7 เพลงอมตะสะท้อนสังคม ที่ยังไม่ “เชย” ในยุคปัจจุบัน | Sanook Music

7 เพลงอมตะสะท้อนสังคม ที่ยังไม่ “เชย” ในยุคปัจจุบัน

7 เพลงอมตะสะท้อนสังคม ที่ยังไม่ “เชย” ในยุคปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ส่งเสียงผ่านโซเชียลมีเดียมานานหลายปี ปัจจุบันนี้ เสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้เป็นเพียงแฟชั่นก่นด่าสังคมหลังคีย์บอร์ด แต่กลับเอ่อล้นออกสู่ท้องถนนทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข และเมื่อย้อนดูการส่งเสียงของประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในอดีตที่ผ่านมาเพลง” ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการนำเสนอภาพของสังคมและการแสดงความคิดเห็นของวัยรุ่น รวมทั้งเป็นสื่อที่ “พูดแทนใจ” ของคนรุ่นใหม่ได้ทุกยุคทุกสมัย และนี่คือ 7 เพลงอมตะที่ยังคงสามารถสะท้อนสังคม ซึ่งเราเองก็ไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเพราะเพลงดีเหนือกาลเวลา หรือที่จริงแล้วปัญหาเรื้อรังไม่เคยถูกแก้กันแน่

1. “God Save the Queen” - Sex Pistols

เพลงที่มีชื่อเดียวกับเพลงชาติอังกฤษของ Sex Pistols วงพังก์ร็อกจาสหราชอาณาจักร เปิดตัวเป็นครั้งแรกอย่างแสบสันเมื่อปี 1977 ในวันเดียวกับงานฉลองการครองราชย์ครบ 25 ปี ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ นอกจากชื่อเพลงและวันเปิดตัวที่จงใจล้อเลียนราชวงศ์อังกฤษแล้ว God Save the Queen ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการต่อต้านการเมืองในสหราชอาณาจักร โดย Johnny Rotten นักร้องนำของวง ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stone ว่า เพลงนี้นำเสนอมุมมองโดยทั่วไปของเขาที่มีต่อราชวงศ์ และแสดงการต่อต้านใครก็ตามที่บอกให้เขาเชื่อตามโดยไม่ต้องคิด นอกจากนี้ เพลงนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น ที่มองว่าตัวเองแปลกแยกจากระบบการปกครองที่ล้าสมัยของชนชั้นนำ และในเวลาต่อมา “God Save the Queen” ก็กลายเป็นเพลงของการเคลื่อนไหวพังก์ (punk movement) ในอังกฤษ ที่แสดงถึงความโกรธเกรี้ยวของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสถาบันทางการเมืองและสังคม

2. “Another Brick in the Wall” – Pink Floyd

เพลงเสียดสีสังคมในอัลบั้ม The Wall ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 1979 แต่งโดย Roger Waters มือเบสของวง เพื่อสะท้อนภาพของผู้ใหญ่ในสังคมที่ใช้อำนาจครอบงำเด็ก โดยเฉพาะครูในโรงเรียน Waters กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่ทำให้เขาเขียนเพลงนี้ขึ้นมา เพื่อบอกว่าการใช้อำนาจของครูในโรงเรียนเป็นหนึ่งในอิฐหลายก้อนที่เรียงตัวกันอย่างหนาแน่นจนเป็นกำแพงล้อมรอบตัวเด็ก และปิดกั้นไม่ให้เด็กเห็นความเป็นจริง นอกจากนี้ แนวคิดหลักในเพลงนี้คือ “ความกลัว” ที่เป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจใช้ควบคุมและครอบงำผู้ที่ไม่มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ ในชุมชน หรือแม้แต่ในห้องเรียน ส่งผลให้คนยอมจำนน ปิดปากเงียบ และยอมรับว่าตนเองไร้ทางเลือก

3. “Children’s Crusade” – Sting

ผลงานของ Gordon Matthew Thomas Sumner หรือ “Sting” นักร้องและนักแสดงชาวอังกฤษ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1985 ภายใต้แนวคิดหลักเกี่ยวกับ “รุ่นที่สูญหาย” (Lost Generation) หมายถึงคนรุ่นที่ชีวิตสับสนวุ่นวายและไร้ทิศทาง ซึ่งเป็นผลจากสภาพสังคมและการเมือง

เพลง “Children's Crusade” มีที่มาจาก “เหตุการณ์ครูเสดเด็ก” (Children's Crusade) ในปี 1212 ที่เด็กหลายคนถูกพระผู้ใหญ่ปลุกปั่นให้เดินทางไปยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์และยึดเมืองเยรูซาเลมกลับมาจากพวกเติร์ก ทว่าสุดท้าย เด็กหลายพันคนต้องตายเพราะอาการป่วยและขาดอาหาร ส่วนเด็กที่เหลือราว 30,000 คน ถูกขายเป็นทาส อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ Sting เหตุการณ์ครูเสดเด็กเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ หนึ่งในนั้นคือ สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เยาวชนทั้งชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ ต้องสละชีวิตด้วยเหตุผลที่จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครเข้าใจ ซึ่งเขามองว่า คนทั้งรุ่นถูกกวาดล้างให้หายไปในสงคราม ด้วยวิธีการที่โง่เง่าและหมิ่นเกียรติ Sting จึงเชื่อมโยงเหตุการณ์ใหญ่ทั้งสองนี้เข้ากับสภาพสังคมในยุค 80s ของเขา ที่ปัญหาใหญ่คือยาเสพติด ซึ่งนักธุรกิจทำกำไรโดยการขายยาเสพติดให้กับคนที่ไม่สามารถรับมือกับมันได้ เช่น เด็กนักเรียน

 

4. “Fight the Power” - Public Enemy

ผลงานของ Public Enemy ศิลปินฮิปฮอปชาวอเมริกัน เปิดตัวครั้งแรกในปี 1989 ในภาพยนตร์ Do The Right Thing ของ Spike Lee ซึ่งใช้เพลงนี้สื่อถึงความตึงเครียดของปัญหาการเหยียดสีผิวในบรู๊กลิน นิวยอร์ก และกลายเป็นเหมือนเพลงชาติในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ด้วยเนื้อเพลงที่สื่อถึงความรู้สึกและความภาคภูมิใจของคนผิวดำ รวมทั้งดนตรีที่มีลักษณะของการเผชิญหน้าและพร้อมรบ สร้างพลังให้กับชุมชนคนผิวดำและสร้างการถกเถียงไปด้วย Brian Hardgroove มือเบสของวง กล่าวเกี่ยวกับเพลงนี้ไว้ว่า Fight the Power ไม่ใช่การต่อสู้กับผู้มีอำนาจ แต่เป็นการต่อสู้กับการใช้อำนาจในทางที่ผิด

 

5. “Where is the love?” - The Black Eyed Peas

ผลงานของศิลปินฮิปฮอปอเมริกัน The Black Eyed Peas เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2003 ซึ่งตรงกับช่วงสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิรัก เนื้อหาของเพลงสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมโลกในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยก ความหวาดระแวง การเหยียดเชื้อชาติ จนทำให้สมาชิกในวงรู้สึกว่า คำถามที่ควรจะถามก็คือ “ความรักอยู่ที่ไหน” อย่างไรก็ตาม จากเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงเวลาหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย ความหน้าไหว้หลังหลอกของรัฐบาลสหรัฐฯ การเหยียดเชื้อชาติ อาชญากรรม มลพิษ สงคราม และการขาดขันติธรรม ทำให้ทางวงตัดสินใจแต่งเพลงนี้ในเวอร์ชั่นใหม่ และเปิดตัวในปี 2016

 

6. “No Such Thing” – John Mayer

ซิงเกิลเปิดตัวของ John Mayer นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน เมื่อปี 2002 เป็นเพลงที่แต่งขึ้นจากมุมมองของ Mayer ที่วิพากษ์วิจารณ์ระเบียบของโรงเรียนที่มุ่งจำกัดกรอบความคิดของนักเรียน ไม่สนับสนุนให้เด็กเดินตามเส้นทางที่ตัวเองต้องการ แม้ว่าเส้นทางนั้นจะดีสำหรับเด็กก็ตาม อย่างไรก็ตาม แฟนเพลงบางส่วนมองว่าเพลงนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของ Mayer เอง ที่เลือกเดินตามความฝันในการเป็นนักดนตรี แม้จะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย และบอกให้เขา “อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง” แทนที่จะเล่นดนตรี

7. “American Idiot” – Green Day

ผลงานของศิลปินพังก์ร็อกชื่อดัง Green Day ซึ่งเปิดตัวเมื่อปี 2004 ในอัลบั้มชื่อเดียวกัน ช่วงเวลาที่เปิดตัวเพลงนี้ตรงกับช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ George W. Bush ซึ่งเป็นผู้ที่พาสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามจนนำไปสู่เหตุการณ์ 9/11 ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย เนื้อหาของเพลงนี้สะท้อนภาพของสังคมอเมริกันในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะภาพของสื่อมวลชนที่เต็มไปด้วยอคติ มีการเสนอข่าวปั่นกระแสสร้างความหวาดระแวง ก่อให้เกิดความกลัวและภาวะหวาดกลัวชาวต่างชาติ ซึ่ง Billy Joe Armstrong นักร้องนำของวง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขารู้สึกว่าสื่ออเมริกันได้ก้าวข้ามเส้นจากการนำเสนอข่าวเป็นรายการเรียลลิตีทางโทรทัศน์ ที่แสดงภาพฟุตเทจความรุนแรง คั่นด้วยโฆษณา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook