต่ซื้อตั๋ว : วงจรสัมพันธ์ของ "เซียนมวย" กับ "นักชก" การพนันที่มีสองด้าน

ไม่ได้เชียร์แต่ซื้อตั๋ว : วงจรสัมพันธ์ของ "เซียนมวย" กับ "นักชก" การพนันที่มีสองด้าน

ไม่ได้เชียร์แต่ซื้อตั๋ว : วงจรสัมพันธ์ของ "เซียนมวย" กับ "นักชก" การพนันที่มีสองด้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"สนามกีฬา" ถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดทุนนิยมในวงการกีฬาอาชีพ เพื่อแสวงหารายได้ จากยอดจำหน่ายตั๋วเข้าชม 

แม้การเสียเงินเพื่อชมเกมในสนาม จะเป็นเพียงความบันเทิงแบบสิ้นเปลือง ไม่ได้มีความสลักสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่หลายคนก็ยอมจ่ายแลกมัน เพื่อพาตัวเองเข้าไปให้กำลังใจสโมสรรัก, นักกีฬาคนโปรด ไปจนถึงตัวแทนประเทศ ยามลงทำการแข่งขัน 

นี่คือภาพรวมของวงการกีฬาอาชีพทั่วไป ที่แฟนคลับและกองเชียร์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อขับเคลื่อนกลไกลนั้น ๆ ไปข้างหน้า 

แต่นั่นไม่ใช่กับ "มวยไทย 5 ยก" ในประเทศไทย ที่มีลักษณะการอยู่ร่วมกันของผู้ชม, สถานที่ และนักกีฬา แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

อลงกต เดือนคล้อย บรรณาธิการบทสัมภาษณ์ Main Stand ใช้เวลาร่วม 2 ปี ในการติดตามแวดวงกำปั้นบ้านเรา ผ่านการสังเกตแบบมีส่วนร่วม รวมถึงการสนทนาหน้าเวที กับบุคคลที่เรียกตัวเองว่า "เซียนมวย" จนได้ค้นพบวงจรความสัมพันธ์บางอย่าง ที่เราอาจไม่มีทางได้เห็นในกีฬาอาชีพที่ใดในโลก

มวยไทยเริ่มพนันมานานแค่ไหน 

ความจริงข้อหนึ่งที่อาจย้อนแย้งกับศีลธรรมทางสังคม แต่ไม่สามารถปฏิเสธมันได้ คือ ภายในสนามมวย สามารถเล่นพนันได้อย่างไม่ผิดกฏหมาย คล้ายกีฬาไก่ชน, วัวลาน, วัวชน (ที่ต้องมีใบอนุญาต หรือดำเนินการตามเงื่อนไข)  

ตามอธิบายของพุทธศาสนา "การพนัน" คือหนึ่งในหนทางสู่ความเสื่อม (อบายมุข) แต่อีกด้าน "การพนัน" ก็อยู่คู่กับมนุษย์ มาอย่างช้านานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีวิวัฒนาการพัฒนารูปแบบมาเรื่อย ๆ 


Photo : Lumpinee Boxing Stadium

จากอดีตที่เป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง, ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ก็เริ่มมุ่งหวังทรัพย์ กลายเป็นธุรกิจมากขึ้น ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

สำหรับการพนันในประเทศไทย ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากอินเดียและจีน อย่างในช่วงประมาณ พ.ศ. 1450 มีการเล่นพนันที่เรียกว่า "กำถั่ว" 

รวมถึงมีบันทึกลายลักษณ์อักษรจาก "มองสิเออร์ เดอ ลาลูแบร์" (Monsieur De La Loubere) เอกอัครราชทูตพิเศษฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ใน พ.ศ. 2230 ได้ระบุทำนองว่า "ชาวสยามค่อนข้างรักเล่นการพนัน ถึงขั้นยอมสิ้นเนื้อประดาตัว"

เช่นเดียวกัน การพนันกับมวยไทย เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมานาน เนื่องจากคนไทย มีความชื่นชอบการเดิมพันขันต่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีการแข่งขันที่หาผลแพ้ชนะ ด้วยชั้นเชิงการต่อสู้ ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก ก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้รู้สึกอยากพนัน

มีการสันนิษฐานว่า การพนันในมวยไทย น่าจะมีมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ ทรงโปรดมวยไทยมาก มีการจัดชกระหว่างหมู่บ้านเพื่อความสนุกสนาน และมีการเดิมพันด้วยว่าใครจะเป็นผู้ชนะ 

แต่ในโบราณกาล การพนันนั้น มีขึ้นเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเชียร์ ยังไม่ได้เป็นการพนันอย่างเช่นปัจจุบัน กระทั่งในยุคหลัง เมื่อประมาณ ราว ๆ 60-70 ปีก่อน "มวยไทย" มีการพัฒนารูปแบบให้เป็น กีฬาอาชีพ มากขึ้น มีการกำหนดกฏ กติกา ระบบระเบียบต่าง ๆ  รวมถึงการสร้างสนามแข่งขันแบบ เวทีมาตรฐาน ขึ้นมา เพื่อเก็บตั๋วเข้าชม เป็นรายได้สำหรับสนาม (เก็บค่าเช่า) และผู้จัดมวย (โปรโมเตอร์) 

 

ตั๋วมวยไทยใครคนซื้อ

"สมัยก่อนเมื่อ 50 ปีก่อน ผมว่าเข้ามาดูมวย มีมากกว่าคนเข้ามาเล่น (พนัน) มวยนะ คนพวกนี้เขาอยากดูนักชกในดวงใจ มาถึงสนามกันตั้งแต่บ่ายสาม เอากับข้าวมานั่งกินรอ เพราะกลัวที่นั่งเต็มเข้าเวทีไม่ได้ ส่วนคนที่เล่นการพนัน มีน้อยมาก"

วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ หรือ "เสี่ยเน้า" อดีตโปรโมเตอร์ชื่อดัง ผู้คร่ำหวอดอยู่วงการมวยไทย มากว่า 60 ปี ขยายภาพวงการมวยไทยในอดีต ผ่านรายการ Yindeeman Talk  


Photo : Petchyindee MuayThai

เขาชี้ว่า ผู้ชมส่วนใหญ่ตอนนั้น คือ คนที่ชื่นชอบศิลปะแม่ไม้มวยไทย, อยากติดตามนักกีฬาขวัญใจของตน หรือต้องการสัมผัสประสบการณ์บรรยากาศ จึงยอมเสียเงินซื้อตั๋วเข้าชม 

ประกอบกับบริบทของยุคสมัย ในอดีตเมื่อ 50 ปีที่แล้ว "มวยไทย" แทบจะเป็นกีฬาอาชีพเดียวในไทย ที่เป็นรูปธรรมและได้รับความนิยม สนใจจากประชาชน เพราะกีฬาอื่น ๆ อย่าง ฟุตบอล, วอลเลย์บอล ยังไม่ได้มีโครงสร้างลีกอาชีพ เหมือนกับมวยไทย ที่มีเวทีมาตรฐานทั่วกรุงเทพและปริมณฑล รองรับผู้ชม รวมถึงเวทีมวยขนาดใหญ่ตามภูมิภาคต่าง ๆ สำหรับผู้ชมในต่างจังหวัด เปรียบดั่งปราการด่านแรก ในการคัดกรอง มวยดาวรุ่งเข้าสู่เมืองกรุง 

เหตุผลที่คนอยากซื้อตั๋วดู มวยไทยอาชีพในตอนนั้น จึงไม่ได้แตกต่างกับ คนที่เสียเงินซื้อตั๋วดู มวยสากลอาชีพในปัจจุบัน 

เสี่ยเน้า อธิบายต่อว่า จุดเปลี่ยนทำให้การพนัน และเซียนมวย เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เกิดจากช่วงรอยต่อเมื่อสัก 30-40 ปีก่อน บรรดานักมวยระดับแม่เหล็กยอดฝีมือยุคเก่าหลายรายเลิกชกไป ทำให้ไม่มีดาวดังจำนวนมาก ขึ้นมาทดแทน หรือดึงดูดผู้ชมได้เหมือนอดีต

ด้วยความที่ การพนันมวยในเวทีมาตรฐาน และเวทีชั่วคราวที่ได้รับอนุญาต สามารถเล่นการพนันได้อย่างไม่ขัดต่อกฏหมาย จึงทำให้คนที่ชื่นชอบในการแสวงโชค (เสี่ยเน้า อธิบายว่าคนเล่นมวย เดิมทีก็เล่นพนันชนิดอื่นด้วย) ต่างพากันเข้าสนามมวย ยอมเสียเงินซื้อบัตรเข้าชม เพื่อแลกกับการจับจองพื้นที่สำหรับการเดิมพันบนล็อก บางคนเล่นจนยึดเป็นอาชีพ ซึ่งผู้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า "เซียนมวย" 


Photo : Lumpinee Boxing Stadium

ยิ่งในยุคต่อมา ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในสนามมวยเป็นข่าวคราว ประกอบกับการเริ่มมีถ่ายทอดสดทางทีวีมากขึ้น มีกีฬาอาชีพชนิดอื่น มาเริ่มแย่งความสนใจ และวงการมวยไทย ก็ขาด ซูเปอร์สตาร์ ที่จะเรียกความนิยมเหมือนอดีต

ทำให้ คนที่ชอบมวยไทยแต่ไม่ได้เล่นพนัน ไม่ได้โหยหาที่จะเดินทางไปซื้อตั๋วเข้าเกมติดขอบเวที ยกเว้นมีรายการใหญ่ บรรยากาศผู้ชมก็อาจแน่นสนาม 

"เซียนมวย" จึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสนามมวย ถือเป็นลูกค้าประจำของโปรโมเตอร์ผู้จัด ที่อย่างน้อยพออุ่นใจได้ว่า ไม่ว่ากระแสจะซบเซาหรือคึกคัก ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่ง การันตีซื้อตั๋วเข้าสนามแน่ ๆ แม้เหตุผลที่เขายอมจ่ายเงิน อาจไม่ได้เหมือนคนที่ซื้อตั๋วเข้าชมกีฬาทั่วไป 

 

วงจรสัมพันธ์ 

เมื่อรายได้จากการเก็บค่าตั๋วเข้าชมไม่ได้อู้ฟู่มากนัก ส่งผลให้ โปรโมเตอร์ส่วนมาก ประสบภาวะขาดทุนอยู่เสมอ (ตั้งแต่ก่อนวิกฤติ COVID-19) ผลกระทบจึงตกมาถึง นักมวย ที่ได้ค่าตอบแทนในการชกแต่ละไฟต์ ไม่สูงมากนัก ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น 


Photo : Rajadamnern Stadium เวทีราชดำเนิน

ค่าตัวของนักมวยไทยอาชีพ ยุคนี้จึงไม่ได้หนีไปจากอดีตมากนัก อยู่ที่ประมาณหลักพันต้น ๆ - หลักหมื่นปลาย ๆ มีเพียงไม่มีกี่คนเท่านั้นที่ได้รับ ค่าตัวหลักแสน ดังนั้น หนทางเดียวที่นักมวยจะมีรายได้เพิ่มจากค่าตัว คือ "ชกให้ดีที่สุด, พลิกสถานการณ์ชนะ" เพื่อคว้าเงินก้อนพิเศษจากเซียนมวย หรือเงินรางวัลพิเศษจากผู้จัดการแข่งขัน เช่น เตะก้านคอ, ศอกกลับ, เข่าลอย เอาชนะน็อกคู่ต่อสู้ 

"ผมเป็นเซียนมวย และทำอาชีพมวยหู (บริการพากย์มวยสดจากขอบเวทีแก่สมาชิก) ส่วนใหญ่เวลาเข้าสนาม ผมจะมีนักมวยที่ชอบในใจ แค่ 1-2 คนเท่านั้น จากโปรแกรม 10 คู่ ที่เหลือผมจะเลือกพนัน ดูจากบรรยากาศในสนามและเกมการชกบนเวที" 

"ถ้าเป็นมวยทั่วไป ผมจะไม่ได้ปักใจว่า ต้องแทงตัวนี้เท่านั้น ห้ามเปลี่ยน บางทีสถานการณ์ดูท่าไม่ดี เราก็ต้องหันมาแต่งตัวบังทุนอีกฝั่ง ยกเว้นนักมวยที่เราให้การสนับสนุน ใช้สีเสื้อ 'หนุ่มบางกระดี่' ก่อนชกเรามีอัดฉีดให้น้องไปก่อน 1-2 หมื่นบาท ระหว่างชกเราก็ต้องวางเดิมพันข้าง เด็กที่เราให้การสนับสนุน อะไรอย่างนี้"

"สำหรับผม นักมวย ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อเซียนมวย เพราะเขายอมเจ็บตัว เพื่อให้เราได้เสีย บางครั้งถ้าสถานการณ์มวยที่เราพนันไป ตกเป็นรอง เราก็ต้องมีฉีดยา เพื่อให้เขาฮึดกลับมาชนะ เราก็ได้เงินพนัน ส่วนนักมวยก็ได้เงินเพิ่มเติมจากเรา นอกเหนือจากค่าตัว" ศรัณวุฒิ ธีระสูตร์ หรือ "หนุ่ม บางกระดี่" เซียนมวยชื่อดัง เปิดเผยผ่าน Main Stand 


Photo : Rajadamnern Stadium เวทีราชดำเนิน

สอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้เขียน ที่เคยพูดคุยกับ เซียนมวยคนหนึ่ง บริเวณหน้าเวทีราชดำเนิน ก่อนเวลาแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น ด้านในกระเป๋าสะพายของเขา บรรจุแบงค์พันจำนวนมากอยู่ในนั้น จนกระเป๋าหนาอย่างเห็นได้ชัด

เซียนมวยท่านนั้นเล่าให้เราฟังว่า เขาเป็นเซียนมวยจากภาคใต้ ขึ้นมาเล่นมวยในเมืองกรุง แต่วันนี้ตนไม่ได้มีมวยชอบในดวงใจเลย แผนการวันนี้คือ เขาจะสังเกตดูว่าเซียนขาใหญ่ในเวที ออกตัวใคร จึงค่อยตาม หรือเลือกลงทุนตามสถานการณ์ราคาต่อรองบนล็อก เขาไม่ได้ลงทุนเพราะเป็นแฟนคลับใคร แต่เลือกจากนักชกที่มีโอกาสคว้าชัย 

เนื่องจาก มวยไทย ส่วนมากไม่ได้ให้คะแนนตามยกชัดเจน (ยกเว้นนัดชิงแชมป์) เหมือนคิกบอกซิ่ง หรือมวยสากล แต่ตัดสินโดยดูจาก "ทรงมวย" ใครออกอาการมากกว่ากัน ก็มีสิทธิ์แพ้ จังหวะถอยมีโต้คืนไหม เข้าเป้าหรือไม่ จังหวะรุก รุกแล้วทำได้ดีแค่ไหน  ? บางครั้งมวยที่สภาพร่อแร่ใน 3 ยกแรก แต่มาทำได้ดีในยก 4-5 ก็มีสิทธิ์พลิกชนะได้ 

บางสถานการณ์ นักมวยทำท่าจะแย่แล้ว ราคาต่อรองบนล็อกไหลไปไกล พอพี่เลี้ยงบอกว่า มีฉีดยาหลายหมื่นบาทถึงหลักแสนจากเซียน ก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้นักชกฮึด จนคว้าชัยชนะ และได้เงินส่วนนี้จากเหล่าเซียนมวยมาเป็นรายได้อีกทาง

 

ทุกอย่างมีสองด้าน 

บางคนอาจรู้สึกว่า เซียนมวย เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาเพื่อหวังประโยชน์ ไปจนถึงมีความรู้สึกด้านลบแก่พวกเขา 

แต่ในทางหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า พวกเขาเหล่านี้ คือ บุคคลที่ยังคงซัพพอร์ทวงการมวยไทยอาชีพให้อยู่ได้ ผ่านการซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขัน ในยุคที่คนไทยทั่วไป ไม่ได้อยากเสียเงินซื้อตั๋วเข้าสนามอีกแล้ว 

ยิ่งสถานการณ์ช่วงหลัง COVID-19 สนามมวยไม่ได้สามารถรองรับความจุผู้ชมได้เท่าเดิม นั่นทำให้โปรโมเตอร์ผู้จัด จึงต้องขยับค่าตั๋วขึ้นมา เพื่อชดเชย และทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด 


Photo : Rajadamnern Stadium เวทีราชดำเนิน

บางศึกมีค่าตั๋วสูงถึง 1,000 บาทต่อ 1 นัด (1 นัด อาจมี 5-10 คู่ แล้วแต่ผู้จัด) แน่นอน คนที่มีกำลังจ่ายเงินเพื่อเข้าสนามได้ ในภาวะเศรษฐกิจและบริบทตอนนี้ ส่วนใหญ่ก็คือ เซียนมวย ซึ่งถ้าไม่มีคนเหล่านี้ บางทีโปรโมเตอร์ก็อาจอยู่ลำบากกว่าเดิม 

แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน สองมุม การมีอยู่ "เซียนมวย" บางครั้งส่งผลกระทบต่อ มวยไทยอาชีพ เช่นกัน อย่างเรื่องการตัดสินใจของกรรมการ ในเวทีเสียงเชียร์ และราคาต่อรอง อาจมีผลต่อการให้คะแนนของกรรมการ และเกมการชกของ นักมวย

ยกตัวอย่าง ฝ่ายแดง กับฝ่ายน้ำเงิน ชิงจังหวะออกแข้งทีต่อที ถ้าฝ่ายแดง มีเซียนคุมหน้าเสื่อ ใช้ตัวเงินทำให้ราคาฝั่งตัวเองแข็ง เมื่อไหร่ก็ตามที่ นักมวยมุมแดง ออกอาวุธ ราคาพร้อมที่จะวิ่งเป็นต่อทันที ตรงข้ามกับ น้ำเงิน ถ้าไม่มีหน้าเสื่อ มีเซียนขาใหญ่คอยดันสู้ บางทีเตะไปแล้ว ราคาต่อรองไม่มา ก็มี 

จากสถานการณ์ที่น่าจะสูสี ก็อาจบีบให้ ฝ่ายน้ำเงิน ต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าหา ผิดจากแผนที่วางไว้ เพราะราคาบนล็อกเป็นรอง ทั้งที่ยังไม่มีใครรู้ว่า กรรมการ ให้คะแนนอย่างไร ? แต่ราคา สภาพแวดล้อม เป็นใจให้ฝั่งแดง โดยเฉพาะยก 5 ในคู่มวยที่สูสี หากฝ่ายไหนเป็นมวยเดินเข้าหาก่อน ก็มักถูกมองว่า "เป็นตัวแพ้" เลยต้องมาเดินแบบนี้ก็มี 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หลาย ๆ ไฟต์ พอเข้าสู่ยกที่ 5 นักมวยจึงไม่ออกอาวุธใส่กัน ต่างฝ่ายต่างถอยมาคุมรูปมวย ออกมาเต้นอยู่ที่มุมตัวเอง ไม่กล้าเดิน เพราะกลัวไปพลาดท่า อาจถึงขั้นแพ้ได้เลย ต่อให้ทำมาดี 4 ยก ถ้าไปพลาดท่าจังหวะเดียวในยก 5 มีสิทธิ์ถึงพ่ายได้


Photo : Lumpinee Boxing Stadium

พอการพนัน เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในมวยไทย ย่อมส่งผลให้ผู้ชมทั่วไป รู้สึกว่าดู มวยไทย สนุกน้อยลง เพราะคนในสนาม ไม่มีใครอยากแพ้ หรืออยากเสียเงินพนันขันต่อ หากพี่เลี้ยงสั่งให้ถอย นักชกก็จำเป็นต้องถอย แม้บางคนอยากจะเดินบวกก็ตาม 

แต่หน้าที่ของนักมวย คือ เชื่อฟังพี่เลี้ยง หรือดูจากสภาพแวดล้อม แทนที่จะมองกันที่อาวุธ ด้วยสภาวะที่กดดันเช่นนี้ ส่งผลให้ นักมวย ไม่เป็นตัวของตัวเอง 

ถึงกระนั้น การมีอยู่ของ เซียนมวย อาจไม่ใช่ปัญหาของ มวยไทยอาชีพ ทั้งหมด เพราะในทางหนึ่ง พวกเขาคือ audience ที่มีสำคัญต่อโครงสร้างมวยไทยบ้านเรา 

หากปราศจากผู้ชมทั่วไป และไม่มีกลุ่มคนเข้ามาเล่นพนันขันต่อในเวที ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ตอนนี้วงการมวยไทยจะเป็นอย่างไร 

แต่ปัญหาอาจอยู่ตรงที่ว่า ทำอย่างไร คนทั่วไป, คนรุ่นใหม่ ถึงจะสามารถเชื่อมต่อกับ ศิลปะประจำชาติไทย มีการรับรู้ที่ดี และอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกีฬาอาชีพชนิดนี้ เหมือนยุคอดีต ที่คนซื้อตั๋วดูมวยส่วนใหญ่ คือ ผู้ชมจริง ๆ ที่ไม่ใช่เซียน และต่อยอดให้กีฬานี้ไปสู่ระดับสากล 

นั่นคือโจทย์ที่ยากกว่า และไม่รู้ด้วยว่าคำตอบนี้จะถูกแก้ได้เมื่อไหร่ ? 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook