ยื้ออีกยก! มติรัฐสภา 366 ต่อ 315 ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่

ยื้ออีกยก! มติรัฐสภา 366 ต่อ 315 ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่

ยื้ออีกยก! มติรัฐสภา 366 ต่อ 315 ส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับหรือไม่ โดย ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน ยืนยันว่าทำได้เพียงแก้ไขรายมาตราเท่านั้น

วันนี้ (9 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอเสนอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นญัตติที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

ล่าสุดเมื่อเวลา 14.24 น. ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติ 366 เสียง ต่อ 315 เสียง เห็นชอบให้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีสมาชิกรัฐสภา 15 คนที่งดออกเสียง จากผู้ร่วมประชุมทั้งสิ้น 696 คน

โดยหลังจากนี้ ประธานรัฐสภาจะส่งคำร้องของนายไพบูลย์และนายสมชาย ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

"ไพบูลย์" ย้ำ รธน.ไม่เปิดทางร่างฉบับใหม่ ทำได้เพียงแก้รายมาตรา

ก่อนหน้านี้ ส.ส.ไพบูลย์ เสนอเหตุผลว่า การยื่นญัตติในครั้งนี้ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งหลังจากที่ตนเองได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการ ก็พบประเด็นข้อกฎหมายว่า รัฐสภาจะมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 256 ไม่ได้บัญญัติให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งกัน

ตนจึงเห็นว่าหากไม่มีการดำเนินการให้ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจหรือไม่ ตนเป็นห่วงว่าจะมี ส.ว. อาจจะเกรงว่ามีปัญหา เมื่อไม่ชัดเจนในการลงมติวาระ 3 ก็อาจจะไม่กล้าที่จะให้ความเห็นชอบอาจงดออกเสียง ทำให้ได้เสียงเห็นชอบในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ยังกล่าวอีกว่า แม้จะมีสมาชิกรัฐสภาหลายท่านไม่เห็นด้วยในการส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่บอกว่าให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังจากพิจารณาวาระ 3 เสร็จแล้ว ซึ่งจะต้องไปทำประชามติ ตนก็เห็นว่าต้องไปส่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดีแต่จะต้องเสียเงิน 3,000 ล้านบาท หากศาลวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดำเนินการไม่ได้ ดังนั้นการที่ยื่นญัตติฉบับนี้ก็เพื่อทำความชัดเจน ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการทำประชามติ

ดังนั้นเมื่อรัฐสภามีมติญัตตินี้แล้วขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้มีบันทึกความเห็นของกรรมการกฤษฎีกา ต่อผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีความเห็นให้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 และคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ดังนั้นกรณีที่เป็นปัญหาจึงควรส่งญัตติให้วินิจฉัยโดยด่วน ทั้งนี้ ญัตตินี้ไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองชั่วคราวหรือให้ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ​ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังดำเนินต่อไปได้

“หากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าทำได้ จะทำให้ ส.ว.สบายใจ และการลงมติวาระ 3 ไม่มีปัญหา แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำฉบับใหม่ และแก้ไขได้เพียงรายมาตราเท่านั้น ผมเสนอให้ตั้ง กมธ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของรัฐสภา ซึ่งจะแก้ไขกว่า 100 มาตราได้ เชื่อว่าจะไม่เสียเวลาและงบประมาณจำนวนหมื่นล้านบาท” นายไพบูลย์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook