เร็กเก้ วิลเลจ : นี่คือเวย์ฉัน นี่สไตล์ฉัน | Sanook Music

เร็กเก้ วิลเลจ : นี่คือเวย์ฉัน นี่สไตล์ฉัน

เร็กเก้ วิลเลจ : นี่คือเวย์ฉัน นี่สไตล์ฉัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระแสเร็กเก้กำลังมาใครก็ว่าแบบนั้น เราอาจจะรู้ได้จากงาน แฟต เฟสติวัล ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจัดเวทีให้กับดนตรีแนวเร็กเก้-สกา ต่างหากอย่างเป็นเอกเทศ พร้อมกับคนดูกว่า 5,000 คน พร้อมทั้งศิลปินเร็กเก้รุ่นใหม่ที่ไม่รู้ว่าเพิ่มเติมกันขึ้นมาอย่างมากมายขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้ง 2-3 ปี ก่อนนั้น วงดนตรีที่เล่นเร็กเก้และสกานั้น มีอยู่นับนิ้วยังไม่แน่ว่าพ้นมือเดียวเลยก็ตาม

แน่นอนว่าคงมีคนเข้ามาในวงการเพลงเร็กเก้มากขึ้นเรื่อยๆ และดูท่าตลาดเพลงอินดี้อาจจะมุ่งหน้าไปทางนั้นมากขึ้นเรื่อยอีกต่างหาก

ไม่นานนี้ก็มี ค่ายเล็กที่ชื่อ เร็กเก้ วิลเลจ เปิดตัวขึ้นในสังกัดของ อาร์เอส ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่เจ้าของค่ายนี้ก็คือ โจ้-สรพันธ์ กิ่งพะโยม หนึ่งในผู้ก่อตั้งวง ไค-โจบราเธอร์ส และวงเร็กเก้วงหนึ่งในไม่กี่วงในยุคที่เพลงเร็กเก้ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย

วันนี้เขามากับ จั๊กกะดี้ นำร้องนำของวงไคโจและน้องรัก หรือที่ชื่อจริงๆ เรียก ดี้-โสธีระ ชัยฤทธิไชย เพื่อคุยถึงกระแส เร็กเก้ อินดี้ เด็กแนว และวงดนตรีที่ชื่อ ไค-โจ บราเธอร์ส

"แต่ที่จริงเราก็ไม่ใช่เร็กเก้เต็มขั้น เราก็ประหลาดหน่อยส่วนผสมมันเยอะ พื้นฐานคือพวกเราเองชอบฟังเพลงหลายอย่าง พอทำเพลงกัน ใครอยากเติมอะไรลงไป เราก็มีทั้งป๊อป ร็อค อาร์แอนด์บี ฮิพฮอพ แต่มันอยู่ในฐานและโครงสร้างแบบเร็กเก้หรือสกาน่ะ" สรพันธ์ว่า

"เราอย่าไปผูกมัดตัวเอง การเกิดสิ่งใหม่ๆ ส่วนมากเกิดจากคนนอกคอกทั้งนั้นแหละ" จั๊กกะดี้ ตอบอย่างอารมณ์ดี

ตัวอย่างของความแปลกประหลาดก็อย่าง ตะล็อกต็อกแต๊ก ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นเพลงภาษาชาว เลอุลักละโว้ย ที่พวกเขาเอามาแปลเป็นภาษาไทย หรือ การเอาเพลงของครูเพลงอย่าง คำรณ สัมปุณณานนท์ มาทำใหม่ในสไตล์สกา

สรพันธ์เล่าว่า การเข้ามาทำงานเปิดเป็นค่ายเพลงในอาร์เอส ของวงที่ควรจะเรียกว่าเป็นวงอินดี้มากๆ ที่สุดวงหนึ่ง อย่าง ไค-โจบราเธอร์ส นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าค่ายเพลงดีๆ ที่เป็นสถาบันเรื่องของความบันเทิง นอกจากส่วนที่เป็นงานขายอย่างป๊อปแล้ว ก็มักจะเปิดพื้นที่ให้ดนตรีอินดี้และดนตรีแปลกๆ ไว้บ้าง

"เฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) บอกว่า คุณอยากทำอะไร ทำ รักษาสีคุณไว้ ทำในความถูกต้องและพอใจที่บริษัทรับได้ ทำเลย ภาพลักษณ์โจ้รู้ดีที่สุดก็ดูแลไปซึ่งผมก็พูดตรงนี้ให้น้องๆ ฟังเขาก็โอเค ซึ่งก่อนหน้านี้ พี่พู (ชมพู-สุทธิพงษ์ วัฒนจัง) กับ เจษฎา หั่นช่อ เขาก็ชวนผมเข้ามา"

ถ้าจะถามว่ากลัวไหมเพราะว่านี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาร์เอส พยายามจะทำค่ายเพลงอินดี้ ซึ่งครั้งก่อนๆ นั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงกับพับไปก็เยอะ สรพันธ์ บอกเขาเฉยๆ ไม่ได้วิตกทุกข์ร้อนอะไร

"ผมว่าสิ่งที่ผมทำมันเป็นเรื่องของอนาคตนะที่คนจะยอมรับตรงนั้นหรือเปล่า ค่ายอื่นจะเป็นยังไงผมไม่รู้ ผมว่าผมจะทำไปเรื่อยๆ ดีที่สุดอย่าไปเร่ง อย่าไปฉีดยาให้มันโต ให้กลุ่มมันโตไปเรื่อยๆ เขาก็จะเริ่มไปเรื่อยๆ มันก็จะอยู่ได้ผมอาจจะสำเร็จกับที่นี่หรือไม่ก็ได้" เขาว่า

ดี้ ก็เสริมว่าพวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะใหญ่ หรือทำเงินอะไร

"เฮียฮ้ออาจจะนะ แต่ผมไม่รู้เอง เงินก็ให้เป็นหน้าที่ของน้องๆ กามิกาเซ่ไปแล้วกัน" ดี้ว่า

สรพันธ์ว่า ก็ต้องเข้าใจในบางส่วนว่าเราเป็นศิลปินอินดี้มีอิสระในการทำงานและดำเนินชีวิตหลายๆ อย่าง แต่ก็ต้องแลกกับบางเรื่องให้บริษัทที่ทำงานร่วมกันบ้าง อย่างที่เราได้ประโยชน์ก็คือช่องทางการติดต่อกับสื่อและงานต่างๆ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะมองข้ามเรื่องพวกนี้ไปบ้าง

"ตอนนี้ที่ เร็กเก้ มันเป็นแมสมันเป็นจังหวะพอดี พอดี โฆษณา เอาเพลง น้าจ๊อบ (บรรจบ พลอินทร์) มาใส่ด้วยเพลงมันก็ดังทั้งที่เพลงมัน เกือบ 3 ปีแล้ว อีกทั้งกระแสโลกมันก็ตามมาด้วย แต่ใครจะเข้ามาทำมันไม่ใช่เรื่องง่าย"

ดี้ให้ความเห็นว่า ดนตรีเร็กเก้ นั้นมันเป็นพื้นฐานมากและพูดเรื่องที่อยู่ในความคิดของคนแต่งเพลง ไม่สามารถแต่งเพลงให้คนอื่นเอาไปร้องได้ และกว่าที่ศิลปินเร็กเก้จะเกิดได้ แต่ละคน มันต้องผ่านการสะสมมาพอสมควร ฉะนั้นมันก็ไม่ใช่อาหารจานด่วนต่อไปของวงการเพลงแน่ๆ เรื่องนี้ยังไง เขาก็ไม่ห่วง

"คนรักเร็กเก้ มันจะไม่รับของแบบนี้ ไม่ว่าจะทำอะไร เขารับเปลือก แต่ไม่กี่วันก็ไป ได้ช่วงหนึ่ง ผมทำงานกันไม่ได้ทำเพื่อวันนี้ ผมทำเพื่อ 20-30 ปี ผม 60 ปี ผมก็เต้นอยู่ ไอ้ดี้ก็จะต้องร้องอยู่" สรพันธ์พูดพลางดีดนิ้ว

แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญของศิลปินเป็นเรื่องของตัวตนที่สะสมมาจริงๆ ไม่ใช่สร้างขึ้น

"อย่างผม คนชอบบอกว่าผมบ้า คิดแปลกๆ ดูแล้วอาจจะแปลก" ดี้ชี้ที่รูปลักษณะของตัวเองที่เป็นชายหนุ่มเสียงดังไว้ผมเดร็ดล็อค และแต่งตัวแปลกๆ ของเขา

"ถ้าผมไม่เหมือนคนอื่นแล้ว แอนตี้ผมเหรอ ผมยังไม่ได้ทำอะไรผิด เดินอนุสาวรีย์ คนมองประหลาดแล้ว แต่ผมทำงานหาเงินได้มีเงินกินข้าวนะเนี่ย" ดี้ว่า

สรพันธ์ก็เสริมว่า "ไม่เห็นแปลก" เขายักไหล่ จะเป็นยังไงก็ได้ตราบที่เป็นตัวเรา อย่างดี้ยังชอบพาแม่ไปเดินห้างแล้วก็พากันไปกินข้าวเลย

"วัยรุ่น เดินกับผู้ปกครองแล้วมันตลกเหรอ? มันเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำนะ ผมรู้ว่าครอบครัวสำคัญที่สุด อย่าไปผูกมัดในระบบสังคม อย่าไปคิดว่ามันเป็นแบบไหนอย่างหนึ่ง เป็นได้หมดก็เป็นเรานี่แหละ" ดี้ว่า

เรื่องสำคัญคือการเป็นตัวเอง เพราะเมื่อหลอกคนอื่นว่าเป็นแบบไหนแล้ว วันหนึ่งเรื่องหลอกก็จะต้องมีคนรู้ แล้วคนก็หมดสนุกแฟนเพลงก็หายไปหมด

"ก็ดูสิ โมเดิร์นด็อก อยู่ได้ไง คาราบาวอยู่ได้ไง ศิลปินอื่นที่มันไม่มีเรื่องข้างในหัวมันอยู่ไม่ได้หรอก" สรพันธ์สรุป

ถ้าถามว่าความเป็นศิลปินของพวกเขาและการทำค่าย เร็กเก้ วิลเลจ ได้เงินไหม สรพันธ์ส่ายหน้า ไม่ได้ทั้งสองอย่าง แต่ที่อยู่กันได้เพราะงานอื่นๆ อย่างเขาก็ทำงานและสมาชิกในวงส่วนมากก็ทำงานเบื้องหลังไม่ในวงการโฆษณาก็วงการเพลง

"อย่างผมนอกจากแต่งเพลงโฆษณา ผมก็สอนเปียโนนะ สอนเด็ก 7 ขวบ" ดี้ว่า ซึ่งใครได้ฟังคงอมยิ้มเมื่อนึกภาพครูดี้ กับนักเรียนตัวน้อยๆ

แต่สำหรับเขาทั้งสองมันเป็นเรื่องธรรมดา

"งานศิลปะมันเสี่ยงเจ๊งอยู่แล้ว ผมทำอัลบั้มเพื่อสนองตัณหา มันเป็นความจริงใจที่อยากจะเล่ามันเป็นความจริงใจที่ผมจะบอกไปสู่สังคม แค่นั้น" ดี้ว่า

เรียบง่ายและจริงใจแบบนี้เลย

ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook