กว่าจะเป็น "ฟาบริซิโอ โรมาโน" ราชาข่าวซื้อขายนักเตะ "Tier 1" ขวัญใจมหาชน

กว่าจะเป็น "ฟาบริซิโอ โรมาโน" ราชาข่าวซื้อขายนักเตะ "Tier 1" ขวัญใจมหาชน

กว่าจะเป็น "ฟาบริซิโอ โรมาโน" ราชาข่าวซื้อขายนักเตะ "Tier 1" ขวัญใจมหาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"Tier 1" คำนี้เริ่มจะได้ยินกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแวดวงข่าวสารการซื้อขายตัวนักเตะในวงการฟุตบอล ซึ่งคำนี้จะถูกใช้แทนเลเวลความน่าเชื่อถือของนักข่าวในการนำเสนอของพวกเขา

และหนึ่งใน Tier 1 ที่กลายเป็นเจ้าพ่อข่าวซื้อขายตัวฉกาจ ณ เวลานี้ ที่อาจเรียกว่าเป็น "Top of the Tier" หรือตัวพ่อคงไม่ผิดนัก หนีไม่พ้น ฟาบริซิโอ โรมาโน ... ที่ปรากฎชื่อเขามากกว่านักฟุตบอลด้วยซ้ำไป 

เขาเป็นใครมาจากไหน และการทำข่าวแบบที่ว่ากันว่า "วงใน" แท้จริงแล้วมัน "วงใน" จริงหรือ ? ติดตามได้ที่นี่

ยุคสมัยของวงใน

ก่อนจะรู้จัก ฟาบริซิโอ โรมาโน เราควรรู้จักโลกของการขายข่าวซื้อขายในวงการฟุตบอลก่อน เพราะในส่วนนี้มีผลอย่างมากที่ให้นักข่าวอย่าง โรมาโน ได้กลายเป็นคนเบื้องหน้าที่คนทั้งโลกพร้อมใจกดติดตามโดยไม่อาจเลี่ยงได้ 


Photo : www.skysports.com

ย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน วัฒนธรรมการเสพข่าวซื้อขายในฟุตบอลนั้นไม่ได้เหมือนกับทุกวันนี้ ในแง่ของความตื่นเต้นและความน่าสนใจคงไม่หนีกันนัก แต่สิ่งที่แตกต่างมาก ๆ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคนี้คือ นี่คือยุคสมัยแห่ง “วงใน” อย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ สู่ข่าวบนหน้าเว็บไซต์ ทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้มีกฎเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง หนังสือพิมพ์ต้องรอรอบเวลาตีพิมพ์ ขณะที่เว็บไซต์นั้นแม้จะเร็วขึ้น แต่การเขียนข่าวแบบเต็ม ๆ ตามรูปแบบการเขียนที่ถูกต้องนั้นก็เสียเวลาเกินกว่าจะอัพเดทแต่ละดีลได้แบบนาทีต่อนาที กฎของเวลาเหล่านี้ทำให้กว่าจะได้อ่านข่าว Official สักข่าวนั้น เป็นอะไรที่ต้องรอกันจนแทบหมดความอดทนเลยทีเดียว

ทว่าหลังจากเข้าสู่ช่วงหลังยุคปี 2010 เป็นต้นมา สื่อในรูปแบบของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอมากขึ้น เราจะได้ติดตามข่าวอัพเดทการซื้อขายแบบถี่ขึ้น เนื่องจากเนื้อหาที่ลงในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ของสำนักข่าวดังที่ลงมาใช้งานแพลตฟอร์มนี้เองสามารถนำเสนอได้รวดเร็ว ไม่ต้องอิงตามกฎการเขียนข่าวที่ยุ่งยากประกอบด้วย พาดหัว, โปรย, บทสัมภาษณ์ และปิดท้ายด้วยสรุป เปลี่ยนเป็นข้อความสั้น ๆ แต่ได้ใจความ 

จากข่าว 4-5 พารากราฟ ถูกตอนลงเหลือไม่กี่ประโยค นั่นทำให้กรอบของเวลาและความยุ่งยากหายไป ทว่าถึงอย่างนั้นก็ยังมีความยุ่งยากบางจุดที่ซ่อนอยู่ เพราะอย่าลืมว่ายูสเซอร์ใน เฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ ของแต่สำนักข่าวนั้นมีความเป็นทางการ ทุกข่าวที่นำเสนอแม้จะใช้เวลาในการเขียนน้อยลง แต่การคัดกรองในกองบรรณาธิการนั้น ทำให้อาจจะมีข่าวบางข่าว เรื่องบางเรื่องล่าช้ากว่าความเป็นจริง และในยุคที่โลกเชื่อมต่อกันหมด ความล่าช้าเพียงไม่กี่นาทีอาจหมายถึงการ "ล้าหลังและเสียโอกาส" ดังนั้นสิ่งที่เข้ามาแก้ปัญหาจุดนี้ คือกลุ่มนักข่าวของสำนักข่าวแถวหน้า ตัดสินใจออกมาเปิดยูสเซอร์ของตัวเองที่พวกเขาจะสามารถโพสต์อะไรก็ได้ ไม่มีใครห้าม

จะข่าวจริง ข่าวปลอม ข่าวลือ หรือข่าวที่อ้างว่ามาจากวงใน นั่นคือสิ่งที่กลุ่มนักข่าวที่แยกตัวบินเดี่ยวเหล่านี้พร้อมนำเสนอ ... และหลังจากนั้นคอฟุตบอลก็แทบไม่ต้องติดตามเว็บไซต์ข่าวสารหรือหนังสือพิมพ์อีกเลย เพราะหากต้องการตอบโจทย์เรื่องความเร็วและระยะเวลาที่สั้น กระชับ แล้ว ข่าวจากลุ่มนักข่าวที่ถูกเรียกว่า "วงใน" เหล่านี้นี่แหละที่สามารถอัพเดททุกความเคลื่อนไหวได้แบบไม่ตกหล่น 


Photo : www.skysports.com

ภาพรวมของการขายข่าวฟุตบอลก็เป็นตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่โลกมันยังไม่พอใจแค่นั้น หลังจากผ่านเข้าสู่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เหล่ากูรูวงในชักจะเยอะแยะเต็มไปหมด บางคนรู้จริง บางคนก็แค่ปั่นกระแส นั่นทำให้ข่าวที่เน้นเรื่องความเร็วแข่งกัน เริ่มจะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือที่ลดน้อยถอยลงไป 

ดังนั้นกูรูฟุตบอลอย่าง กิลเยม บาลาเก หรือแม้กระทั่ง จานลูกา ดิ มาร์ซิโอ ที่เน้นนำเสนอเรื่องราวในเชิง "ข่าวลือจากวงใน" เริ่มหมดความนิยมลงไป เพราะถึงแม้กูรูอย่างพวกเขาจะเสนอข่าวแทบจะทุกวัน วันละหลาย ๆ โพสต์ แต่ในแง่ของความแม่นยำนั้น ส่วนใหญ่ยังมีความผิดพลาดให้เห็น 

"บาลาเก คือกูรูตลาดซื้อขายก็จริง แต่การรายงานของบาลาเก ยังคงเป็นสไตล์กอสซิปคุยข่าวซื้อขายในสไตล์บันเทิงมากกว่า ขณะที่ ดิ มาร์ซิโอ ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานร่วมกับ โรมาโน ก็ถูกจับตามองโดยแฟนบอล แต่ตลาดรอบซัมเมอร์ 2019 เขารายงานข่าวผิดหลายดีล ความน่าเชื่อถือเลยลดน้อยลง" แนท - ณรินทร์ภัทร บุณยวีรพันธ์ เจ้าของเพจ "ดูบอลกับแนท" เพจเกี่ยวกับข่าวสารและเรื่องราวของทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ผู้ติดตามข่าวจากซื้อขายจากกูรูต่างประเทศมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่เริ่มเทรนด์กูรู กล่าว 


Photo : @FabrizioRomano

ดังนั้นในยุคปัจจุบัน จึงมีการเริ่มจัดอันดับความน่าเชื่อถือของกลุ่มนักข่าวด้วยกันขึ้นมาในกลุ่มนักอ่านข่าวสารฟุตบอลที่เป็นยูสเซอร์ใน Reddit เป็นเลเวลความน่าเชื่อถือ ใครที่น่าเชื่อถือมาก ๆ ก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็น Tier 1 จากนั้นก็ลดหลั่นลงมาเป็น Tier 2, 3 ตามลำดับนั่นเอง

ช่วงเวลาที่เทรนด์การติดตามข่าวสารเปลี่ยน ก็เป็นโอกาสที่ ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวชาวอิตาลี สังกัด The Guardian สื่อดังของอังกฤษ สร้างชื่อขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว โดยสไตล์ของเขานั้นแตกต่างจากคนอื่น ๆ อย่างชัดเจน และความแตกต่างที่ว่านั้นคือ ...

 

ยุคของ โรมาโน 

ชื่อของ โรมาโน ปรากฎชัด ๆ ก็ในช่วงปี 2019 นักข่าวชาวอิตาเลียนมีจุดเด่นตรงการนำเสนอข่าวที่มาก่อนเวลา และมักจะลงท้ายด้วยความแม่นยำเป็นประจำ โดยในตลาดซื้อขายปี 2019 นั่นเองที่เขาเริ่มปล่อยของที่เขามี และทำให้ทุกคนรู้ว่า "วงใน" เป็นยังไง


Photo : www.iamnaples.it

วิธีการทำงานของ โรมาโน นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเขารอข่าวแจกจากสโมสรโดยตรง แต่ว่ากันว่าเขามีสายข่าวที่เกี่ยวข้องกับตลาดซื้อขายนักเตะมากจนนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเอเย่นต์ พนักงานสโมสร โรงแรมที่ผูกสัญญากับสโมสรต่าง ๆ ในการเข้าพัก หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่สนามบินเลยก็มี เขาเริ่มการเป็นวงในด้วยมิตรภาพ และนั่นทำให้เขาได้มาซึ่งข่าวสำคัญที่นักข่าวหลายคนไม่ได้ 

"โรมาโน รู้จักกับเพื่อนผู้สื่อข่าวหลายคน เช่นเดียวกับเอเยนต์ ผู้อำนวยการกีฬา ผู้อำนวยการเทคนิค ประธานสโมสรของหลายทีม จุดสำคัญคือโรมาโนรู้วิธีในการ 'เข้าหาคน' เขาเริ่มที่จะทำความรู้จักกับบุคคลเหล่านั้น แทนที่จะไปถามหาข่าวเลยตั้งแต่แรก แต่ทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกวางใจ และเริ่มที่จะให้ความสนิทกับเขามากขึ้น" ณรินทร์ภัทร ว่าต่อ 

ด้าน 90min.com บอกว่าก่อนจะมีชื่อเสียงโด่งดังนั้น โรมาโน นั้นพยายามในการนำเสนอข่าวเจาะและการวิเคราะห์ของตัวเองเป็นอย่างมาก เขารับสายโทรศัพท์และโทรออกมากกว่า 50 ครั้งต่อวัน หมดกับการติดต่อสายข่าว โรงแรมดังในกรณีที่นักเตะย้ายมาเซ็นสัญญากับต้นสังกัดใหม่เข้าพักหรือแม้กระทั่งการโทรถามข้อมูลจากสำนักงานใหญ่ของแต่ละสโมสรด้วยตนเอง ในกรณีที่มีเอเย่นต์ของนักเตะ หรือ บอร์ดบริหารปรากฎตัวแบบเร่งด่วน  นั่นคือการทำงานของโรมาโน ที่ต้องอาศัยความพยายามมาก เพราะการสื่อสารกับคนเป็นร้อยคนในวันเดียวนั้นเป็นอะไรที่น่าปวดหัวสุด ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ โรมาโน ได้ข่าวที่เขาต้องการมาแล้ว เขาจะต้องไล่กรองแล้วกรองอีกจนกว่าจะชัวร์จริง ๆ จึงจะใช้คำว่า "Here We Go" ซึ่งเป็นวลีเฉพาะตัวของเขาที่ใช้แทนคำว่า "ย้ายแน่นอน รอรับได้เลย" 


Photo : strettynews.com

“การรายงานของโรมาโน อยู่บนหลักความจริง และเมื่อเขาบอกว่า Here We Go แล้ว ก็ไม่เคยพลาดเลย อย่างที่แฟนบอลหลาย ๆ ท่านทราบกัน" ณรินทร์ภัทรอธิบาย

"ชีวิตที่วุ่นวาย" คือคำจำกัดความของอาชีพนักข่าววงในของเขา แต่ดูเหมือน โรมาโน จะหลงรักชีวิตที่วุ่นวายนั้น เขาไม่เคยหยุดหาข่าวเลยแม้ตลาดซื้อขายจะปิดตัวลง ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2019 ซึ่งเป็นตลาดหน้าหนาวที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นการปล่อยของของ โรมาโน อย่างแท้จริง 

Bleacher Report เคยทำเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของ โรมาโน ว่าที่ทำงานของเขาคือที่ไหนก็ได้บนโลก ขอแค่มีโทรศัพท์หนึ่งเครื่องเท่านั้น เขาจะออกไปเจอผู้คนทุกวัน 

และเมื่อชื่อเสียงมีมากขึ้น เขาก็เริ่มรู้จักคนที่มีความสำคัญต่อดีลต่าง ๆ ซึ่งส่งผลทำให้เขาได้รับข่าวที่มีมูลความจริงมากกว่าคนอื่น

เขาคือนักข่าวคนแรกที่ยืนยันการย้ายตัวของ คริสเตียน เอริคเซ่น จาก ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ และ แอชลี่ย์ ยัง จาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะย้ายไป อินเตอร์ มิลาน แบบแพ็คคู่ เช่นเดียวกับในดีลของ เปเป้ เรน่า และ เกดสัน เฟร์นันเดส ที่ย้ายมาค้าแข้งในอังกฤษกับ แอสตัน วิลล่า และ สเปอร์ส ตามลำดับ 

นอกจากข่าวซื้อขายที่อยู่ในช่วงของเวลาตลาดแล้ว โรมาโน ยังทำงานหนักในช่วงที่ฟุตบอลแข่งหรือช่วงตลาดปิดด้วย ผลงานเด่น ๆ ในช่วงนี้คือการตามข่าว ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ย้ายไป เอซี มิลาน, เคลาดิโอ รานิเอรี่ จะเข้ามารับตำแหน่งกุนซือระหว่างฤดูกาลของ ซามพ์โดเรีย และ คาร์โล อันเชล็อตติ จะเป็นกุนซือคนใหม่ของ เอฟเวอร์ตัน เป็นต้น 

แต่ละโพสต์ใน ทวิตเตอร์ ของ โรมาโน อาจจะเชื่องช้าเมื่อเทียบกับนักข่าววงในคนอื่น ๆ ไปหลายชั่วโมง บางทีก็อาจจะเป็นวัน ... เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาต้องการนำเสนอที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะเขาอยากจะขายความแม่น มากกว่าความเร็ว ซึ่งนั่นทำให้เขาเลือกจะโพสต์แต่ข่าวหรือความเคลื่อนไหวที่เขามั่นใจว่าจะเกิดขึ้น 100% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม 100% ที่ว่านั้นคือ 100% ในมุมมองเขา ... ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะมีดีลพลิกล็อกและไม่เกิดขึ้นจริงก็เป็นได้ "ใครไม่ชัวร์ ผมชัวร์" จะพูดว่าคือสไตล์การนำเสนอของเขาก็คงไม่ผิดนัก

 

ชื่อเสียงจากชีวิตที่วุ่นวาย

ไม่ใช่ทุกดีลที่มันเกิดขึ้น 100% ตามที่ โรมาโน ว่า บางดีลก็ไม่เกิดขึ้นจริง เช่นการที่เขาเคยบอกว่า มัสซิมิเลียโน อัลเลกรี จะเป็นกุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด (ก่อนจะได้ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา) หรือแม้กระทั่งดีลการซื้อขายที่ยืดเยื้อที่สุดในซัมเมอร์นี้อย่าง เจดอน ซานโช กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ โรมาโน ก็พยายามจะสื่อว่า "ใกล้แล้ว" มาพักใหญ่ ๆ จนตอนนี้โอกาสก็น้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องซานโชนี้ ก็มีเหตุผลรองรับความเสี่ยงที่ว่าจะไม่แม่นอยู่ คือราคาค่าตัว 120 ล้านยูโร ซึ่ง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ตั้งไว้นั่นเอง


Photo : www.transfermarkt.us

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว การไม่กล้านำเสนอ ไม่กล้าหาข้อมูล เพราะกลัวว่าหากนำเสนอไปจะผิดพลาด คือการกระทำของนักข่าวที่ไม่ใช่มืออาชีพ ดังนั้น โรมาโน จึงยึดมั่นในแนวทางการวิเคราะห์ หาคอนเน็คชั่น สืบจากแหล่งข่าว ก่อนจะเอามานำเสนอในสไตล์ของตนเอง ที่นอกจากดีลล้มเหลวซึ่งกล่าวมา ส่วนใหญ่สามารถใช้คำว่า "แม่น" กับการคาดเดาของ โรมาโน ได้เสมอ

"โรมาโน เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง อย่างบางดีลย้ายตัวที่กระแสอยู่ตรงข้ามกับเขา แต่เขายังเชื่อในข้อมูลที่ตัวเองมี เชื่อในแหล่งข่าวที่เขามี ซึ่งเสี่ยงมาก เพราะอย่างที่เรียนไปว่า ถ้าเขารายงานผิดแม้แต่ดีลเดียว ความน่าเชื่อถือของเขาจะลดลงมาก เพราะโรมาโนในตลาดซื้อขาย ก็เหมือนทีมไร้พ่าย แต่เขาก็ละเอียดพอในการสืบหาข่าวจากแหล่งที่แม่นยำที่สุด ภายในช่วงเวลาที่จำกัด ทำให้แฟนบอลไม่ต้องรอนานจนเกินไป แต่ได้รับข่าวสารที่แม่นยำ และไม่ผิดพลาดครับ" เจ้าของเพจ ดูบอลกับแนท ว่าต่อ 


Photo : @FabrizioRomano

ของแบบนี้ต้องให้วัดกันที่ผลงาน ทุกวันนี้ทวิตเตอร์ของ โรมาโน มีคนติดตามมากกว่า 1.4 ล้านคน และในอินสตาแกรมอีกเหยียบ ๆ 1 ล้าน มากกว่านักฟุตบอลบางคนที่เขานำเสนอข่าวด้วยซ้ำ ขนาดนักฟุตบอลอย่าง เออร์ลิง ฮาลันด์ และ มาร์คัส แรชฟอร์ด ยังรีทวีตข่าวของเขาเลย และมันตอกย้ำว่าในยุคที่กูรูแข่งกันเรื่องความเร็ว ยังมีผู้คนอีกมากที่ต้องการข่าวกรอง หรือข่าวที่มีมูลสายต้นเหตุ

เส้นทางของ โรมาโน ทำให้เขากลายเป็นนักข่าวคนดังไปโดยปริยาย ทุกวันนี้เขากลายเป็นคนเบื้องหน้าเต็มตัว และได้รับงานจ้างจาก Sky Sport Italia, CBS และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักข่าว SOS Fanta อีกด้วย 

แม้ว่าจะมีคำกล่าวถึงอาชีพนักข่าว ว่าเป็นอาชีพที่ทำงานหนักและได้ค่าตอบแทนที่น้อยเกินกว่าความเป็นจริง แต่บนโลกนี้ทุกอย่างล้วนมีข้อแม้เสมอ ในจำนวนนักข่าวทั้งโลกอาจจะมีสัก 1 ใน 1,000 หรือ 1 ใน 1,000,000 ที่สามารถผลักดันตัวเองให้กลายเป็นคนเบื้องหน้า ให้ผู้คนได้เห็นหน้าและจดจำได้ เรียกง่าย ๆ ว่า "ขายได้" เมื่อนั้นข่าวที่พวกเขานำเสนอก็จะได้การยอมรับและความเชื่อถือมากเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องรายรับแม้จะไม่มีใครพูดถึงว่า โรมาโน โกยเงินเข้ากระเป๋าสัปดาห์ละเท่าไหร่ คงไม่กี่คนบนโลกนี้ ที่ได้ค่าตอบแทนเทียบเท่าหรือไม่น้อยไปกว่าเหล่านักข่าวระดับซีเนียร์ที่ทำงานมาหลายปีแน่นอน 

และนี่คือเรื่องราวของคน ๆ หนึ่งที่หาเส้นทางที่ตัวเองชอบจนเจอ ยอมเสียสละเวลาในช่วงสร้างชื่อเสียงด้วยการปะทะกับชีวิตที่วุ่นวายไม่เว้นแต่ละวัน และสุดท้ายเขาเลือกการนำเสนอที่แตกต่างและมีคุณภาพมากกว่ากูรูอีกหลายร้อยคนในโลกทวิตเตอร์ทำ ... ทั้งหมดกลายเป็นจุดขายและทำให้เขา ฟาบริซิโอ โรมาโน กลายเป็น "ราชาของข่าวซื้อขาย" ในโลกของฟุตบอลอย่างปฏิเสธไม่ได้ 


Photo : bolaskor.com

เรื่องนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อก่อนแค่เร็วก็ชนะ แต่เมื่อวันหนึ่งความเร็วมากเกินไปจนแยกไม่ออกอันไหนจริงอันไหนปลอม ก็มาถึงช่วงเวลาที่ความแน่นอนเข้ามาแทนที่ และในวันหนึ่งโลกของข่าวสารฟุตบอลอาจจะต้องการอะไรมากกว่าแค่ที่โรมาโนทำ ...

ในตอนนี้เราอาจจะมองไม่ออกว่า "จะนำเสนอให้ดีกว่านี้ได้ยังไง" แต่เชื่อเถอะว่ามันทำได้แน่ อยู่ที่เวลา เทรนด์ใหม่ที่ว่านั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ และถ้าใครสักคนจับทางมันได้ก่อนใครและเสนอในสิ่งที่แตกต่างก่อนใคร เราจะได้เห็น ฟาบริซิโอ โรมาโน คนใหม่อย่างแน่นอน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook