ต่อยเฉียดคาง : ท่าไม้ตายคว่ำนักสู้คางหินของ "บากิ" ใช้ในโลกความจริงได้หรือไม่?

ต่อยเฉียดคาง : ท่าไม้ตายคว่ำนักสู้คางหินของ "บากิ" ใช้ในโลกความจริงได้หรือไม่?

ต่อยเฉียดคาง : ท่าไม้ตายคว่ำนักสู้คางหินของ "บากิ" ใช้ในโลกความจริงได้หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บากิ จอมประจัญบาน คือหนึ่งในมังงะต่อสู้ที่เร้าใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งด้วยความเว่อร์วังอลังการของนักสู้แต่ละคน

บ้างก็เตะก้านคอช้างทีเดียวดับคาที่, บางคนสู้กับหมาป่าทั้งฝูงด้วยมือเปล่า และตัวของพระเอกก็เข้าไปในป่าเพื่อฆ่าราชาลิงตั้งแต่ยังเด็ก

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้พยายามสอดแทรกโลกแห่งความจริงเข้าไปบ้างในภายหลัง เราจึงได้เห็น มูฮัมหมัด อาลี, ไมค์ ไทสัน หรือแม้แต่ แมนนี่ ปาเกียว หลุดเข้าไปในเนื้อเรื่องโดยชื่อสมมติขึ้นมา ดังนั้นมันจึงมีบางท่าไม้ตายที่ดูคลับคล้ายคลับคลาว่ามันสามารถเอามาใช้จริงได้หรือไม่?

นี่คือเรื่องราวของท่าไม้ตายท่าหนึ่งที่แปลกที่สุดในเรื่อง นั่นคือการน็อคคู่ต่อสู้ด้วยการ "ต่อยให้เฉียดปลายคาง" ... ฉึบเดียวเท่านั้น สมองจะหยุดทำงานชั่วขณะและล้มลงกับพื้นแบบน่าประหลาดใจ

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? และท่านี้สามารถใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้จริงหรือ? ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่ 

ถือกำเนิดหมัดเฉียดคาง

หมัดเฉียดคางในเรื่อง บากิ เผยโฉมออกมาตอนแรกในตอนที่ 163 ของภาค "Son of Orge" หรือ "ฮันมะ บากิ" บนหน้าการ์ตูนฉบับแปลไทย ... โดยเรื่องทั้งหมดเกิดจากมนุษย์ยุคโบราณสมัยยังมีไดโนเสาร์คนหนึ่งที่ถูกแช่ในน้ำแข็ง กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันพบตัว จึงได้เริ่มกะเทาะน้ำแข็งออกและให้ชีวิตใหม่กับเขาคนนั้นโดยตั้งชื่อว่า "พิคเคิล"

ความสามารถในการต่อสู้ของพิคเคิลนั้นจัดว่าอยู่ในระดับปีศาจ ด้วยประสบการณ์ที่เคยต่อสู้กับไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ มาในอดีต ดังนั้นการสู้กับคนจึงเป็นเรื่องที่ง่ายดายมาก จนเป็นที่ต้องการลองของจากเหล่านักสู้หัวแถวของเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ก็มี 3 คนที่ได้ขึ้นสู้จริง ... เรซึ ไคโอ นักสู้ผู้มีศิลปะจากมวยจีนที่สืบทอดมากว่า 4,000 ปี, ฮานายามะ คาโอรุ หัวหน้าแก๊งยากูซ่าที่ขึ้นเป็นใหญ่ตั้งแต่อายุ 15 ปี รวมถึง แจ็ค แฮมเมอร์ ชายผู้ได้รับการสร้างใหม่โดยศาสตราจารย์จอห์นให้กลายเป็นปีศาจ และที่สำคัญเขายังเป็นพี่ชายต่างแม่ของ บากิ 

ทว่าการต่อสู้ทั้ง 3 แบบของนักสู้ทั้ง 3 คนไม่อาจจะเอาชนะ พิคเคิล ได้เลย ศิลปะการต่อสู้ทั้งหมดทำให้พิคเคิลแค่รู้สึกเจ็บแปล๊บๆ เท่านั้นไม่ได้ทรมานอะไร ดังนั้นคิวสุดท้ายในฐานะตัวแทนของมนุษย์ยุคปัจจุบันจึงตกเป็นของ ฮันมะ บากิ พระเอกของเรื่อง

บากิ เริ่มต่อสู้กับ พิคเคิล ด้วยความยากลำบากเป็นที่สุด เพราะด้วยความที่พิคเคิลเป็นมนุษย์โบราณ ร่างกายของเขาจึงใหญ่โตและกระดูกแข็งแกร่งมากโดยเฉพาะกระดูกช่วงต้นคอ ซึ่งเป็นจุดที่ส่งผลต่อการช่วยลดการสั่นสะเทือนของสมองอย่างที่สุด บากิ ต่อยเข้าที่หน้า กราม และจุดตายของพิคเคิลจุดอื่นๆ รวมถึงการใช้ "หมัดจำแลง" ซึ่งเป็นการเลียนแบบ กระบวนท่าหรือท่าทางของสัตว์ดึกดำบรรพ์ แต่สุดท้ายพิคเคิลก็ไม่ยอมร่วงสักที

สุดท้ายการล้มครั้งแรกในไฟต์นั้นก็มาถึงเมื่อ บากิ หยุดโจมตีไปที่จุดตาย และใช้การชกที่แปลกประหลาด นั่นคือการต่อยหมัดซ้ายด้วยความเร็วไปที่คาง 1 ครั้ง, หมัดขวาซ้ำที่เดิมอีก 1 ครั้ง และกระโดดเตะซ้ำอีก 1 ครั้ง ... ทว่าทุกการเข้าทำนั้นไม่ได้ปะทะกับคางโดยตรง เพียงแค่เฉียดๆ เท่านั้น

พิคเคิล ไม่สะท้านกับการต่อยเฉียดๆ เลย จนกระทั่งผ่านไปไม่ถึง 5 วินาที มนุษย์โบราณที่หากเป็นนักมวยก็ต้องบอกว่า "คางหิน" ระดับโคตรปีศาจกลับวูบลงกับพื้นทั้งที่ตัวเองยังไม่รู้ตัวเลยด้วย

"แม้แต่ผมเองก็ไม่อาจบอกได้ 100% ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ บากิ รู้ว่า ไม่ว่าศิลปะต่อสู้แบบดึกดำบรรพ์หรือปัจจุบันก็ยากจะเอาพิคเคิลร่วงกับพื้นได้ ไม่ว่าจะต่อยจะเตะแรงแค่ไหนสมองของ พิคเคิล ก็ไม่กระทบกระเทือนเลย" เรซึ ไคโอ นักสู้ที่มีศิลปะจากมวยจีนที่สืบทอดมากว่า 4,000 ปี ที่ยืนดูเหตุการณ์นั้นเริ่มอธิบาย

"ดังนั้น บากิ จึงพยายามต่อยโดยไม่ให้มีส่วนใดสัมผัสพิคเคิลเลย นอกจากหนังบริเวณหลังมือของเขา และถ้าทำได้สมบูรณ์แบบมันจะส่งผลกระทบต่อสมองรุนแรงกว่าการชกแบบตรง"

นี่คือสิ่งที่ เรสึ ไคโอ บอก และขยายความเพิ่มเติมว่าการต่อยแบบเฉียดๆ ทำให้สมองเป็นเหมือนกับเต้าหู้ซึ่งอยู่ในขวดโหลที่ไม่มีวันแตก ดังนั้นการเขย่าโหลจะทำให้สมองเด้งในกระโหลกซ้ายทีขวาที จนเกิดอาการมึนและร่วงกองกับพื้นแบบไม่รู้ตัว

นั่นคือทั้งหมดที่การ์ตูนบอก โดยเคลมว่าหมัดเฉียดนั้นแรงกว่าหมัดโดนเต็มๆ ... แต่ในโลกความจริงล่ะ? หมัดเฉียดๆ ดีกว่าจริงหรือ? 

ทำไมต้องชกคาง

หลายยยุคหลายสมัยในมวยสากล นักชกราว 80-90% หรือแทบทุกคนบนโลก หากโดนชกที่ปลายคางแบบจังๆ ส่วนใหญ่ไม่รอด ไม่แพ้น็อคก็เสียนับแทบทั้งสิ้น

ดร. แอนโทนี่ อเลสซี่ รองศาสตราจารย์คลินิกประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต ได้อธิบายว่าคางเป็นจุดที่ฝึกฝนกันได้ยากกว่ากล้ามเนื้อชนิดอื่นๆ และยังเป็นอวัยวะที่หากได้รับการกระทบกระเทือนจะส่งผลไปยังสมองโดยตรง ดังนั้นคางจึงเป็นส่วนที่นักมวยทุกคนระวังไม่ให้พลาดท่าโดนชกมากที่สุด

"เพื่อจะบอกให้เห็นภาพง่ายๆ มันเหมือนกับว่า มีพายุถล่มใส่บ้านคุณและรอยแตกเพียงเล็กๆ ในผนังชั้นใต้ดิน มันจะทำให้น้ำไหลสู่ห้องใต้ดินของคุณได้ ... ผนังห้องใต้ดินก็เหมือนกับการแตกของเซลล์ประสาทเวลาโดนชกนั่นแหละ ตอนนี้น้ำที่ไหลเข้ามาก็คือแคลเซียม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเอาออกจากเซลล์ และการจะเอามันออกจากห้องใต้ดินได้จำเป็นต้องมีเครื่องสูบน้ำ และเครื่องสูบน้ำออกก็คือหน้าที่ของเซลล์ประสาทนั่นเอง"

"เซลล์ประสาทจะสูบเอาแคลเซียมที่มากเกินไปออกมาจนกว่ามันจะสมดุล ร่างกายจะใช้พลังงานไปกับการสูบเอาแคลเซียมออก สมองของคุณจะบอกกับคุณว่า 'ฟังนะ ฉันจำเป็นจะต้องปิดบริการชั่วคราวเพื่อทำเรื่องนี้ให้เสร็จก่อน' นั่นคือเหตุผลที่ร่างกายส่วนอื่นจะน็อคไปโดยปริยาย เพราะหากฝืนทำงานต่อไปแล้วยังโดนซ้ำอีก ปริมาณแคลเซียมจะหลั่งไหลเข้ามาเยอะเกินไปบางครั้งมันก็ส่งผลถึงเสียชีวิตเลยก็ได้" ดร.แอนโทนี่ อเลสซี่ กล่าว

สิ่งที่จะทำให้สมองไม่กระทบกระเทือนจนเซลล์ประสาททำงานหนักเกินควร คือกล้ามเนื้อคอนั่นเอง การมีกล้ามเนื้อคอที่ใหญ่นั้นสามารถดูดซับแรงกระแทกที่ส่งผลต่อสมองได้ดีกว่ามากเลยทีเดียว หากโดนชกหรือฟาดเข้าที่คางโดยไม่มีการฝึกกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงนั้น สิ่งที่ตามมาคือสมองจะกระแทกกับกะโหลกอย่างแรงและอาจมีผลถึงชีวิตตามที่ได้กล่าวไป

ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบกับ พิคเคิล ได้เป็นอย่างดี เพราะพิคเคิลคือตัวละครในเรื่องที่มีกล้ามเนื้อคอและกระดูกที่แข็งแกร่งที่สุด ส่งผลให้หมัดเปล่าเต็มลำเอาเขาไม่ลง

อย่างไรก็ตาม ...

โลกแห่งความจริงนั้นอาจจะมีคนที่ถูกเรียกว่าคางหินอยู่บ้าง อาทิ โรแบร์โต้ ดูรัน นักชกจาก ปานามา ที่เป็นปรมาจารย์ด้านการตั้งรับและหาคนที่จะน็อคเขาลงยาก อย่างไรก็ตามตัวของ พิคเคิล นั้นยิ่งกว่า ดูรัน ไปอีกหลายเท่าและมันยากที่จะเอามาเทียบกัน 

เมื่อไม่มีคนบนโลกที่คางหินได้เทียบเท่ากับพิคเคิล มันจึงส่งผลในการหาทฤษฎีเปรียบเทียบ นั่นคือแล้วจะมีนักมวยคนไหนในโลกที่พยายามจะต่อยให้ไม่โดนคางแบบเต็มๆ แต่ตั้งใจให้ต่อยเฉียดแทน ... เพราะทุกคนรู้ว่าการต่อยคางให้โดนจังๆ นั้นดีกว่าทุกประการ

ประการแรกคือการต่อยให้โดนจังๆ นั้นง่ายกว่าเพราะขนาดเป้าที่ใหญ่กว่า และประการที่สอง คือในเมื่อต่อยคางโดนจังๆ ก็ทำให้สามารถน็อคคู่ชกได้ เหตุใดจึงต้องใช้การต่อยเฉียดที่มันยากกว่าด้วย 

อย่างไรก็ตาม มีบางไฟต์ในโลกแห่งความจริงที่การชกแบบเฉียดๆ คางทำให้คู่แข่งร่วงจนเสียนับได้ แต่กระนั้นมันก็เกิดจากความไม่ตั้งใจมากกว่า อาทิ ไฟต์ระหว่าง ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ เจอกับ เอ็มมานูเอล ออกัสตัส ในปี 2000 นั้น ฟลอยด์ ก็ถูก ออกัสตัส ต่อยเฉียดคางจนเกือบโดนน็อคได้ แต่มีระฆังมาช่วยก่อน และหลังจากนั้น ฟลอยด์ จึงกลับมาพลิกสถานการณ์น็อค ออกัสตัส ได้ในยกที่ 9 

และอีกครั้งที่ ฟลอยด์ เกือบเสียท่าคือการเจอกับ ริคกี้ ฮัตตัน ในปี 2007 ซึ่ง ฮัตตัน ตั้งใจจะอัดกราม แต่ฟลอยด์ก็หลบได้ประมาณ 70% ของหมัดทั้งหมด ทว่าการฉากหลบนั้นทำให้เขาโดนแบบเฉียดๆ จนเสียหลักเดินถอยหลังไปถึง 2-3 ก้าว 

ดังนั้นเราจึงพอสรุปว่าการต่อยแบบเฉียดๆ คาง สามารถทำให้สมองสั่นสะเทือนได้จริง แต่สำหรับระดับมนุษย์ปกติที่ชกกันแล้วอย่างไรเสียต่อยโดนคางจังๆ ย่อมทรงประสิทธิภาพกว่าอยู่แล้ว เราจึงยังไม่เคยเห็นกรณีศึกษาหรือเหตุการณ์ในอดีตที่มันชัดเจน ถึงขั้นที่ว่าตั้งใจต่อยให้โดนเฉียดคางและเอาชนะได้ 

หากอุปมาอุปมัยให้เห็นภาพนั้น การต่อยเฉียดคางคงเหมือนกับไวรัล "บ็อทเทิล แชลเลนจ์" ที่เล่นกันทั้งบ้านทั้งเมืองอยู่ช่วงหนึ่ง กล่าวคือการเตะให้โดนฝาขวดแบบเฉียดๆ สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนได้มากจนสามารถเปิดฝาขวดน้ำที่ปิดแน่นอยู่ได้ แต่สุดท้ายแล้วในเมื่อการเอามือไปเปิดแบบหมุนทีเดียวก็สามารถเปิดฝาขวดได้เหมือนกัน แถมเป็นวิธีการที่ง่ายกว่า ดังนั้นการเปิดแบบเบสิคมนุษย์ทั่วไปจึงเป็นสิ่งที่ใช้กันทั้งโลก เพราะคงไม่มีใครใช้ท่า บ็อทเทิล แชลเลนจ์ เปิดขวดไปตลอดชีวิตแน่นอน 

ยกเว้นเสียแต่ว่าคนอย่าง ฮันมะ บากิ นั้นมีอยู่จริงบนโลก ...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook