PL กัคคุเอ็น : ชมรมเบสบอลแชมป์โคชิเอ็งที่ล่มสลายเพราะ “การกลั่นแกล้ง”

PL กัคคุเอ็น : ชมรมเบสบอลแชมป์โคชิเอ็งที่ล่มสลายเพราะ “การกลั่นแกล้ง”

PL กัคคุเอ็น : ชมรมเบสบอลแชมป์โคชิเอ็งที่ล่มสลายเพราะ “การกลั่นแกล้ง”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“โคชิเอ็ง” หรือเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติประจำฤดูร้อนญี่ปุ่น เพิ่งจะผ่านครั้งที่ 101 ไปเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มันยังเป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย 

หนึ่งในนั้นคือความยิ่งใหญ่ของ “PL กัคคุเอ็น” โรงเรียนเอกชนจากจังหวัดโอซากา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นมหาอำนาจของรายการนี้ พวกเขาสามารถผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายได้ถึง 17 ครั้ง และคว้าแชมป์ไปได้ถึง 4 ครั้ง 

อย่างไรก็ดี ฤดูร้อนปี 2016 กลับกลายเป็นหน้าร้อนสุดท้ายที่แฟนเบสบอลได้เห็นโรงเรียนนี้ลงแข่งขัน หลัง PL ตกรอบคัดเลือกจังหวัดโอซากา ก่อนจะยุบชมรมในปีต่อมา 

เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

เบสบอลเผยแพร่ศาสนา

โอซากา ถือเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงทางด้านเบสบอล มันคือฐานที่มั่นของทีม “ฮันชิน ไทเกอร์ส” ทีมยักษ์ใหญ่ของลีก ที่มี “โคชิเอ็ง” สังเวียนชื่อดัง และเป็นสังเวียนเดียวกับการแข่งขันเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติเป็นสนามเหย้า รวมถึงเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนที่โดดเด่นเรื่องเบสบอลมากมาย 


Photo : PL学園高等学校 全日制39期

PL (Perfect Liberty) กัคคุเอ็น ก็คือหนึ่งในนั้น พวกเขาคือโรงเรียนเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1955 โดยเจ้าลัทธิ PL รุ่นที่สองที่ชื่อว่า มิกิ โทคุชิกะ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้เบสบอลเป็นสื่อในการเผยแพร่แนวคิดของลัทธิ ที่ต้องการทำให้ “โลกเกิดความสันติสุข และศิลปะคือชีวิต” ออกไปให้มากที่สุด 

พวกเขาใช้ระบบแมวมองในการเสาะหาผู้เล่นฝีมือดีจากทั่วญี่ปุ่นมาเล่นให้โรงเรียน และเครือข่ายแมวมองก็มาจากสมาชิกในโบสถ์ของ PL ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ 

วิธีดังกล่าวทำให้ชมรมเบสบอลของพวกเขา เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะหลังก่อตั้งชมรมขึ้นครั้งแรกในปี 1956 หลังจากนั้นเพียง 6 ปี PL กัคคุเอ็นก็ประกาศศักดาผ่านเข้าไปเล่นในศึกเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติฤดูใบไม้ผลิหรือที่เรียกกันว่า “เซ็มบัตสึ” ซึ่งมีศักดิ์ศรีไม่แพ้โคชิเอ็งได้สำเร็จในปี 1972 

และหลังจากนั้น PL กัคคุเอ็นก็สถาปนาตัวเอง ขึ้นมาเป็นขาประจำในศึกเบสบอลมัธยมปลายทั้งทัวร์นาเมนต์ฤดูใบไม้ผลิ (เซมบัตสึ) และฤดูร้อน (โคชิเอ็ง) ด้วยการผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายได้ถึง 37 ครั้ง (ฤดูร้อน 20 ครั้ง ใบไม้ผลิ 17 ครั้ง) 

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาไม่ได้เพียงเข้าร่วมเท่านั้น แต่ยังไปไกลได้ถึงตำแหน่งสูงสุดของญี่ปุ่น หลังคว้าแชมป์โคชิเอ็งได้ถึง 4 สมัย (1978, 1983, 1985 และ 1987) รองแชมป์อีก 3 สมัย (1970,1986,1983) และเซ็มบัตสึอีก 3 สมัย (1981, 1982, 1987) โดยในปี 1987 ยังประกาศศักดาคว้าแชมป์ได้ทั้งฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน ซึ่งเป็นทีมที่ 4 ในประวัติศาสตร์ที่ทำได้ 


Photo : www5.nikkansports.com

นอกจากนี้ PL กัคคุเอ็น ยังเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ผลิตนักเบสบอลอาชีพออกมาประดับวงการได้เป็นประจำทุกปี รวมแล้วกว่า 80 คน รวมไปถึง “คู่หู KK” มาซุมิ คุวาตะ และ คาสุฮิโร คิโยฮาระ ที่เป็นกำลังสำคัญช่วยให้ทีมคว้าแชมป์โคชิเอ็ง 2 สมัยในปี 1983 และ 1985 ก่อนจะขึ้นมาเป็นนักเบสบอลชื่อดังในเวลาต่อมา   

อย่างไรก็ดี มันมีบางสิ่งที่ต้องแลกมากับความสำเร็จ

นรกที่หอเคนชิ 

ปกติแล้ว ชมรมเบสบอลที่สามารถไปโคชิเอ็งได้เป็นประจำ ล้วนมีการฝึกในสนามที่หนักหน่วง เพื่อรีดศักยภาพของผู้เล่นออกมาให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับ PL กัคคุเอ็น พวกเขายังมี “หอเคนชิ” ที่เปรียบเสมือนหอฝึกจิต ที่ช่วยขัดเกลาให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก 


Photo : www.iza.ne.jp

“ผมจำได้ว่าเจ้าลัทธิมิกิ โทคุชิกะ ซึ่งเป็นรุ่นสองพยายามโฟกัสกับเบสบอลเพื่อทำให้ชื่อลัทธิ PL เป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่น และหอเคนชิน่าจะสร้างในช่วงต้นปี 1960” เท็ตสึโอะ คิตาฮาระ ผู้อำนวยการหอพักที่เคยดูและหอเคนชิมาตั้งแต่ปี 1978 กล่าวกับ Number 

มันคือหอพักที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายให้นักเรียนชมรมเบสบอล เข้ามากินอยู่หลับนอน และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตลอดทั้งปี เพื่อให้มีเวลาทุ่มเทและฝึกซ้อมมากที่สุด  

และด้วยระบบหอในเฉพาะคนของชมรมเบสบอล ทำให้ที่นี่เต็มไปด้วยกฎสุดโหดมากมายสำหรับเด็กปีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นห้ามหัวเราะ ห้ามกินของหวาน หรือแม้กระทั่งห้ามมีแฟน

“เด็กปีหนึ่งห้ามหัวเราะ ใช้เครื่องปรุงก็ไม่ได้  ห้ามใช้สบู่หรือแชมพูตอนอาบน้ำ เรารับรู้และยอมรับเรื่องนี้โดยไม่มีเหตุผล และไม่สามารถตั้งคำถามได้” อัตสึชิ คาตาโอกะ อดีตออลสตาร์ NBP 6 สมัย ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่หอเคนชิในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 กล่าวกับ Number 


Photo : kitaosaka-boys.com

นอกจากนี้พวกเขายังมี “ระบบผู้ติดตาม” อันโด่งดัง ที่เด็กปีหนึ่งต้องตามรับใช้ดูแลรุ่นพี่ปีสามแบบประกบติด ตั้งแต่เรื่องหุงหาอาหาร ไปจนถึงเรื่องทำความสะอาด 

พวกเขาต้องตื่นแต่เช้าก่อน 6 โมง โดยห้ามใช้นาฬิกาปลุก เพราะจะไปรบกวนรุ่นพี่ เพื่อมาเตรียมเข้าปลาอาหารให้พี่ปีสาม โดยในระหว่างที่รุ่นพี่กำลังกิน พวกเขาทำได้เพียงแค่ยืนนิ่งๆ ชิดกำแพง เพื่อคอยสังเกตว่ารุ่นพี่จะเติมข้าวหรือชาหรือไม่เท่านั้น 

ทำให้แต่ละวันเด็กปีหนึ่งจะเหลือเวลาเพียง 5 นาทีในการจัดการเรื่องของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าแค่แต่งตัวก็แทบจะไม่ทัน ทำให้แต่ละคนต้องวิ่งไปเข้าเรียนให้ทันเป็นประจำทุกเช้า 

นอกจากนี้หลังการซ้อม เด็กปีหนึ่งก็ต้องมาคอยหาอาหารให้กับรุ่นพี่เหมือนเดิม แถมต้องล้างจาน นำเสื้อผ้าไปซัก ที่ต้องแย่งชิงกับเพื่อนปีหนึ่ง เนื่องจากเครื่องซักผ้ามีจำกัด รวมไปถึงต้องนวดรุ่นพี่ก่อนนอน ซึ่งกว่าจะทำทุกอย่างเสร็จก็เกือบเที่ยงคืน ทำให้บางคนถึงกับหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อนพร้อมกับฝุ่นที่เต็มตัวเนื่องจากไม่มีแรงไปอาบน้ำ 


Photo : www.nikkansports.com

หรือในช่วงใกล้แข่ง ด้วยความที่สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องยิงลูกอัตโนมัติ ทำให้เด็กปีหนึ่งต้องไปช่วยขว้างบอลให้รุ่นพี่ฝึกตี โดยต้องขว้างถึง 8 กล่อง โดยหนึ่งกล่องมี 150 ลูก ทำให้พวกเขาต้องขว้างบอลถึง 1,200 ลูกต่อวัน 

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้แค่ช่วงเดียวคือช่วงหยุดปีใหม่ ทำให้หลายคนใช้เวลาช่วงนั้นไปกับการดื่มด่ำกับความสุขที่หาไม่ได้ตอนอยู่หอใน ทั้งกินข้าวพูนจาน หรืออัดขนม ของหวานอย่างเต็มที่ราวกับจะไม่ได้กินอีกแล้วในชีวิต  


Photo : yoshilover.com

“บางคนหนีไปจริงๆ แต่ส่วนใหญ่พูดว่า ‘ฉันจะหนีออกไปแน่ๆ’ ‘พรุ่งนี้ฉันจะลาออก’ แต่วันต่อมาก็มาที่สนามอีก” คาตาโอกะ ย้อนความหลัง

“ทุกคนจะมีปฏิทินกลับบ้านตอนปีใหม่ที่ถูกถมเต็มไปหมดว่าจะทำอะไร ก่อนวันกลับหนึ่งวันพวกเราจะกอดกันและร้องไห้บนดาดฟ้า พูดกันว่า ‘พวกเราจะได้กลับไปโลกมนุษย์’ พวกเราเรียกชีวิตนอก PL กัคคุเอ็นว่า ‘โลกมนุษย์’”  

นาคิบุคุโระ นักเขียนการ์ตูนที่นำเรื่องราวของตัวเองสมัยอยู่ PL กัคคุเอ็น มาเขียนเป็นการ์ตูนในชื่อ Battle of Study เล่าว่าการฝึกอย่างหนักและการต้องตามรับใช้รุ่นพี่จนไม่มีเวลาพักทำให้เขาน้ำหนักลดจาก 65 กิโลกรัมเหลือ 45 กิโลกรัมในเวลาไม่กี่เดือน 

“ทุกคนต่างเกร็งไปหมด ต่างคนต่างไม่คิดว่าอยู่โรงเรียนเดียวกัน ครั้งหนึ่งเคยเจอรุ่นพี่ที่เพิ่งกลับมาจากการซ้อมท่ามกลางฝน รู้สึกถึงรังสีอำมหิตจากตัวเขาจนถึงขั้นคิดว่า ‘ถูกฆ่ามั้ยเนี่ย’” 

อย่างไรก็ดี ความเข้มงวดดังกล่าว กลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญทำให้ผู้เล่นสามารถพัฒนาฝีมือได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นระบบผู้ติดตาม ที่ทำให้ให้พวกเขาสังเกตุและเรียนรู้เทคนิค จากการใช้ชีวิตอยู่กับรุ่นพี่อย่างใกล้ชิด 

“ถ้าคิดตอนนี้มันอาจจะแปลกๆ แต่ตอนนั้นการฝ่าฝันอุปสรรคที่ไร้เหตุผลเหล่านั้นทำให้ PL เป็นที่หนึ่งในญี่ปุ่น เพราะฉะนั้น เราจึงคิดว่าอยากทำให้ฝันเป็นจริงเท่านั้น” คาตาโอกะอธิบาย 

“การที่เด็กปีหนึ่งได้ซ้อมกับรุ่นพี่ ทำให้รู้ว่าพวกรุ่นพี่เก่งจริงๆ และการที่ต้องสอดส่องดูแลพวกเขาในหอพัก ก็ทำให้เรามองเห็นเทคนิคจากพวกเขา ทั้งวิธีการหวดไม้ที่อาจจะเปลี่ยนไปแค่มิลลิเมตรเดียว หรือตำแหน่งการยืนเปลี่ยนไปแค่เซนฯ เดียว”  


Photo : www.nikkei.com

เช่นกันกับการช่วยรุ่นพี่ฝึกซ้อม แม้จะเป็นงานที่หนัก เนื่องจากต้องขว้างบอลถึงพันกว่าลูกต่อวัน แต่ด้วยปริมาณดังกล่าว ทำให้พวกเขาสามารถจับจุดและเรียนรู้วิธีการขว้างที่ถูกต้อง

“ตอนนั้น PL แข็งแกร่งมาก ปีหนึ่งอาจจะมีเวลาซ้อมตีและซ้อมขว้างในช่วงฝึกฝนอิสระ แต่สำหรับผมก่อนการแข่งขัน ต้องไปขว้างลูกให้รุ่นพี่หลายคนตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่ม จนหน้าดำเต็มไปด้วยฝุ่นและแทบไม่โดนแดด” คาตาโอกะกล่าวต่อ 

“ผมต้องขว้างทั้งหมด 8 กล่อง กล่องละ 150 ลูก ซึ่งถ้าขว้างไม่ดี ก็จะโดนอัด สำหรับรุ่นพี่ที่ขว้างเก่ง เขาจะขว้างให้ลูกหมุนและมองเห็นง่าย ด้วยเหตนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้เคล็ดลับในการขว้างในเวลาที่รวดเร็ว” 

“พอมาคิดตอนนี้ มันมีอะไรบางอย่างที่ผมได้เรียนรู้จากสิ่งที่เคยคิดว่าไร้เหตุผลในตอนนั้น” 

อย่างไรก็ดี บางครั้งความเข้มงวดก็อาจจะมีความสะใจแอบแฝง

ห้องสันทนาการที่ไร้ความบันเทิง

ญี่ปุ่น เป็นสังคมที่ยึดถือกับความสัมพันธ์แบบสูงต่ำ ทำให้ในชมรมกีฬาเกือบทั้งหมดมักจะใช้ระบบการปกครองแบบรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่มาเกี่ยวข้อง ซึ่ง PL กัคคุเอ็นก็ใช้ระบบนี้


Photo : mainichi.jp

ด้วยระบบดังกล่าวทำให้รุ่นพี่มีสิทธิ์ขาดต่อรุ่นน้อง พวกเขาสามารถลงโทษรุ่นน้องได้ตามสมควรเมื่อทำผิด โดยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชมรมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย  

ทว่าบางที มันกลับกลายเป็นข้ออ้างในการหาเรื่องรุ่นน้อง รุ่นพี่บางคนใช้เหตุผลที่แทบจะฟังไม่ขึ้นอย่างตอบไม่ทัน ชักสีหน้า หรือหันหลังตอบ เป็นข้อหาของความผิดอยู่บ่อยครั้ง 

“เราต้องพยายามอย่างไม่คิดชีวิตทุกวัน เพราะแค่ไม่ตอบภายในครั้งเดียวที่ถูกเรียกก็จะถูกโกรธ หรือบางทีแม้จะตอบทัน ถ้าแสดงออกสีหน้าหรือหันหลังตอบก็จะถูกโกรธอยู่ดี มันคือความผิดที่ถูกเรียกว่า ‘หน้า’ และ ‘หลัง’” ทาเคชิ โนโนงาคิ อดีตนักเบสบอลของ ฮิโรชิมา คาร์ฟ ที่เคยอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 1987 กล่าวกับ Number

และแน่นอนว่าเมื่อมีความผิด ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน พวกเขาจะถูกเรียกมารวมตัวที่ห้องสันทนาการขนาด 12.4 ตารางเมตร ที่อยู่ด้านในสุดของชั้นสอง ที่ทำให้คำว่า “ทุกคนรวมกันที่ห้องสันทนาการเดี๋ยวนี้” กลายเป็นคำที่ไม่มีใครอยากได้ยิน 

การลงโทษทั่วไปคือการสั่งทำเก้าอี้อากาศ ซึ่งก็คือการทำท่านั่งพร้อมกับยืดแขนไปข้างหน้า ซึ่งความโหดของมันก็คือระยะเวลาที่ต้องอยู่ในสภาพนั้นไปพร้อมกับการเทศนาจากรุ่นพี่ บางครั้งอาจจะแค่ 20-30 นาที แต่บางครั้งอาจจะยาวนานเป็นชั่วโมง ที่ทำให้บางคนล้มพับไปเลย

“มันต่อเนื่องยาวนานเป็นชั่วโมง สำหรับผมห้องนั้นมันคือห้องนรก” โนโนงาคิพูดถึงห้องสันทนาการ 


Photo : livedoor.com

มันจึงทำให้ครั้งหนึ่ง โนโนงาคิ ทนไม่ไหวกับสภาพนี้ จนถึงขั้นสติแตกและหนีออกจากหอพักกลับไปบ้านที่เมืองซากุไร จังหวัดนาระ ที่ห่างออกไปเกือบ 2 ชั่วโมง แม้สุดท้ายจะกลับมาก็ตาม 

“มันถึงขีดสุดแล้ว ผมวิ่งหนีออกไปโดยไม่รู้ว่าทำไม กลับไปถึงบ้านอย่างไรก็จำไม่ได้ พอรู้สึกตัวก็อยู่บ้านที่ซากุไรแล้ว” โนโนงาคิย้อนความหลัง 

นอกจากนี้ การสั่งลงโทษส่วนใหญ่ยังมักจะมาจากรุ่นพี่ที่ไม่สามารถเบียดขึ้นไปเเป็นตัวหลักของทีมได้ ทำให้จากความไม่พอใจ กลายเป็นความอิจฉา กลายเป็นความโกรธ จนบางครั้งก็กลายเป็นความบ้าคลั่ง ที่ทำให้การลงโทษนั้นรุนแรงเกินกว่าเหตุ 

และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลาย

คดีอื้อฉาว 

แม้ว่าระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง จะทำให้ชมรมเบสบอลของ PL กัคคุเอ็น เป็นระเบียบเรียบร้อยและประสบความสำเร็จ แต่ในทางกลับกัน มันกลายเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งรุ่นน้องมาอย่างยาวนาน 

โดยปกติแล้วการกลั่นแกล้งของญี่ปุ่น ค่อนข้างอยู่ในระดับรุนแรง โดยมีตั้งแต่ใช้คำพูดขู่เข็ญ ดุด่าว่ากล่าวที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ไปจนถึงใช้กำลังทำร้าย ที่ทำให้บาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ หรือบางครั้งอาจถึงชีวิต 


Photo : www.sankei.com

“ผมไม่เคยชอบการลงโทษทางร่างกายเลย” มาซุมิ คุวาตะ หนึ่งในคู่หู KK กล่าวกับหนังสือพิมพ์ Asahi เมื่อปี 2013 

ในปี 1986 มีรายงานว่านักเรียนคนหนึ่งที่ชื่อ M คุง ที่อยู่ชั้นปีสองจมน้ำตายในบ่อน้ำของโรงเรียน โดยมีต้นเหตุมาจากรุ่นพี่ปีสาม แกล้งเอารองเท้าของเขาโยนลงไปในสระแล้วสั่งให้เขากระโดดลงไปเอา แต่โชคร้ายที่เขาเป็นตะคริวและจมน้ำเสียชีวิต 

ทว่าข่าวในตอนนั้นกลับลงว่าเป็นอุบัติเหตุ และไม่ได้ระบุเรื่องการกลั่นแกล้งลงไป ทำให้ PL กัคคุเอ็น รอดพ้นจากการลงโทษไปได้อย่างหวุดหวิด แถมยังสามารถคว้าแชมป์โคชิเอ็งได้ในปีถัดมา 

แต่มันเป็นเหมือนขยะที่ซุกอยู่ใต้พรม เมื่อสุดท้ายปัญหามันยังคงอยู่ ก่อนที่จะมาเกิดเรื่องอื้อฉาวอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปี 2001 เมื่อรุ่นพี่ปีสามคนหนึ่งแกล้งเอาไม้เบสบอลไปหวดรุ่นน้องปีสอง จนหัวแตกและต้องเย็บถึง 7 เข็ม ที่ทำให้ PL ถูกแบนจากการแข่งขันในปีนั้น และหมดสิทธิ์ลงแข่งในโคชิเอ็ง 

แถมก่อนหน้านั้นเดือมกราคมปีเดียวกัน รุ่นพี่ปีสามอีกคนหนึ่งเพิ่งก่อคดีด้วยการเอาไม้เบสบอลไปฟาดรุ่นน้องจนต้องเย็บ 4 เข็ม รวมไปถึงการที่รุ่นพี่ปีสามอีกคน ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกายรุ่นน้อง ที่ทำให้โรงเรียนและรุ่นต้องชดเชยเงินสูงถึง 1.9 ล้านเยน หรือกว่า 540,000 บาท


Photo : www.zakzak.co.jp

จาก 3 คดี โดยรุ่นพี่ปีสาม 3 คนในปี 2001 ทำให้ PL กัคคุเอ็น ตัดสินใจปฏิรูปชมรมเบสบอลของครั้งใหญ่ ด้วยการยกเลิกระบบหอในของชมรมในเดือนมีนาคม 2002 และเปลี่ยนหอเคนชิ ให้เป็นหอพักสำหรับนักเรียนประถม ทำให้นักเรียนชมรมเบสบอล ต้องย้ายไปอยู่ในหอเดียวกันกับนักเรียนทั่วไป ส่วนคนบ้านใกล้ให้ย้ายไปอยู่บ้านแทน 

ในขณะเดียวกันพวกเขายังเปลี่ยนนโยบายของโรงเรียน จากเดิมที่เน้นการเสริมสร้างนักกีฬามาเป็นการเสริมสร้างทางวิชาการ และยกเลิกระบบโควตานักกีฬา มาใช้ระบบสอบคัดเลือก รวมไปถึงยกเลิกการเข้าค่ายฤดูร้อนและฤดูหนาว และจำกัดเวลาในการซ้อม

นอกจากนี้ PL กัคคุเอ็น ยังได้ยกเลิก “ระบบผู้ติดตาม” ที่ทำให้นักเรียนทุกคนกลายเป็นนักเรียนธรรมดา ส่วนงานทำความสะอาด ให้เป็นงานของผู้จัดการหอพัก และที่สำคัญคือห้ามติดต่อกับรุ่นพี่หรือศิษย์เก่า นอกเหนือจากกิจกรรมชมรมโดยเด็ดขาด 

จากการปฏิรูปดังกล่าวทำให้ผลงานของทีมตกลงอย่างมาก แม้ว่าหลังจากนั้น PL กัคคุเอ็น จะสามารถผ่านเข้าไปเล่นในโคชิเอ็ง รอบสุดท้ายได้อีก 3 ครั้ง ในปี 2003, 2004 และ 2009 แต่พวกเขาไปได้ไกลที่สุดแค่เพียงรอบ 3 เท่านั้น 


Photo : www.sankei.com

อย่างไรก็ดี แม้จะทำขนาดนี้ แต่ปัญหาการกลั่นแกล้งก็มีอยู่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 นักเรียนปี 2 จากชมรมเบสบอล 4 คน รุมเตะรุ่นน้องปีหนึ่งจากชมรมเดียวกันในหอพักจนต้องนำส่งโรงพยาบาล ที่ทำให้ PL กัคคุเอ็น ถูกแบนจากการแข่งขันครึ่งปี 

และมันก็กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย เมื่อในเดือนตุลาคม 2014 โรงเรียนมีมติว่าจะไม่เปิดรับสมาชิกใหม่ตั้งแต่เดือนฤดูใบไม้ผลิปี 2015 เป็นต้นไป ทำให้ทั้งทีมเหลือสมาชิกแค่เพียง 12 คนเท่านั้น 

ปี 2016 จึงกลายเป็นปีสุดท้ายของ PL กัคคุเอ็น ในวงการเบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่น

หายไปจากสารบบ 

“สิ่งที่ PL เรียกว่าประเพณี มันคือความรุนแรง” คาสุฮิโกะ คิโยฮาระ หนึ่งในคู่หู KK กล่าวกับ Asagei

“ตอนปีหนึ่งที่ผมได้ไปโคชิเอ็ง ร่างกายผมต่างฟกช้ำเต็มไปหมด” 


Photo : matome.naver.jp

การไม่เปิดรับสมาชิกใหม่ของ PL กัคคุเอ็น ทำให้เด็กปีหนึ่ง 12 คนเมื่อปี 2014 กลายเป็นสมาชิกรุ่นสุดท้ายของชมรมเบสบอลระดับตำนานทีมนี้ พวกเขาได้มีโอกาสลงเล่นครั้งล่าสุดในรอบคัดเลือกจังหวัดโอซากา เมื่อปี 2016 ก่อนจะตกรอบตั้งแต่รอบแรก และยุติกิจกรรรมชมรมชั่วคราวในเวลาต่อมา  

ปัจจุบัน ชมรมเบสบอลของ PL กัคคุเอ็น เหลือเพียงแค่ชื่อเท่านั้น หลังลาออกจากสมาพันธ์เบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2017 แม้ว่าอดีตสมาชิกหลายคนพยายามที่จะฟื้นฟู แต่สุดท้ายก็ยังไม่สำเร็จ 

“พูดตรงๆ ในยุคของพวกเรา เป็นเรื่องปกติที่ทุกโรงเรียนมีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง มันไม่ใช่แค่ในชมรมเบสบอล แต่มีอยู่ทุกที่ในชมรมของโรงเรียน” คาสุโยชิ ทัตสึนามิ อดีตผู้เล่นของ PL กล่าวกับ Toyo Keizai 

“การใช้ความรุนแรงมันไม่ใช่เรื่องดี แต่การความเข้มงวดก็เป็นสิ่งจำเป็น บอกตามตรง ผมคิดว่าโลกมันยากขึ้นกว่าเดิม” 


Photo : esuteru.com

การล่มสลายของพวกเขา จึงเป็นเหมือนหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า วิธีการในอดีต อาจจะใช้ไม่ได้ผลหรือไม่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนที่ปรับตัวทันเท่านั้นถึงจะอยู่รอด  

เพราะสุดท้ายไม่มีอะไรอยู่คงทนอย่างถาวร แม้แต่ประเพณีของ PL ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษก็ตาม

“ชีวิตของแต่ละคน ต่างมีกฎและระเบียบของตัวเอง และเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ร่วมกันเท่านั้นที่รู้ว่าได้อะไรมาจากมัน” 

“เรื่องบางเรื่องก็รู้เฉพาะคนที่ได้ใช้เวลากับ PL เพียงแต่วิธีการสื่อสารของพวกเราในตอนนี้มันอาจจะไม่ดี ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว จากนี้ไปพวกเราคงจะเพียงได้แค่บอกว่าพวกเราได้อะไรมาบ้าง” คาตาโอกะทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook