TDRI เสนอ “เปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป” หลังล็อกดาวน์ หวังเศรษฐกิจเดินหน้า

TDRI เสนอ “เปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป” หลังล็อกดาวน์ หวังเศรษฐกิจเดินหน้า

TDRI เสนอ “เปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป” หลังล็อกดาวน์ หวังเศรษฐกิจเดินหน้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เสนอแนวทางการเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป ผ่านบทความ “เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

จากบทความดังกล่าว ดร.สมชัยระบุว่า การปิดเมืองเป็นมาตรการภาคบังคับมาตรการหนึ่ง เพื่อให้คนเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แต่ที่จริงแล้ว ยังมีมาตรการลดการระบาดอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านหรืออยู่ในพื้นที่แออัด การห้ามชุมนุมตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปในบางประเทศ รวมทั้งมาตรการที่ไม่ใช่การบังคับ เช่น การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ มาตรการป้องกันโดยสมัครใจของสถานประกอบการหรือสถานที่ต่าง ๆ และการที่ภาครัฐยกระดับการตรวจหาผู้มีเชื้อในผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการอื่นที่ชวนให้สงสัย การตามรอยกลุ่มเสี่ยง การกักกันในสถานที่รัฐกำหนดหรือที่บ้าน

สำหรับข้อเสนอของ TDRI เกี่ยวกับการเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดร.สมชัยระบุว่า เบื้องต้นควรเริ่มจากการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองสถานการณ์ต่างๆ โดยกระจายความรู้ไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ พร้อมแนวทางสื่อสารที่จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนนำความรู้เหล่านี้มาใช้อย่างสมัครใจและทั่วถึง รวมทั้งการทำให้มาตรการตรวจเชื้อ แกะรอย กักกัน มีความครอบคลุมและเข้มข้นมากขึ้นในทุกกรณีของการระบาด เพื่อป้องกันผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงไม่ให้มีโอกาสแพร่เชื้อ

เมื่อดำเนินการตามมาตรการเบื้องต้นแล้ว จึงเริ่มพิจารณาทยอยเปิดเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยแยกแยะสถานที่ที่ปัจจุบันถูกสั่งให้ปิดหรือให้ดำเนินการอย่างจำกัด และพิจารณาตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สถานที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงตามธรรมชาติต่อการระบาดของเชื้อมากเพียงใด
(2) สามารถมีมาตรการบรรเทาความเสี่ยงได้ด้วยต้นทุนที่ไม่มากเกินไปหรือไม่
(3) หากดำเนินการลดความเสี่ยงด้วยมาตรการที่ว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกลับมาใกล้ปกติได้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม การใช้เกณฑ์ทั้ง 3 ดังกล่าวต้องมีเหตุผลทางวิชาการมารองรับ เช่น ความสามารถในการเว้นระยะห่าง การถ่ายเทของอากาศ พฤติกรรมของผู้ร่วมในกิจกรรม เป็นต้น

ดร.สมชัยได้ให้ข้อเสนอเบื้องต้นว่า ควรปิดสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดการรวมตัวอย่างแออัดของคนไว้ก่อน ซึ่งสถานที่เหล่านี้มักจะรักษาระยะห่างยาก อากาศไม่ถ่ายเท และพฤติกรรมของผู้ใช้งานพื้นที่ก็มักขาดการระมัดระวังหรือมีแนวโน้มไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันการระบาด เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ผับ บาร์ การแสดงคอนเสิร์ต โรงภาพยนตร์ โต๊ะสนุกเกอร์ และควรปิดบ่อนพนันต่างๆ ให้ได้ผลจริง เพราะเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ

นอกจากนี้ ในกลุ่มสถานที่ที่ให้บริการสาธารณะกับประชาชน เช่น สถานศึกษา พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด รัฐบาลควรกำหนดมาตรการในรายละเอียดในการลดความเสี่ยง เช่น ห้ามผู้ที่มีไข้เข้าใช้บริการ ทุกคนต้องสวมหน้ากาก ต้องนั่งห่างกัน หมั่นล้างมือ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่เป็นกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ ให้สภาหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรม เสนอแนวทางการป้องกันการระบาดที่เป็นรูปธรรมและมีรายละเอียดครบถ้วนในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้เปิดกิจกรรม จากนั้นให้นำเสนอมาตรการรายละเอียดเหล่านี้ให้กับภาครัฐ ซึ่งจะมีการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาว่ามาตรการดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ ก่อนจะทดลองเปิด และเก็บข้อมูลผลการระบาด

ส่วนกลุ่มกิจการขนาดเล็กของผู้ประกอบการชนชั้นกลางและรากหญ้า ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความท้าทายที่สุด เนื่องจากมีความหลากหลายและเจ้าของกิจการอาจจะไม่ได้มีเงินทุนมากพอในการจ้างผู้เชี่ยวชาญออกแบบมาตรการ ดร.สมชัยจึงเสนอว่าควรมีหน่วยงานกลาง เช่น ภาครัฐหรือมูลนิธิ มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัย เป็นเจ้าภาพในการรวบรวมความเห็นจากสังคมโดยรวม ในลักษณะ crowdsourcing ว่ากิจการแต่ละประเภทสามารถมีมาตรการลดความเสี่ยงที่เป็นรูปธรรม และปฏิบัติได้จริงอย่างไรบ้าง

เมื่อมีการกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงแล้ว รัฐก็จะประกาศใช้ โดยแบ่งออกเป็นมาตรการบังคับให้ทำและมาตรการที่แนะนำให้ทำ โดยอาจทดลองใช้หลังจากวันที่ 30 เมษายนเป็นเวลาสัก 2 สัปดาห์ และเลือกทำเฉพาะบางพื้นที่ หรืออาจทดลองในหลายพื้นที่และให้มีชุดมาตรการที่ต่างกัน เพื่อให้สามารถประเมินผลว่าชุดมาตรการใดน่าจะได้ผลดีกว่า จากนั้นนำข้อมูลการระบาดที่ได้จากแต่ละพื้นที่มาทำการศึกษาให้ได้ข้อสรุปว่าควรเดินหน้าต่อหรือไม่ ควรปรับมาตรการลดเสี่ยงอย่างไร ในระหว่างนั้นก็ควรมีมาตรการลดการเดินทางระหว่างเมืองลงเพื่อให้สามารถสรุปผลได้อย่างเที่ยงตรง และยังช่วยลดการแพร่ระบาดไปสู่พื้นที่อื่นด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.สมชัยระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น จำเป็นต้องได้รับการเสนอแนะจากบุคคลทั่วไปเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจกลับมาทำงานได้ ในขณะที่การระบาดถูกควบคุมไม่ให้ขยายตัวเป็นวงกว้าง และที่สำคัญคือลดความเดือดร้อนของคนยากจน รวมทั้งลดต้นทุนของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook