รีวิว เคว้ง (The Stranded) ไขปริศนาเกาะพิสดาร

รีวิว เคว้ง (The Stranded) ไขปริศนาเกาะพิสดาร

รีวิว เคว้ง (The Stranded) ไขปริศนาเกาะพิสดาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Netflix Original เรื่องแรกของไทย กับ‘เคว้ง’ (The Stranded) ผลงานการกำกับของจิม-โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนเอกชนชื่อดังที่บังเอิญกลายเป็นกลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิถล่ม พวกเขาต้องพยายามเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์คับขันก่อนที่พวกเขาจะพบว่า บนเกาะนี้มีสิ่งแปลกประหลาดเกินกว่าจะจินตนาการได้

 

 

ฉากหลังของซีรีส์ถูกวางเอาไว้ที่เกาะปินตู ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศไทย บริเวณทะเลอันดามัน โดยใน EPแรก ผู้ชมจะพอได้รับรู้อย่างกระชับฉับไวว่า โรงเรียนเอกชนแห่งนี้เต็มไปด้วยบรรดาเด็กๆลูกหลานคนมีสตางค์ และดูเหมือนจะมี คราม (บีม ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์) เห็นหนุ่มลูกชาวประมงเพียงคนเดียวที่ดูเป็นคนปากกัดตีนถีบ แต่คนดูยังไม่ได้รับโอกาสให้ทำความรู้จักกับบรรดาเหล่าตัวละครหลักสักเท่าไหร่ 9 นาทีผ่านไป ซีรีส์ก็เล่าถึงเหตุการณ์สึนามิถล่มเกาะ ส่งผลให้เหลือเด็กๆที่รอดชีวิตอยู่แค่เพียง 36 คนเท่านั้น อีกทั้งซีรีส์ยังเล่าเรื่องไกลไปถึง 25 วัน ให้หลังจากภัยพิบัติดังกล่าวได้เกิดขึ้น

 

บรรดาเด็กๆ ที่รอคอยความช่วยเหลือ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเริ่มหมดความหวังไปทีละเล็ก แต่พวกเขาก็ยังดูยิ้มออกและใช้ชีวิตไปวันๆประสาวัยรุ่น ที่ดูไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนอะไรกับชีวิตมากมาย แถมพวกเขายังดูเป็นอาลัยอาวรณ์กับเสื้อแบรนด์เนมมากกว่าการเอาชีวิตรอดด้วยซ้ำไป เมื่อพิจารณาจากบริบทต่างๆแล้ว บรรดา”ลูกคุณหนู” ในซีรีส์นี้ค่อนข้างให้ความรู้สึก “น่ารำคาญ” ในเชิงพฤติกรรมมากกว่าจะทำให้คนดูอยากจะเอ็นดูและหลงรักเอาใจช่วยพวกเขา (มีเพียงตัวละครอย่างคราม เมย์และน้ำ ที่ใช้เสน่ห์เอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิด)

 

 

ตามรายทางที่ซีรีส์เริ่มทิ้ง “ปริศนา” ความลับของเกาะเอาไว้ทีละน้อย แต่สิ่งที่น่าฉงนสงสัยที่สุดคือ ยิ่งซีรีส์ดำเนินต่อไปไกลมากเท่าไหร่ ปมที่ทิ้งเอาไว้กลับกลายสภาพเป็นดินพอกหางหมู จนเมื่อจบซีซั่นแล้วปมมากมายก็ค้างเติ่งเอาไว้ให้คนดูมโนกันต่อเอาเอง และเมื่อผสมรวมกับการที่คนดูไม่ได้รับโอกาสให้ทำความเข้าใจตัวละครด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกอยากจะเอาอกเอาใจช่วยพวกเขา เลวร้ายที่สุดคือเราไม่อยากจะติดตามพวกเขาไปจนสุดทาง (แต่ก็จำเป็นต้องดูให้จบซีซั่นแรกเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมด)  

 

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือการที่ “เคว้ง” หยิบเอาตำนานความเชื่อของคนไทย มาผสมกับเรื่องราวของวรรณกรรม (กาพย์พระไชยสุริยา) ซึ่งนำไปสู่จุดพลิกผันของเรื่องราวทั้งหมดใน EP สุดท้ายของซีซั่นแรก ที่พอจะมีน้ำหนักทำให้คนดูนำมาตีความต่อได้ว่า เหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นบนเกาะปินตูนั้น ไม่ใช่เรื่องละเมอเพ้อพกของตัวละครไปเอง

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ “เคว้ง” ยังคงต้องทำการบ้านให้หนัก คือการกลับมาในซีซั่นที่ 2 แล้วพยายามสร้างปูมหลังของตัวละครหลักแต่ละตัวให้น่าสนใจกว่านี้ เปิดโอกาสให้คนดูเข้าใจโลกในจักรวาลของซีรีส์นี้มากกว่าเดิม รวมไปถึงคลี่คลายปริศนาเล็กๆน้อยๆที่ซีรีส์ปูเอาไว้บ้าง ไม่เช่นนั้นแล้ว คนดูจะรู้สึกเหมือนโดน “หักหลัง” และเกิดอารมณ์เคว้ง สมชื่อซีรีส์ กับการที่คนดูไม่เข้าใจอะไรเลยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดซีซั่นแรก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook