เดินหน้ามาตรการ 323 "สยบโรคหัด" เร่งค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วยให้วัคซีนป้องกัน

เดินหน้ามาตรการ 323 "สยบโรคหัด" เร่งค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วยให้วัคซีนป้องกัน

เดินหน้ามาตรการ 323 "สยบโรคหัด" เร่งค้นหาผู้สัมผัสผู้ป่วยให้วัคซีนป้องกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ลงพื้นที่ควบคุมการระบาดโรคหัดแบบเข้าถึงบ้าน หลังในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง พบผู้ป่วยแล้ว 9 ราย ขณะที่พบโรคหัดระบาดในพื้นที่ 8 อำเภอ จังหวัดยะลา และพบเด็กเสียชีวิตแล้ว 6 คน และผู้ป่วยกลุ่มสัมผัสแล้วกว่า 483 ราย

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 61 นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง พร้อมด้วย นายสุวิทย์ นาคเป้า ปลัดอาวุโสอำเภอเบตง รักษาราชการแทนนายอำเภอเบตง และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ลงพื้นที่ควบคุมการระบาดโรค

หลังพบโรคหัดระบาดในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดยะลา และพบเด็กเสียชีวิตแล้ว 6 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยแล้วกว่า 483 ราย ทางสาธารณสุขอำเภอเบตง จึงได้มอบหมายให้ นางเจนจิรา ดาดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง นำเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอัยเยอร์เวง ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ลงพื้นที่บ้าน กม.29 หมู่ที่ 1 บ้าน กม.36 หมู่ที่ 3 ต.อัยเยอร์เวง และ หมู่ที่ 4 ต.อัยเยอร์เวง บ้านธารมะลิ อ.เบตง จ.ยะลา

ทั้งนี้เพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่และควบคุมการระบาดโรคหัด หลังพบผู้ป่วยเป็นโรคหัด จำนวน 9 ราย ในหมู่บ้านดังกล่าว โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้ป่วย ผู้สัมผัสโรค และเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเด็กเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากโรคหัด

นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง กล่าวว่า โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นพบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน

นอกจากนี้ โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ส่วนอาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา

เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม

ส่วนการป้องกันทำได้โดยการให้วัคซีนป้องกันโรค จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง จึงอยากให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ และในช่วงการระบาด ขอให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังป้องกันโรคหัดตามคำแนะนำเบื้องต้น

นายวงศ์วิทย์ อัครวโรทัย สาธารณสุขอำเภอเบตง ยังเปิดเผยอีกว่า ทางสาธารณสุขอำเภอเบตงได้ทำการควบคุมการระบาดโรคหัดในพื้นที่ ด้วยมาตรการ 323 คือ “หาให้ครบ ฉีดให้ทัน” และลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกโดยได้ดำเนินการวินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อลงสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบ ภายใน 2 วัน จากนั้นจะฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วัน 

ส่วนประเด็นการฉีดวัคซีนที่มีข้อสงสัยเรื่องขัดต่อหลักศาสนาอิสลามหรือไม่ นายอิสมาแอ หะยีมะนุส คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา สาขาเบตง กล่าวว่า สำนักจุฬาราชมนตรี ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่ชาวมุสลิมพึงกระทำ เรียกว่า เวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อให้มีชีวิตที่ดีงามต่อไป ซึ่งไม่ขัดหลักศาสนา

สำหรับสถานการณ์โรคหัดในจังหวัดยะลา พบว่า มีการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่อง และมีการระบาดจากพื้นที่ที่ความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ พบสัดส่วนการเกิดโรคหัดระบาดในกลุ่มเด็ก ข้อมูลในช่วงวันที่ 1 ก.ย. - 15 ต.ค. 61 จำนวน ผู้ป่วย 495 ราย

ยังมีการระบาดกระจายทุกอำเภอ พบผู้ป่วยสูงสุดคืออำเภอยะหา (127 ราย) รองลงมา อ.บันนังสตา (74 ราย) อ.กาบัง (68 ราย) อ.ธารโต (66 ราย) กรงปีนัง (58 ราย) เมืองยะลา (55 ราย) รามัน (36 ราย) และ อ.เบตง (11ราย) ตามลำดับโดยมีผู้เสียชีวิต 6 ราย ในพื้นที่ อ.กรงปินัง 3 ราย อ.บันนังสตา 1 ราย อ.ธารโต 2 ราย

พื้นที่ที่ต้องดำเนินการและเฝ้าระวังเร่งด่วนในพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง ยังคงเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯ โรคหัดขึ้น (EOC) พร้อมทั้งได้ควบคุมการระบาดของโรคหัดในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ด้วยมาตรการ 323 “หาให้ครบ ฉีดให้ทัน” โดยลงพื้นที่เชิงรุกดำเนินการวินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบ ภายใน 2 วัน

และจะดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วัน อีกทั้งผู้บริหารและทีมงานในระดับอำเภอจังหวัดลงพื้นที่ติดตามปัญหาอุปสรรคการดำเนินการ โดยในภาพรวมมีเป้าหมายในการควบคุมให้บรรลุ 4 ไม่ ได้แก่ ไม่ป่วยเพิ่ม ไม่เสียชีวิต ไม่ติดโรคในโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้ให้บริการปลอดภัยจากโรค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook