MAYA INTERNATIONAL MUSIC FESTIVAL 2018 จาก EDM สู่ IDOL POP เปลี่ยนแปลงแต่ไม่เปลี่ยนไป | Sanook Music

MAYA INTERNATIONAL MUSIC FESTIVAL 2018 จาก EDM สู่ IDOL POP เปลี่ยนแปลงแต่ไม่เปลี่ยนไป

MAYA INTERNATIONAL MUSIC FESTIVAL 2018 จาก EDM สู่ IDOL POP เปลี่ยนแปลงแต่ไม่เปลี่ยนไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ย่อมเกิดผลกระทบที่อาจทำให้มีคนที่ได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้คนที่เคยได้รับผลประโยชน์อยู่แล้วต้องเสียความรู้สึกไปบ้าง แต่ต้องเข้าใจว่าทุกการเปลี่ยนแปลง ย่อมหวัง “ผลที่ดีขึ้น” อยู่เสมอ

MAYA INTERNATIONAL MUSIC FESTIVAL 2018 จัดขึ้นในวันที่ 8-9 ธ.ค. 2018 ขยับจากเทศกาลดนตรี EDM ริมทะเลมาเป็นงานเทศกาลดนตรีนานาชาติใจกลางเมือง ที่ Show DC Oasis Outdoor Arena ย่านพระราม 9 แน่นอนว่าอรรถรสในการชมงานที่แฟนเพลงกลุ่มเก่าเคยได้รับก็หายไปเยอะพอสมควร จึงเกิดการ “เท” เพื่อไปร่วมงาน EDM อื่นที่จัดในวันเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เทศกาลดนตรีในครั้งนี้หมดสีสันเสียทีเดียว เพราะเป็นการเปิดต้อนรับกลุ่มแฟนเพลงใหม่ๆ ด้วยการเชิญกองทัพศิลปินเอเชียทั้งเกาหลี และญี่ปุ่นอย่าง EXO-CBX (CHEN, BAEKHYUN,  XIUMIN),  HYO (GIRLS' GENERATION), NCT U (TAEYONG,TEN), NCT 127 (TAEIL, JOHNNY, TAEYONG, YUTA , DOYOUNG, JAEHYUN, WINWIN, MARK, HAECHAN, JUNGWOO), SUPER JUNIOR-D&E (DONGHAE,  EUNHYUK), SUPER JUNIOR RYEOWOOK, TAEMIN และ 16 สาว ABK48 ทำให้งานนี้เกิดบรรยากาศงานที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นตา ไม่คุ้นหู และค่อนข้างขาดความต่อเนื่องไปอย่างชัดเจน

 

maya-14

maya-12

maya-11

 

จริงๆ ส่วนตัวแล้วมองว่า เทศกาลดนตรีที่จัดขึ้นหลายๆ ครั้ง มักเป็นงานที่รวบรวมเอาศิลปินที่มีแนวดนตรีคล้ายๆ กัน มารวมเอาไว้ในที่เดียว จึงทำให้เหล่าแฟนเพลงยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมชมงานตั้งแต่บ่ายยันค่ำ ส่วนใหญ่จัดขึ้นในพื้นที่กว้างขวางที่นอกจากจะมีโซนแสดงของศิลปินแล้ว ยังมีโซนกิจกรรมอื่นๆ ให้แฟนเพลงได้พักผ่อน และฆ่าเวลาก่อนที่จะเริ่มชมการแสดงของศิลปินที่ตัวเองรอคอย และสำหรับ MAYA INTERNATIONAL MUSIC FESTIVAL 2018 เป็นการจัดงานที่ค่อนข้างแปลก เพราะเลือกที่จะจับศิลปินต่างแนวกันอย่างสุดขั้วอย่าง EDM และ J-POP, K-POP (แนวไอดอล) มารวมอยู่ในงานเดียวกัน และยังเลือกจัดในสถานที่ที่พื้นที่ค่อนข้างจำกัด ไม่ได้มีกิจกรรมสันทนาการหรือที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจมากพอ ดังนั้นจึงเกิดบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในช่วงบ่ายจนถึงเย็น และในช่วงหัวค่ำจนถึงดึกๆ เพราะช่วงเย็นก็จะเหมือนเป็นเทศกาลดนตรีเอเชียน ในขณะที่ตกดึกก็กลายร่างมาเป็นเทศกาล EDM เต็มรูปแบบ

เมื่อแฟนเพลงทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว จึงทำให้เกิดภาพแฟนเพลงเปลี่ยนกลุ่มเซตใหญ่กันตอนหัวค่ำแบบ “ยกเซต” แทบไม่มีใครที่จะอยู่ชมตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำๆ อย่างที่มันควรจะเป็นในงานเทศกาลดนตรี ไม่เกิดความต่อเนื่องของกลุ่มคนที่แต่งตัวมาในแนวเดียวกัน ดื่มด่ำบรรยากาศจากเช้าบ่ายจรดค่ำไปด้วยกัน แต่เป็นต่างฝ่ายต่างมาชมศิลปินที่ตัวเองชอบแล้วก็กลับบ้านไปมากกว่า ในแง่ของแฟนเพลงที่มองว่า “ไม่คุ้ม” ก็อาจจะไม่ยอมเสียเงินหลายพันบาทเพื่อมาชมศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบเพียงวงเดียว

 

maya-21

maya-1

maya-17

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรีที่มีคอนเซ็ปต์ค่อนข้างแปลก แต่พูดถึงตัวโชว์ โปรดักชั่น และรายชื่อศิลปินที่ตบเท้าเข้างานกันมานั้นไม่ธรรมดา โดยทางด้านดนตรี EDM ก็ขนมาหมดทั้ง MAJOR LAZER SOUNDSYSTEM, ALESSO, GALANTIS, PORTER ROBINSON, MARKUS SCHULZ, ROBERT FALCON, SHOWTEK และยังมีติ่งวงอินดี้มาด้วยอีกหนึ่งวงอย่าง OH WONDER และส่วนใหญ่ฝั่ง EDM และอินดี้จะมาแบบ full performance ที่เล่นนาน 45 นาทีเป็นต้นไป รวมๆ แล้วแฟนเพลง EDM ยังคงได้กำไรมากกว่าแฟนเพลงฝั่ง ASIAN ด้วยซ้ำ ดังนั้นเอาเข้าจริงแล้วหากเป็นคนที่รักในเสียงดนตรีโดยไม่มองว่าจะมาเชียร์ศิลปินคนไหนเป็นพิเศษ ก็ถือว่าคุ้มค่ามากๆ กับบัตรราคาเดียวเข้างานได้ 2 วันรวด ทางด้านของศิลปิน K-POP เองหากชื่นชอบศิลปินมากกว่า 1 วงก็ยังถือว่าคุ้มค่ากับราคาบัตรด้วยเช่นกัน ยิ่งเพอร์ฟอร์แมนซ์บนเวทีของแต่ละคนจัดเต็มทั้งแสง สี เสียงเต็มที่ ข้อผิดพลาดน้อยมาก รวมถึงการจัดการของทีมงานต่อการปล่อยคนเข้างานอย่างเป็นระเบียบ และคอยสอดส่องตรวจตราแฟนเพลงบางส่วนที่ทำผิดกฎอย่างเข้มงวด ก็ถือว่างานนี้สอบผ่านฉลุยไปแบบไร้ข้อกังขา

สรุปง่ายๆ MAYA INTERNATIONAL MUSIC FESTIVAL 2018 ตื่นตาตื่นใจสำหรับแฟนเพลงกลุ่มใหม่ที่ได้มีโอกาสชมศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต้องยอมเสียแฟนเพลงกลุ่มเก่าที่หลงเสน่ห์ของงานที่เคยเป็นเทศกาลดนตรี EDM เต็มรูปแบบที่เคยรักมาตลอดไปบางส่วน และศิลปินหมดโอกาสที่จะสร้างฐานแฟนเพลงกลุ่มใหม่จากเทศกาลดนตรีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะส่วนใหญ่แฟนเพลงมาเพื่อชมศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบเท่านั้นจริงๆ ดังนั้นจึงน่าจับตามองมากๆ ว่า ในปีต่อๆ ไป ผู้จัดจะยังคงคอนเซ็ปต์เดิม หรือจะถอยกลับสู่รากเหง้าเดิมที่เคยสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมาตั้งแต่ต้น

 

 

___________________

Story : Jurairat N.

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ MAYA INTERNATIONAL MUSIC FESTIVAL 2018 จาก EDM สู่ IDOL POP เปลี่ยนแปลงแต่ไม่เปลี่ยนไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook