ใครว่าหนังไทยห่วย! มัดรวมหนังไทย "โคตรดี" ตลอด 20 ปีที่ดูได้แล้วบน Netflix

ใครว่าหนังไทยห่วย! มัดรวมหนังไทย "โคตรดี" ตลอด 20 ปีที่ดูได้แล้วบน Netflix

ใครว่าหนังไทยห่วย! มัดรวมหนังไทย "โคตรดี" ตลอด 20 ปีที่ดูได้แล้วบน Netflix
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยมีคำปรามาสของคนไทยด้วยกันเองบางคนว่า “หนังไทยมีแต่หนังห่วย” ซึ่งก็อาจจะจริงหากประสบการณ์ของการรับชมหนังไทยของคนที่กล่าวนั้นได้รับชมหนังที่ในยุคหนึ่งที่เรียกได้ว่า มีแต่หนังตลก หนังผี และหนังกะเทย (ก็ต้องยอมรับว่าในยุคปี พ.ศ. 2540-2555 หนังแนวนี้เป็นหนังที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับค่ายผู้สร้างจริง)

อย่างไรก็ตาม หนังไทยที่ได้ชื่อว่าเป็น “หนังดี” แม้จะไม่ได้มีคอมพิวเตอร์กราฟฟิกหรือโปรดัคชันที่อลังการเท่าหนังต่างประเทศ แต่ก็มีการแสดง การถ่ายทำ เนื้อหาที่เข้าตา จับหัวใจอย่างเข้าใจความรู้สึกคนไทยด้วยกัน รวมถึงมีความแปลกใหม่ของบท จุดตายและจุดตัดสำคัญของการเป็นหนังไทยที่ดีดีหรือห่วยสักเรื่อง หลุดรอดมาถึงตาผู้ชมชาวไทยให้ได้ชื่นชอบชื่นชมอยู่ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าหนังไทยเหล่านั้นห่างไกลจากคำว่า “หนังห่วย” วันนี้ What the Fact ได้หยิบหนังดีที่น่าดูมาให้หวนรำลึกถึง หรือคนรุ่นใหม่ก็สามารถกดเข้าไปพิสูจน์ด้วยตัวเองได้แล้วบน Netflix

หนังผีไทยที่สะเทือนใจที่สุด: นางนาก (2542)

นางนาก (2542)

นางนาก (2542)

  • นักแสดง: ทราย-อินทิรา เจริญปุระ, เมฆ-วินัย ไกรบุตร
  • ผู้กำกับ: นนทรีย์ นิมิบุตร (2499 อันธพาลครองเมือง, จัน ดารา, อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต)
  • ค่ายผู้สร้าง: ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์
  • รายได้: 149.6 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: ครองอีกหนึ่งตำแหน่งทางสถิติรายได้ของหนังไทยนั่นคือการเป็นหนังที่ทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทได้เป็นเรื่องแรก ตำนานความรักแห่งบางพระโขนงที่ถูกนำมาตีความใหม่โดยสุดยอดผู้กำกับจากวงการโฆษณาในยุคนั้นอย่าง อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ที่ดังมาแล้วจากหนังพีเรียด “2499 อันธพาลครองเมือง” (2540) (ที่แจ้งเกิดนักแสดง ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดีในบท “แดง ไบเล่” และหนังทำรายได้ไป 75 ล้านบาท) การตีความใหม่ในรอบนี้เน้นถ่ายทอดความสมจริงและเรื่องราวดรามาความรักของผีนากที่ตายทั้งกลมตอนผัวไปออกรบ แตกต่างจากฉบับก่อนหน้านี้ที่เป็นแนวตลกสยองขวัญ ยิ่งกับเฉพาะตอนไคลแม็กซ์ที่ทั้งหลอนทั้งซึ้งจนคนดูน้ำตาไหลไปกับชะตากรรมของพี่มากกับอีนากก็ทำให้หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง วินัย ไกรบุตรก็ได้สานต่อความสำเร็จกับหนัง “บางระจัน” (2543) อีกเรื่องในปีถัดมาที่กลายเป็นหนัง 150 ล้านบาทเรื่องแรกของไทย

หนังพิสูจน์ศรัทธาที่ดีที่สุด: 15 ค่ำ เดือน 11 (2545)

15 ค่ำ เดือน 11 (2545)
  • นักแสดง: โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์, ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, นพดล ดวงพร, สุรสีห์ ผาธรรม, สมชาย ศักดิกุล
  • ผู้กำกับ: จิระ มะลิกุล (มหาลัย’เหมืองแร่, รัก 7 ปี ดี 7 หน ตอน 42.195, พรจากฟ้า ตอน พรปีใหม่)
  • ค่ายผู้สร้าง: จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ / หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม
  • รายได้: 55 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หนังที่สร้างได้ตามมาตรฐานหนังต่างประเทศในแง่ของการเป็นหนังที่พิสูจน์ศรัทธาและทำให้เกิดการถกเถียงต่อความเชื่อทางวัฒนธรรมและปรากฎการณ์ธรรมชาติ “บั้งไฟพญานาค” ที่จะมีลูกไฟพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงทุกวันออกพรรษา หนังถูกลากไปเป็นประเด็นระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวได้ในตอนที่หนังออกฉายถึงขนาดมีการเรียกร้องให้แบนหนังเรื่องนี้ เนื่องจากไปลบหลู่ความเชื่อทางศาสนาของคนในพื้นที่ แต่ต่อมาทางผู้สร้างก็ขอให้ผู้ชมไปตัดสินหนังด้วยตัวเองและไม่เกิดการแบนในที่สุด หนังเล่าเรื่องของนักวิจัยที่ออกค้นหาสาเหตุพบเงื่อนงำมากมายที่ระบุว่าเป็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเกิดจากฝีมือของพระกลุ่มหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดหนังก็จบปลายเปิดไว้ได้อย่างสวยงาม ท้ายที่สุดหนังคว้า 9 รางวัลสุพรรณหงค์ทองคำ รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมในปีนั้น

หนังสอนชีวิตที่จริงที่สุด: มหาลัย’เหมืองแร่ (2548)

มหาลัย'เหมืองแร่ (2547)

มหาลัย’เหมืองแร่ (2547)

  • นักแสดง: พิชญะ วัชจิตพันธ์, ดลยา หมัดชา, สนธยา ชิตมณี, นิรันต์ ชัตตาร์, แอนโทนี โฮวาร์ด กูลด์
  • ผู้กำกับ: จิระ มะลิกุล (15 ค่ำ เดือน 11, รัก 7 ปี ดี 7 หน ตอน 42.195, พรจากฟ้า ตอน พรปีใหม่)
  • ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช
  • รายได้: 30 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: สร้างจาก 1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่านของนักเขียนชื่อดัง “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 ที่เขียนขึ้นจากชีวิตของตัวเอง หลังถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจินต์ต้องนำพาชีวิตเดินทางไกลจากเมืองหลวง ไปสิ้นสุดลงที่เหมือง “กระโสม ทิน เดรดยิง” อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เหมืองแร่ดีบุกในยุคที่กิจการเหมืองแร่ในไทยยังเฟื่องฟู หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 3 ปี 11 เดือน ต่อมาในปี 2497 เขาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือผ่านเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” พิมพ์ในนิตยสารชาวกรุงตลอด 30 ปี รวมทั้งสิ้น 142 ตอน
  • อาจินต์ไม่เคยคิดขายลิขสิทธิ์หนังสือให้ใครไปทำเป็นหนังหรือละครตลอดชีวิต จนกระทั่งมาเจอจิระ มะลิกุล “ผมถามเขาว่าแอ็กชันคืออะไร เขาบอกผมว่า ฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืน แอ็กชันของมันคือถนนขาด สะพานพังต้องทำใหม่ และเรือขุดจม นั่นคือสุดยอดแอ็กชัน ทันทีที่ผมได้ฟังก็รู้สึกว่าเขาเล็งลึกผมเชื่อมือเขา และตั้งแต่เขาเริ่มทำงานผมไม่ไปเกี่ยวข้องกับเขา เพราะตัวหนังสือของผมเดินด้วย ก.ไก่ ข.ไข่ แต่นายเก้ง (จิระ) งานเขาเดินด้วยฟิล์ม มันคนละอาชีพ” ท้ายที่สุด หนังทุนสร้าง 70 ล้านบาทกลับทำรายได้ไปเพียง 30 ล้านบาทกลายเป็นหนังขาดทุน แต่ก็คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ทองคำในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครอง

หนังเด็กที่น่ารักที่สุด: แฟนฉัน (2546)

แฟนฉัน (2546)

แฟนฉัน (2546)

  • นักแสดง: แน็ค-ชาลี ไตรรัตน์, โฟกัส จีระกุล, แจ็ค-เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์, ชวิน จิตรสมบูรณ์
  • ผู้กำกับ: คมกฤษ ตรีวิมล (เพื่อนสนิท), ทรงยศ สุขมากอนันต์ (ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น), วิทยา ทองอยู่ยง (น้อง.พี่.ที่รัก), นิธิวัฒน์ ธราธร (คิดถึงวิทยา), อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม (รถไฟฟ้า มาหานะเธอ), วิชชา โกจิ๋ว
  • ค่ายผู้สร้าง: 365 ฟิล์ม โดย จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ / ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ / หับ โห้ หิ้น ฟิล์ม
  • รายได้: 137.3 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: ลบคำสบประมาสของวงการหนังไทยที่บอกว่า “หนังเด็กไม่เคยทำเงิน” ในเวลานั้นไม่เคยมีใครคิดว่าหนังจากค่ายหนังที่ยังไม่ทันรวมตัวได้สนิทดีของ 3 ยักษ์ใหญ่อย่างฝ่ายผลิตหนังไทยในเครือค่ายเพลงแกรมมี่ ค่ายหนังไทยผู้คร่ำหวอดอย่างค่าย ไท ที่มีผลงานทำเงินเป็นหนังอย่าง “สตรีเหล็ก” (2543) และบริษัทโปรดัคชันอย่างหับ โห้ หิ้น จะดันเด็กจบใหม่ 6 คนจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โดยการชักนำของรุ่นพี่อย่างจิระ มะลิกุล) ทำหนังย้อนวัยหวาน (ช่วงปี 2528) ที่เรียกกันว่า Nostalgia Theme ออกมาได้โดนใจคนวัย 30-40 ปีที่เป็นกำลังซื้อสำคัญในตอนนั้น ให้ได้กลับไปฟังเพลงของวงสาว สาว สาว หรือ 18 กะรัต ได้ไปเห็นบ้านเมืองเมื่อ 20 ปีก่อนที่ไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้ว และหวนนึกถึงคนในความทรงจำสีจางที่อาจจะได้พบหรือไม่ได้พบกันอีก

หนังรักเพื่อนที่ซึ้งที่สุด: เพื่อนสนิท (2547)

เพื่อนสนิท (2547)

เพื่อนสนิท (2547)

  • นักแสดง: ซันนี่ สุวรรรณเมธานนท์, ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, มณีรัตน์ คำอ้วน, ปาณิสรา พิมพ์ปรุ
  • ผู้กำกับ: คมกฤษ ตรีวิมล (แฟนฉัน, สายลับจับบ้านเล็ก)
  • ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช
  • รายได้: 80 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หนังรักที่กลายเป็นหนังไทยคลาสสิกและประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคแรกของ จีทีเอชไปแล้ว ได้รับแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์เรื่อง “กล่องไปรษณีย์สีแดง” เนื้อเรื่องกล่าวถึง “ไข่ย้อย” และ “ดากานดา” เพื่อนสนิทที่เป็นนักศึกษาของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไข่ย้อยตกหลุมรักเพื่อนสนิทโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งผ่านโอกาสไปครั้งแล้วครั้งเล่าก็ติดที่ไม่กล้าจะบอกจนสายเกินไป หนังเล่าเรื่องของสองช่วงเวลาสลับกัน ระหว่างเนื้อเรื่องของหมู (ไข่ย้อย) ตอนเดินทางไปรักษาแผลใจที่เกาะพะงันหลังเรียนจบ เขาได้เจอกับ “นุ้ย” นางพยาบาลที่แอบชอบเขาข้างเดียวเหมือนกัน หนังดัดแปลงจากฉบับหนังสือไปเยอะจนเหลือแค่กลิ่นอายของบรรยากาศ แต่ผู้กำกับเอส-คมกฤษ ก็ปรุงแต่งเรื่องราวออกมาได้กลมกล่อม โดยเฉพาะฉากสุดท้ายที่กลายเป็นภาพจำกับประโยคที่ว่า “แกมาบอกอะไรเอาตอนนี้วะ” พร้อมกับเพลง “ช่างไม่รู้เลย” ของบอย พีซเมกเกอร์ขึ้นในเครดิตท้าย

หนังรักที่ทั้งมันทั้งซึ้งที่สุด: กวน มึน โฮ (2553)

กวน มึน โฮ (2553)

กวน มึน โฮ (2553)

  • นักแสดง: เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ, จุ๋ย-วรัทยา นิลคูหา
  • ผู้กำกับ: บรรจง ปิสัญธนะกูล (พี่มากพระโขนง, แฟนเดย์…แฟนกันแค่วันเดียว, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ)
  • ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช
  • รายได้: 130.5 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: ผู้กำกับหนังไทยของค่ายจีทีเอช/จีดีเอชที่ประสบความสำเร็จสูงสุด (กับหนังที่ทำรายได้ทั่วประเทศระดับพันล้านอย่าง “พี่มากพระโขนง” (2556)) ดัดแปลงจากหนังสือแนวโรแมนติกท่องเที่ยว “สองเงาในเกาหลี” ของทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการของนิตยสาร a day ในเวลานั้น แต่ก็นำมาดัดแปลงแค่เพียงกลิ่นอาย เพราะหนังเขียนเรื่องราวขึ้นมาใหม่ ให้ครึ่งแรกชวนฮา-ครึ่งหลังชวนซึ้ง เสน่ห์ของหนังคือความแปลกใหม่ของบท ตั้งแต่การให้พระเอกนางเอกไม่บอกชื่อกันตลอดเรื่อง การใช้โลเคชันเป็นประเทศเกาหลีใต้ที่กำลังฮิตในตอนหนังฉาย กิมมิคยุคพี่อ้อย-พี่ฉอดกำลังดัง และการเป็นหนังที่เต็มไปด้วยบทสนทนาที่ชวนจี๊ดใจ (ผู้กำกับโต้ง-บรรจง บอกว่าเขาหลงรักหนังอย่าง When Harry Met Sally (1989) และกลายเป็นแรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้ด้วย) บวกกับในยุคที่ค่ายจีทีเอชติดตลาดในหมู่ผู้ชมชาวไทยแล้ว ก็ทำให้หนังประสบความสำเร็จ

หนังสารคดีวัยรุ่นไทยที่สมจริงที่สุด: Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2550) 

Final Score

Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2550)

  • นักแสดง: เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์, ลุง-วรภัทร จิตต์แก้ว, บิ๊กโชว์-กิตติพงศ์ วิจิตรจรัสสกุล, โบ๊ท-สราวุฒิ ปัญญาธีระ
  • ผู้กำกับ: โสรยา นาคะสุวรรณ
  • ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช
  • รายได้: 25 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หากคอหนังไทยและเทศจะเคยประทับใจกับงานสร้างหนังซ้อนหนังอย่าง Boyhood (2014) ที่ตามติดชีวิตเด็กคนหนึ่งอยู่ 12 ปี ก็อาจจะถูกใจกับหนังไทยที่มาก่อนเรื่องนี้ที่ตามติดชีวิตของเด็ก ม.6 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและกลุ่มเพื่อน ๆ ใช้ชีวิตเป็นเวลา 1 ปีเต็ม หนังที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Final Score เป็นหนังที่อาจหาญกันทุกภาคส่วน ทั้งนักแสดงและทีมงานในการถ่ายทำเพราะต้องไปเกาะติดทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และอีกหลายที่ของเปอร์ สุวิกรม ที่ทุกวันนี้เป็นพิธีการรายการดังอย่าง Perspective คนดูจะได้เห็นเขาใช้ชีวิต มีความรัก มีปัญหากับครอบครัวตามวัย และโจทย์ใหญ่ที่สุดยามนั้นก็คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ในตอนถ่ายทำ ปี 2549 เป็นปีแรกที่ระบบการสอบเปลี่ยนจากเอ็นทรานซ์เป็นระบบแอดมิชชันที่มีปัญหามากมาย (O-Net/A-Net) จนทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้วอีกหลายชื่อ หนังถ่ายทอดวัยว้าวุ่นของเด็ก ม.ปลายได้อย่างสมจริงจนหนังเองได้กลายเป็นตัวแทนการบอกเล่ายุคสมัยและเจนเนอร์เรชันทศวรรษ 2550 ได้เป็นอย่างดี

หนังแอบชอบที่น่ารักที่สุด: สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก (2553)

สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก (2553)

สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก (2553)

  • นักแสดง: มาริโอ้ เมาเร่อ, ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์, ตุ๊กกี้-สุดารัตน์ บุตรพรหม, เจี๊ยบ-พิจิตตรา สิริเวชชะพันธ์
  • ผู้กำกับ: พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร (30+ โสด ออน เซล, Oh My Ghost คุณผีช่วย) และ วศิน ปกป้อง
  • ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม
  • รายได้: 80 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หายากที่จะมีหนังไทยที่เข้าฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันและเป็นหนังแนวเดียวกันที่จะประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ แต่ในเดือนสิงหาคมของปี 2553 ทั้งกวน มึน โฮ และสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก กลับเดินหน้ากวาดรายได้จนหนังฝรั่งต้องชิดซ้าย ยิ่งกับเรื่องนี้ที่เป็นกระแสปากต่อปากที่ทำให้หนังได้รับความนิยมในสัปดาห์ต่อ ๆ มาจนยืนโรงฉายไปเป็นเดือน หนังถ่ายทอดชีวิตวัยรุ่นของเด็ก “น้ำ” ที่เปลี่ยนจากกาเป็นหงส์ ทำทุกอย่างเพื่อให้ “พี่โชน” หนุ่มสุดหล่อที่เธอหมายตาหันมาสนใจ (ซึ่งพล็อตแบบนี้ตรงกับชีวิตผู้หญิงไทยค่อนประเทศ)
  • กับไคลแม็กซ์ท้ายเรื่องที่นำไปสู่บทสรุปชวนจิกหมอนให้แฟน ๆ ได้ฟินไปตาม ๆ กันก็แจ้งเกิดใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก และตอกย้ำการเป็นพระเอกหนังไทยแห่งยุคนี้ของมาริโอ้ (รักแห่งสยาม, พี่มากพระโขนง) หนังทำให้เพลงประกอบเก่า ๆ กลับมาฮิตระเบิดเช่น “สักวันหนึ่ง” ของมาริสา สุโกศล, “วัน เดือน ปี” เพลงเดียวกันกับในหนัง 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ ทำให้เพลงนี้เป็นเพลง Coming of Age ประจำหนังวัยรุ่นไปแล้ว) และ “เพราะใจ” ของเจี๊ยบ วรรธนา นอกจากนั้นหนังยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรี่ส์จีน เรื่อง Crazy Little Thing Called Love และเป็นแรงบันดาลใจให้หนังไต้หวันอย่าง Our Times (2015) ด้วย

หนังครอบครัวที่อบอุ่นที่สุด: รักแห่งสยาม (2550)

รักแห่งสยาม (2550)

รักแห่งสยาม (2550)

  • นักแสดง: สินจัย เปล่งพานิช, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, มาริโอ้ เมาเร่อ, วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล
  • ผู้กำกับ: ชูเกียรติ์ ศักดิ์วีระกุล (คน ผี ปีศาจ, Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ, ดิว ไปด้วยกันนะ)
  • ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม
  • รายได้: 42 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หนังที่ขอมอบตำแหน่งที่สุดของการตีหัวเข้าบ้านให้อีกหนึ่งตำแหน่ง เพราะในทีแรกที่ปล่อยโปสเตอร์หรือตัวอย่างหนังออกมานั้น “รักแห่งสยาม (แสควร์ แหล่งรวมวัยรุ่น)” พ่ะยี่ห้อความเป็นหนังวัยรุ่นเต็มรูปแบบตามยุคสมัยเดียวกันกับ Season Changes เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) แต่พอคนดูได้ดูไปถึงฉากจูบนั้นของตัวละครหลัก (ที่เสียงคนดูในโรงครางหือแทบทุกโรง) ที่กระแสหนังวายซีรีส์วายยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนทุกวันนี้ ก็ทำให้เกิดกระแสตีกลับว่าหนังต้มคนดู จนทำให้แก่นสารถึงความเป็นหนังครอบครัวที่ดีที่สุดจากการแสดงของนักแสดงมากฝีมือของประเทศอย่าง สินจัย เปล่งพานิช, พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ และกบ- ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี ที่ถ่ายทอดครอบครัวจิตใจแตกสลายเพราะสูญเสียลูกสาวคนโตไปถูกมองข้ามไป (จนคนมาตามชื่นชมประเด็นนี้กันในภายหลัง) สินจัยและทรงสิทธิ์ยังได้มาเล่นละครเวทีครอบครัวสุดดรามา “เนื้อคู่ 11 ฉาก” ในบทสามีภรรยาด้วยกันอีก
  • หนังแจ้งเกิดมาริโอ้ เมาเร่อ และพิชญ์-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล รวมถึงวง August ที่มีบทบาทอยู่ในเรื่องด้วย โด่งดังจนสามารถออกอัลบั้ม จัดคอนเสิร์ต กลายเป็นวงหนุ่มวัยเรียนเกือบ 20 คนที่สร้างรายได้ของค่ายหนังสหมงคลฟิล์ม รักแห่งสยามจึงเป็นหนังที่มาก่อนกาล และบุกเบิกและจุดกระแสหนังวายจนทำให้มาริโอ้และพิชญ์ไปโด่งดังอย่างมากที่ประเทศจีน

หนังรักตำนานภูติผีที่ซึ้งที่สุด: แสงกระสือ (2562)

แสงกระสือ

แสงกระสือ (2562)

  • นักแสดง: มินนี่-ภัณฑิรา พิพิธยากร, โอบ-โอบนิธิ วิววรรธนวรางค์, เกรท-สพล อัศวมั่นคง, เอ็ม-สุรศักดิ์ วงษ์ไทย
  • ผู้กำกับ: สิทธิศิริ มงคลศิริ (Last Summer ฤดูร้อนนั้นฉันตาย)
  • ค่ายผู้สร้าง: ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม
  • รายได้: 36.65 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หนังที่ได้รับกระแสชื่นชมอย่างล้นหลามในตอนที่ออกฉาย จากการหยิบเอาตำนานผีกระสือมาตีความใหม่และผสมเข้ากับเรื่องราวความรักของวัยรุ่นจนท้ายที่สุดได้เข้าแข่งสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของรางวัลออสการ์ประจำปี 2562 ด้วย ความสำเร็จของหนังเกิดมาจากการแสดงที่ลงตัวของนักแสดงหลัก รวมถึงการเซ็ตบรรยากาศและโปรดัคชันของหนังออกมาได้สมจริง แม้ว่าหนังจะมีเรื่องราวในองก์ที่ 3 ของเรื่องที่เปลี่ยนจากหนังทริลเลอร์กลายเป็นหนังแฟนตาซีเต็มรูปแบบ แต่สูตรนี้ก็เคยใช้สำเร็จกับหนังอย่าง นาคี 2” (2561)ที่ว่าด้วยภูตผีและสิ่งมีชีวิตในตำนานมาแล้ว จะว่าไปแล้วแสงกระสือก็ใช้วิธีการบอกเล่าเดียวกันกับในไทยในตำนานอย่าง “นางนาก” (2562) เมื่อ 20 ปีก่อนที่เอาตำนานผีไทยมาคลุกเคล้าใส่ดรามา ที่ต่างกันคือก็ตรงที่เรื่องนี้เป็นรักสามเส้า

หนังใครพูดความจริงที่น่ากลัวที่สุด: อุโมงค์ผาเมือง (2554)

 

อุโมงค์ผาเมือง (2554)
  • นักแสดง: มาริโอ้ เมาเร่อ, อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, หม่ำ จ๊กม๊ก (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา), ดอม เหตระกูล, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, รัดเกล้า อามระดิษ, ชัยพล พูพาร์ต
  • ผู้กำกับ: ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
  • ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม
  • รายได้: 27 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หนังสไตล์ความจริงที่มาจากหลายมุมที่ไม่มีหนังไทยเรื่องอื่นทำได้ถึง ดัดแปลงจากบทละครเวที “ประตูผี” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชที่ดัดแปลงมาจากบทภาพยตร์เรื่อง “ราโชมอน” ปี 1950 ของผู้กำกับชื่อก้องโลก “อากิระ คุโรซาวา” และเรื่องสั้นของ ” ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ” โดยเป็นการสร้างเนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และครบรอบ 40 ปี สหมงคลฟิล์มในปีนั้น ในทศวรรษ 2550-2560 ม.ล.พันธุ์เทวนพหรือว่าหม่อมน้อย ครูการแสดงที่เป็นที่นับถือของนักแสดงในวงการมากมายได้หวนกลับมาจับงานภาพยนตร์ (เคยสร้างภาพยนต์อย่าง “ช่างมันฉันไม่แคร์” (2529) และ “อันดากับฟ้าใส”(2540) มาก่อน) ในแนวพีเรียดที่สร้างจากนิยายไทยมากมาย ก่อนหน้าเรื่องนี้คือ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (2553), “จัน ดารา” ฉบับรีเมกท้ัง 2 ภาค (2555-2556), “แผลเก่า” (2557) และ แม่เบี้ย (2558) ที่คุณภาพของบทจะเข้มอ่อนแตกต่างกันไปในบางเรื่อง แต่จุดเด่นก็คือการถ่ายภาพที่สวยงามและการขนนักแสดงชั้นนำของประเทศที่เป็นลูกศิษย์ของหม่อมน้อยมาเล่น อย่างเช่นเรื่องนี้ที่นักแสดงนับสิบคนก็แสดงกันได้อย่างจัดจ้าน

หนังมารศาสนาที่ถึงแก่นพุทธที่สุด: นาคปรก (2553)

นาคปรก (2553)
  • นักแสดง: สมชาย เข็มกลัด, เรย์ แมคโดนัลด์, ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์, เอราวัต เรืองวุฒิ, ทราย-อินทิรา เจริญปุระ, สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์
  • ผู้กำกับ: ภวัต พนังคศิริ ((Six หกตายท้าตาย, อรหันต์ซัมเมอร์, ละครบุพเพสันนิวาส)
  • ค่ายผู้สร้าง: สหมงคลฟิล์ม
  • รายได้: 35 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: หนังพิสูจน์ศรัทธาของผู้นับถือศาสนาพุทธในเมืองพุทธอย่างบ้านเราที่ทำให้เห็นว่านับถือศาสนากันแต่เพียงลมปากเท่านั้น หนังสร้างกระแสทันทีหลังจากปล่อยภาพและตัวอย่างให้เห็นว่าตัวละครที่นุ่งผ้าเหลืองเป็นโจร แต่ถ้าหากได้ชมหนังจริง ๆ ก็จะเข้าใจว่าตัวละครเป็นโจรแต่หนีมาปลอมตัวเป็นพระ ซึ่งหนังก็ให้แง่คิดสอนใจเชิงบุญบาปและมีการแสดงของนักแสดงมือฉกาจระดับประเทศ โดยเฉพาะนักแสดงอาวุโสผู้ล่วงลับอย่างสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยื้อการเข้าฉายกันไปมาระหว่าง กบว. (กองเซ็นเซอร์) และทีมผู้สร้างหนังอยู่ร่วม 3 ปี ก่อนทีทีมผู้สร้างจะยอมตัดบางฉากออกไปเพื่อให้หนังทั้งเรื่องได้ฉาย แต่เมื่อเข้าฉายแล้วทางสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์พร้อมกับองค์กรอาสาสมัครเพื่อสันติภาพโลก ก็ได้ยื่นหนังสือต่อทางกระทรวงวัฒนธรรมให้แบนการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ อ้างว่าทำให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เสื่อมเสีย แต่ท้ายที่สุดหนังก็ยังได้ฉายอยู่ดี

หนังจากวรรณกรรมรสชาติใหม่ที่สุด: คู่กรรม (2556)

  • นักแสดง: ณเดชน์ คูกิมิยะ, ริชชี่-อรเณศ ดีคาบาเลส, นิธิศ วารายานนท์
  • ผู้กำกับ: กิตติกร เลียวศิริกุล (Goal Club เกมล้มโต๊ะ, เมล์นรก หมวยยกล้อ, ดรีมทีม)
  • ค่ายผู้สร้าง: เอ็ม 39
  • รายได้:  55 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: สร้างจากนวนิยายที่โด่งดังที่สุดของเมืองไทยและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครมากครั้งที่สุดของเมืองไทยก็ว่าได้ แต่ขณะเดียวกันด้วยการที่ถูกสร้างมาหลายครั้งได้สร้างภาพจำให้คนในยุคก่อนว่าเรื่องราวนี้จะต้องเดินตามรอยการสร้างแบบเดิม ๆ ก็เป็นสาเหตุหลักใหญ่ที่ทำให้หนังโดนโจมตีว่าพลิกแพลงการตีความและการเล่าไปจากเดิมในระดับที่คนดูรับไม่ได้ (โดนข้อหาเดียวกับ “ทวิภพ” ฉบับปี 2547 ที่ดัดแปลงจากนิยายของทมยันตี ผู้เขียนคนเดียวกัน ที่ผู้เขียนก็ออกมากล่าวหาว่าเป็นหนังฉบับที่ดัดแปลงได้แย่ที่สุด) อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนังโดนต่อว่าเยอะก็คือ นางเอกอย่างริชชี่-อรเณศที่ผลงานการแสดงเรื่องแรกยังเล่นได้ไม่ดีพอ แต่ได้มาเล่นเพราะต้นสังกัดเดียวกันกับณเดชน์  คูกิมิยะ และถูกยื่นคำขาดว่า ค่ายหนังจะได้ณเดชน์ไปเล่นก็ต้องเอาริชชี่ไปเล่นด้วยเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นข้อดีที่ไม่ควรหลงลืมเลยคือ การแสดงที่แนบเนียนเป็นคนญี่ปุ่นอย่างเฉียบขาดของณเดชน์ พระเอกเบอร์หนึ่งในยุคปัจจุบัน

หนังผีที่หลอนที่สุด: ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)
  • นักแสดง: อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม, ณัฐฐาวีรนุช ทองมี, อชิตะ วุฒินันท์สุระสิทธิ์
  • ผู้กำกับ: บรรจง ปิสัญธนะกูล (พี่มากพระโขนง, กวน มึน โฮ, ห้าแพร่ง ตอน คนกอง) และ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ (แฝด, Homestay)
  • ค่ายผู้สร้าง: ฟีโนมีน่า โมชัน พิคเจอร์ และจีเอ็มเอ็ม ไท หับ
  • รายได้: 107.1 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: นอกจากแฟนฉันแล้ว หนังอีกเรื่องที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จจนเกิดค่ายหนังอย่างจีทีเอชขึ้นมาก็คือหนังผีที่ฮิตระดับเป็นปรากฎการณ์อย่างชัตเตอร์ กดติดวิญญาณนี่เอง ที่สองผู้กำกับหน้าใหม่โต้งและโอ๋ มือดีจากแวดวงโฆษณานำความสดใหม่มาสร้างให้กับหนังผีไทยที่ทั้งหลอนและสมจริง พร้อมกับพล็อตหักมุมในช่วงไคลแม็กซ์ (ทำได้ดีเช่นกันกับภาพยนตร์เรื่องต่อมาที่ทั้งคู่กลับมากำกับด้วยกันอีกอย่าง “แฝด” (2550)) หนังยังขายลิขสิทธิ์ได้ใน 30 ประเทศทั่วโลก กลายเป็นหนังทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และที่บราซิลก็ทำรายได้สูงถึง 100 ล้านบาท ต่อมาได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใหม่ในปี 2007 เป็นฉบับฮอลลีวูดชื่อเรื่อง Shutter กำกับโดย Masayuki Ochiai ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ทำรายได้รวมทั่วโลกไป 48 ล้านเหรียญฯ และฉบับบอลลีวูดของประเทศอินเดีย โดยนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ภาษาทมิฬ ออกฉายในปีเดียวกัน ชื่อเรื่อง Sivi กำกับโดย K. R. Senthil Nathan

หนังครอบครัวที่เฮี้ยนที่สุด: ลัดดาแลนด์ (2554)

ลัดดาแลนด์ (2554)

ลัดดาแลนด์ (2554)

  • นักแสดง: ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา, ปีอก-ปิยธิดา วรมุสิก, ปันปัน-สุทัตตา อุดมศิลป์, อธิพิชญ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย
  • ผู้กำกับ: โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ (โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต, ฝากไว้..ในกายเธอ, เพื่อน..ที่ระลึก, ซีรีส์เคว้ง)
  • ค่ายผู้สร้าง: จีทีเอช
  • รายได้: 117 ล้านบาท
  • ที่สุดของหนังไทย: จากฝีมือของจิม-โสภณ ผู้กำกับและมือเขียนบทหนังผีที่สร้างผลงานระทึกขวัญออกมากับค่ายจีทีเอช/จีดีเอชมากที่สุดคนหนึ่ง เขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเขียนบทหนังสยองขวัญมาตั้งแต่หนัง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” และ “แฝด” แล้ว พอมาถึงเรื่องนี้ก็ลบคำสบประมาทหนังเรื่องก่อนหน้าอย่าง “โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต” (2551) ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก กลับมาพร้อมกับนักแสดงมืออาชีพอย่างก้อง-สหรัฐ และป๊อก-ปิยธิดา รวมถึงสร้างความแปลกใหม่ให้กับหนังสยองขวัญด้วยการผสมรวมกับหนังแนวครอบครัว ผสมกับชื่อของลัดดาแลนด์ที่กลายเป็นหมู่บ้านแห่งความสยองขวัญ ซึ่งความจริงแล้วลัดดาแลนด์ คือสวนดอกไม้และลานแสดงศิลปะของเมืองเชียงใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปกิจการก็เริ่มซบเซาจนปิดไปเมื่อ พ.ศ. 2520 และถูกทิ้งร้าง
  • ลัดดาแลนด์ มีบทที่ฉลาดในการเล่าเรื่องความจนตรอกของชีวิต ทำให้พระเอกและครอบครัวไม่อาจย้ายออกไปได้แม้ว่าหมู่บ้านนั้นจะกลายเป็นหมู่บ้านผีสิงไปแล้ว การมีงานทำ มีบ้านเดี่ยวให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าเป็นสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวที่ทำให้พ่อขอบครอบครัวนี้ได้รับการยอมรับ ทั้งจากครอบครัวและตัวเอง หนังจึงเล่นกับความคิดที่ว่าไม่แน่ว่า ผีอาจจะน่ากลัวน้อยกว่าชีวิตจริงที่เจอก็เป็นได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook