ภาคประชาสังคมไทย เรียกร้องภาครัฐเร่งแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP

ภาคประชาสังคมไทย เรียกร้องภาครัฐเร่งแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP

ภาคประชาสังคมไทย เรียกร้องภาครัฐเร่งแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทย ภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามในคำประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 40,000 ล้านบาท) หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งรวมถึงสินค้าประมงและอาหารทะเลส่งออกของไทยทั้งหมด

โดยอ้างเหตุผลเรื่อง “ปัญหาด้านสิทธิแรงงานที่ยืดเยื้อมายาวนานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและการเดินเรือ” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาแถลงว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท จากรายการสินค้าที่ถูกระงับสิทธิ GSP จำนวน 573 รายการ ที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติประมาณร้อยละ 4.5

กรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization: AFL-CIO) ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 และวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ แม้ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีความพยายามจะแก้ไขและจัดทำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ ทว่าเนื้อหาในพระราชบัญญัติก็ยังไม่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ส่งผลให้สหรัฐฯ มองว่าไทยยังมิได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ

ขณะที่กลุ่มประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกมาเคลื่อนไหวกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยแถลงร่วมกันในนามภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน 14 องค์กร ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานมาต่อเนื่อง แต่ยังมีช่องโหว่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม กล่าวว่า การส่งออกเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังการผลิตสำคัญ ดังนั้นตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่ปรับปรุงประเด็นสิทธิแรงงานให้มีความเสมอภาคและเป็นสากล ตราบนั้นเสถียรภาพในการส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมก็เกิดยาก

“ต้องไม่ลืมว่าคู่ค้าต่างๆ ของเรา ต่างมีความต้องการปกป้องการผลิตภายในประเทศของเขา หากประเทศไทยไม่มีจุดอ่อนก็จะไม่มีใครจะมาดำเนินมาตรการอะไรกับเราได้ง่ายๆ ที่จริงมีเครื่องมือซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว คืออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันถึงที่สุด”

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ ทั้งเรื่องการเข้าสู่เศรษฐกิจมาตรฐานสูง และเรื่องการเข้าใจความมั่นคงที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตที่เป็นจริงของประเทศ การกีดกันแรงงานในระบบการผลิตของไทยมิให้มีสิทธิที่เท่าเทียมในการรวมตัวหรือเจรจา​ ถึงที่สุดแล้วไม่ใช่การป้องกันปัญหาแต่เป็นการกดซ่อนความเสี่ยงที่รอวันระเบิด ดังเช่นการหยุดงานที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีช่องทางการสื่อสารระหว่างนายจ้างและคนงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลลบทั้งต่อชีวิตแรงงานไม่ว่าชนชาติใด และต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มแรงงานพยายามผลักดันให้มีการรับรองอนุสัญญา แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอ้างว่าการอนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ 

ขณะที่ นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงจุดยืนสำคัญของภาคีเครือข่ายฯ คือการสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2 ฉบับนี้

“รัฐควรรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ตั้งนานแล้ว ไม่ต้องรอให้สหรัฐฯ หรือประชาคมโลก ต้องมากดดันเรา เพราะการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เกิด ภาครัฐไม่ควรกังกลเรื่องเศรษฐกิจหรือความมั่นคง เนื่องจากคนงานเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล” นางสาวสุธาสินีกล่าว

ด้าน นางสาวชลธิชา ตั้งวรมงคล ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า ทางองค์กรให้ความช่วยเหลือแรงงานที่โดนละเมิดสิทธิ ซึ่งพบว่าแม้ประเทศไทยจะมีการปรับปรุงกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติก้าวหน้าไปมากโดยเฉพาะในบริบทประมง แต่สิ่งที่พบคือ แรงงานไม่กล้าจะลุกขึ้นมาร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐโดยตรง ยังเลือกที่จะไม่ร้องเรียนถ้าทนได้ หรือถ้าทนไม่ได้ก็ไปร้องเรียนกับเอ็นจีโอ

“แรงงานยังกังวลว่าถ้าหน่วยงานรัฐเอาไปพูดกับนายจ้างแล้วตัวคนร้องจะโดนอะไรบ้าง ดังนั้นการให้สิทธิในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง จะทำให้แรงงานรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว”

นอกจากนี้ กรณีที่รัฐบาลไทยปล่อยให้บริษัทเอกชนฟ้องคดีเพื่อปิดปากแรงงานหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทาง AFL-CIO ระบุชัดว่า เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งในเอกสารเผยแพร่สาธารณะได้ชี้แจงถึงประเด็นที่บริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทยฟ้องร้องแรงงานเพื่อตอบโต้แรงงานที่ลุกขึ้นมาร้องเรียน โดยมีการฟ้องร้องแรงงานทั้งข้อหาแจ้งความเท็จ หมิ่นประมาท ลักทรัพย์ และฟ้องร้องบุคคลอื่นทั้งนักข่าวรวมทั้งเอ็นจีโอ

“การไล่ฟ้องคดีได้แบบนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่ากรอบกฎหมายไทยมีปัญหา หากเรื่องเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในประเทศไทย แรงงานที่ไหนจะกล้าร้องเรียน ภาพลักษณ์ของเอกชนในเมืองไทยก็ยังคงดูแย่ในสายตาประชาคมโลก” นางสาวชลธิชากล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook