36 อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่อนแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย ยุบพรรคอนาคตใหม่

36 อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่อนแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย ยุบพรรคอนาคตใหม่

36 อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่อนแถลงการณ์ไม่เห็นด้วย ยุบพรรคอนาคตใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

36 คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่(อนค.) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.)เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคว่า

คณาจารย์ประจำของคณะนิติศาสตร์ 36 คน เห็นพ้องว่าควรมีการตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบางประเด็น เพื่อชี้ให้สาธารณชนได้ทราบว่าอาจมีแนวทางใช้และการตีความอื่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมกว่า

นอกจากนี้ พวกเราเห็นว่าในช่วงเวลาที่สังคมเกิดความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายและตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ นักวิชาการทางนิติศาสตร์จำเป็นต้องแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และตรงไปตรงมา เพื่อมีส่วนร่วมช่วยให้สังคมผ่านพ้นความขัดแย้งนี้ไปได้ด้วยความรู้และเหตุผล

ยืนยันว่าแถลงการณ์ฉบับนี้มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีศาลรัฐธรรมนูญหรือสนับสนุนกลุ่มการเมืองกลุ่มใด แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระภายใต้หลักนิติศาสตร์ การดำเนินการทั้งหมดนี้ดำเนินการในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงการณ์ระบุว่า

1.พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งการที่พรรคการเมืองที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนมีสถานะเป็นนิติบุคคลและมีหน้าที่บางประการภายใต้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้ทำให้พรรคมีสถานะเป็นนิติบุคลมหาชน ในทำนองเดียวกับสมาคม มูลนิธิ หรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทรัฐวิสาหกิจที่แม้รัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือถือหุ้นข้างมาก แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน

ทั้งนี้เป็นไปตามหลักทฤษฎีทางกฎหมายและตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุดที่วางบรรทัดฐานตลอดมาในระบบกฎหมายไทย และสอดคล้องหลักกฎหมายที่เป็นสากลทั่วโลก เมื่อพรรคไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน การกู้ยืมเงินของพรรคในฐานะนิติบุคคลนั้น จึงทำได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจดังเช่นนิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน การกู้ยืมเงินจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองสภาพบุคคลภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นิติบุคคลย่อมมีความสามารถและมีเสรีภาพเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรค ดังนั้น คณาจารย์นิติศาสตร์จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

2.การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าการให้กู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือการไม่คิดดอกเบี้ยนั้น เป็นกรณีที่ถือว่า “ผิดปกติทางการค้า”นั้น คณาจารย์นิติศาสตร์เห็นว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นเพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน
การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า โดยมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเครื่องยืนยันว่า การไม่คิดอัตราดอกเบี้ยหรือคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นเรื่อง“ปกติ” ด้วยเหตุนี้การให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่การบริจาคหรือการให้ประโยชน์อื่นใด ตามนัยของมาตรา 66 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแต่เป็นหนี้สินที่พรรคการเมืองอาจก่อขึ้นได้ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน

3.ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ ซึ่งมาตรา 72 กำหนดว่า ห้ามมิให้พรรคและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนมาตรา 66 กำหนดจำนวนเงินอย่างสูงหรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาค ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่า 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวครอบงำการดำเนินการของพรรค จะเห็นได้ว่า มาตรการตามมาตรา 66 และมาตรา 72 ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน การปรับใช้กฎหมายทั้ง 2 มาตราจึงแยกออกจากกันได้ ดังนั้น การรับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 66 จึงไม่อาจเป็นกรณีเดียวกับการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการกระทำตามมาตรา 66 ไม่อาจถูกเชื่อมโยงเข้ากับมาตรา 72 ได้หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้รับมานั้นมีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3)

พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมมีเสรีภาพทำสัญญากู้ยืมเงินได้โดยไม่จำต้องมีกฎหมายให้อำนาจและการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือแม้แต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลยเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามหลักเสรีภาพในการทำสัญญา เงินกู้ดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินที่มีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่อาจปรับเข้ากับมาตรา 72 เพื่อเป็นเหตุในการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ได้

4.ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ คณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสังเกตประการสำคัญต่ออำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตย ไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ การยุบพรรคจึงถูกใช้เฉพาะที่ได้ความอย่างชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคหรือกลุ่มทางการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น โดยหลักแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะต้องจำกัดอำนาจตนเองในการใช้อำนาจยุบพรรค หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้น ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองย่อมมีเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน การวินิจฉัยยุบพรรค จึงต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ทั้ง 2 ด้านดังกล่าวให้ได้ดุลยภาพกัน

กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคได้เฉพาะกรณีที่พรรคนั้นกระทำความผิดอย่างร้ายแรงจนถึงขนาดที่ไม่สามารถอ้างความคุ้มครองจากเรื่องเสรีภาพของพรรคได้เท่านั้น การยุบพรรคจึงต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (ultima ratio) ของมาตรการอื่นๆ เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้น และกรณีที่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง

คณาจารย์นิติศาสตร์เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยที่สั่งสมมายาวนาน จะได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยการใช้การตีความกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ และผู้คนในสังคมร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลและความอดทนอดกลั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook