แอฟริกาใต้เผย โอมิครอน แพร่เร็วกว่าเดลตา 2 เท่า แต่ WHO บอก อย่าเพิ่งวิตกเกินไป

แอฟริกาใต้เผย โอมิครอน แพร่เร็วกว่าเดลตา 2 เท่า แต่ WHO บอก อย่าเพิ่งวิตกเกินไป

แอฟริกาใต้เผย โอมิครอน แพร่เร็วกว่าเดลตา 2 เท่า แต่ WHO บอก อย่าเพิ่งวิตกเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข้อมูลจากโลกจริง (real world data) ของนักวิทยาศาสตร์แอฟริกาใต้ล่าสุดได้ถูกเปิดเผยออกมาแล้วว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเชื้อเดลตา 2 เท่าตัว ซึ่งถือได้ว่าเป็นเชื้อที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วที่สุดในบรรดาเชื้อกลายพันธุ์ทุกตัวของโควิด-19

นอกจากอัตราการแพร่เชื้อที่เร็วกว่าเดลตา 2 เท่าแล้วนั้น นักวิทยาศาสตร์จากแอฟริกาใต้ยังได้ระบุอีกว่า เชื้อโอมิครอนยังสามารถหลบวัคซีนได้ดีกว่า ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คำนวณอัตราการแพร่ระบาดที่รวดเร็วของโอมิครอน จากอัตราการติดเชื้อและอัตราการหลบหลีกวัคซีนเท่านั้น โดยยังไม่มีการนำตัวแปรอื่นๆ มาร่วมวิจัยด้วย

แพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดลตา 2 เท่าตัว

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจริงของนักวิทยาศาสตร์ในแอฟริกาใต้พบว่า ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์โอมิครอน มีอัตราเพิ่มมากขึ้นกว่าเชื้อเดลตาถึง 2 เท่าตัว และถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ จะยังไม่ได้รับการประเมินก่อนการตีพิมพ์ แต่มันช่วยตอกย้ำได้ว่า โอมิครอนมีอัตราการแพร่เชื้อที่สูงกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ

ทีมวิจัยในแอฟริกาใต้ได้วิเคราะห์ผู้ต้องสงสัยว่า อาจจะติดเชื้อซ้ำ 36,000 คน ก่อนพบว่าเชื้อโอมิครอนแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดลตา 2 เท่าตัว ตลอดช่วงเวลาของการระบาดใหญ่ ในขณะที่คลื่นการระบาดของเชื้อเดลตาและเบตาในแอฟริกาใต้เมื่อก่อนหน้านี้ กลับไม่พบความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำเท่าระลอกการระบาดในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนจะสามารถแพร่เชื้อได้เร็ว แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบข้อมูลที่ชี้ชัดว่า มันจะอันตรายร้ายแรงกว่าเชื้อเดลตามากขนาดไหน เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ตรวจสอบว่าในจำนวน 36,000 คน ที่เกิดการติดเชื้อซ้ำนั้น เป็นการติดเชื้อโอมิครอนหรือไม่ แต่จากการเปรียบเทียบกับอัตราการติดเชื้อซ้ำในระลอกการระบาดของเดลตาและเบตานั้น ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์อธิบายจังหวะเวลาจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนได้

อาจหลบวัคซีนได้ แต่ยังไม่รู้ว่ามากแค่ไหน

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า เชื้อโอมิครอนอาจหลบหลีกวัคซีนได้ดี เมื่อเทียบกับเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากโอมิครอนมีการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่งของมัน อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่ทราบแน่ชัดว่า เชื้อโอมิครอนสามารถหลบหลีกวัคซีนได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ เชื้อโอมิครอน หรือ B.1.1.529 มีตำแหน่งการกลายพันธุ์บนหนามโปรตีนของตัวไวรัสกว่า 32 ตำแหน่ง และเป็นตำแหน่งโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการจับตัวรับบนผิวเซลล์กว่า 10 ตำแหน่ง โดยถึงแม้ว่ามันจะมีการกลายพันธุ์จำนวนมากในหลายตำแหน่ง แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่รู้ว่าโอมิครอนจะมีความรุนแรงขนาดไหน

WHO ออกโรงย้ำ “อย่าวิตก” จนเกินไป

ในขณะที่เงื่อนปมของเชื้อโอมิครอนค่อยๆ ถูกเปิดออก ณ ที่ประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO) โสมญา สวามินาธาน นักวิทยาศาสตร์ระดับต้นขององค์การอนามัยโลก ได้ออกมาระบุว่า สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในปีนี้ แตกต่างกันกับสถานการณ์การแพร่ระบาดเมื่อปีที่แล้วอย่างมาก

“หากถามว่าเราควรกังวลมากขนาดไหนล่ะก็ เราควรจะเตรียมตัวและระมัดระวัง อย่าวิตก เนื่องจากเราอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมากเทียบกับเมื่อปีก่อน” สวามินาธาน ระบุ ก่อนที่เธอจะกล่าวว่า ด้วยข้อมูลที่ได้มาจากทางแอฟริกาใต้ที่พบว่า โอมิครอนมีอัตรา “การแพร่กระจายที่สูง” มันจึงมีโอกาสที่จะกลายมาเป็นเชื้อที่ระบาดมากที่สุดในโลกแทนเดลตาได้

อย่างไรก็ดี สวามินาธานกล่าวว่า มันยังคงยากเกินไปที่จะทำนายอนาคตในตอนนี้ ถึงแม้ว่ามันอาจจะมีโอกาสที่โอมิครอนจะขึ้นมาระบาดมากที่สุดในโลก จากการที่มันมีอัตราการแพร่เชื้อที่เร็วกว่า ทั้งนี้ เชื้อเดลตายังคงเป็นเชื้อที่กำลังระบาดมากที่สุด โดยคิดเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อทั่วทั้งโลก

องค์การอนามัยโลกยังคงย้ำว่า ประชาชนทุกคนยังควรที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ในตอนนี้เช่นเคย ในขณะที่หลายบริษัทเวชภัณฑ์กำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเอง เพื่อนำมาตอบรับกับโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่อย่างโอมิครอนอีกที ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน หรือราวต้นปีหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook