“หมูหยอง” โอกาสที่สมควรได้รับ สำหรับชีวิตใหม่..??

“หมูหยอง” โอกาสที่สมควรได้รับ สำหรับชีวิตใหม่..??

“หมูหยอง” โอกาสที่สมควรได้รับ สำหรับชีวิตใหม่..??
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การทำผิดแล้วยอมรับผิดสำนึกในบาปที่ตนเองก่อ สังคมพร้อมให้อภัยและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างมั่นคงนั่นคือโอกาสของผู้รู้สำนึก แต่หากต้องการโอกาสครั้งที่ 2 แสดงว่าความสำนึกคงมีค่าน้อยไป แต่ถ้าเป็นโอกาสครั้งที่ 3 ความสำนึกคงไม่มี แล้วถ้ามีครั้งต่อไปค่าของความเป็นคนคงไม่เหลือในจิตใจ

จากคดีสะเทือนขวัญเมื่อหนุ่มน้อยวัย 17 ปี ได้ก่อเหตุฆาตกรรม นายนิรันดร์ อายุ 25 ปี อย่างโหดเหี้ยม ก่อนนำศพไปเผาและฝังอำพรางท้ายหมู่บ้านโสกตลับ ต.โคกสูง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ซึ่งมือแทงคือ นายหมูหยอง อายุ 17 ปี โดยสารภาพด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า

"ที่ฆ่าเพราะอยากได้รถ ทำแล้วก็เฉยๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร ชีวิตมันก็เหมือนกันแหละครับ ฆ่ามดฆ่าปลาทำไมไม่เห็นคิดว่าบาป แค่คิดว่าเป็นสัตว์ธรรมดาก็ฆ่ามันได้ คนก็เหมือนมดแหละครับ"

1dwqew

ไม่น่าเชื่อว่านี่คือคำสารภาพจากปากของเด็กเพียงแค่ 17 ปี แต่หากไปตรวจสอบประวัติย้อนหลังจะพบว่า “หมูหยอง” เคยก่อเหตุฆ่าคนตายมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2559 ขณะนั้นอายุเพียง 16 ปี ซึ่งลักษณะการก่อเหตุคล้ายกันคือฆ่าชิงทรัพย์โดยการแทงเจ้าทุกข์ถึง 5 แผลก่อนขโมยทรัพย์สินผู้เสียชีวิตไป และหากตรวจสอบประวัติย้อนหลังกลับไปจะพบข้อมูลอีกว่าหมูหยองเริ่มก่อคดีตั้งแต่ตอนอายุ 14 ปีเท่านั้น เป็นคดีลักทรัพย์และเสพยาเสพติด

ซึ่งด้วยคำว่าเยาวชน หมูหยอง จึงได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับโทษแบบผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญา เด็กอายุ 15 ปี ไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิด กฎหมายเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีอาจเลือกลงโทษทางอาญาแก่เด็กเช่นเดียวกับกรณีคนทั่วไป (แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้) หรือศาลอาจจะเลือกใช้วิธีการสำหรับเด็กอย่างที่ใช้กับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปีก็ได้

คือไล่ไปตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือน หรือคุมปะพฤติโดยผู้ปกครอง หรือ มาตรการสูงสุดคือส่งตัวเด็กไปกักกันและฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กแต่ไม่เกินกว่าที่เด็กคนนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี เพื่ออบรมบ่มนิสัยและจัดการกับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นอาชญากรรายต่อไป นั่นคือโอกาสทางกฎหมายที่ได้มอบยื่นให้กับเยาวชนในการกลับตัวกลับใจเป็นคนดี เริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและไม่กระทำผิดเหมือนอีกเช่นเคย

image5

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ว่าในเมื่อผู้ต้องหาเป็นเยาวชน ก็ต้องใช้กฎหมายสำหรับเยาวชนในการรับโทษไม่ควรคุมตัวร่วมกับผู้ใหญ่เพราะอาจเรียนรู้ในวิธีการทำผิดอื่นๆในเรือนจำ

ซึ่งเด็กควรได้รับโอกาสที่จะเติบโตในอนาคตถ้าผ่านกระบวนการฟื้นฟูบ่มเบาะสภาพจิตใจ และส่วนตัวเชื่อว่าเด็กปกติน่าจะกลับตัวกลับใจได้ตามสิทธิของการให้โอกาส

แต่ทั้งนี้ไม่ได้ปกป้องหมูหยอง เพราะถึงแม้ว่าเป็นเด็กจะทำผิดก็ต้องได้รับบทลงโทษเช่นเดียวกัน ควรให้เป็นไปตามกฎหมายของเด็กและไม่อยากให้สังคมตัดสินด้วยความรู้สึก แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะตัดสินอย่างไร

ทีนี้ลองมาดูสถิติของคดีที่เป็นการกระทำผิดซ้ำที่ดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯทั่วประเทศกันบ้าง ซึ่งจากสถิติจะพบว่าเมื่อปี 2555และ ปี 2556 มีแนวโน้มที่เยาวชนจะกระทำผิดซ้ำซากเพิ่มขึ้นถึง 6,849 กับ 7,490 รายจากจำนวนผู้ถูกจับกุม 34,276 และ 36,763 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจว่าเยาวชนมีแนวโน้มที่จะกลับมากระทำผิดซ้ำซากเพิ่มมากขึ้น

image4

หนึ่งในนั้นคงเป็นกรณีที่น่าศึกษาของคดีหมูหยองที่เคยก่อคดีฆ่าชิงทรัพย์มาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อครั้งอายุ 16 ปี ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตก็คาดไม่ถึงว่าเยาวชนที่ก่อเหตุจะมาก่อคดีซ้ำอีก โดย คุณดอกอ้อ พี่สาวของผู้เสียชีวิตได้เปิดเผยว่า

"ทีแรกตอนที่เขาก่อเหตุกับน้องสาว ยังคิดว่าเขาเป็นเยาวชนอยู่อาจจะไม่ตั้งใจ แต่พอมาล่าสุดได้ติดตามข่าวที่เขาให้สัมภาษณ์ เชื่อว่าคงเป็นคนที่มีปัญหาทางจิตและเป็นคนอันตราย

เขาเป็นคนเลวที่ฆ่าคนโดยไม่รู้สึกอะไรไม่ควรปล่อยไว้อีกเพราะมองว่าเขาเป็นภัยต่อสังคม ทั้งนี้ตัวเองคงไม่มีอำนาจอะไร ช่วงที่น้องอัญถูกฆ่าใหม่ๆ ก็แค้นและเสียใจ แต่ตอนนี้ก็ได้แต่ปลงแล้ว"

โอกาสทางกฎหมายเปิดกว้างเสมอสำหรับเยาวชนที่กระทำผิดและสังคมพร้อมที่จะให้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ซึ่งในกรณีของหมูหยองคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้น 1 ครั้ง เขาได้ทำพลาดไปแล้ว

แต่โอกาสครั้งที่ 2 ยังคงเปิดอยู่ ซึ่งเขาจะทำผิดพลาดอีกครั้งหรือไม่คำตอบคงอยู่ที่อนาคตว่าพร้อมจะเลือกเดินบนเส้นทางไหน เพราะถึงแม้จะได้รับโอกาสอีกสักกี่หมื่นครั้งหากไม่ไขว่คว้าแล้วหันกลับไปเลือกเดินบนเส้นทางเดิมชีวิตใหม่ที่คาดหวังคงไม่เกิดขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook