"ฮาคาน ซูเคอร์" : ฮีโร่ฟุตบอลตุรกี ที่ต้องกลายเป็นคนขับอูเบอร์เพราะข้อหาชังชาติ
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/209/1047430/tt.jpg"ฮาคาน ซูเคอร์" : ฮีโร่ฟุตบอลตุรกี ที่ต้องกลายเป็นคนขับอูเบอร์เพราะข้อหาชังชาติ

    "ฮาคาน ซูเคอร์" : ฮีโร่ฟุตบอลตุรกี ที่ต้องกลายเป็นคนขับอูเบอร์เพราะข้อหาชังชาติ

    2020-01-23T09:37:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีกองหน้าชาวตุรกีคนไหนที่เก่งกาจและเป็นผู้เล่นที่ทรงอิทธิพลมากกว่า ฮาคาน ซูเคอร์ อีกแล้ว

    กองหน้าเจ้าของความสูง 191 เซนติเมตร เป็นทั้งเจ้าเวหาและตัวจบสกอร์ชั้นยอด เขาคือนักเตะตำแหน่งหมายเลข 9 ที่ครบเครื่องที่สุดตลอดกาลโดยเฉพาะเมื่อใส่ยูนิฟอร์มของทีมชาติตุรกี

    เขาเป็นกัปตันทีมตุรกีชุดสร้างประวัติศาสตร์คว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2002 นี่คือสิ่งที่คอลูกหนังยุคนั้นทุกคนจำเขาได้... ด้วยเกียรติประวัติขนาดนี้เขาควรจะถูกยกให้เป็นตำนานระดับประเทศ ได้ใช้องค์ความรู้ที่มีต่อยอดให้กับวงการฟุตบอลตุรกี เหมือนกับที่ประเทศอื่นๆ เขาทำกัน

     

    ทว่าทุกวันนี้เขากลายเป็นคนขายหนังสือพิมพ์, ขับอูเบอร์ และทำวีดีโอคลิปในยูทูบเพื่อเลี้ยงครอบครัว ภายใต้ชีวิตใหม่ที่ไกลจากบ้านเกิดคนละซีกโลก ... 

    ซูเคอร์ ไปเหยียบตาปลาใครเข้า? เหตุใดชีวิตของเขาจึงกลับตาลปัตรเช่นนั้น? ติดตามได้ที่นี่

    ขึ้นหลังเสือ 

    หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการฟุตบอลมานานหลายปี ฮาคาน ซูเคอร์ ในวัย 36 ปี ก็มาถึงจุดอิ่มตัว เขาคือนักเตะที่ดีที่สุด ของสโมสรที่ดีที่สุดในประเทศอย่าง กาลาตาซาราย คว้าแชมป์ลีกมาแล้ว 8 ครั้ง และแชมป์ยูฟ่า คัพ อีก 1 ครั้ง ซูเคอร์ จึงตัดสินใจประกาศรีไทร์จากฟุตบอลไปในปี 2008 

     1

    แม้หลายคนจะจำเขาได้ในฐานะนักเตะที่ยิงประตูเร็วที่สุดในฟุตบอลโลก (10.8 วินาที นัดชิงอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 2002 กับเกาหลีใต้) แต่ ซูเคอร์ เองก็มั่นใจว่านั่นแค่ส่วนเดียวเท่านั้นในสิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิตค้าแข้ง

    "ได้โปรดอย่าจำผมในฐานะคนที่ยิงประตูเร็วที่สุด แต่จงจำผมในฐานะนักเตะที่ยิงประตูถล่มทลายดีกว่า" ซูเคอร์ ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times 

    ช่วงเวลาที่ยังค้าแข้ง เรียกได้ว่าไม่มีนักเตะตุรกีคนไหนที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว ด้วยชื่อเสียงที่มีทำให้เขากลายเป็นคนดังคับประเทศ สนิทกับคนใหญ่คนโตในวงการการเมืองมากมาย เพราะทุกคนรู้ดีว่าเสียงของนักกีฬาระดับประเทศนั้นเป็นเสียงที่ประชาชนในประเทศอยากจะฟังมากกว่าเสียงของนักการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้นทุกคนจึงพยายามเข้าหาและดึง ซูเคอร์ เข้ามาอยู่ใน "ขั้วเดียวกัน" เพื่อให้การทำอะไรต่างๆ ของพรรคนั้นง่ายขึ้น

    ในวันแต่งงานของ ซูเคอร์ กับ เออร์ซา ภรรยาคนแรกในปี 1995 (ก่อนจะหย่าในอีกไม่กี่เดือนถัดมา) นั้น มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงของเขาเป็นอย่างดี โดยนอกจากจะเป็นงานแต่งที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศแล้ว ยังมีภาพที่ถ่ายร่วมกับบุคคลสำคัญของประเทศ หนึ่งในนั้นเป็นภาพของ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีของตุรกี (ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการนครอิสตันบูล) ที่มาร่วมแสดงความยินดี รวมถึงถ่ายภาพร่วมกับ ซูเคอร์ และเจ้าสาวของเขาด้วย... 

     2

    การเทียวไล้เทียวขื่อของ แอร์โดอัน สัมฤทธิ์ผลในอีกหลายปีต่อมา เพราะสุดท้าย ซูเคอร์ ยอมร่วมอุดมการณ์ด้วย นั่นจึงทำให้เขาลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. ภายใต้การสนับสนุนของพรรค Justice and Development Party (หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ AKP) ที่มี แอร์โดอัน เป็นหัวหน้าพรรค และ ซูเคอร์ ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนราษฎรเขตที่ 2 ของกรุง อิสตันบูล ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2011 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นถิ่นของเขาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักฟุตบอลแล้ว

    1 ปีกว่าๆ ภายใต้ปีกของ แอร์โดอัน ซูเคอร์ เปรียบเหมือนทหารคู่ใจที่คอยเสริมบารมีท่านประธานาธิบดีได้เป็นอย่างดี คะแนนความนิยมพุ่งสูง เนื่องจากหลังจากที่ แอร์โดอัน ได้เป็นประธานาธิบดีและพรรค AKP ได้เป็นรัฐบาล ตุรกี ก็ก้าวหน้าเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ในการเปลี่ยนประเทศให้มีความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ, สวัสดิการ และ สาธารณูปโภค แต่ขณะเดียวกัน หลายๆ สิ่งในประเทศกลับเข้าใกล้แนวคิด "รัฐอิสลาม" อันเป็นศาสนาหลักของชาติมากขึ้น จากการแก้กฎหมายเก่าแก่หลายข้อโดยเฉพาะด้านศาสนา เช่นการให้เด็กมีวิชาศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานตั้งแต่ในช่วงวัยอนุบาล รวมถึงยกเลิกการห้ามสวมผ้าคลุมฮิญาบในหน่วยงานรัฐต่างๆ

     3

    อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าการเมืองแล้ว ไม่มีนโยบายใดที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน 100% โดย แอร์โดอัน มีนโยบายที่จะยกเครื่องรัฐธรรมนูญของตุรกีใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ระบบการเลือกตั้งและการบริหารของประธานาธิบดีเป็นไปในแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา เรียกเสียงวิจารณ์เป็นวงกว้างจากหลายฝ่าย ว่าแอร์โดอันต้องการสถาปนาตัวเองให้เป็น "สุลต่าน" นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ประชาชนในประเทศมองว่าเป็นการย้อนแย้งกับนโยบายต่อต้านอำนาจนิยมของเขา นั่นคือการใช้เงินกว่า 21,000 ล้านบาท สร้างทำเนียบประธานาธิบดี ที่มีห้องมากมายถึง 1,150 ห้อง นั่นทำให้หลายคนมองว่ามันคือเครื่องสะท้อนความใฝ่ฝันปกครองประเทศในแบบอำนาจนิยมได้เป็นอย่างดี 

    และเป็นอีกครั้งที่ต้องใช้คำว่า "การเมืองก็แบบนี้" ไม่ว่าใครจะถูกหรือผิดก็ตาม เมื่อมีฝ่ายที่ได้ประโยชน์ขึ้นมา แน่นอนว่าฝ่ายที่มองว่าเสียประโยชน์เกินไปก็จะลุกขึ้นต่อต้านเอง ... และจังหวะเดียวกันนั้นเอง ที่ ฮาคาน ซูเคอร์ ประกาศลาออกจากพรรค AKP ในปี 2013 เพื่อกลายเป็น ส.ส. อิสระ 

    การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เมื่อแรกเริ่ม แอร์โดอัน และ ซูเคอร์ รักกันดี ทว่าเมื่อถึงวันที่ ซูเคอร์ ลาออกจากพรรค จุดเริ่มต้นของการแสดงตัวเป็นปฎิปักษ์ต่อรัฐบาลตุรกีก็เริ่มขึ้น แม้ แอร์โดอัน จะอนุญาตให้ ซูเคอร์ ลาออกจากพรรคได้ก็จริง แต่เมื่อไม่ใช่พวกเดียวกันแล้ว ชีวิตของ ซูเคอร์ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

    This Means War 

    "วันที่ผมเข้าร่วมกับพรรค AKP ตุรกี ยังเป็นประเทศที่มีนโยบายสอดคล้องและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหภาพยุโรป มีนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปเข้ามาลงทุนมากมาย" ซูเคอร์ อธิบายเหตุผลที่ลาออกก่อนจะเพิ่มเติมว่า

    "การเมืองในแบบของ แอร์โดอัน นำไปสู่ช่วงเวลาที่เลวร้าย และเปลี่ยนประเทศไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาเลือกที่จะเจริญสัมพันธ์กับประเทศทางตะวันอออกกลางแทนที่จะเป็นยุโรป"

     4

    แน่นอนการลงจากหลังเสือไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะ แอร์โดอัน ถือว่าเป็นผู้นำที่ชอบเล่นไม้แข็งกับคนที่เห็นต่าง เขาเคยสั่งให้มีการจับกุมนักวิจารณ์การเมืองและสื่อมวลชนจำนวนมากที่เสนอข่าวโจมตีรัฐบาล โดยดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาท" ต่อประธานาธิบดีมาแล้ว และ ซูเคอร์ ในฐานะคนที่มีความเห็นต่างก็ถูกจับตามองไม่ห่างเช่นกัน  

    "จากนั้นความเป็นศัตรูก็เริ่มขึ้น ร้านเสื้อผ้าของภรรยาผมโดนก้อนหินปาใส่ ลูกๆ ของผมมักจะโดนรังควานเมื่ออยู่บนท้องถนน ซึ่งจริงๆ แล้วตัวของผมทำในสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศทั้งนั้น แต่เนื่องจากชื่อของผมคือ ฮาคาน ซูเคอร์ ผมจึงกลายเป็นคนที่ถูกข่มขู่" เขากล่าวในมุมมองของตัวเอง

    ในมุมมองของคนนอก เราไม่มีทางรู้เลยว่าฝั่งไหนกันแน่ที่พูดเรื่องจริง แต่มันเป็นจังหวะที่ไม่ดีนักสำหรับซูเคอร์ เพราะหลังจากที่เขาออกจากพรรค และกลายเป็นเหมือนตัวอันตรายสำหรับรัฐบาล ก็มีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความมั่นคงต่อรัฐบาลตุรกีมากที่สุด นั่นคือความพยายามที่จะก่อรัฐประหารในวันที่ 15 กรกฎาคม ปี 2016 หรือ 3 ปีหลังจากที่ ซูเคอร์ ออกจากพรรค AKP 

    ทหารกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน โดยได้ระเบิดอาคารที่ทำการรัฐบาล รวมทั้งอาคารรัฐสภา และยิงปืนใส่พลเรือนกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดี การปะทะกันระหว่างทหารฝ่ายกบฏกับทหารและประชาชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 260 คน 

     5

    การต่อสู้และสงครามดำเนินไปได้ไม่นานนัก สุดท้ายคณะปฎิวัติก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับรัฐบาล เมื่อนั้นเอง แอร์โดอัน จึงตัดสินใจใช้มาตรการรุนแรงด้วยการกวาดล้างกลุ่มกบฏที่แฝงตัวอยู่ตามหน่วยงานของรัฐ และเชื่อว่าภายใต้การก่อกบฏครั้งนี้ เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ฝักใฝ่ในแนวคิดของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำทางศาสนา อดีตคนสนิทของแอร์โดอัน แต่มีแนวคิดสนับสนุนการสร้างตุรกีให้เป็นประเทศมุสลิมยุคใหม่ ที่ศาสนาไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนกลายเป็นศัตรูกับแอร์โดอัน และต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา  

    แอร์โดอัน เรียกมาตรการนี้ว่าการกวาดล้างไวรัส และต้องการถอนรากถอนโคนกลุ่มกบฏให้หมดเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจซ้ำรอยในอนาคต มีเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 150,000 คนถูกไล่ออกหรือพักงาน นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวหาที่ถูกอ้างว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏกูเลน อีกกว่า 50,000 คน

    และซูเคอร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเขาถูกอัยการประจำเมืองซาการ์ยาตั้งข้อกล่าวหาว่า เขาเป็นสมาชิกกลุ่มกูเลน จึงทำให้เขาถูกล่าหัวมาดำเนินคดี ... ไม่ทันได้พิสูจน์ความจริงหรือขึ้นศาล ซูเคอร์ ก็รู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ 

     6

    หากโดนจับครั้งนี้ ซูเคอร์ รู้ดีว่าเขาจะไม่มีวันได้มีอิสระอีกต่อไป ซูเคอร์ จึงได้ตัดสินใจอพยพครอบครัว ประกอบด้วย เบย์ดา ภรรยาคนที่สอง (แต่งงานกันเมื่อปี 1999) กับลูกๆ อีก 3 คน ลี้ภัยมายังประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ก่อนที่การทำรัฐประหารจะได้บทสรุปอีกด้วยซ้ำ ... จากฮีโร่ของชาติและคนโปรดของประธานาธิบดีถึงขนาดที่เป็นประธานในงานแต่งงาน ฮาคาน ซูเคอร์ กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปอย่างไม่น่าเชื่อ

    ปีศาจซูเคอร์... ผู้มีความสุข

    การย้ายออกจาก ตุรกี แบบไม่ได้เตรียมตัว ทำให้ ซูเคอร์ ไม่ได้เตรียมการอะไรเอาไว้เลย ทั้งเรื่องทรัพย์สินเงินทองที่เคยหามา และที่สำคัญที่สุดคือคนในครอบครัวที่ไม่สามารถพาหนีมาด้วยทั้งหมดได้ 

    ซูเคอร์ ได้ข่าวภายหลังจากที่เขามาถึงรัฐแคลิฟอร์เนียว่า พ่อของเขาหนีไม่ทัน ถูกจับและถูกกักบริเวณ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวมาหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ขณะที่แม่ของเขาเองก็โดนจับในลักษณะเดียวกัน

     7

    "พวกเขาจับพ่อของผมไปขัง และทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเป็นเจ้าของโดนยึดทั้งหมด ... มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับพวกเขา ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผมโดนหมด ทุกคนต้องประสบปัญหาด้านการเงินด้วย"

    "ผมไม่เหลืออะไรบนโลกนี้เลย แอร์โดอัน เอาทุกอย่างไปจากผม ไม่เว้นแม้กระทั่งเสรีภาพที่ทำให้ผมสามารถอธิบายถึงสิ่งที่ผมทำลงไปได้" เขากล่าวถึงสถานะของตัวเองหลังจากออกมาไกลจากบ้านเกิด

    ข้อหากบฏและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ คือข้อหาที่ยังติดตัวเขาอยู่ในเวลานี้ อย่างไรก็ตามเมื่อนักข่าวของสำนักข่าว Goal ได้สัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาปฎิเสธและบอกว่า "เขาไม่ได้เกลียดประเทศชาติ"

    "ผมเป็นศัตรูของรัฐบาล แต่ผมไม่ใช่ศัตรูของประเทศตุรกี ผมรักธงชาติของเรา ผมรักประเทศของเราอย่างแน่นอนที่สุดเลย" ซูเคอร์ ยืนยันตัวตนของเขา ก่อนยอมรับว่าเหตุที่เขาลาออกจากพรรค AKP จนเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด ก็เป็นเพราะว่าเขาได้รู้อะไรบางอย่างของ รัฐบาล แอร์โดอัน แต่เขาไม่เห็นด้วยและต้องการตัดสินใจ "หัก" ให้เด็ดขาด เลือกฝ่ายให้ชัดเจนดีกว่าการเล่นตามเกมไปเรื่อย

     8

    "เชื่อไหม ผมจะมีชีวิตที่ดีเลย (ถ้าไม่ออกจากพรรค) ผมอาจจะได้เป็นรัฐมนตรีสักตำแหน่งหนึ่ง ทุกอย่างจะสวยงามมากหากผมเล่นตามเกมที่พวกเขาบอก ... แต่เมื่อผมไม่ทำ ตอนนี้ผมก็มานั่งขายกาแฟนี่แหละ" ซูเคอร์ เล่าให้กับ The New York Times 

    ใช่แล้ว จากตำนานนักเตะ กลายเป็นคนขายกาแฟในแคลิฟอร์เนียในเวลานี้ ครอบครัวของ ซูเคอร์ ต้องปรับตัวกับชีวิตใหม่ ทั้งการหัดพูดภาษาอังกฤษ และปรับตัวกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง จนทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง จึงเริ่มซื้อหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของร้านเบเกอรี่และกาแฟต่อจากเพื่อนคนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังหาลำไพ่เสริมด้วยการขับอูเบอร์อีกด้วย

     9

    แม้จะดูเป็นชีวิตที่สงบในแดนไกล แต่รัฐบาลตุรกียังมองเขาเป็นศัตรูคู่อาฆาตไม่เปลี่ยนแปลง เขาเป็นเหมือน "ปีศาจ" ที่รัฐบาลพยายามจะลบล้างตัวตนไป ซูเคอร์ เล่าว่าครั้งหนึ่งมีนักศึกษาชาวตุรกีเดินทางมาที่แคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะถ่ายภาพเซลฟี่กับเขาและกลับประเทศไป ซึ่งภายหลังเขาได้ข่าวว่านักศึกษาคนนั้นโดนจับติดคุกไปถึง 14 เดือนเลยทีเดียว

    อย่างไรก็ตามเมื่อชีวิตผ่านมาถึงขั้นนี้ ซูเคอร์ ก็ได้เข้าใจมันมากขึ้น ตัวของเขาไม่เคยพูดว่าตัวเองสนับสนุน กูเลน ศัตรูของทางการแบบที่รัฐบาลเข้าใจ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็โดนตัดสินนอกศาล จนทำให้ไม่อาจจะกลับไปยังตุรกีได้อีกในเวลานี้ แต่อย่างน้อยๆ เขายังเชื่อเสมอว่า อิสรภาพจะต้องกลับคืนสู่ตุรกีในสักวัน

     10

    "เสรีภาพคือสิ่งสำคัญ ที่อเมริกาผมพูดอะไรก็ได้ แต่ที่ประเทศของผม ทุกคำพูดของผมกลับกลายเป็นปัญหา แต่ก็นะ ไม่มีความมืดใดที่อยู่ไปตลอดกาลหรอก วันหนึ่งแสงสว่างจะกลับมานำทางเราอีกครั้ง ผมเชื่อแบบนั้น" ซูเคอร์ ในอิริยาบถสบายๆ ทว่ากล่าวด้วยสายตาที่มุ่งมั่นและมีความเชื่อในคำว่า เสรีภาพ

    อย่างไรก็ตามเขาก็รู้ว่าสิ่งที่เขาหวังและเชื่อจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แน่ ... วีซ่าของ ซูเคอร์ และครอบครัวจะหมดลงในช่วงปลายปี 2020 และเขากำลังคิดว่าจะทำกรีนการ์ด หรือบัตรผู้พำนักถาวรในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อความสะดวกสบายในการตั้งรกรากระยะยาว 

    แผนการระยะยาวของเขาไม่ใช่การอบขนมปัง, ขายกาแฟ หรือขับรถอูเบอร์ แต่อย่างใด ทว่าเขามองตัวเองในฐานะผู้อพยพที่อยากจะทำในสิ่งที่ใหญ่เกินกว่าที่ใครจะคาดฝัน "อเมริกัน ดรีม" ของเขาคือการเป็นโค้ชและสร้างสถาบันกีฬา ซึ่งเป็นความฝันเดียวกับสมัยที่เขายังอยู่ในตุรกี และทุกวันนี้ เขาก็ยังลับสมอง ถ่ายทอดความรักในกีฬาฟุตบอล ด้วยการเป็นยูทูบเบอร์ วิเคราะห์วิจารณ์วงการฟุตบอลตุรกี

     11

    จากนี้ไป ซูเคอร์ อาจจะไม่ได้กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนอีกแล้วก็เป็นได้ แต่บางครั้งคำว่าการวางแผนก็ใช้ไม่ได้กับชีวิตเสมอไป ขึ้นอยู่กับโชคชะตาจะพัดพาเราไปอยู่ที่ไหน ... เพียงแค่ตอนนี้ ซูเคอร์ เองก็พอใจและผ่อนคลายกับชีวิตที่สหรัฐอเมริกา 

    ชื่อเสียงความดังของเขาอาจจะลดลงไปบ้าง แต่อย่างน้อยชีวิตที่นี่ก็ไม่ได้เลวร้ายกับเขาจนเกินไปนักเมื่อเทียบกับบ้านเกิดเมืองนอน ที่ความคิดต่างของเขา นำมาซึ่งชะตาชีวิตอันโหดร้ายเกินกว่าที่ "ฮีโร่ของชาติ" คนหนึ่งจะพบเจอ

    อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "ฮาคาน ซูเคอร์" : ฮีโร่ฟุตบอลตุรกี ที่ต้องกลายเป็นคนขับอูเบอร์เพราะข้อหาชังชาติ