ส.ส.อังกฤษ ลากประธานสภาฯ นั่งบัลลังก์! ประเพณีสุดขำที่เคยเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

ส.ส.อังกฤษ ลากประธานสภาฯ นั่งบัลลังก์! ประเพณีสุดขำที่เคยเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

ส.ส.อังกฤษ ลากประธานสภาฯ นั่งบัลลังก์! ประเพณีสุดขำที่เคยเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่รัฐสภาไทยได้เลือก วันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 Sanook ก็ขอพาทุกคนไปดูการเลือกตั้งประธานสภาสามัญของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำสืบต่อกันมาอย่างเนิ่นนาน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2562 มีการเลือกตั้งประธานสภาสามัญชนของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) แทนประธานสภาสามัญชนคนเดิมคือ นายจอห์น เบอร์คาว ผู้ลาออกจากตำแหน่งหลังจากทำหน้าที่ประธานสภาสามัญจนครบวาระ 2 สมัยแล้ว

ปรากฏว่าผู้ที่ได้ตำแหน่งไปครองคือ เซอร์ ลินด์เซย์ ฮอยล์ อดีตรองประธานสามัญชนของนายจอห์น เบอร์คาว ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 10 ปีนั่นเอง

สำหรับท่านผู้อ่านที่ดูข่าวทางโทรทัศน์คงแปลกใจที่บรรดาสมาชิกสภาสามัญชนได้กรูเข้าไปฉุดกระชากผลักดันประธานสภาไปยังที่นั่งประจำตำแหน่ง ซึ่งก็ดูเป็นพิธีกรรมที่แปลกพอสมควรแต่เนื่องจากประธานสภาคนใหม่ท่านอายุ 62 ปีแล้วและมีรูปร่างผอมบางจึงมีการฉุดกระชากผลักดันกันพอเป็นพิธี

ว่ากันว่าในสมัยก่อนๆ นั้นมีดราม่าเยอะครับ มีการฉุดกระชากลากถูกันเป็นงานเป็นการ และตัวประธานสภาคนใหม่ก็ต้องดิ้นรนขัดขืนร้องโวยวายไม่ยอมไปนั่งที่ประธานสภากันง่ายๆ หรอกครับ

ความจริงมันมีประวัติศาสตร์ครับ คือสมัยก่อนที่กษัตริย์อังกฤษยังมีอำนาจอยู่เหนือกฎหมายนั้นโดยมากก็ไม่ค่อยสนใจสภาสามัญชนเท่าไหร่หรอกครับ นอกจากเกิดมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีที่เคยเก็บอยู่แล้ว จำเป็นต้องขึ้นภาษีหรือเก็บภาษีชนิดใหม่เหมือนอย่างภาษีความหวาน-ความเค็มที่รัฐบาลไทยจะจัดเก็บอยู่นั่นแหละ

ดังนั้นก็ต้องให้สภาสามัญชนคือสภาของประชาชนตกลงยินยอมออกกฎหมายให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นหรือเก็บภาษีใหม่ได้ ซึ่งประชาชนหน้าไหนก็ไม่ชอบเสียภาษีทั้งนั้นแหละ และผู้แทนราษฎรก็คือคนธรรมดาที่ถูกเลือกตั้งเข้ามาก็ไม่อยากให้มีการขึ้นภาษีหรือเก็บภาษีอย่างใหม่เหมือนกัน ถ้าไม่ยอมทำตามความประสงค์ของกษัตริย์ก็ต้องแจ้งให้กษัตริย์ทราบ ซึ่งประธานสภาสามัญชนในอดีตก็ถูกติดคุกติดตะรางกันหลายคน คนถึงไม่อยากเป็นยังไงล่ะครับ

ครั้นเมื่อถูกเลือกให้เป็นประธานสภาสามัญชนแล้วก็ต้องถูกฉุดกระชากลากถูให้ไปทำหน้าที่ให้ได้อยู่ดีจนเป็นพิธีกรรมขึ้นมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้การเป็นประธานสภาจะไม่เสี่ยงกับการติดคุกติดตะรางแล้ว แถมยังมีเงินค่าตอบแทนพิเศษแบบว่ามีรายได้สูงกว่าผู้แทนราษฎรทุกคนรวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วยก็ตาม

ขอแถมเรื่องรัฐสภาอังกฤษที่เรียกกัน The Westminster Parliament สักเล็กน้อย โดยรัฐสภาอังกฤษประกอบด้วยสภา 2 สภาคือ

1) สภาสามัญชน (House of Commons) คือ สภาผู้แทนราษฎร โดยสภาสามัญหรือที่เรียกว่าสภาล่าง ประกอบไปด้วยสมาชิก 650 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละหนึ่งคน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง วาระของสภาสามัญมีอายุกำหนดคราวละไม่เกิน 5 ปี แต่นายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้พระมหากษัตริย์ยุบสภาก่อนครบวาระและให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดก็ได้ แต่ปัจจุบันทำได้ค่อนข้างยากเพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาสามัญ 2 ใน 3 ขึ้นไป และสภาฯ อาจมีวาระมากกว่า 5 ปีก็ได้หากมีความจำเป็นต่อประเทศชาติหรือเกิดภาวะฉุกเฉิน

2) สภาขุนนาง (House of Lords) คือ วุฒิสภา ซึ่งในอดีตสภาขุนนางมีอำนาจมากกว่าสภาสามัญ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2454 มีการแก้ไขไม่ให้สภาขุนนางแก้ไขร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน แต่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบยืนตามสภาสามัญเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 กำหนดให้สมาชิกสภาขุนนางที่สืบฐานันดรศักดิ์ไม่อาจสืบทอดสมาชิกภาพให้แก่ทายาทได้อีกต่อไป และในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่แต่เดิมสภาขุนนางทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศ เปลี่ยนไปเป็นอำนาจของศาลฎีกา ซึ่งเปิดทำการครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 จึงถือเป็นการแยกอำนาจตุลาการออกมาอย่างเด็ดขาดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันสภาขุนนางมีสมาชิก 755 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook