ยาบ้า-ยาไอซ์ วัตถุเสริมความฮึกเหิมทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ยาบ้า-ยาไอซ์ วัตถุเสริมความฮึกเหิมทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ยาบ้า-ยาไอซ์ วัตถุเสริมความฮึกเหิมทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักบินคามิคาเซะของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนก่อนออกบินเที่ยวสุดท้ายจะฉีดยาไอซ์เข้าเส้นและเสพยาบ้าเม็ดที่มีตราดอกเบญจมาศซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ของพระเจ้าจักรพรรดิที่ทางการทหารแจกให้

ซึ่งทั้งยาบ้าและยาไอซ์นี้ ทางการญี่ปุ่นเรียกว่า ยาสร้างแรงบันดาลใจให้กับวิญญาณนักรบ โดยบรรดาทหารญี่ปุ่นได้รับแจกทุกคนเพื่อสร้างความฮึกเหิมยามเข้าสู่สมรภูมิ

องค์ประกอบหลักของยาบ้าและยาไอซ์นี้คือ “แอมเฟตามีน” ซึ่งผลิตจากห้องปฏิบัติการเท่านั้น ด้วยความพยายามที่จะผลิตสารเคมีที่สามารถออกฤทธิ์ได้เหมือนพืชสมุนไพรประเภทไม้พุ่มที่ค่อนข้างหายากจากทะเลทรายที่ชื่อ “มาฮวง” หรือต้นอีเฟดราซึ่งชาวจีนนำมาใช้ผสมเป็นยาแก้ไอ แก้หวัด และช่วยให้มีสมาธิ รวมถึงช่วยให้ตื่นตัวมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ทหารยามกะกลางคืนใช้ในการอยู่ยามเวลาค่ำคืน

เมื่อปี พ.ศ. 2430 นักเคมีญี่ปุ่นสามารถสกัดสารหลักจากต้นอีเฟดราคือ “อีเฟดรีน” ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายสารแอดรีนาลีนที่เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไต กระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงร่างกายเกิดความเครียดตื่นตัวขึ้น และในปีถัดมาก็มีการสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือ เมแทมเฟตามีน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าแอมเฟตามีนขึ้นไปอีก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 ก็มีนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ นายอกิระ โอกาตะ ที่สามารถสังเคราะห์สารอีเฟดรีนขึ้นได้ในห้องปฏิบัติการ ในที่สุดนักเคมีชาวอังกฤษจึงสามารถผลิตสูตร “แอมเฟตามีน” ได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2470 ที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย ยู.ซี.แอล.เอ. สหรัฐอเมริกา

ในอดีตแอมเฟตามีนถูกใช้เป็นยารักษาโรคหลายชนิด ที่นิยมแพร่หลายเป็นยาดมแก้หวัดคัดจมูก โดยมีไส้กระดาษชุบด้วยน้ำยาบรรจุไว้ในหลอดให้สูดดม แต่ก็มีผู้นำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อกระตุ้นร่างกายและลดความอ้วนโดยนำไส้กระดาษซับมาจุ่มน้ำเพื่อละลายตัวยา แล้วนำมาใช้กินแทน

ต่อมามีการผลิตแอมเฟตามีนให้อยู่ในรูปยาเม็ดใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องมีใบสั่งยาก็ซื้อหามาใช้ได้ ในขณะนั้นมีการโฆษณาสรรพคุณของแอมเฟตามีนว่าสามารถรักษาโรคได้ถึง 39 โรค เช่น โรคจิต โรคประสาท โรคซึมเศร้า โรคปวดศีรษะ เป็นต้น โดยไม่ได้ตระหนักถึงฤทธิ์ของยาที่ทำให้เสพติดกันมากนัก และมีประชาชนจำนวนมากที่นำมาใช้ในทางที่ผิด

ในปี พ.ศ. 2482 สหรัฐอเมริกาประกาศให้ยาจำพวกแอมเฟตามีนเป็นยาควบคุมซึ่งต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์จึงจะซื้อได้ ทำให้การใช้ยาชนิดนี้ลดน้อยลงจากท้องตลาด และเริ่มมีการผลิตและจำหน่ายผิดกฎหมายเป็นยาม้า ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นยาบ้าอย่างแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ยังมีการเอาเมแทมเฟตามีนมาผลิตเป็นยาไอซ์ ซึ่งทั้งยาบ้าและยาไอซ์ก็เป็นยาเสพติดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าศาสตราจารย์ปีเตอร์ แอนเดรียสแห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบหลักฐานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการผลิตทั้งยาบ้าและยาไอซ์เพื่อแจกจ่ายให้กับทหารญี่ปุ่นที่จะเข้าสู่สมรภูมิทุกคนเพื่อกระตุ้นความฮึกเหิม ลืมความกลัวตายไป

ครับ! นับว่าข้อมูลของอาจารย์ปีเตอร์ แอนเดรียสได้เปิดหูเปิดตาให้กับโลกถึงความโหดร้ายของสงคราม ที่นอกจากจะทำความพินาศฉิบหายมาสู่มนุษยชาติในยามสงครามแล้วยังมีผลกระทบข้างเคียงต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่เลวร้ายไปทั่วโลกอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook