ศาลรธน.นัดฟังคำวินิจฉัยคดี ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้น บ่าย 3 พ.ย.

ศาลรธน.นัดฟังคำวินิจฉัยคดี ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้น บ่าย 3 พ.ย.

ศาลรธน.นัดฟังคำวินิจฉัยคดี ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้น บ่าย 3 พ.ย.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศาลรัฐธรรมนูญเดินหน้าไต่สวนคดี ส.ส.-ส.ว.ถือครองหุ้นผิดรัฐธรรมนูญ ตัวแทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ยืนยันการรับ "ใบประทานบัตร" ถือว่าได้รับสัมปทานจากรัฐ ขณะที่ตัวแทนกรมเชื้อเพลิงฯ ระบุธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่ถือว่ามีลักษณะผูกขาดตัดตอน ด้านศาลฯ นัดฟังคำวินิจฉัยช่วงบ่าย 3 พ.ย.

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อไต่สวนพยานต่อจากช่วงเช้าอีก 5 ปาก ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของ 16 ส.ว. และ 29 ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119 (5) และ 106 (6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 (2) (4) ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อฯ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ รวมทั้งในส่วนกรรมการผู้จัดการบริษัทตลาดหลักทรัพย์ ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำต่อศาล และแจ้งว่าไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลได้ ศาลจึงรับบันทึกถ้อยคำไว้ โดยไม่ต้องให้มีการไต่สวน จึงเหลือพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก

ด้าน น.ส.สิริรัตน์ สิริคันธานนท์ ผอ.ฝ่ายกฎหมาย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เบิกความว่า กรมฯ รับผิดชอบดูแล พ.ร.บ.เหมืองแร่ พ.ศ.2510 ซึ่งในกิจการเหมืองแร่ ที่กรมฯ อนุญาต นอกจากออกให้บริษัทที่ผู้ถูกร้องถือครองหุ้น อาทิ บริษัท ทีพีไอโพลีนฯ บริษัท ไออาร์พีซีฯ บริษัท ปูนซีเมนต์ฯ และยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ อีกจำนวนมาก ส่วนที่ กกต.มีคำวินิจฉัยว่า การรับในประทานบัตรของบริษัท ที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เป็นเจ้าของ ไม่เข้าข่ายเป็นสัมปทานรัฐ ตนทราบจากข่าว แต่กรมฯ จะยึดถือตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การรับใบประทานบัตรถือว่าได้รับสัมปทานจากรัฐ

ขณะที่ นายสมภพ พลจันทร์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เบิกความว่า กรมฯ ให้สัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในลักษณะที่ให้บริษัท ปตท.สผ. รวม 63 แปลง ธุรกิจดังกล่าวจึงไม่ถือว่ามีลักษณะผูกขาดตัดตอน

ส่วน นางจันทนิภา ผกายมาศกุล ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ เบิกความถึงลักษณะของโฮลดิ้ง คอมปานี ว่า จะมีคุณลักษณะไม่ถาวร ไม่เหมือนบริษัทจำกัดที่ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยโฮลดิ้ง คอมปานี สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนลักษณะการถือหุ้น แต่ไม่อาจตอบได้ว่า จำนวนหุ้นที่โฮลดิ้ง คอมปานี ถือจำนวนเท่าใด จึงจะมีอำนาจควบคุมกิจการตามความหมายของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้สนใจซักถามว่า คำว่า โฮลดิ้ง เรียกง่าย ๆ คือ บริษัทแม่และบริษัทลูก ถ้าบริษัทแม่มีการขายหุ้น จะยังถือเป็นโฮลดิ้งอยู่หรือไม่ และการถือหุ้นไขว้บริษัทในเครือ เช่น ธนาคารกรุงไทยเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ทิพยประกันภัยฯ หรือธนาคารกรุงเทพเข้าไปถือหุ้นในบริษัท กรุงเทพประกันภัย ทั้งที่แต่ละบริษัทมีกิจการเป็นของตนเอง ถือเป็นโฮลดิ้งหรือไม่ รวมทั้งทราบหรือไม่ว่า บริษัทที่เป็นสถาบันการเงินจะมีการพอร์ตลงทุนสำหรับซื้อขายหุ้นของตนเองเพื่อทำกำไร

นางจันทนิภา ชี้แจงว่า การจะเป็นโฮลดิ้งหรือไม่ จะมี 2 ลักษณะ คือ 1.บริษัทนั้นต้องไม่มีการประกอบธุรกิจของตนเอง 2.เข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งการที่หลายบริษัทมีชื่อว่า โฮลดิ้ง จะต้องไปดูในข้อเท็จจริงของบริษัท เพราะอาจไม่มีความหมายตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ส่วนการถือหุ้นไขว้ของบริษัทในเครือ ไม่สามารถตอบได้ว่าบริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทโฮลดิ้งหรือไม่ สำหรับพอร์ตซื้อขายลงทุนทราบว่ามีสถาบันการเงินบางแห่งมีพอร์ตของตนเอง แต่จะมีอำนาจซื้อขายหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะอนุมัติหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไต่สวนดังกล่าวถือเป็นนัดสุดท้าย โดยหลังเสร็จสิ้น ศาลได้ให้คู่กรณียื่นคำแถลงปิดคดีเป็นเอกสาร ภายในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ซึ่งหากไม่มีการยื่น จะถือว่าไม่ติดใจ และศาลนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัย วันที่ 3 พฤศจิกายน เวลา 15.00 น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook