“นิยายหญิงรักหญิง” พื้นที่ของคนชนชั้นเงา

“นิยายหญิงรักหญิง” พื้นที่ของคนชนชั้นเงา

“นิยายหญิงรักหญิง” พื้นที่ของคนชนชั้นเงา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันนี้ “หญิงรักหญิง” หรือ “เลสเบี้ยน” (Lesbian) อาจไม่ใช่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่ถูกมองเห็นมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเกย์ หรือกลุ่มคนข้ามเพศในสังคมไทย แต่กลุ่มหญิงรักหญิงก็ยังต้องเผชิญกับการถูกคุกคามหลายรูปแบบ เช่น วาทกรรม “แก้ทอมซ่อมดี้” ที่สะท้อนให้เห็นอคติและมายาคติของสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มหญิงหญิงมาอย่างยาวนาน หรือ การเป็น “ชนชั้นเงา” ในสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเธอเผยอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองมากนัก อย่างไรก็ตาม กลุ่มหญิงรักหญิงก็เสาะแสวงหาพื้นที่ปลอดภัยที่จะแสดงอัตลักษณ์ความเป็น “หญิงรักหญิง” ได้อย่างอิสระ นั่นคือ “งานวรรณกรรม” และในโอกาส Pride Month ปีนี้ Sanook ก็ขอพาทุกคนไปสำรวจพื้นที่ของ “คนชนชั้นเงากลุ่มนี้” ในหน้ากระดาษและในสังคมไทย เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจพวกเธออย่างแท้จริง

พื้นที่ของคนชนชั้นเงา

แม้สังคมไทยจะเปิดรับและให้พื้นที่กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ต้องยอมรับว่า สังคมยังมีอคติมายาคติต่อคนกลุ่มนี้อยู่มาก ซึ่งทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติอยู่เสมอ เช่นเดียวกับกลุ่มหญิงรักหญิง ที่ต้องพบเจอกับการคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนหญิงรักหญิงให้กลายเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้ชายด้วยการคุกคามทางเพศ เพราะเชื่อว่า “ถ้าได้เจอของแท้ เดี๋ยวก็หาย” หรือการที่สังคมไทย “ไม่ซีเรียส” กับการเป็นหญิงรักหญิง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้พวกเธอไม่ถูกสังคมตีตรามากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มชายรักชาย แต่ในอีกแง่หนึ่ง “ความรัก” ของพวกเธอก็ไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

“สังคมมองว่าความรักของคุณไม่สำคัญ เขาไม่เห็นความสำคัญของการนิยามอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งมันก็อาจจะดีกับหญิงรักหญิงที่เขาก็สบายดี อยู่อย่างนี้โดยไม่ได้รับสิทธิ์อะไร เขาก็ใช้ชีวิตของเขาสลับไปมาได้ ไม่ต้องยืนยันตัวเองว่าตัวเองมีแฟนเป็นเพศเดียวกัน” คุณฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์สะพาน แสดงความคิดเห็น  

ด้าน คุณเอมอนันต์ อนันตลาโภชัย นักเขียนนิยายหญิงรักหญิง เจ้าของนามปากกา “คิลิน” ก็มองว่า การเปิดตัว (Come Out) ของหญิงรักหญิงขึ้นอยู่กับจุดที่แต่ละคนยืนอยู่ และการเปิดตัวว่าเป็นหญิงรักหญิงของบางคนก็อาจจะกระทบกับชีวิตของพวกเธอ จึงทำให้หญิงรักหญิงกลายเป็น “ชนชั้นเงา” ที่แทบจะไร้ตัวตนในสังคม และเหตุผลหลักของการยอมที่จะอยู่ใน “เงา” ก็คือ “แม่”

“ส่วนใหญ่มันคือ “ความแคร์แม่เขากลัวแม่รู้ กลัวแม่เสียใจ แม่ขอไว้ ซึ่งถ้าพูดถึงแง่นี้ ใจผู้หญิงใหญ่นะ ใหญ่มากพอที่จะสละชีวิตช่วงหนึ่งเพื่อแต่งงาน เพราะรักแม่ เหมือนกะเทยที่ยอมบวชนั่นแหละ” คุณเอมอนันต์ เล่า

ยิ่งไปกว่านั้น เราแทบจะไม่เห็นบทบาทของกลุ่มหญิงรักหญิงในการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทยมากนัก ซึ่งคุณฉันทลักษณ์ชี้ว่า เพราะหญิงรักหญิงไม่สามารถเปิดตัวได้ ขณะเดียวกันพวกเธอก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนหรือถูกกดขี่ รวมทั้งในความเป็นผู้หญิงที่ถูกเลี้ยงดูภายใต้บริบทของสังคมไทย ก็ทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยกล้าที่จะแสดงออก สอดคล้องกับคุณเอมอนันต์ ที่ระบุว่า

“เราไม่รู้สึกว่าเราต้องออกไปสู้ แต่เราพร้อมสนับสนุนคนที่สู้ คือถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้ดื้อแล้วเจ็บ เราจะดื้อทำไม ในเมื่อโครงสร้างบางอย่างที่เราทราบกัน เขาไม่ได้ยิน ต่อให้ตะโกนใส่เขา เขาก็ไม่ฟัง เขาไม่ได้ยิน

พื้นที่ในโลกนิยาย

เมื่อพื้นที่ของหญิงรักหญิงในสังคมมีอย่างจำกัด พวกเธอจึงสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองผ่านงานวรรณกรรม ที่ไม่ได้มีแต่มิติเรื่อง “เพศ” เพียงอย่างเดียว แต่มีความหลากหลายและมีความเป็นมนุษย์สอดแทรกอยู่ในงาน ซึ่งอาจเป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่ไม่ใช่ประเด็นหญิงรักหญิงเป็นสำคัญ แต่เป็น “สิทธิที่มนุษย์ผู้หญิงคนหนึ่งพึงได้รับ” ขณะที่คุณฉันทลักษณ์เล่าว่า นักเขียนส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มหญิงรักหญิง ที่ชอบอ่านชอบเขียนเป็นทุนเดิมและไม่สามารถหาอ่านเรื่องราวเหล่านี้ได้ จึงนำไปสู่การเขียนงานลักษณะนี้ขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง   

“เราเบื่อนิยายหญิงชายที่เป็นมายาคติมาก ๆ ก็เลยค้นหาหนังสือหญิงรักหญิง แล้วก็ลองเขียนดู เพราะเราอยากหาทางออกให้ตัวเอง หาอะไรมาเติมเต็มตัวเอง และเชื่อว่าความต้องการ “เงา” แบบนี้ยังมีอยู่อีกเยอะมาก” คุณเอมอนันต์เล่า

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งงานวรรณกรรมที่เป็นเรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ+ ก็เคยถูกทำให้เป็น “เงามืด” ของแวดวงวรรณกรรม เมื่อสังคมรักต่างเพศทำการต่อต้านและกีดกันงานเหล่านี้ ถึงขนาดห้ามวางขายในร้านหนังสือและในงานหนังสือ เนื่องจากเหตุผลทาง “ศีลธรรม”

“เมื่อตอนปี 2550 มีร้านหนังสือแบรนด์หนึ่งไม่ให้ขายวรรณกรรมที่มีฉากร่วมเพศของคนเพศเดียวกัน เรายังไปต่อต้านจนเขายกเลิก แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย มันเปลี่ยนมากจนเรารู้สึกตลก เมื่อก่อนสำนักพิมพ์ที่ไม่รับต้นฉบับแนวนี้เลย ตอนนี้เขารับหมด หรือถ้าไปร้านหนังสือตอนนี้ เขาจะแยกเป็นชั้นพิเศษเลย ทั้งที่เมื่อก่อนขายไม่ได้ ห้ามเอามาวาง” คุณฉันทลักษณ์เล่า ซึ่งความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของงานวรรณกรรมหญิงรักหญิง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ชี้ให้เห็น “ความเปลี่ยนแปลง” ของสังคมต่อกลุ่ม LGBTQ+

นอกจากนี้ งานวรรณกรรมหญิงรักหญิงในปัจจุบัน ยังได้รับความนิยมในหมู่นักอ่านที่ไม่ใช่แค่กลุ่มหญิงรักหญิงเท่านั้น แต่เป็น “กลุ่มนักอ่านผู้ชาย” ที่มีสัดส่วนเยอะมากขึ้น และคอยให้การสนับสนุนงานวรรณกรรมรูปแบบนี้ ซึ่งคุณเอมอนันต์มองว่า พฤติกรรมการบริโภคงานหญิงรักหญิงของนักอ่านชาย “เป็นเรื่องที่น่ารัก”

“ไม่ว่าเขาจะเอาไปใช้อะไร แต่มันเป็นการสนับสนุนในเชิงที่มีคนนิยมผลงานแบบนี้ แล้วเขาก็เอาตัวเองมาซื้อ จะบอกว่าเขาไม่เคารพหรือไม่ให้เกียรติก็คงไม่ได้”

จากที่ซ่อนสู่แสงสว่าง

แม้ว่าความเชื่อและทัศนคติในทางลบต่อกลุ่มหญิงรักหญิงจะยังไหลเวียนอยู่ในสังคมไทย แต่การเปิดรับและความเข้าใจต่อคนกลุ่มนี้ก็มีเพิ่มขึ้น จากในอดีตที่ไม่มีสื่อหรือพื้นที่แสดงออกตัวตน ทำให้กลุ่มหญิงรักหญิงรู้สึกโดดเดี่ยว จนมาถึงปัจจุบันที่ “อินเตอร์เน็ต” เข้ามามีบทบาทในการสร้างพื้นที่ให้หญิงรักหญิงมากขึ้น ก็ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจและยอมรับความเป็นกลุ่มหญิงรักหญิงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรืออาจพูดได้ว่า “แสงสว่าง” ของการเปิดใจและการยอมรับจากสังคม ทำให้กลุ่มหญิงรักหญิงที่อยู่ในเงามานาน ได้รับ “การมองเห็น” มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงเห็นชัดเจนว่า คนที่เปิดตัวเป็นหญิงรักหญิงที่ไม่ใช่ทอมดี้มีมากขึ้น ผู้หญิงผมยาวจับมือกัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะบอกว่าเขาเป็นเพื่อนกัน ซึ่งเป็นเพื่อนกันจริงไหมไม่รู้ แต่เราก็คิดว่าเขาเป็นเพื่อนกัน แต่ปัจจุบันจะเป็นแบบ “แฟนหรือเปล่านะ” ซึ่งมันเริ่มมาแล้ว และมีเยอะขึ้น” คุณเอมอนันต์ชี้

เพราะฉะนั้น พื้นที่ของหญิงรักหญิงในสังคมจึงขยายมากขึ้น ไม่ได้อยู่อย่างปิดเงียบเป็นเงาเหมือนในอดีตอีกแล้ว เช่นเดียวกับพื้นที่ในแวดวงงานวรรณกรรมที่จะยังมีต่อไปเรื่อย ๆ เพราะความต้องการของกลุ่มหญิงรักหญิงและกลุ่มผู้อ่านงานรูปแบบนี้ยังมีอยู่ ซึ่งคุณฉันทลักษณ์มองว่า

งานวรรณกรรมหญิงรักหญิงหรือชายรักชาย ที่คนเขียนเป็นชายรักชายหรือหญิงรักหญิงจะยังคงได้รับความนิยมต่อไป อาจจะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ก็ได้ จะไม่เหมือนงานวรรณกรรมชายรักชายที่เป็นแนววาย เพราะวรรณกรรมรูปแบบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อก่อนมันบูมมาก ขายได้เหมือนแจกฟรี แต่ตอนนี้ก็แผ่วลง”

การสร้างพื้นที่ในสังคมของกลุ่มหญิงรักหญิง อาจไม่ได้ชัดเจนเหมือนกับกลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มอื่น ๆ เพราะบริบททางสังคมที่ทาบทับความเป็นหญิงของพวกเธอเอาไว้ ดังนั้น พื้นที่ของหญิงรักหญิงอาจจะอยู่แค่บน “ชั้นหนังสือชั้นเดียว” ของบ้าน หรืออยู่ในกลุ่มปิดที่พวกเธอไว้ใจ แต่ไม่ว่าพื้นที่ของหญิงรักหญิงจะอยู่ตรงไหน จะเป็นชนชั้นเงาในสังคมหรือต้องปกปิดอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองไว้เพื่อรักษาน้ำใจคนที่พวกเธอรัก สิ่งสำคัญที่สุด คือ การใช้ชีวิตให้มีความสุข เพราะท้ายที่สุดแล้ว “เพศก็เป็นเพียงคำสมมติ” ขึ้นมาเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook