ไม่สนผลกระทบ-คอสะพานขาด ชาวบ้านเดือดร้อน เหตุท่อระบายน้ำจากโครงการขยายถนน

ไม่สนผลกระทบ-คอสะพานขาด ชาวบ้านเดือดร้อน เหตุท่อระบายน้ำจากโครงการขยายถนน

ไม่สนผลกระทบ-คอสะพานขาด ชาวบ้านเดือดร้อน เหตุท่อระบายน้ำจากโครงการขยายถนน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอสะพานขาด ชาวบ้าน 3 หมู่ 2 ตำบล เดือดร้อนเข้าออกหมู่บ้านไม่ได้ ต้นเหตุชาวบ้านชี้มาจากการก่อสร้างถนนสี่เลนของกรมทางหลวงที่ทำท่อระบายน้ำปล่อยตรงลงถนน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลวังใหม่ อ.เมือง จ.ชุมพร ว่าได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านไม่สามารถเข้าออกหมู่บ้านได้ เนื่องจากสะพานข้ามคลองวังใหม่ ขณะนี้ถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนคอสะพานขาด จึงรุดไปตรวจสอบ

จุดรับแจ้งเป็นถนนคู่ขนานไปกับถนนเพชรเกษม สายชุมพร-ระนอง ม.5 ต.วังใหม่ อ.เมือง จ.ชุมพร เพื่อแยกเข้าหมู่บ้าน โดยมีสะพานคอนกรีต กว้างประมาณ 6 เมตร ยาวข้ามคลองวังใหม่ ประมาณเกือบ 100 เมตร พบว่าคอสะพานถูกน้ำกัดเซาะจนขาดกว้างกว่า 2 เมตร

ชาวบ้านกว่าสิบคนกำลังช่วยกันนำไม้ ขนาดกว้าง 50 ซม. ยาว 3 เมตร ที่เลื่อยจากสวนมาพาดระหว่างตัวสะพานกับถนน เพื่อจะได้สามารถเข้าออกหมู่บ้านกับภายนอกได้ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเป็นเบื้องต้นไปก่อน

โดยนายวิโรจน์ แสงทอง อายุ 50 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเปิดเผยว่า มีชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน ที่ใช้สะพานนี้เพื่อเข้าออกหมู่บ้าน และเป็นถนนสายยุทธศาสตร์ตำบลที่มีการขนถ่ายผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ไปสู่ตลาด

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สะพานดังกล่าวได้ก่อสร้างมานานหลายปี และทุกปีก็จะเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักกระแสน้ำในคลองจะมีความเชี่ยวและไหลหลากมาแรง พัดเอาท่อนไม้ เศษขยะมาติด แต่สะพานไม่เคยพังเสียหายหนัก ดีมากก็เพียงเสาราวสะพานที่ถูกท่อนไม้กระแทกหักเท่านั้น

แต่ปีนี้ทางกรมทางหลวงได้มีโครงการก่อสร้างขยายถนนจากจังหวัดชุมพรไประนอง ซึ่งจากเดิมเป็นสองช่องจราจรมาเป็นถนนสี่จราจร โดยแบบการก่อสร้างมีการวางท่อพักกลางถนนและวางท่อระบายน้ำออกด้านข้างถนน

ด้วยเพราะการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบกับสภาพแวดล้อมและชุมชน ท่อระบายที่เป็นอยู่ขณะนี้ทำเชื่อมจากท่อพักกลางถนนและต่อท่อเชื่อมรอดปล่อยปลายท่อออกโผล่ริมถนนแค่นั้น โดยไม่มีการเชื่อมลงแหล่งน้ำธรรมชาติ 

ทำให้น้ำที่ไหลจากท่อระบายที่สูงกว่าถนนเข้าหมู่บ้านกว่า 3 เมตร ทวีความแรงพุ่งตรงลงไปกัดเซาะดินบริเวณคอสะพาน จนพังทลายลงในที่สุด และนอกจากนี้ดินด้านใต้ที่อิ่มน้ำเริ่มทรุดลง ผิวถนนเริ่มแตกเป็นรอยร้าวทางยาว ชาวบ้านต้องนำป้ายมาติดเป็นพื้นที่อันตรายเสี่ยงถนนทรุดตัว

โดยจะให้ชาวบ้านที่ใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ใช้เส้นทางอื่นไปก่อน ซึ่งอ้อมไปกว่า 3 กิโลเมตร จนกว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบลงมาดูแลและซ่อมแซมให้กับชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook