10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์ | Sanook Music

10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์

10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา โดย อนุสรณ์ สถิรรัตน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนนี้ คำว่า เพลงชาติ” ในอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่เพลงชาติหรือเพลงประจำชาติเพียงอย่างเดียว อีกความหมายของมันคือ เพลงสากลหรือเพลงอะไรก็ตามที่เปิดกันอย่างแพร่หลาย กระหน่ำเปิดทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์จนคนฟังร้องตามได้ ท่วงทำนองและคำร้องฝังเข้าไปในความทรงจำชนิดที่สลัดทิ้งได้ยาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นกันหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น “Gangnam Style” ของ PSY จากเกาหลี “The Ketchup Song” โดย Las Ketchup ที่เน้นตลาดแมส เจาะเป้าคนฟังเพลงตลาดฉาบฉวยที่ติดกันงอมแงมสักระยะ แล้วก็เฟดไปเองตามธรรมชาติ แต่อย่าง “My Heart Will Go On” ที่ขับร้องโดย Celine Dion เมื่อปี 1997 เป็นอภิมหาเพลงฮิตที่คนร้องกันได้ทั้งเมือง ประสบความสำเร็จมหาศาลเช่นเดียวกันภาพยนตร์ เก่ากว่านั้นสัก 15 ปีก็มีเพลง “Eye of the Tiger” ของวง Survivor ที่กลายเป็นเพลงประจำรายการชกมวยของบ้านเราไปโดยปริยาย เพราะเป็นเพลงธีมของภาพยนตร์เรื่อง Rocky III ในปี1982 นั่นเอง เรียกว่าได้ยินเพลงนี้ต้องนึกถึงเวทีมวยขึ้นมาทันที ที่กล่าวมาล้วนเป็นเพลงชาติที่อยู่ในยุคที่มีสื่อสนับสนุนรอบด้าน ทั้งเอ็มวี รายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ นิตยสาร และสื่อโซเชียลอีกหลายทาง

แต่เพลงชาติที่จะนำเสนอต่อไปนี้ อยู่ในยุค70s ยุคที่ยังไม่มีสื่อโซเชียล ในบ้านเรามีเพียงวิทยุ และนิตยสารบันเทิง อาจมีโทรทัศน์บ้าง แต่ก็น้อยเหลือเกิน การที่เพลงเหล่านี้กลายเป็นเพลงชาติได้ นับว่าไม่ธรรมดา มันต้องมีท่วงทำนองที่โดนจริงๆ หรือกว่านั้น มีเนื้อหากินใจคนฟัง แต่อย่างว่าครับ บ้านเราฟังทำนองเพลงกันก่อน ถ้าเพลงโดนตั้งแต่อินโทร โอกาสเป็นเพลงชาติก็ไม่ยาก อีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เพลงเหล่านี้ “ฮิต” ก็คือตู้เพลงหยอดเหรียญตามแหล่งชุมชนต่างๆ ตลาดสด ตลาดโต้รุ่ง ร้านรวงต่างๆ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ร้านเหล้า ล้วนมีส่วนช่วยเสริมบารมีสร้างความฮิตให้เพลงเหล่านี้ไปโดยอัตโนมัติ เหตุผลสุดท้าย เพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่วงดนตรีสมัครเล่นหรือกึ่งอาชีพสมัยนั้นต้องเล่นให้ลูกค้าฟัง ต้องแกะและเล่นให้ได้ เราจึงได้เห็นวงร้อยวง เล่นเพลงเหล่านี้กันทุกวง แตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าใครจะแกะเพลงด้วยวิธีใดและฝีมือในการเล่นดนตรีมากขนาดไหนด้วย

 

ทีนี้มานั่งไทม์แมชีนย้อนอดีตกลับไปฟังเพลงในอดีตเมื่อ 35-45 ปีก่อนกันว่าเป็นเพลงชาติได้อย่างไร มีอะไรเป็นจุดขาย คนยุคนั้นฟังเพลงกันอย่างไรทั้งที่พึ่งได้จากรายการวิทยุและนิตยสารดนตรีเท่านั้น

 

>> 10 เพลงสากลที่เคยเป็น "เพลงชาติ" ในบ้านเรา ตอน 2 และ ตอน 3

 

Crocodile Rock

Elton John

1973

ศิลปินนักร้องนักแต่งเพลงที่มีเปียโนเป็นอาวุธ สร้างสรรค์เพลงดีๆไว้มากมาย รวมทั้งซิงเกิลและอัลบัมที่ขายได้ทั่วโลกรวมกว่า 200 ล้านแผ่น เพิ่งจะประกาศอำลาวงการไปหมาดๆ เพลงนี้ตัดเป็นซิงเกิลแรกจากอัลบัมชุดที่ 6 Don’t Shoot Me I’m Only the Piano Player เมื่อปี1973 (2516) เป็นซิงเกิลแรกของเขาที่ขึ้นอันดับ 1 ในอเมริกา ค้างอยู่นาน 3 สัปดาห์ มันแพร่มาบ้านเราอย่างรวดเร็วเพราะสถานีวิทยุเปิดกันทุกรายการ บางรายการเปิดวันละหลายรอบ แผ่นซิงเกิลผี 7 นิ้ว และเทปผีต่างปั๊มออกมาขายดิบขายดีกันถ้วนหน้า ลูกเด็กเล็กแดงต่างร้องเพลงนี้กันได้

 

 

Band on the Run

Paul McCartney and Wings

1974

ซิงเกิลฮิตจากอัลบัมชื่อเดียวกันของพอล แม็กคาร์ตนีย์ อดีต The Beatles ที่ออกเมื่อปลายปี1973 หลังจากซิงเกิล Jet ออกไปก่อนหน้าแล้ว ขึ้นอันดับ 1 ในอเมริกา และ 3 ในอังกฤษ เป็นเพลงที่มีหลายลีลา หลายอารมณ์ คนฟังบ้านเรา เวลาฟังวิทยุชอบท่อนอินโทรกีตาร์ไฟฟ้ากันมาก ขึ้นมาปุ๊บต้องหยุดฟังอย่างตั้งใจ นอกจากถูกนำมาเล่นคัฟเวอร์กันอย่างแพร่หลายแล้ว แผ่นเสียงปั๊มไทยและเทปผีก็ดาหน้าออกมา สื่อถึงความนิยมและยอดเยี่ยมของเพลงนี้แบบไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ

 


Kung Fu Fighting

Carl Douglas

1974

เพลงดิสโกยุคแรกๆที่คาร์ลแต่งและโปรดิวซ์โดยบิดดุ แอปไพอาห์ (สามีของทินา ชาร์ลส์ในเวลาต่อมา)

เป็นการจับคู่ที่ลงตัวและมีประสิทธิภาพมาก เพลงนี้จัดอยู่ในประเภทฮิตเพลงเดียว ขึ้นอันดับ 1 นับสิบประเทศทั่วโลก ในบ้านเราไม่ต้องกล่าวอะไรมาก ร้องกันได้แทบทุกคน เด็กๆพากันออกมาเต้นกังฟูกันอย่างครื้นเครง อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในบ้านเราและทั่วโลกนอกเหนือไปจากท่วงทำนองดิสโกก็คือ มีกลิ่นอายดนตรีตะวันออกค่อนไปทางจีน ทำให้คนฟังรู้สึกใกล้ตัว ร้องตามง่าย เต้นตามสนุกนั่นเอง




How Deep is Your Love

Bee Gees

1977

เพลงป๊อปจากสามพี่น้องตระกูลกิบบ์ เป็นซิงเกิลแรกที่ตัดจากอัลบัมซาวน์ดแทร็ก Saturday Night Fever ที่มีเพลงของ Bee Gees ขึ้นอันดับ 1 ติดต่อกัน 3 เพลงจนเป็นสถิติมาแล้ว ไม่มีข้อกังขาสำหรับความไพเราะของเพลงป๊อปบัลลาดเพลงนี้ รวมทั้งเสียงประสานที่เป็นเอกลักษณ์ ขึ้นอันดับ 1 ในหลายประเทศ และถูกเปิดทางรายการวิทยุบ้านเราสมัยนั้นถี่มากที่สุดเพลงหนึ่ง มีสถานะเป็นทั้งเพลงจีบสาว เพลงตัดพ้อ เพลงส่งสารให้คนรัก ฯลฯ ตลอดจนเป็นเพลงแรกเปิดหัวของทั้งแผ่นเสียงรวมเพลงและเทปรวมเพลงที่แห่กันออกมาในยุคนั้นด้วย

 

 

Stay

Jackson Browne

1977

เพลงนี้อยู่ในอัลบัม Running on Empty ที่บันทึกเสียงจากช่วงระหว่างตระเวนแสดงดนตรีในวาระต่างๆ ต้นฉบับเป็นของ Maurice Williams & The Zodiacs ในปี1960 เพลงนี้ทำให้คนฟังเพลงบ้านเรารู้จักแจ๊กสัน บราวน์ในวงกว้างและแห่กันซื้ออัลบัม (เทปผีและแผ่นเสียง)เพื่อเพลงนี้เพลงเดียว มีท่อนร้องเสียงสูงจับใจจนวงคัฟเวอร์มากมายต่างหยิบมาเล่นกันอย่างกว้างขวาง ถ้าจำไม่ผิด โฆษณาก็ยังยืมมาใช้อีกด้วย ความจริงเพลงนี้เป็นเพลงเมดลีย์ติดกับเพลง “The Load-Out” แต่เมื่อตัดเป็นซิงเกิล เพลงนี้เลยถูกเปิดออกอากาศและได้รับความนิยมมากจนคนไทยรู้จักกันอย่างแพร่หลาย และทำให้นักฟังเพลงหลายคนหันมาเป็นแฟนของแจ๊กสัน บราวน์ในเวลาต่อมาอีกด้วย




Bad Time

Grand Funk Railroad

1974

ขึ้นอันดับ 4 ในอเมริกา แต่อยู่ในใจวัยรุ่นยุคนั้นตลอดกาล อยู่ในอัลบัม All the Girl in the World Beware!!! เมื่อซิงเกิลนี้เปิดในไทย ทุกคนร้องตามได้ตั้งแต่อินโทร จนนำไปแปลงเป็นเนื้อไทยกันอย่างสนุกสนานตามประสาวัยรุ่น เป็นอีกเพลงที่วงสมัครเล่นและอาชีพนำไปเล่นคัฟเวอร์กันอย่างพร้อมเพรียง มีท่อนให้มือกีตาร์โชว์ท่อนลีด รวมทั้งเสียงร้องที่ทรงพลังแฝงสำเนียงโซล คนไทยชอบวงนี้มาก เพราะมีเพลงร็อคสนุกๆ ที่ได้โชว์กีตาร์หลายเพลง อาทิ “We’re an American Band”, “Closer to Home”, “Heartbreaker”, “Some Kind of Wonderful” และ “The Loco-Motion”

 

 

You’re My Everything

Santa Esmaralda

1978

เพลงนี้อยู่ในยุคดิสโกครองโลก ชื่อ Santa Esmaralda เป็นชื่อวงดิสโกอเมริกัน/ฝรั่งเศสที่ประสบความสำเร็จจากเพลง “Don’t Let Me Be Misunderstood” และ “House of the Rising Sun” (คัฟเวอร์เพลงฮิตของ The Animals) แกนนำคือ ลีรอย โกเมซ นักร้องนำที่ทำถนัดทำเพลงดิสโก/ลาติน เพลงนี้เป็นซิงเกิลจากอัลบัม Don’t Let Me Be Misunderstood ความยาว 4:18 เป็นสโลว์บัลลาดไพเราะตัดกับเพลงอื่นๆในอัลบัม เสียงกีตาร์โปร่งที่สดใส เสียงร้องก้องกังวานทำเอาใจละลาย แม้จะฮิตช่วงสั้นๆ แต่ก็เป็นเพลงชาตินะครับ

 

 

My Sharona

The Knack

1979

วงอเมริกันสี่ชิ้นจากแอลเอกับอัลบัมแรกที่เปรียบได้กับวงโคลนของ The Beatles ทั้งสไตล์การแต่งตัว สไตล์เพลงที่ยาวไม่เกิน 3-4 นาที เล่นร็อคและคัฟเวอร์เพลงร็อคแอนด์โรลยุค50s ประวัติศาสตร์ดนตรีต้องจารึกไว้ว่า ซิงเกิลเพลงนี้จากอัลบัม Get the Knack ที่ขายได้เกินล้านแผ่นในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เป็นเพลงที่คนทั่วโลกรู้จักและร้องตามได้ ติดอันดับ 1 ในอเมริกานาน 6 สัปดาห์ และที่เด่นกว่าทุกเพลงในอัลบัมก็คือ มันมีท่อนโซโลกีตาร์มันๆนานร่วมนาที หลายคนคงรู้จักเพลงนี้จากอัลบัมซาวน์ดแทร็ก Reality Bites

 

 

Handy Man

James Taylor

1977

คนฟังเพลงสากลรู้จัก James Taylor มาตั้งแต่อัลบัมแรกในปี 1968 แต่อีกส่วนหนึ่งมารู้จักและติดตามจากเพลงนี้ ซึ่งไม่ใช่เพลงที่เจมส์แต่งเอง ดั้งเดิมเป็นเพลงที่ขับร้องโดย Jimmy Jones ที่ร้องไว้ในปี 1959 แต่งโดยโอทิส แบล๊กเวล เป็นสไตล์ริธึม แอนด์ บลูส์ แต่เวอร์ชันที่เจมส์ร้องประสบความสำเร็จที่สุดติดอันดับ 4 ชาร์ตบิลบอร์ด อันดับ 2 ชาร์ตแคช บอกซ์ของอเมริกา และข้ามทะเลมาฮิตอย่างมากในบ้านเราด้วย เป็นเพลงหัดกีตาร์โปร่งและฝึกร้องที่นิยมกันมาก จนช่วงหนึ่งไปไหนก็ได้ยินแต่เพลงนี้ ทุกวันนี้ก็ยังมีคนนำเพลงนี้มาหัดกีตาร์และฟังกันอยู่

 

Y.M.C.A.

Village People

1978

นอกจากดิสโกจะครองเมืองแล้ว เพลงนี้ยังครองใจคนฟังเพลงตามตลาดและไม่ตลาดทั่วไปอีกด้วย ไม่มีใครร้องไม่ได้ ไม่ได้ใครได้ยินแล้วนั่งเฉยๆ วงดิสโกที่มีสมาชิก 6 คน แต่งตัวแยกตามอาชีพ และภาพลักษณ์ที่สื่อถึงเกย์ สังกัดค่ายดิสโกดังอย่าง Casablanca ที่ Donna Summer เป็นเจ้าแม่ เพลงนี้อยู่ในอัลบัมที่ 3 Cruisin’ เฉพาะเพลงนี้นอกจากเป็นเพลงชาติตามสถานีวิทยุแล้ว ในดิสโกเธกและลานสเกตก็เช่นกัน เป็นเพลงที่ขาดไม่ได้ เพลง “Go West” กับ “In the Navy” ในอัลบัมต่อมาชื่อ “Go West” ก็เป็นเพลงชาติ แต่มันไม่ซึมเข้าสายเลือดและเสพติดแบบ “Y.M.C.A.” เท่านั้นเอง

 

 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะท้วง เฮ้ ทำไมไม่มีเพลงนั้น แล้วเพลงโน้นไม่ใช่เพลงชาติเหรอ ใจเย็นๆ ครับ ถ้าสนใจและอยากทราบอีก คงต้องรอภาค 2 กันละครับ ยุคนั้นมีเพลงชาติแยะมาก ล้วนแต่เด็ดๆ ทั้งนั้น

 

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

สั้นๆ เกี่ยวกับผู้เขียน



นักเขียนประจำบก.นิตยสาร Music Express ตั้งแต่ปี 2527-2537
บก.บห.นิตยสาร Crossroads ตั้งแต่ปี 2537-2544
บก.บห.นิตยสาร Sound และ Metal Mag ตั้งแต่ปี 2545-2548

ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายแผ่นเสียง Records Hunter เปิดกิจการตั้งแต่ 2552-ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook