อองซานซูจี ปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรก หลังถูกรัฐประหาร

อองซานซูจี ปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรก หลังถูกรัฐประหาร

อองซานซูจี ปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรก หลังถูกรัฐประหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ออง ซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือนของเมียนมาที่ถูกกองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ นับตั้งแต่ถูกทหารจับกุมตัวไปพร้อมกับแกนนำรัฐบาลคนอื่นๆ

นางซูจีปรากฏตัวต่อศาลผ่านทางวิดีโอออนไลน์ จากกรุงเนปิดอว์ โดยทนายความของนางซูจี กล่าวว่า อัยการได้สั่งฟ้องเธอในสองข้อหา คือพยายามปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และมีอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่มีใบอนุญาต

ก่อนหน้านี้นางซูจีถูกตั้งข้อหานำเข้าอุปกรณ์สื่อสารแบบวอล์คกี้-ทอล์คกี้ อย่างผิดกฎหมาย หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้านของเธอและพบอุปกรณ์ดังกล่าว 6 เครื่อง รวมทั้งข้อหาละเมิดกฎหมายรับมือภัยธรรมชาติ ด้วยการจัดการชุมนุมของผู้คนเกินจำนวนที่กำหนดระหว่างที่มีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน การประท้วงในหลายเมืองของเมียนมายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หนึ่งวันหลังจากที่มีผู้ประท้วงถูกตำรวจและทหารเมียนมาสังหาร 18 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 30 ราย ในวันที่ถือว่ามีการนองเลือดมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ตามรายงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ

สำนักข่าว Associated Press รายงานว่า ภาพที่เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์แสดงให้เห็นประชาชนหลายคนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนจริง นอกจากนี้มีรายงานจากผู้เห็นเหตุการณ์ว่ามีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และหัวฉีดน้ำแรงดันสูงกับผู้ชุมนุมในนครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองทวายด้วย

แถลงการณ์ของโฆษกสภาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ราวีนา ชามดาซานี ระบุว่า ตลอดวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตำรวจและทหารเมียนมาได้ปะทะกับประชาชนในหลายเมืองที่ประท้วงอย่างสันติ มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน ซึ่งทางสหประชาชาติขอให้กองทัพเมียนมายุติการกระทำดังกล่าวทันที

ทางด้านนายทอม แอนดรูส์ ผู้เขียนรายงานพิเศษต่อสหประชาชาติ เปิดเผยแถลงการณ์เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ที่คณะมนตรีความมั่นคงและประเทศสมาชิกสหประชาชาติสามารถนำมาใช้เพื่อลงโทษเมียนมา ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรการขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา และการลงโทษธุรกิจต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารของเมียนมา รวมทั้งขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเรียกประชุมเพื่อหารือในประเด็นนี้ทันที

ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มีแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมาจนนำไปสู่การนองเลือดเมื่อวันอาทิตย์ พร้อมยืนยันว่าสหรัฐฯ จะยืนเคียงข้างประชาชนเมียนมา

ขณะที่นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ส่งสัญญาณว่าอาจจะเพิ่มมาตรการลงโทษต่อผู้รับผิดชอบต่อการสังหารประชาชนในครั้งนี้ด้วย

มีการประท้วงทั่วเมียนมาทุกวันนับตั้งแต่นางซูจีและสมาชิกของรัฐบาลพลเรือนคนอื่นๆ ถูกกองทัพควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยทางกองทัพเมียนมาอ้างว่า มีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งไปอย่างถล่มทลาย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อนำมาซึ่ง “ประชาธิปไตยที่แท้จริงและเป็นระเบียบ” แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook