ชัชชาติ แนะทางแก้วิกฤตโควิดใน กทม. อย่าให้ชีวิตของ อัพ VGB และอาม่า สูญเปล่า

ชัชชาติ แนะทางแก้วิกฤตโควิดใน กทม. อย่าให้ชีวิตของ อัพ VGB และอาม่า สูญเปล่า

ชัชชาติ แนะทางแก้วิกฤตโควิดใน กทม. อย่าให้ชีวิตของ อัพ VGB และอาม่า สูญเปล่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วานนี้ (24 เม.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีการเสียชีวิตของ อัพ VGB หรือ นายกุลทรัพย์ วัฒนผล อดีตเกมเมอร์ยุคบุกเบิกของไทย ที่เสียชีวิตจากการเข้ารับการรักษาโควิด-19 ช้าเกินไป เพราะต้องกักตัวอยู่ที่บ้านรอเตียงโรงพยาบาล จนกระทั่งอาการทรุดหนัก โดยนายชัชชาติชี้ให้เห็นว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ในการรับมือโควิด-19 ของ กทม. ที่ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยข้อความทั้งหมด ระบุว่า

ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ "พี่อัพ VGB" กุลทรัพย์ วัฒนผล ผมไม่ได้รู้จักคุณอัพเป็นการส่วนตัว แต่น้องในทีมงานมีความคุ้นเคยและเล่าเรื่องคุณอัพให้ฟัง อ่าน FB ของคุณอัพแล้วเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ และเราได้ยินเรื่องราวที่ไม่น่าจะเกิดแบบนี้หลายๆครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มันเกิดอะไรขึ้น?

สถานการณ์โควิดของ กทม.น่าเป็นห่วงมากกว่าทุกจังหวัด (จำนวนผู้ป่วยต่อวัน ย้อนหลัง 5 วัน: 350 365 446 740 1,582) โรงพยาบาลในกรุงเทพ มีหลายหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาล กทม. โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลหน่วยราชการอื่นเช่น ทหาร ตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน เเต่การที่กรุงเทพมหานครไม่ได้มีระบบบัญชาการรวมศูนย์เหมือนระบบของกระทรวงสาธารณสุขในต่างจังหวัด (สาธารณสุขจังหวัด) ซึ่งอาจทำให้การบริหารจัดการไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ยิ่งตอนนี้ มีประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ว่าถ้าโรงพยาบาลแห่งใดตรวจหาการติดเชื้อ COVID เมื่อผลการตรวจเป็น “บวก” โรงพยาบาลนั้นๆ ต้องรับผู้ป่วยไว้ ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ไม่ต้องการทำการช่วยตรวจ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วย หาที่ตรวจ Swab ไม่ได้ ทำให้อาจมีการแพร่เชื้อ และเมื่อผู้อาการหนัก ถึงไปหาหมอ หรือเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน

จากการหารือกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในกลุ่ม Better Bangkok เราเห็นว่าควรจะต้องมีการประสานงานศูนย์บัญชาการร่วมเพื่อมีการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลของส่วนราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึง โรงพยาบาลเอกชน เพื่อดำเนินการ

  1. รวบรวมทรัพยากรที่มีเพื่อบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ตั้งศูนย์ตรวจกลาง เพื่อตรวจเชื้อให้มากที่สุด
  3. จัดสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับรองรับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่อาการน้อยและยังไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล อาจให้อยู่ที่บ้าน (ถ้ามีความพร้อม) หรือสถานที่อื่นที่จัดเตรียมไว้เพื่อลดการแพร่เชื้อและลดภาระโรงพยาบาลและมีมาตรการในการติดตามที่เข้มงวดและพร้อมจะรับกลับมารักษาที่ โรงพยาบาลและให้ยาที่เหมาะสม
  4. วางแผนในการจัดตั้ง โรงพยาบาลเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อเป็นการช่วยผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาตัวใน โรงพยาบาลได้
  5. ขอความร่วมมือ โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ และ โรงพยาบาลเอกชน เพื่อบริหารจัดการการดูแลรักษาส่งต่อผู้ป่วยร่วมกันอย่างเป็นระบบ

ในกรุงเทพฯเรามีทรัพยากรและบุคลากรด้านการแพทย์ที่เก่งและมีศักยภาพสูงอยู่มาก ขอเพียงให้มีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบก็จะสามารถพาพวกเราผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

ตอนนี้ทุกๆท่านปฏิบัติงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย อย่าให้ต้องมากังวลเรื่องการบริหารจัดการหรือการขาดแคลนอุปกรณ์อีก ผู้รับผิดชอบต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีมาช่วยสนับสนุนและร่วมมือกันอย่างเต็มที่ อย่าเอากฎระเบียบมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน

ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขทุกๆท่าน และขอให้ท่านที่ป่วย รักษาตัวหายจากอาการ ปลอดภัยแข็งแรงดีไวๆนะครับ
เราต้องอย่าให้การสูญเสียคุณอัพ อาม่า และคนอื่นๆจากโควิดเป็นเรื่องสูญเปล่า อย่าให้เราต้องใช้ Social Media ในการขอรถพยาบาลหรือหาเตียง เราต้องเรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุง เพื่อไม่ให้เรื่องที่ไม่น่าเกิดนี้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆอีกในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook