WHO ชี้ ต้องมี 6 ข้อนี้ ถ้าจะยกเลิก “การล็อกดาวน์” ช่วงโควิด-19

WHO ชี้ ต้องมี 6 ข้อนี้ ถ้าจะยกเลิก “การล็อกดาวน์” ช่วงโควิด-19

WHO ชี้ ต้องมี 6 ข้อนี้ ถ้าจะยกเลิก “การล็อกดาวน์” ช่วงโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับคนหลายล้านคนที่ต้องอยู่บ้านตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เราทุกคนเตรียมพร้อมที่จะ“เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสำหรับอนาคตอันใกล้” พร้อมกันนี้ยังได้ให้คำแนะนำว่าเมื่อไรที่จะสามารถลดระดับมาตรการล็อกดาวน์ได้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ

“สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาคือ ยิ่งเราเจอผู้ติดเชื้อ ทำการแยกตัวและรักษาได้รวดเร็วมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเกิดได้ยากขึ้นเท่านั้น หลักการปฏิบัติดังกล่าวจะช่วยรักษาชีวิตและช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ได้” เทดรอส อัทนอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว

เชื้อไวรัสโคโรนาได้คร่าชีวิตคนมากมายทั่วโลก ทั้งยังเปลี่ยนโฉมหน้าสังคมและทำให้ชีวิตของคนต้องหยุดชะงัก รวมไปถึงเด็ก ๆ กว่า 1,400 ล้านคนที่ต้องหยุดไปโรงเรียนเพราะมาตรการปิดเมืองอีกด้วย การระบาดใหญ่ในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อบริษัทขนาดเล็ก-ใหญ่ และผลักให้คนหลายล้านคนต้องตกงาน

ในรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการหดตัวทางเศรษฐกิจเกือบ 6 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอเมริกา

จากผลกระทบของไวรัสโคโรนาทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่า การกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติในหลายประเทศอาจจะยังเร็วเกินไป ความพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจอาจนำไปสู่การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สอง ดังนั้น จึงต้องทำด้วยความรอบคอบและประสานงานกับทุกภาคส่วน

นายเทดรอสกล่าวว่า รัฐบาลที่ต้องการลดระดับมาตรการการควบคุมโรค จำเป็นต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 6 ข้อ ดังนี้

1. สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว

2. ระบบสุขภาพต้องสามารถ “ตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา พร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค”

3. มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา

4. โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ

5. สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้

6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการเกิดโรค

จากรายงานของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ แสดงให้เห็นยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกทะลุ 2 ล้านรายอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตแล้วกว่า 120,000 ราย และมีแนวโน้มว่าจะยังเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม แม้บางประเทศจะสามารถผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศลงได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ยังต้องได้รับอุปกรณ์การป้องกันโรค ยังต้องมีการจัดเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักเอาไว้ เพราะการออกจากมาตรการล็อกดาวน์ อาจทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อกลับมาอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook