ความเจ็บปวดของนักกีฬาแอฟริกันกับโลกในยุค COVID-19

ความเจ็บปวดของนักกีฬาแอฟริกันกับโลกในยุค COVID-19

ความเจ็บปวดของนักกีฬาแอฟริกันกับโลกในยุค COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สร้างแรงกระเพื่อมแก่วงการกีฬาแอฟริกา จนแทบเอาตัวไม่รอด

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ในไทยจะเริ่มดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง แต่ในระดับโลกยังไว้วางใจไม่ได้ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลายประเทศดีดตัวสูงขึ้นอย่างพรวดพราด และรวมทะลุหลัก 4 ล้านคนในปัจจุบัน 

แน่นอนว่าการระบาดของ COVID ในครั้งนี้ สร้างแรงกระเพื่อมไปในทุกภาคส่วน เช่นเดียวกับวงการกีฬา ที่ทำให้การแข่งขันหลายรายการต้องพักเบรก ยกเลิก หรือเลื่อนไปก่อน ซึ่งส่งผลกระทบในแง่ลบมากมายตามมา 

อย่างไรก็ดี สำหรับทวีปแอฟริกา ดูเหมือนว่านักกีฬาของพวกเขา ได้รับความเสียหายค่อนข้างหนักกว่าใครอื่นจากการระบาดในครั้งนี้ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

โบนัสที่หายไป 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แอฟริกา ก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ไม่น้อยไปกว่าภูมิภาคอื่น เมื่อพวกเขามีจำนวนผู้ป่วยสะสมรวมทั้งสิ้น 53,200 ราย และเสียชีวิต 2,027 ราย โดยแอฟริกาใต้คือประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดที่ 7,808 ราย


Photo : www.france24.com

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เป็นเวลากว่าสองเดือน ที่วงการกีฬาแอฟริกาหยุดชะงัก เมื่อการแข่งขันมากมายทั้ง เทนนิส คริกเก็ต กอล์ฟ มวย รวมไปถึงกีฬายอดนิยมของพวกเขาอย่าง ฟุตบอล ต้องยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันออกไป 

“ฟุตบอลคือชีวิต ช่วงเวลาฟุตบอลต้องหยุด มันเหมือนกับชีวิตต้องหยุดลงเช่นกัน” ดาวิด จูมา กัปตัน คาคาเมกา โฮมบอยซ์ สโมสรในพรีเมียร์ลีกของเคนยากล่าวกับ BBC Sports

แม้ว่าฟุตบอล จะเป็นกีฬาที่คนแอฟริกาคลั่งไคล้เป็นอย่างมาก แต่ในภาพรวมมันไม่ได้หมายความว่าสถานะทางการเงินส่วนใหญ่พวกเขาจะอยู่ในสภาพดี แม้ในช่วงเวลาปกติ เมื่อเทียบกับอเมริกาหรือยุโรป 

อ้างอิงจาก เคนยา พรีเมียร์ลีก หนึ่งในลีกชั้นนำของแอฟริกาตะวันออก เมื่อนักเตะกว่าครึ่งมีรายได้ต่อเดือนเพียงแค่ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6,400 บาท ทำให้พวกเขาต้องพึ่งรายได้เสริมจาก โบนัสลงเล่น เบี้ยเลี้ยงในการเดินทาง และโบนัสหากทีมคว้าชัย 

แน่นอนว่าหากไม่มีเกมการแข่งขัน รายได้ตรงนี้ก็จะหายไป แถมในช่วงสถานการณ์ COVID-19 บางสโมสร ยังลดเงินเดือนนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้เล่นที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว มีรายรับน้อยลงไปอีก 


Photo : www.goal.com

“พวกเขาบอกเราว่าจะถูกตัดเงินเดือน 50 เปอร์เซ็นต์ บอสของเราอยู่ในภาคธุรกิจ และเพราะว่าโคโรนา จึงไม่มีธุรกิจไหนที่มีผลประกอบการที่ดีเลย” จูมากล่าวต่อ

“ในฐานะนักธุรกิจ เขารู้ว่าการจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนให้เรา จะทำให้ไม่สามารถรักษาทีมไว้ได้ มันจึงต้องเป็นแบบนี้ แทนที่จะไล่นักเตะออกไปโดยไม่จ่ายเงิน”  

ในขณะที่แคเมอรูน ก็ไม่ต่างจากเคนยา แม้อาจจะดีหน่อยที่พวกเขามีกฎหมายคุ้มครองแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งทุกคนต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ดอลลาร์ (6,400 บาท) แต่สถานการณ์ก็เริ่มจะไม่สู้ดี เมื่อสโมสรต้องขาดรายได้ที่มาจากเกมการแข่งขัน ทั้งค่าตั๋ว และค่าใช้จ่ายของแฟนบอลในวันที่มีแมตช์ 

“ตอนนี้เงินเดือนของเรายังคงเท่าเดิม แต่ผมคิดว่าภายในเดือนหน้า เงินเดือนน่าจะไม่เหมือนเดิม” โทมัส บาวัค นักเตะของทีม โคตอน สปอร์ต ใน แคเมอรูน พรีเมียร์ลีก กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีนักกีฬาอีกกลุ่มที่ได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่าพวกเขา

งานยกเลิก เงินยกเลิก 

แอฟริกา ถือเป็นภูมิภาคที่กลายเป็นภาพจำของคนทั่วโลกในฐานะผู้ส่งออกนักวิ่ง โดยเฉพาะการวิ่งในระยะไกล เมื่อนักวิ่งจากทวีปแห่งนี้ ต่างเป็นเจ้าของสถิติโลกหรือขึ้นไปคว้าแชมป์มากมายมาตั้งแต่ในอดีต 

ไม่ว่าจะเป็น อเบเบ บิคิลา นักวิ่งชาวเอธิโอเปีย ผู้คว้าเหรียญทองการแข่งขันวิ่งมาราธอนโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม พร้อมทำลายสถิติโลก ด้วยการวิ่งเท้าเปล่า และกลายเป็นคนแรกที่สามารถป้องกันแชมป์ในอีก 4 ปีต่อมา ที่โตเกียว


Photo : apnews.com

หรือในยุคปัจจุบัน เอเลียด คิปโชเก ปอดเหล็กชาวเคนยา ที่เป็นเจ้าของสถิติ “ชายที่วิ่งมาราธอนได้เร็วที่สุดในโลก” ด้วยสถิติ 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาทีในการแข่งขัน เบอร์ลิน มาราธอน เมื่อปี 2018 ตลอดจนเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ที่ริโอ เมื่อปี 2016

อย่างไรก็ดี จากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้นักวิ่งจากแอฟริกาต้องว่างงาน เมื่อการแข่งขันขันทั้ง เวิลด์อินดอร์ การแข่งขันกรีฑาระดับโลกที่จัดขึ้นทุก 4 ปี รวมไปถึงเวิลด์ฮาล์ฟ มาราธอน ที่จัดขึ้นทุกสองปี และมีคิวจะแข่งกันในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาต้องเลื่อนออกไป 

เช่นกันสำหรับการแข่งขันแบบซีรีส์ที่จัดการแข่งขันตลอดทั้งปี อย่าง เวิลด์ มาราธอน เมเจอร์, ไดมอนด์ ลีก หรือ Continental Tour ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน และมันส่งผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“นักกีฬาทุกคนต่างรู้สึกถึงผลที่ตามมา” ฮิวส์ ฟาบริคซ์ แซนโก นักกรีฑาชาวบูร์กินา ฟาโซ ที่เคยคว้าเหรียญทองแดงเขย่งก้าวกระโดดในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก 2019 กล่าว


Photo : worldathletics.org

“ผมรู้จักนักกีฬาแอฟริกาบางคนที่ไม่ได้มีสปอนเซอร์และเดินทางไปยุโรปอยู่เสมอเพื่อลงแข่งหาเงิน การแข่งขันที่ถูกยกเลิก สิ่งนี้กำลังเป็นอันตรายต่อพวกเขา เพราะพวกเขาจะไม่มีรายได้ที่จะเข้ามาช่วยในการเตรียมตัวสำหรับปีหน้า” 

“ดังนั้นนักกีฬาบางคนอยู่ในจุดที่ยากลำบากมาก” 

ปกติรายได้ของนักวิ่งส่วนใหญ่จะมาจากสามทางเป็นหลัก คือจากสปอนเซอร์ เงินรางวัล และโบนัสจากการแข่งขัน ซึ่งอาจจะเป็นตำแหน่งที่วิ่งเข้าเส้นชัย หรือการทำลายสถิติในแต่ละรอบ 

“ถ้าคุณไม่ลงแข่งวิ่ง มันไม่มีโอกาสเลยสำหรับโบนัส เงินที่ได้เมื่อลงแข่ง หรือเงินรางวัล” มิเชล โบติง เอเยนต์ชาวดัตช์ที่เป็นตัวแทนให้กับนักวิ่งแอฟริกามากมาย 

“มันจึงเป็นภาระที่ใหญ่มากสำหรับนักกรีฑาหลายคนและครอบครัวของพวกเขาที่แขวนอยู่กับมัน” 

ทำให้การเลื่อนการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น เวิลด์ อินดอร์ หรือรายการใหญ่อย่างโอลิมปิก ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสคว้าเหรียญ แต่มันยังสร้างแรงกระเพื่อมต่อรายรับ ที่แทบจะเป็นรายได้หลักของพวกเขา 

“มันขึ้นอยู่กับระดับของพวกเขา มันอาจจะเป็น 2 ใน 3 หรือมากกว่านั้น (ของรายได้) เพราะว่ามันยังมีโบนัสที่มาจากการแข่งขันด้วย” แซนโก กล่าว

“ดังนั้นมันต้องมีผลกระทบทางการเงินอย่างแน่นอน”

ในขณะเดียว หากมองในภาพรวม ต้องยอมรับว่านักกรีฑาแอฟริกาส่วนใหญ่ ต่างไม่ได้มีรายได้เทียบเท่ากับนักฟุตบอล นอกจากนี้ พวกเขาเหล่านี้ต่างไม่ได้มีสัญญา เหมือนกับนักเตะอาชีพ ที่ยังมีรายได้จากเงินเดือนแม้ไม่ได้ลงแข่ง 


Photo : www.theinfong.com

“สำหรับกรีฑา พอเทียบกับกีฬาอื่นแล้ว ถือว่าเราล่มจมเลยทีเดียว” เบลสซิ่ง โอคาบาเร นักวิ่งและนักกระโดดไกลชาวไนจีเรียกล่าว 

“ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ชวนให้ดึงดูด และผู้เล่นก็ทำเงินได้มากมาย สำหรับสิ่งที่ฉันทำเพื่อดำรงชีวิต ฉันไม่สามารถหาเงินได้ขณะนั่งอยู่ที่ม้านั่งสำรอง แต่นักฟุตบอลสามารถทำได้” 

“ถ้าฉันอยากได้เงิน ฉันต้องลงแข่ง มันมีการแข่งขันบางรายการที่ถ้าคุณฟาวล์ตั้งแต่ตอนสตาร์ท คุณจะไม่ได้ค่าลงแข่ง หรืออาจจะได้ครึ่งหนึ่งถ้าคุณวิ่งไม่จบ” 

 

เงินสำรองที่ร่อยหรอ

“ผมต้องสูญเงินไปกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (640,000 บาท) ที่จะเป็นเงินประกันเมื่อได้ลงแข่ง” ไนเจล อามอส นักวิ่งจากบอตสวันนา กล่าวกับ BBC 


Photo : www.botswanayouth.com

อามอส เป็นหนึ่งในดาวเด่นของวงการกรีฑาแอฟริกา เขาเคยคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันวิ่ง 800 เมตรในโอลิมปิกที่ลอนดอน เมื่อปี 2012 และมุ่งมั่นที่จะแก้ตัวในโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น หลังต้องถอนตัวกลางคันในการแข่งขันที่ริโอ 2016 หลังเป็นลม

“ปีนี้ผมบอกกับตัวเองว่า โอเคไนเจล นายเลือกเฉพาะรายการสำคัญ เพื่อให้นายยังสดอยู่ตอนโอลิมปิก” 

“ผมจึงไปแข่งแค่ไม่กี่รายการ เพราะแบบนี้ผมจึงต้องพยายามบริหารเรื่องเงินผมให้ดี เพื่อประคองตัวเองให้อยู่รอดตลอดทั้งปี แต่ตอนนี้มันเหลือศูนย์” 

ในการแข่งขันกรีฑา เงินรางวัลในแต่ละรายการจะแตกต่างกันไปตามดีกรีของการแข่งขัน โดย Continental Tour การแข่งขันระดับ 2 ที่จัดโดยสหพันธ์กรีฑาโลก หรือ World Athletics (รองมาจาก ไดมอนด์ ลีก) ผู้ชนะจะได้รางวัล 6,000 ดอลลาร์ (192,000 บาท) และลดหลั่นลงมาจนเหลือ 800 ดอลลาร์ฯ (25,000 บาท) สำหรับผู้ที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 8 

ในขณะที่การแข่งขันมาราธอน นักวิ่งจะสามารถทำเงินได้ตั้งแต่ 1,000 ดอลลาร์ (32,000 บาท) ไปจนถึง 100,000 ดอลลาร์ (3.2 ล้านบาท) หรืออาจจะได้มากกว่านั้นในรายการระดับเมเจอร์อย่าง เบอร์ลิน บอสตัน ลอนดอน หรือปารีส ขึ้นอยู่กับอันดับในการแข่งขัน 

มันจึงทำให้รายการเหล่านี้ กลายเป็นหมุดหมายสำหรับนักวิ่งจากแอฟริกา ยกตัวอย่างเช่น ลอนดอนมาราธอน ผู้ชนะประเภทชายจะได้เงินสูงถึง 313,000 ดอลลาร์ (10 ล้านบาท) และ 55,000 (1.7 ล้านบาท) ดอลลาร์ ในประเภทหญิง และได้เงินการันตีอย่างน้อย 1,000 ดอลลาร์ (32,000 บาท) หากจบใน 12 อันดับแรก 

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ข้างสูง แต่ก็แลกมาด้วยระยะเวลาในการฟื้นตัวที่ต้องใช้มากกว่าการวิ่งชนิดอื่น ทำให้พวกเขามีโอกาสลงแข่งขันเพียงแค่ 3 ครั้ง หรืออย่างมากที่สุดคือ 4 ครั้งต่อปี แต่ด้วยการระบาดของ COVID ทำให้ครึ่งปีแรกผ่านไปด้วยความว่างเปล่า 


Photo : www.seychellesnewsagency.com

“มันกำลังจะกลายเป็นหายนะของนักกรีฑา เมื่อครึ่งปีแรกการที่แข่งวิ่งบนถนนหายไปหมดแล้ว เพราะการแข่งขันทั้งหมดถูกยกเลิก” โบติงกล่าว 

“มันหมายความว่านักกรีฑาที่ไม่มีสัญญากับสปอนเซอร์จะมีรายได้เป็นศูนย์สำหรับ 6-7 เดือนแรกของปี และคนที่มีสัญญาจะเสียรายได้ไปราว 40-70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด” 

ในขณะเดียวกัน นักวิ่งไม่ใช่ผู้เดียวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์นี้ แต่เอเยนต์ของพวกเขา ที่มีรายได้หลักมาจากรายรับของนักกรีฑา ก็โดนหางเลขเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“รายได้ของเอเยนต์มาจากคอมคอมมิชชั่น และถ้ารายได้จากการแข่งขันเป็นศูนย์ แน่นอนว่ามันย่อมเกิดความเสียหายต่อธุรกิจของเรา” โบติงอธิบาย

“เราต้องปรับตัว และบางทีอาจจะมีรายได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์จากปกติ หรือน้อยกว่านั้น”
อย่างไรก็ดี ปัญหาทางการเงินไม่ใช่เรื่องเดียวที่นักกีฬาแอฟริกันต้องเผชิญ 

 

สุขภาพจิตที่ถดถอย 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงแค่สร้างความเสียหายในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่นักกีฬา

โบลาจี ไซมอน นักเตะของ โฮโรยา เอฟซี ในลีกกินีบอกว่า สถานการณ์เช่นนี้ นอกเหนือจากความกังวลกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือไม่ พวกเขายังต้องสะสมความเครียดในเรื่องปากท้องจากรายได้ที่ลดลง 


Photo : sportinglife.ng

“นอกจากลูกและน้องชายของผมที่ต้องไปโรงเรียน ผมยังมีแม่และน้องสาวที่ต้องเลี้ยงดู” เขากล่าว 

“ผมรู้สึกกังวลใจมาก พอเราไม่ได้ลงเล่น เราก็ไม่ได้โบนัสจากการแข่งขัน ไม่ได้อะไรเลย” 

เช่นกัน โอคาบาเร นักกรีฑาชาวไนจีเรีย ก็ยอมรับว่า ในตอนแรกเธอรู้สึกช็อค ก่อนจะตามมาด้วยความกังวล ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าการแข่งขันจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งเมื่อไร 

“การเป็นนักกรีฑาคือทั้งหมดที่เรารู้ ทั้งหมดที่เราทำได้ มันคือชีวิตของพวกเรา” โอคาบาเร กล่าว  

“ดังนั้นเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันเหมือนกับความช็อค การไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปคือส่วนที่ยากที่สุดในสถานการณ์เหล่านี้สำหรับฉัน” 

ในขณะที่ ฮัสซัน อาเบ็ด เอล กาวาด นักวิ่งชาวอียิปต์ที่เคยคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์แอฟริกาครั้งล่าสุด ยอมรับว่าแม้ว่าเขาจะมีเงินเดือนจากสโมสรที่สังกัด แต่เขาก็ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้มีชีวิตรอดจากรายได้ที่ลดลงแบบฮวบฮาบ

“มันมีการแข่งขันที่คุณสามารถไปและชนะ และเมื่อคุณชนะคุณจะได้เงิน แต่การแข่งขันเหล่านี้ถูกยกเลิกไปหมดจนถึงเดือนมิถุนายน”

“ผมกำลังพยายามเอาตัวรอด เพราะว่าผมได้เงินเดือนจากสมาคมของอียิปต์แค่ 123 ดอลลาร์ (3,970 บาท) ในขณะที่อัล อาลี สโมสรที่ผมเป็นตัวแทนให้เงิน 622 ดอลลาร์ (20,000 บาท) แต่ในฤดูกาลนี้มันสำคัญสำหรับการคัดเลือกไปโอลิมปิก กลับทำเงินไม่ได้” 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก พวกเขาก็ยังไม่หมดหวัง 

 

สู้ไปด้วยกัน 

แม้ว่านักกีฬาแอฟริกัน จะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างหนักหน่วงจากการระบาดของ COVID-19 แต่พวกเขาก็ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง เมื่อองค์กรกีฬาของแต่ละประเทศ ต่างพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ 


Photo : cocorioko.net

ยกตัวอย่างเช่นสมาคมฟุตบอลเซียราลีโอน ที่บริจาคเงิน 67,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2.1 ล้านบาท) ให้กับทีมในพรีเมียร์ลีก ดิวิชั่น 1 และดิวิชั่น 2 หรือสมาคมฟุตบอลอียิปต์ ที่ระดมทุนเปิดรับบริจาค เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือนักฟุตบอลในลีกล่าง ทั้งดิวิชั่น 3 ดิวิชั่น 4 

เช่นกันกับ แอฟริกาใต้ พวกเขาได้ตั้งกองทุนมูลค่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (256 ล้านบาท) เพื่อเยียวยานักฟุตบอลและศิลปิน ส่วน ไลบีเรีย ได้อนุมัติเงิน 4,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (134,000 บาท) ที่นำมาช่วยเหลือนักฟุตบอลทั้งชายและหญิงของแต่ละสโมสร ขณะที่ผู้เล่นในแอลจีเรีย ทำตรงข้ามด้วยการบริจาคเงินเดือนตัวเองครึ่งหนึ่งเป็นกองทุนสู้ COVID 

ส่วนวงการกรีฑา ก็ไม่น้อยหน้า ต่างพยายามหาวิธีช่วยเหลือนักกีฬาของพวกเขา ตัวอย่างเช่นสมาคมกรีฑาเอธิโอเปีย ที่ใช้เงินสูงถึง 130,000 ดอลลาร์ (4.1 ล้านบาท) เยียวยานักกรีฑา 211 คนและโค้ช 56 คน 

แต่ที่แปลกแหวกแนวที่สุด คือสมาคมฟุตบอลอูกันดา ที่บริจาคข้าว 12.5 ตันให้กับ นักเตะ สต้าฟโค้ช รวมไปถึงแฟนบอล ที่การันตีว่าแม้พวกเขาไม่มีเงิน แต่ก็จะไม่อดตายในช่วงนี้อย่างแน่นอน 

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หลายฝ่ายไม่ได้มองข้ามเรื่องนี้ พวกเขาคิดและพยายามหาแนวทางแก้ไข และลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด ทั้งการปรับลดเงินเดือนของนักฟุตบอล หรือการมอบเงินเยียวยาจากสมาคมต่างๆ  

อย่างไรก็ดี มันแค่แผนระยะสั้นเท่านั้น เพราะในระยะยาว นักกีฬาคงจะไม่สามารถรับเงินเดือนแค่ครึ่งเดียวไปได้ตลอด เช่นกันสำหรับสมาคมกีฬา ที่หากไม่มีรายได้เข้ามา งบประมาณของพวกเขาก็จะหมดไป ถึงตอนนั้น พวกเขาจะไปต่อได้ไหม? ไม่มีใครตอบเรื่องนี้ได้ 


Photo : www.passionforsport.com

“มันเป็นช่วงเวลาที่ต้องดิ้นรนสำหรับเรา สำหรับนักกีฬา พวกเขาเพียงแค่อยากให้อาชีพของพวกเขาดำเนินต่อไป แต่ก็ต้องต่อสู้เพียงลำพังเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น” ไนเจล อามอส กล่าวกับ BBC 

“องค์กรจะยังคงให้เงินเราต่อไป ถ้าเรายังเตรียมตัวฝึกซ้อมอยู่เสมอ หรือหยุดให้เงินจนถึงปีหน้าหรือเปล่า? และถ้าพวกเขาหยุดให้เงิน เราจะเสียหายแค่ไหน? อย่างที่รู้มันจึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับนักกรีฑาในตอนนี้จริงๆ” 

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือพยายามสู้ไปด้วยกัน เพราะอย่างน้อยแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ก็ยังไม่มืดดับไป  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook