ชาวไร่อ้อยน้อยใจครวญ ตกเป็นจำเลยสังคม เพราะฝุ่นละออง PM 2.5

ชาวไร่อ้อยน้อยใจครวญ ตกเป็นจำเลยสังคม เพราะฝุ่นละออง PM 2.5

ชาวไร่อ้อยน้อยใจครวญ ตกเป็นจำเลยสังคม เพราะฝุ่นละออง PM 2.5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวไร่อ้อยร้องอย่าให้เกษตรกรตกเป็นจำเลยสังคมกรณีต้นเหตุปัญหาฝุ่น ชี้ควรแก้ที่โรงงานรับซื้อก่อนเป็นอันดับแรก

จากการที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้ประสบกับปัญหามลภาวะเป็นพิษ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงปัญหาไฟป่าที่ลุกลามไหม้ตามสถานที่ต่างๆเป็นวงกว้าง ซึ่งจากปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการเล็งมาที่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งมีการเผากันมากในช่วงเวลานี้ว่าเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหามลพิษ

โดยมีการระบุสาเหตุของฝุ่นมาจากกิจกรรมการเผาของเกษตรกร จนทำให้ชาวไร่อ้อยกลายเป็นจำเลยของสังคมไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่สอบถามถึงสาเหตุจำเป็นในขั้นตอนการเก็บผลผลิตของเกษตรกรพบว่าชาวไร่อ้อยหลายรายยังคงใช้วิธีการเผาใบอ้อยเพื่อเก็บผลผลิตเช่นเดิมมิได้ใส่ใจกับคำเตือนห้ามเผาจากทางภาครัฐเท่าใดนัก

จากการสอบถาม นางเทียน เกษตรกรชาวไร่อ้อยในตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่เกษตรกรใช้วิธีการเผาใบอ้อยก่อนทำการตัดก็เพราะแรงงานในการตัดนั้นหายากมักปฏิเสธการตัดอ้อยสดเนื่องจากต้องสางใบอ้อยออกก่อนทำการตัดซึ่งทำให้ยุ่งยากและมีราคาแพงกว่า

โดยอ้อยตัดสด 10 ลำอ้อยจะตัดในราคา 4 บาท ส่วนอ้อยเผาไฟ 15 ลำ 2 บาท ซึ่งความแตกต่างทางด้านราคาก็เป็นอีกปัจจัยที่เกษตรกรใช้วิธีการเผาใบก่อนตัด ซึ่งตามความจริงเกษตรกรไม่มีใครอยากเผาใบอ้อย เพราะทราบดีถึงผลเสียที่จะตามมาทั้งมลพิษทางอากาศและการที่ส่งผลกับหน้าดิน รวมถึงถูกหักค่าปนเปื้อนแต่เพราะว่าเลี่ยงไม่ได้

การที่ผลักให้ชาวไร่อ้อยเป็นตัวการก่อมลพิษนั้นคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เนื่องจากการเผาก่อนตัดอ้อยนั้นได้ทำการเผามาก่อนหน้านี้เป็นสิบๆปี ไม่เคยมีปัญหารวมถึงสภาพอากาศในเมืองกรุงที่ไม่ได้มีไร่อ้อยแต่ก็ประสบปัญหามลพิษได้เหมือนกันจึงไม่ใช่เพียงแค่ชาวไร่อ้อยเท่านั้น ที่ควรรับผิดชอบกับปัญหานี้เพียงลำพัง

ส่วนการแก้ปัญหาถ้าจะไม่ให้เกษตรกรเผาใบอ้อยควรให้โรงงานน้ำตาลลงมาทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยในการรับซื้อ เนื่องจากถ้าตัดอ้อยสดส่งโรงงานแล้วมีใบอ้อยติดไปด้วยโรงงานก็ปฏิเสธการรับซื้อทำให้เป็นปัญหากับชาวไร่ รวมถึงการเพิ่มปริมาณรถในการตัดอ้อยเพื่อลดการรอคิวนานข้ามเดือนของชาวไร่อ้อยอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook