ล่ามโซ่ ตีตรวน 7 นักศึกษา กระทำเกินเลยหรือไม่..?

ล่ามโซ่ ตีตรวน 7 นักศึกษา กระทำเกินเลยหรือไม่..?

ล่ามโซ่ ตีตรวน 7 นักศึกษา กระทำเกินเลยหรือไม่..?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมควรหรือไม่ ที่ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตีตรวน 7 นักศึกษาในนามกลุ่มประชาธิปไตยใหม่มาส่งศาล เพื่อให้พนักงานสอบสวน ขออำนาจฝากขังในผัดที่ 2 ในข้อหา ขัดคำสั่ง คสช. ร่วมชุมนุมเกิน 5 คน และความผิดตามกฎหมายประชามติ มาตรา 61.....?

ภาพที่ปรากฏในสื่อ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ขนาดหนักต่อการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่เกินเลยไปหรือไม่ นักศึกษาเหล่านี้ หรือเด็กหนุ่มเหล่านี้ จะว่าไปแล้วเหตุที่ต้องถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่คือ ผิดคำสั่ง คสช. เรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และ ผิดกฎหมายประชามติเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเหตุมาจากความคิดความเชื่อทางการเมืองของเด็กหนุ่ม ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางทางการเมือง วิถีทางทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้ประกอบอาชญากรรมใดๆ หรือกระทำความผิดร้ายแรง เป็นฆาตกรที่เป็นอันตราย มาก่อนเลย เหตุใด เจ้าหน้าที่ถึงขนาดต้องสั่ง ตีตรวน เพื่อนำตัวมาส่งศาล

ที่ผ่านมาแม้กระทั้งคนร้าย ที่ประกอบคดีอาชญากรรม ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุความสมควรหรือไม่ที่ต้องตีตรวน พวกเขาเหล่านั้น เคยแม้กระทั้งมีการเรียกร้องให้ยกเลิกการตีตรวนนักโทษ เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ที่เกินกว่าเหตุ

แต่กับเด็กหนุ่มที่มีความคิด ความเชื่อทางการเมือง ที่เห็นต่าง สมควรแล้วหรือ ที่เจ้าหน้าที่ต้องตีตรวน โดยมีภาพปรากฏต่อสื่อจำนวนมาก คิดดูว่า ภาพเหล่านี้เมื่อปรากฏแก่สายตาของพ่อ แม่ญาติพี่น้องเขา จะรู้สึกอย่างไร..? ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพ การตีตรวน เป็นภาพที่สื่อถึงระดับของความรุนแรงของพวกเขาเหล่านั้นเกินจริงประหนึ่ง อาชญากรร้ายแรง

มาดูแนวทาง และอำนาจตามกฎหมายดูว่า การล่ามโซ่ ตีตรวน นั้น สามารถกระทำได้เพียงใด ทำได้ในทุกกรณีหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ เป็นไปตาม พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479
โดยกำหนดเรื่องการใช้เครื่องพันธนาการไว้ว่า

มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่
(๑) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
(๒) เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตไม่สมประกอบอันอาจเป็นภยันตรายต่อผู้อื่น
(๓) เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม
(๔) เมื่อถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ
(๕) เมื่อรัฐมนตรีสั่งว่าเป็นการจำเป็นจะต้องใช้เครื่องพันธนาการเนื่องแต่สภาพของเรือนจำหรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น
ภายใต้บังคับอนุมาตรา (๔) และ (๕) แห่งมาตรานี้ ให้พัศดีเป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสั่งให้ใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขังและที่จะเพิกถอนคำสั่งนั้น

ชัดเจนว่า ตามกฎหมาย ราชทัณฑ์ เปิดช่องให้ผู้คุมตีตรวนผู้ต้องขัง ได้ตาม (4) ตามคำสั่งขอพัศดี แต่ในกรณีนี้ ผู้มีอำนาจได้ใช้ดุลพินิจแห่งเหตุอันเหมาะสม และ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือยัง
โดยข้อเท็จจริง เด็กหนุ่มเหล่า มีการกระทำความผิดที่ร้ายแรง เป็นอันตรายร้ายแรง มีจิตวิกลจริตไม่สมประกอบอาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือไม่..เหตุใด ไม่นำเหตุผลเหล่านั้นประกอบการพิจารณา และ โดยเฉพาะพฤติกรรมที่อาจจะหลบหนี ก็เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุว่าแม้กระทั้งเขาเปิดช่องให้มีการประกันตัว พวกเขาก็ไม่ใช้สิทธิ ด้วยเขาอาจจะเห็นว่าการกระทำของเขาก็เพื่อยืนหยัดเจตนารมณ์ ความคิดความเชื่อในทางการเมืองของตน และเชื่อมั่นในกระบวนการตามกฎหมาย พวกเขาพร้อมเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ทางกฎหมายอยู่แล้ว

แล้วเหตุใด ถึงยังต้องปฏิบัติกับพวกเขาเหล่านั้น ดังเขาเป็นบุคคลที่อันตรายร้ายแรงเกินไป... ภาพที่ปรากฏยิ่งจะทำให้ผู้เห็นต่าง ต่างรู้สึก และยิ่งถูกนำไปขยายความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบันมากยิ่งขึ้นหรือไม่ ...? เป็นสิ่งที่น่ากังวลยิ่ง

โดย เปลวไฟน้อย

ขอขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊กขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook