“ฉลาม – จระเข้ – ช้าง” สัตว์ดุร้ายหรือถูกทำให้กลายเป็นจำเลยสังคม

“ฉลาม – จระเข้ – ช้าง” สัตว์ดุร้ายหรือถูกทำให้กลายเป็นจำเลยสังคม

“ฉลาม – จระเข้ – ช้าง” สัตว์ดุร้ายหรือถูกทำให้กลายเป็นจำเลยสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวฉลามหัวบาตรกัดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้สร้างความแตกตื่นจากการประโคมข่าวของสื่อเช่นเคย และสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ราวกับละครบ้านทรายทองก็คือ สัตว์กลายเป็นจำเลยของสังคม เนื่องจากสัตว์พูดไม่ได้ และบางครั้งก็ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะยืนยันว่าสัตว์ไม่ได้เป็นฝ่ายเข้าโจมตีมนุษย์ก่อนโดยเจตนา ทำให้หลายครั้ง สัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตัวร้าย” อย่างฉลาม จระเข้ หรือช้างกลายร่างเป็น “แพะ” รับบาป หลังจากการโจมตีมนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> ยืนยันแล้วฉลามกัด นทท. เตรียมออก 6 มาตรการป้องกันความปลอดภัย
>> อย่าแตกตื่น ฉลามหัวหินกัดนักท่องเที่ยว อ.ธรณ์ ชี้โอกาสโดนกัด 1 ต่อ 200 ล้าน
>> สำรวจเส้นทาง "ฉลามหัวบาตร" เตรียมติดตั้งทุ่นกันฉลาม

ภาพที่ดูรุนแรงในเหตุวิวาทะระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นฉลามที่ อ.หัวหิน รวมทั้งจระเข้และช้างที่ทำร้ายนักท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไม่ใช่แค่ภาพของมนุษย์ที่ถูกสัตว์ทำร้ายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนประเด็นมากมายที่มนุษย์อย่างเราควรทำความเข้าใจ เพื่อการอยู่ร่วมกันบนโลกอย่างสงบสุข

เบื้องหลังสัตว์ร้าย
ทันทีที่เกิดเหตุฉลามหัวบาตรทำร้ายนักท่องเที่ยว ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ชื่อว่าเป็นนักอนุรักษ์ทะเล ก็เป็นคนแรกๆ ที่ออกมาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฉลามหัวบาตร โดยระบุว่าทะเลในประเทศไทยมีฉลามอาศัยอยู่แล้ว โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่างเกาะในทะเลอันดามัน และโอกาสที่คนเราจะถูกฉลามกัดนั้นมีเพียง 1 ใน 200 ล้าน เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรอยแผลแล้ว มีความเห็นว่า ฉลามอาจจะกัดคนเพราะเข้าใจผิด คิดว่าเท้าคนเป็นปลา จึงเข้าไปกัด เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ก็ปล่อย และว่ายน้ำหนีไป เนื่องจากแผลไม่มีรอยฉีกทึ้ง

“มันเป็นภาพจากหนังที่เราติดมา ฉลามเป็นตัวร้าย ฉลามกินคน ซึ่งในความเป็นจริง สัตว์ทุกชนิดต้องมีเหยื่อตามธรรมชาติ คนไม่ใช่เหยื่อตามธรรมชาติของฉลาม เพราะอยู่คนละที่กัน อีกฝ่ายอยู่บนบก อีกฝ่ายอยู่ในทะเล และสัตว์ทะเลที่ทำร้ายคนมากที่สุดไม่ใช่ฉลามนะครับ แต่เป็นแมงกะพรุนกล่องที่ทำร้ายคนหลายร้อยคนต่อปี แต่เราไม่มีหนังเรื่องแมงกะพรุนกล่องนี่ครับ มีแต่หนังเรื่องฉลาม ฉลามมันขายได้ไง คนก็เลยทำเรื่อยๆ มันก็เป็นเรื่องปกติที่คนจะติดภาพฉลามว่าเป็นตัวร้าย ที่จริงแล้วฉลามนี่เป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ทำร้ายคนเลยครับ” ผศ.ดร. ธรณ์กล่าว

ด้าน รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าพื้นที่ที่พบฉลามหัวบาตรนั้น เป็นพื้นที่ที่ฉลามตัวเล็กมาเติบโต เรียกว่า Nursing Ground หรือ Nursery Ground โดยตามธรรมชาติ เมื่อแม่ฉลามออกลูก ลูกฉลามจะเข้ามาอยู่บริเวณน้ำตื้น ทำให้หลายครั้งมีการพบลูกฉลามใกล้ชายหาด หรือในแม่น้ำ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ฉลามเป็นสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร ถ้าจะล่าเหยื่อก็เป็นการล่าเหยื่อเพื่อมีชีวิตอยู่ แต่จะทำร้ายคนหรือไม่ แล้วแต่กรณี ถ้าหิวจริงๆ หรืออยู่ในภาวะคุกคามอื่นๆ ถึงจะทำร้าย ยกเว้นฉลามขาว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดุมาก ซึ่งก็ไม่ได้ทำร้ายเฉพาะมนุษย์ค่ะ สัตว์อื่นที่ลงไปในน้ำก็อาจจะถูกล่าเช่นกัน แต่ล่าเพื่อเป็นอาหาร ไม่ใช่เพื่อความสนุก เราจะได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่าที่ไมอามี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ก็มีคนโดนฉลามกัด อย่างเช่นคนที่เล่นกระดานโต้คลื่น ก็มีโอกาสจะโดนได้เยอะหน่อย เพราะว่ามีลักษณะเหมือนแมวน้ำ เวลาที่ฉลามมองจากมุมด้านล่าง” รศ.สพญ.ดร.นันทริกาอธิบาย

ไม่ใช่แค่สัตว์ทะเลเท่านั้นที่ถูกเข้าใจผิด สัตว์ป่าก็ตกเป็นจำเลยสังคมในหลายคดีเช่นกัน โดยสัตวแพทย์สัตว์ป่าอย่าง น.สพ. ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต ได้เล่ามุมมองจากการทำงานด้านสัตว์ป่าว่า ปกติแล้วสัตว์ป่าทุกชนิดจะอยู่แบบทางใครทางมัน แต่เมื่อมีคนรุกล้ำอาณาเขต สัตว์ก็อาจจะจู่โจมเพื่อปกป้องอาณาเขต อย่างเช่นกรณีของช้างที่เขาใหญ่ ที่ไม่ได้ทำลายรถนักท่องเที่ยวเพราะต้องการทำอันตราย แต่เป็นเพราะความสงสัย จากการถูกกระตุ้นในสภาพแวดล้อม และการปกป้องอาณาเขต ตามสัญชาตญาณ

“ตัวกระตุ้นให้สัตว์ป่าแสดงพฤติกรรมมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน หนึ่งก็คือยีนส์ และสองคือสภาพแวดล้อม กรณีนี้มีสภาพแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นให้มีความหงุดหงิด เครียด สงสัย อยากรู้ ก็เลยเข้าไปเรียนรู้ ติดใจ คุ้นเคย ก็เลยกลายเป็นนิสัยติดตัว พอทำมาเรื่อยๆ คนก็เลยไปเหมาว่าสัตว์เป็นแบบนี้” หมอล็อตกล่าว

นอกจากช้างป่าแล้ว จระเข้ที่เขาใหญ่ก็เคยมีข่าววีรกรรมกัดขานักท่องเที่ยวเช่นกัน โดยหมอล็อตเล่าว่าจระเข้เพศผู้คู่นี้มีคนแอบเอามาปล่อยตั้งแต่ยังเล็ก และอาศัยอยู่ที่เขาใหญ่มานานถึง 12 ปีแล้ว ซึ่งปกติไม่ได้ทำอันตรายกับคน เนื่องจากมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อตามธรรมชาติ และใช้ชีวิตอยู่เป็นที่ ไม่ออกนอกอาณาเขตของตัวเอง

“จระเข้เป็นสัตว์ผู้ล่า การที่เขาไม่ง้อคน ไม่สนใจคนเพราะเขามีอาหารเยอะ กรณีนี้มีผู้เห็นเหตุการณ์พอดี ก็เลยมาเล่าให้ฟังว่าฝรั่งเห็นจระเข้อยู่ใกล้ๆ ก็เลยเข้าไปถ่ายภาพเซลฟี่ แล้วเกิดลื่น จระเข้ตกใจก็เลยไปงับเข้าที่เข่า โชคดีที่น้องคนที่เข้าไปช่วยให้ข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าเราไม่รู้ข้อเท็จจริง จระเข้จะกลายเป็นจำเลยสิ่งแวดล้อมทันที แต่การได้กลิ่นคาวเลือดทำให้เขารู้ว่ามันก็เหมือนเลือดสัตว์ทั่วไป ทำให้เขาเรียนรู้ว่านี่อาจจะเป็นแหล่งอาหารอีกอย่างหนึ่งก็ได้แต่สัญชาตญาณสัตว์ป่า ส่วนใหญ่จะหนีก่อน ไม่ว่าสัตว์ชนิดไหน เพราะการที่เราเข้าไปจะมีเสียง มีแรงสั่นสะเทือน มีกลิ่น แต่ถ้าจนมุมหรือจวนตัว หรือมนุษย์ยังลุกล้ำเข้าไปหาเขาเรื่อยๆ เขาหนีไม่ได้ก็ต้องตอบโต้เพื่อปกป้องตัวเอง การที่เขาทำร้ายมนุษย์จากภาวะจวนตัว ก็นำไปสู่การเรียนรู้ว่าตัวเองก็ทำร้ายคนได้ ต่อสู้ได้ ต่อไปก็ไม่ต้องหนีแล้ว” หมอล็อตอธิบาย

กิจกรรมการให้อาหารปลาทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัวiStockphotoกิจกรรมการให้อาหารปลาทะเล ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว

มนุษย์ = ต้นเหตุที่แท้จริง
เรามักจะพูดกันเสมอว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากฝีมือมนุษย์ ปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์ทะเล ก็ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ละเมิดกฎเกณฑ์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายสัตว์ การทิ้งขยะไม่เป็นที่ การขับรถเร็ว และการลักลอบเข้าป่าจนไปรุกล้ำอาณาเขตของสัตว์ ซึ่งหมอล็อตยกตัวอย่างว่า

“เมื่อก่อนเราไม่มีช้างป่าทำร้ายคนหรือฆ่าคน แต่เดี๋ยวนี้ทำไมถึงมี ก็เพราะว่าช้างที่มีประวัติทำร้ายคนหรือฆ่าคน เราพบว่าตามตัวมีร่องรอยจากการกระทำโดยมนุษย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรอยบาดแผล รอยกระสุน เขาถูกกระทำโดยมนุษย์ แล้วเขาฝังใจ ถ้าเขาถูกกระทำจนจนมุม ก็เกิดการตอบโต้ แล้วมันก็ทำให้เขารู้ว่าพละกำลังของเขามีมหาศาล สามารถทำร้าย ตอบโต้มนุษย์ได้ ก็เลยไม่กลัว คนที่เสียชีวิตจากการถูกช้างทำร้าย ส่วนใหญ่พอไปสืบประวัติดู มีประวัติทำร้ายช้างมาก่อนทั้งนั้น”

นอกจากนี้ การให้อาหารสัตว์ตามใจชอบ อย่างการให้อาหารปลาในทะเล เพื่อหลอกล่อให้ปลาสีสวยๆ เข้ามาและถ่ายรูป ที่ส่งผลให้ปลาสูญเสียสัญชาตญาณในการระวังภัยตามธรรมชาติ และแนวปะการังเสียหายจากสิ่งปฏิกูลจากเศษอาหาร หรือการให้อาหารสัตว์ป่าเพราะความน่ารัก และคิดเอาเองว่าเป็นความเมตตา ก็สามารถส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงตามมาเช่นกัน และสัตว์ที่ประสบเหตุเช่นนี้ก็มักจะเป็นลิงและกวาง

“กวางเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับคนได้ง่าย เพราะว่าคนชอบเอาอาหารไปให้ กวางรู้ว่าในถุงก๊อบแก๊บมันมีอาหารที่เขากินได้ ก็จะเข้าหาคน บางทีคนทิ้งขยะ กวางก็กินเข้าไป แต่พวกขยะหรือถุงพลาสติกมันขย้อนออกมาเคี้ยวเอื้องไม่ได้ มันก็อัดแน่นในกระเพาะ และบดบังพื้นผิวในการดูดซึมอาหาร ขับถ่ายไม่ได้ สุดท้ายก็ตาย ส่วนผลกระทบต่อพฤติกรรมคือ กวางเรียนรู้ว่าคนไม่ทำอันตราย มันก็จะมาอยู่ใกล้จุดกางเต็นท์ที่มีนักท่องเที่ยว สิ่งที่ตามมาก็คือ สัตว์ผู้ล่า เช่นหมาใน ก็จะตามกวางออกมาในพื้นที่บริการที่นักท่องเที่ยวพักอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นการดึงดูดให้สัตว์ผู้ล่าเข้าใกล้มนุษย์มากขึ้น ความเสี่ยงหรืออันตรายต่อมนุษย์ก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่วนลิงที่อยู่ข้างถนน คนไปให้อาหาร ลิงก็ติดใจในรสชาติ ก็จะอยู่ในพื้นที่ที่คนอยู่ มาขออาหาร ขอขนมกิน ทั้งๆ ที่ในป่าก็ไม่ได้ขาดแคลนอาหาร แต่คนคิดว่ามันขาดแคลน พอคนไม่ให้ก็เริ่มก้าวร้าว เข้ามาแย่ง เข้ามากัด ก็เกิดอันตรายได้” หมอล็อตกล่าว

ลิง หนึ่งในสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อจากความไม่รู้ของมนุษย์iStockphotoลิง หนึ่งในสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อจากความไม่รู้ของมนุษย์

จะทำอย่างไร เมื่อสัตว์ทำร้ายคน
เมื่อเกิดเหตุการณ์สัตว์ทำร้ายคน สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญก็คือความปลอดภัยของคน แต่สำหรับกรณีฉลาม ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะจับฉลามออกไปจากพื้นที่ ดังนั้น แนวทางในการป้องกันล่าสุดก็คือ “การติดตั้งทุ่นตาข่ายกันฉลาม” และสั่งการให้คนงดลงเล่นน้ำจนกว่าจะติดตั้งทุ่นแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ทุ่นตาข่ายกันฉลามก็มีข้อเสีย ซึ่ง ผศ.ดร. ธรณ์ กล่าวว่าทุ่นตาข่ายนี้อาจมีข้อเสีย โดยในต่างประเทศ ทุ่นตาข่ายดังกล่าวมักจะใช้ป้องกันฉลามขาว ซึ่งมีขนาดใหญ่และดุร้าย และมักจะมีสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ เข้ามาติดตาข่าย เช่น ปลา หรือเต่าทะเล ซึ่งอาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน นอกจากนี้ ในต่างประเทศ เช่น มัลดีฟส์ และออสเตรเลีย ที่มีประชากรฉลามอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ไม่ได้มีมาตรการใดๆ เพียงแต่ปล่อยให้ฉลามอยู่กันตามธรรมชาติต่อไป

ด้าน รศ.สพญ.ดร.นันทริกา มองว่า การแก้ไขปัญหาสัตว์ทำร้ายคนในกรณีที่เกิดขึ้นในถิ่นที่อยู่ของสัตว์ ควรจะให้ความเคารพสัตว์ที่เป็นเจ้าของบ้าน โดยระบุว่า หากต้องการให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่สำหรับว่ายน้ำ ควรใช้ตาข่ายกั้นเพียงส่วนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ลงเล่นน้ำ ไม่ควรกระทำการที่กระทบต่อชีวิตของสัตว์

สำหรับสัตว์ป่าอย่างช้าง วิธีการจัดการก็คือ เคลื่อนย้ายช้างมาปรับพฤติกรรม โดยให้ออกจากสภาพแวดล้อมที่มีการรบกวนหรือกระตุ้นให้ช้างมีพฤติกรรมรุนแรง ส่วนจระเข้นั้น หมอล็อตเล่าว่าขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ติดป้ายแจ้งเตือนเพิ่มเติม พร้อมทั้งทำโครงการศึกษาวิจัยจระเข้คู่นี้อยู่

“ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” กับการจับสัตว์ออกจากพื้นที่
อีกหนึ่งกรณีที่เคยเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปีที่ผ่านมา ก็คือการจับ “จระเข้เลพัง” ที่ถูกพบลอยคอกลางทะเลที่ จ.ภูเก็ต ไปดูแลในสวนสัตว์ภูเก็ต แทนที่จะปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ โดยกรณีนี้ ผศ.ดร. ธรณ์ ระบุว่าเป็นคนละบริบทกับฉลามที่หัวหิน เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นจระเข้ลูกผสมระหว่างจระเข้น้ำจืดกับจระเข้น้ำเค็ม ที่หลุดออกมาจากกรงเลี้ยง และถือว่าเป็น “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” หรือ Alien Species ที่ไม่เคยมีในบริเวณนั้นมาก่อน จึงต้องจับออกจากพื้นที่ตามหลักสากล

เช่นเดียวกับจระเข้ที่เขาใหญ่ ที่มีคนนำมาปล่อย หมอล็อตอธิบายว่า “โดยหลักสวัสดิภาพสัตว์ป่าในถิ่นอาศัยข้อหนึ่งก็คือ ถ้าเขาได้อยู่ในธรรมชาติแล้ว เขาก็ต้องมีสิทธิในการแพร่จำนวนหรือขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่สองตัวนี้อยู่มาสิบกว่าปีแล้ว น่าจะเป็นเพศผู้ทั้งคู่ เพราะฉะนั้นเขาอยู่ไปก็ไม่ได้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ หลักสวัสดิภาพก็ไม่มี ดังนั้นโดยหลักก็ต้องเอาออกไปไว้ในที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการตรวจดีเอ็นเอว่าเป็นสายพันธุ์ไทยแท้หรือเปล่า หรือเป็นลูกผสม แล้วก็ยืนยัน ถ้าเกิดเป็นสายพันธุ์ไทยแท้ จะเอาไปไว้ในที่ที่มีจระเข้อยู่แล้ว เช่น แก่งกระจาน ปางสีดา หรือบึงบอระเพ็ด”

สัตว์กับคนจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
ในฐานะที่ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งดึงดูดรายได้จากนักท่องเที่ยวในปริมาณมหาศาล จึงจำเป็นต้องมีแนวทางระยะยาวที่ช่วยให้คนและสัตว์สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างราบรื่น ซึ่งแนวทางหลักก็คือความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์ และการปฏิบัติตนอย่างให้เกียรติเจ้าของบ้าน โดย รศ.สพญ.ดร.นันทริกา กล่าวว่า

“ถ้าเราเข้าไปในพื้นที่ปกติที่เป็นบ้านของฉลาม ก็คงจะต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร พอเห็นเขาเข้ามาก็ดูนิดหนึ่งว่าท่าว่ายเป็นอย่างไร มีท่าทีจู่โจมไหม แต่ปกติแค่ใช้ไม้ดันจมูกก็ไปแล้วค่ะ ยกเว้นฉลามขาวนะคะ อย่าไปก่อกวนให้เขารู้สึกว่าเขาได้รับอันตราย สัตว์ก็เหมือนคนค่ะ มีอยู่ 2 อย่างคือหิวกับกลัว ที่ทำให้สัตว์ทำร้ายคนเป็นส่วนใหญ่ ในฐานะสัตวแพทย์ คิดว่าเราควรจะอยู่ให้สมดุลให้ได้ ระหว่างธรรมชาติกับเรา

ด้านหมอล็อตเองก็สนับสนุนแนวทางการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยว ผ่านการกระจายข้อมูลความรู้โดยศูนย์บริการข้อมูล ไกด์นำทาง ผู้ผลิตสารคดี ช่างภาพ และนักวิจัยที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และมุมมองใหม่เกี่ยวกับสัตว์ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวควรจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และสัตว์ต่างๆ อย่างละเอียด ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด รวมทั้งใช้การคว่ำบาตรทางสังคม (Social Sanction) สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กฎหมายสำหรับการอยู่ร่วมกันระหว่างสัตว์และชุมชนของคนได้ด้วย

“สัตว์ไม่ว่าจะอยู่ในป่าหรือออกมาในเมือง กฎหมายจะตามไปคุ้มครองตัวเขาทุกที่ และพื้นที่ใดก็ตามที่เป็นป่าติดกับชุมชน และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าออกมาในที่ชุมชน เขาจะประกาศให้ชุมชนนั้นเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ อย่างเขาแผงม้าที่มีกระทิงอยู่ในชุมชน ก็ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ตอนนี้กลายเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาแผงม้า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย พัทลุง ก็มีนกน้ำ ในขณะที่การประกาศเขตอุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะมีพื้นที่และแนวเขตชัดเจนระหว่างป่ากับชุมชน แต่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าจะประกาศคลุมได้เลยทั้งป่าและชุมชน นี่คือมาตรการที่ต่างประเทศทำและบ้านเราก็ทำ เพียงแต่ว่าเรื่องตรงนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังทำตัวเป็นศรีธนญชัย ว่าเราไม่ได้ไปล่าสัตว์ป่าในป่า เราล่าในพื้นที่บ้านเรา เราไม่ผิด เพราะเป็นการป้องกันทรัพย์สิน แล้วก็ทำให้นายพรานบางรายไม่เข้าไปล่าในป่า มาล่าข้างนอก ทั้งที่จริงกฎหมายมันคลุมหมด รวมทั้งตัวสัตว์ด้วย” หมอล็อตกล่าว

การดำน้ำดูฉลามขาวในประเทศแอฟริกาใต้iStockphotoการดำน้ำดูฉลามขาวในประเทศแอฟริกาใต้

โอกาสจากการอนุรักษ์
ในขณะที่หลายคนตื่นตระหนกกับอันตรายจากสัตว์ดุร้าย แต่การที่มีสัตว์เหล่านี้ก็ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยว ทว่ากลับสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศ เช่น จุดดำน้ำชมฉลาม ที่ไม่ได้มีแค่ในต่างประเทศ อย่างอินโดนีเซียหรือมัลดีฟส์เท่านั้น ประเทศไทยก็มีกับเขาด้วยเช่นกัน ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และเกาะพีพี จ.กระบี่

ส่วนการท่องเที่ยวในป่านั้น หมอล็อตเองก็มองว่าเป็นโอกาสดีของนักท่องเที่ยวเช่นกัน เพราะนอกจากการชื่นชมธรรมชาติ พักผ่อน สูดอากาศบริสุทธิ์แล้ว กำไรที่นักท่องเที่ยวจะได้ก็คือการชมชีวิตสัตว์ในธรรมชาติ ซึ่งต้องมาจากการท่องเที่ยวอย่างถูกวิธี และนอกเหนือจากการเยี่ยมชมในฐานะนักท่องเที่ยว เรายังสามารถเป็นอาสาสมัคร ที่คอยสอดส่องดูแลพื้นที่ป่า คอยให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ หากพบผู้กระทำผิดกฎ สามารถแจ้งเบาะแส ข้อมูลในส่วนของการกระทำความผิดนั้น เข้ามาทางสื่อออนไลน์ของกรมอุทยานฯหรือสายด่วน 1362 รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมของอุทยานแห่งชาติ เช่น การทำโป่ง ปลูกป่า สร้างฝาย กำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำเพื่อรักษาและคงสภาพแหล่งน้ำให้กับสัตว์ป่า ซึ่งหมอล็อตเรียกว่าเป็นกิจกรรมที่สร้าง “ห้องครัว” หรือแหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่า แทนการหยิบยื่นอาหาร ที่เท่ากับเป็นการหยิบยื่นความตายให้สัตว์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook