พิธีกรหญิง 'เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน' ขอลาออก ลั่นไม่อยากทำงานแบบขอไปที

พิธีกรหญิง 'เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน' ขอลาออก ลั่นไม่อยากทำงานแบบขอไปที

พิธีกรหญิง 'เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน' ขอลาออก ลั่นไม่อยากทำงานแบบขอไปที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เฟซบุ๊กของพิธีกรหญิงประจำรายการ 'เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน' ชี้แจงเหตุผลในการลาออกว่า "ไม่อยากทำอะไรออกไปแบบแค่ให้เสร็จๆ ไป...จึงขอถอนตัว" แต่ข้อความถูกลบทิ้งในเวลาต่อมา

นางสาวภวรัณชน์ บรรณารักษ์ หรือ 'หมิว' พิธีกรหญิงของรายการ 'เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน' ซึ่งออกอากาศมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Pawaran Bannarak ช่วงบ่ายวันนี้ (14 เม.ย.) ระบุว่าเทปรายการเดินหน้าประเทศไทยวัยทีนที่ออกอากาศในวันนี้อาจจะเป็นเทปสุดท้ายที่เธอทำหน้าที่เป็นพิธีกร

อ่านประกอบ  >>> [ดูหรือยัง "เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน" (เรื่องราวดีๆ จาก คสช.) ที่ชาวเน็ตประทับใจ?] <<<

ข้อความในเฟซบุ๊ก Pawaran Bannarak ยังได้ขอบคุณไปถึงผู้ใหญ่และทีมงานที่ให้โอกาสและมองเห็นศักยภาพ ทั้งยังย้ำว่า 'พิธีกร' เป็นหนึ่งในอาชีพที่รัก จึงให้ความสำคัญและใส่ใจทุกงาน ไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อยากทำอะไรออกไปแบบแค่ให้เสร็จๆ ไป และขอถอนตัว พร้อมระบุว่าได้พยายามอย่างเต็มที่และสุดความสามารถแล้วในการปรับตัว ส่วนรายการยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่อาจเปลี่ยนพิธีกรหญิง

mew-teenage-mc

อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวถูกลบทิ้งไปจากเฟซบุ๊ก Pawaran Bannarak ในเวลาต่อมาไม่นาน แต่เว็บไซต์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ได้สัมภาษณ์ 'หมิว ภวรัณชน์' เพิ่มเติม โดยเธอให้เหตุผลว่า "แนวคิดและทัศนคติ รวมถึงรสนิยม ไม่ตรงกับทีมงาน" พร้อมระบุว่าได้พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองตามคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมแล้ว แต่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากทีมงาน หลายครั้งจึงรู้สึกว่าตั้งใจทำงานอยู่คนเดียว แต่คนอื่นไม่เต็มที่กับเรา อีกทั้งคอนเซปต์รายการและบทบาทหน้าที่ที่ไม่ชัดเจน จึงขอหลีกทางให้คนอื่นดีกว่า

ภวรัณชน์ได้ชี้แจงด้วยว่า ได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่พิธีกรรายการเดินหน้าประเทศไทยวัยทีนตอนละ 2,910 บาท แต่ยืนยันว่าการตัดสินใจลาออกไม่เกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทน

ทั้งนี้ 'เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน' เป็นรายการภายใต้การดูแลของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ซึ่งใช้จ่ายเงินภาษีอย่างน้อย 18.07 ล้านบาท เพื่อจ้างเอกชนผลิตรายการสำหรับออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ รวม 6 สัญญา โดยมีมูลค่าสัญญาระหว่าง 2.66–3.33 ล้านบาท และมีค่าจ้างล่ามภาษามือให้กับรายการอีก 500,000 บาท

ส่วนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทุกสัญญาเป็นการใช้วิธี 'พิเศษ' และช่วงแรกที่รายการเผยแพร่สู่สาธารณชน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่ารายการไม่เข้ากับยุคสมัย ทั้งเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ ทำให้มีผู้ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและความเหมาะสมในการทำสัญญาผลิตรายการว่าคุ้มค่าหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook