12 ปี รักแห่งสยาม สู่ไบเบิ้ลเบิกทาง "วายไทยวัยรุ่น"

12 ปี รักแห่งสยาม สู่ไบเบิ้ลเบิกทาง "วายไทยวัยรุ่น"

12 ปี รักแห่งสยาม สู่ไบเบิ้ลเบิกทาง "วายไทยวัยรุ่น"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เข้าธันวาคมทีไร บนนถนนตั่งต่าง ก็ประดับไฟสวยงาม ทอประกายให้ใจวาบหวิว เดินไปก็เหม่อมอง ทอดถอนใจ เมื่อไหร่จะมีใครซักคนมาให้กอดบ้างนะ โอ๊ยยย ลำไยไม่ปาน ในฐานะแก๊งเก้งที่โตมาในยุค 2000 นะคะคุณกิตติขา ก็พาลให้หวนรำลึกถึงเรื่องราวเก่าๆ ที่มีความหมายในช่วงนั้น เพราะว่าช่วงนี้ มันคือการกลับมาครบรอบหนังเรื่อง “รักแห่งสยาม” นั่นเองค่ะ

และไม่น่าเชื่อว่าหนังเรื่องนี้เดินทางมา 12 ปีแล้ว และไม่ใช่แค่อยู่นาน แต่ รักแห่งสยาม ได้ทิ้งเส้นทางบางอย่างเอาไว้ให้สื่อไทยด้วยเช่นกันค่ะ

“รักแห่งสยาม” หรือ Love of Siam เป็นผลงานภาพยนตร์ของ “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ออกฉายเมื่อปี 2550 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี พร้อมกับเปิดตัวนักแสดงรุ่นใหม่หน้าใหม่อย่าง มาริโอ้ เมาเร่อ และ วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล ซึ่งตอนนี้ทั้งคู่ก็โด่งดังเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี

รักแห่งสยามรักแห่งสยาม

เรื่องราวของรักแห่งสยาม ผ่านมา 12 ปี ก็ถูกแล้วค่ะ ว่าเป็น “หนังเกย์” แม้ว่าในตอนช่วงแรกที่ออกฉาย ก็จะต้องมีการสับขาหลอก ว่าเป็นหนังรักวัยรุ่น ชาย 2 หญิง 2 ใสใส หัวใจ 4 ดวง แล้วปล่อยให้คนดูไปช็อกเอาเองในโรงภาพยนตร์ กับฉากจูบสะท้านปฐพีของมาริโอ้และพิช จูบเดียวที่เป็นการพลิกวงการหน้าสื่อไทยชนิดจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยค่ะ

เพราะหากเราย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2550 ในโลกของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละคร การปรากฎตัวของตัวละครเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ มักจะมาในรูปแบบของสาวข้ามเพศ ทั้งข้ามสมบูรณ์จนโอดองค์แล้ว หรือแค่แต่งหญิงเฉยๆ ก็ตาม แล้วก็ยำไว้ซึ่งความตลกขบขัน จนเป็นที่ทราบกันดีว่า ในสื่อไทย เพศที่สามมีไว้ตลกชูโรง ไม่ใช่เป็นตัวหลัก และถึงหากจะเป็นตัวหลัก ก็มักจะจบลงโดยโศกนาฏกรรมอย่างเช่นเรื่อง “เพลงสุดท้าย” หรือ ก็ดราม่า มีความรักกันไม่ได้ อย่างคู่ จอน-ที จาก รักแปดพันเก้า เป็นต้น 

โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) และ มิว (พิช วิชญ์วิสิฐ)โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) และ มิว (พิช วิชญ์วิสิฐ)

แต่ “โต้ง” และ “มิว” จาก รักแห่งสยาม เป็นคู่แรกที่ลดวัยลงมาเป็นเด็กชาย วัยยังไม่ถึง 20 ปี ในช่วงมัธยมปลายโรงเรียนชายล้วน ยิ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ภาพจำใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ว่าในช่วงนั้น กระแสวิจารณ์จะแกว่งมากมาย จนกลายเป็นสองฝ่าย ไม่รักหมดใจ ก็เกลียดเข้าไส้ เพลง กันและกัน กลายเป็นเพลงล้อเลียนตุ๊ดในเวลาต่อมาก็ตามที แต่ก็จูบนี้ มันได้กระเพื่อมคลื่นสำคัญในเวลาต่อมาเลยค่ะ

หลังจากที่ตัวภาพยนตร์ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไป รวมถึงประสบความสำเร็จมากมายในต่างประเทศ กระแสต่อมาที่มันกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสร้างกัน ก็หนีไม่พ้นบรรดา “สาววาย” ที่ตบเท้าพาตัวเองมาเป็นแฟนคลับ “คู่จิ้น” ซึ่งแน่นอนค่ะคุณขา คู่จิ้นแรกในแนวชายชาย ก็คือ “มาริโอ้-พิช” ที่ถูกจับออกงานร่วมกันไปพักใหญ่เลย รวมถึงมีกระแสการเขียนแฟนฟิค หรือนิยายแต่งเติมจากภาพยนตร์ในอินเทอร์เน็ตจนเต็มไปหมด ซึ่งในสมัยนั้น มันก็มีอยู่สองที่เจ้าใหญ่ๆ ที่เป็นแหล่งรวมนิยายวายแนวแฟนฟิค ซึ่งก็คือ Dek-D.com และเล้าเป็ด หรือ Thaiboylove นั่นเอง ซึ่งทั้งสองเว็บยังคงให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน

แรงกระเพื่อนของอินเทอร์เน็ตแฟนฟิค ซึ่งในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้เฟื่องฟูอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ในช่วงก้าวข้ามผ่านจาก Hi5 มา Facebook ดังนั้นโลกอินเทอร์เน็ต ยังเป็นโลกของคนที่เฉพาะกลุ่ม เป็นอะไรที่ยังไมีความใต้ดินอยู่มาก กระแสของ รักแห่งสยาม หรือการจับจิ้นคู่รักแบบ “ชาย-ชาย” ก็ยังคงถูกหลบมุมหลืบอยู่นั่นเอง ยังมิอาจจะไปหยิบมาเป็นกระแสหลักได้ รักแห่งสยาม ก็ยังคงต้องสับขาหลอกคนดูต่อไปอีกหลายปี และหลายรางวัลที่การันตี ก็ยังไม่สามารถทำให้หนังเรื่องนี้ กล้าประกาศกร้าวต่อสังคมได้ว่า 

ฉันคือหนังเกย์วัยรุ่นเรื่องแรกค่ะ ดูกูค่ะ 

เมื่ออินเทอร์เน็ตค่อยๆ โตขึ้น ตลาดนิยายวายก็โตขึ้นตาม โดยเกือบทุกเรื่อง ก็จะเป็นเรื่องราวที่เหมือนถอดมาจากคู่จิ้นแรก ซึ่งก็คือ เด็กชายวัยยังไม่ถึง 20 ปี ในช่วงมัธยมปลายโรงเรียนชายล้วน ซึ่งถือเป็นคาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากๆ ในช่วงเวลาที่กล่าวได้ว่าเป็นยุค “Post-Love of Siam” หรือ ช่วงหลังรักแห่งสยามไม่นาน นิยายที่เหมือนเป็นการถอดโครงสร้างรักแห่งสยามตามมา และได้รับความนิยมสูงในช่วงขณะหนึ่ง ก็คือ LOVE SICK : ชุลมุนหนุ่มกางเกงน้ำเงิน ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากในเว็บ Dek-D ซึ่งเป็นนิยายวายโดย ลติกา ชุมภู ซึ่งเปิดให้อ่านออนไลน์ครั้งแรกเมื่อปี 2551 หลังจากรักแห่งสยามเพียง 1 ปี ซึ่งนอกจาก Love Sick แล้ว ก็ยังมีนิยายวายอีกหลายเรื่องที่เกิดในยุคนั้น และรุ่งเรืองในโลกอินเทอร์เน็ตเช่นกัน

และด้วยกระแสคนอ่านในอินเทอร์เน็ตที่ล้นหลาม สำนักพิมพ์นิยายแนววาย ก็มองเห็นตลาด และเริ่มจับจองนิยายวายในอินเทอร์เน็ต และหยิบมาทำเป็นรูปเล่ม ให้จับต้องได้ และเข้าถึงผู้อ่านในวงกว้าง บวกกับการโตขึ้นของอินเทอร์เน็ตในช่วงยุคเดียวกัน กระแสวาย จับชายจิ้นชาย ก็ไม่อาจจะอยู่ได้แค่ในอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป 

จนกระทั่งในปี 2556 ก็เป็นการมาถึงของซีรีส์ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ซึ่งก็ได้เปิดคู่จิ้นที่เห็นหน้าตาคู่ใหม่อย่าง “ภู-ธีร์” ที่นำแสดงโดย มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล และ ตั้ว-เสฎฐวุฒิ อนุสิทธิ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นคู่มัธยมปลายเหมือนเดิมแล้ว ยังเป็นซีรีส์ที่มีล้วงลึกไปถึงการมีเซ็กซ์ในวัยเรียนอีกด้วย ซึ่งถือว่าแรงมากในสมัยนั้น และก็นะคะ ความผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตั่งต่าง ภู-ธีร์ จูบกัน ก็มีความขึ้นคำใต้จอว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็ว่ากันไป แต่ก็เป็นการประกาศกร้าวต่อแฟนละครว่า 

ภู และ ธีร์ ใน ฮอร์โมน วัยว้าวุ่นภู และ ธีร์ ใน ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น

เห้ย ถึงเวลาวายขึ้นจอแล้วค่ะ

และหลังจากนั้น 2 ปี ในปี 2558 Love Sick จากที่เป็นนิยายออนไลน์ ก็ได้รับการเคาะให้กลายเป็นซีรีส์โทรทัศน์ในชื่อ “Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ” ทำให้คู่ “ปุณณ์-โน่” ที่อยู่ในนิยายวาย มามีชีวิตจริงๆ โดยได้  “ไวท์-ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม” รับบท “ปุณณ์” และ “กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง” รับบทเป็น “โน่” ซึ่งตอนนั้น ทีวียังไม่เป็นดิจิตอลเลยเธอ แถมเป็นช่อง MCOT เสียด้วย ซึ่งนับว่านั่นเป็นความกล้าเป็นอย่างมาก ที่จะให้คู่ชาย-ชาย อยู่ในโทรทัศน์ที่ออกอากาศทั่วประเทศ ซึ่งกระแสตอบรับ ก็เป็นไปในทิศทางที่ดีมากอีกต่างหาก

ซึ่งมันใช้เวลาตั้ง 8 ปี หลังจาก รักแห่งสยาม ออกฉายเลยนะ

แน่นอนว่า ทั้ง ภู-ธีร์ และ ปุณณ์-โน่ นั้น เป็นสองคู่จิ้นที่ได้ทำในสิ่งที่คู่ในตำนานคู่แรกอย่าง โต้ง-มิว ทำไม่ได้ นั่นก็คือ “จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง” รวมถึงการทลายกรอบอนุรักษ์นิยมของพ่อแม่ในบ้านด้วย กับการประกาศว่า “แม่/พ่อ ผมมีแฟนเป็นผู้ชาย” ….. โอ๊ย คุณขา เทยเอามือทาบอกอีแป้น แล่นระทึก

พอเป็นเสียอย่างนั้นแล้ว ใครจะไปสนล่ะคะ ว่าผู้ใหญ่จะโอเคหรือไม่ ในเมื่อฐานแฟนจากโลกออนไลน์ พร้อมจะสนับสนุนนิยายวายที่ตัวเองเคยอ่านแบบใต้ดินหลบๆ ซ่อนๆ ตอนนี้ฉันมีกำลังจะอุดหนุน หากพวกเขาออกมาโลดแล่นในจอจริงๆ ฉะนั้นหลังจากหมดยุค ฮอร์โมน และ Love Sick กองทัพซีรีส์วายที่สร้างจากนิยายออนไลน์ในช่วง Post-Love of Siam ก็ดาหน้าออกอากาศจนเกลื่อน ซึ่งมันมาประจวบเหมาะกับการเติบโตของทีวีดิจิตอล และการดูคอนเทนต์ออนไลน์ ที่ไม่ต้องพึ่งเวลาออกอากาศทางทีวีอนาล็อกอีกแล้ว

ทั้ง Line TV เอย WeTV เอย Mello เอย ทุกๆ ที่ต่างมีคอนเทนต์วายเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเซนเซอร์เบอร์แรง

ดังนั้น การจะเขยิบช่วงวัยจากมัธยมปลาย มาเป็นมหา'ลัยซักหน่อย ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ นิยายในช่วง Post-Love of Siam ที่มีเนื้อหาค่อนไปทาง NC18+ ขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปากมากขึ้นทั้ง บังเอิญรัก - เดือนเกี้ยวเดือน หรือแม้แต่ ธารไทป์ The Series ก็ตาม ที่ฉากขึ้นเตียง ฉากจูบ ก็อู้อ้าถึงเครื่อง ไม่ต้องแคร์เวิลด์ใดใดอีกต่อไป

Love Sick the SeriesLove Sick the Series

TharnType the SeriesTharnType the Series

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความวายในยุคหลังๆ ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับภาพมายาคติที่ปั้นแต่งขึ้นมาของ “สาววาย” ที่ว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะกลายเป็นคณะที่มีเกย์เยอะที่สุดซะงั้น เหมือนการพยายามให้ “ชายแท้” กลายเป็นเกย์ จะเป็นภาพฝันโรแมนติกอย่างหาที่สุดมิได้ของพวกนาง โดยไม่ต้องสนว่าที่มาที่ไปของตัวละครจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงดราม่าจากครอบครัว ที่จะทุกเรื่อง จะต้องมีครอบครัวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะยอมรับไม่ได้ที่มีลูกเป็นเกย์ ถอดร่างมาจาก สุนีย์ แม่ของโต้ง จาก รักแห่งสยาม นั่นแล

การจบลงอย่าง Happy Sad ของรักแห่งสยาม “เรารักมิว แต่เป็นแฟนมิวไม่ได้” ดูเหมือนจะแผล เป็นปมใหญ่ให้นักเขียนวายหลายคนในรุ่นต่อๆมา พยายามชดเชย และหาทางออกให้กับตัวละครรักวัยรุ่นมัธยมปลายให้ได้ พวกเขาควรจะได้รักกันจริงๆ ไม่ต้องมีข้อแม้ เป็นความรักแบบชายชายที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางเพศ สังคม และปัญหา และเป็นรักวัยรุ่น ที่อยู่กันตลอดกาล

การ์ตูนเจ้าหญิงดีสนีย์ ยังหวานได้ไม่เท่าเลยนะคะ

แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันในประเด็นของ LGBT ที่คาบเกี่ยวกับการค้นหาตัวเองในช่วงวัยรุ่น แต่ก็ต้องยอมรับเลยนะคะว่า รักแห่งสยาม ได้กรุยทางที่น่าสนใจเอาไว้มาตลอด 12 ปี จนเหมือนกับว่ามันเป็นไบเบิ้ล สูตรสำเร็จที่ซีรีส์วายยังคงยึดตามมาจนถึงตอนนี้ แม้ว่าเรื่องต่อมาของผู้กำกับ มะเดี่ยว ชูเกียรติ อย่าง “Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ” หรือเรื่องล่าสุดอย่าง “ดิว ไปด้วยกันนะ” จะเริ่มพูดถึงคู่วาย กับความตาย การพูดว่าความรักมัธยม อาจจะไม่ใช่เรื่องชั่วฟ้าดินสลายอีกแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่า จะไม่สามารถทำให้แฟนตาซีวายในมัธยม มันหายไปได้เลย

คู่วายใหม่ๆ นี่ก็ควรจะเอาดอกไม้ธูปเทียน ไปกราบ มาริโอ้-พิช ตำนานที่ยังมีชีวิตของคู่จิ้นคู่แรกเอาไว้ ถ้าไม่ได้สองคนนี้ อย่าหวังเลยค่ะ ว่าเทรนด์เด็กผู้ชาย ม.ปลาย จูบกันจะมาให้เห็นเกลื่อนกลาดอย่างทุกวันนี้

ขอบคุณ กันและกัน นะคะ กับ รักแห่งสยาม 12 ปี เหยี่ยวเทยก็ต้องให้ ต้องชื่นชม

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 45 ภาพ

อัลบั้มภาพ 45 ภาพ ของ 12 ปี รักแห่งสยาม สู่ไบเบิ้ลเบิกทาง "วายไทยวัยรุ่น"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook